สรุปผลความย่อยยับของตลาดรถยนต์ปี 2540 ปีแรกของชะตากรรมอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย
ซึ่งพบว่า ยังสามารถฝ่าด่าน 360,000 คันไปได้ ซึ่งเป็นประมาณการที่คนทั้งวงการคาดการณ์ครั้งสุดท้าย
หลังจากที่พบวิกฤติกันแล้ว
ปี 2540 นับเป็นช่วงปีที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้น
ที่เก็บไว้ให้เล่าขานกันได้อีกหลายปี รวมทั้งสถิติต่างๆ ที่รอวันกลับคืนมา
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะสักกี่ปี
4 พฤศจิกายน 2540 โตโยต้ามอเตอร์ คอร์ปอเรชั่นแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ออกข่าวถึงการปิดโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าในไทย
รุ่งขึ้น วาย มูรามัตซึ ประธานบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ต้องออกแถลงการณ์ด่วน
ถึงกระแสข่าวข้างต้น เพื่อชี้แจงให้เกิดความกระจ่างมากขึ้น
แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า ยังต้องประกาศปิดโรงงานชั่วคราว ดังนั้นรายอื่นๆ
คงไม่ต้องพูดถึง ยิ่งต้องมาพบกับมาตรการของรัฐในด้านภาษีอีกหลายทาง ยิ่งทำให้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยต้องเลวร้ายลงไปอีก
ช่วงปลายปี 2540 นั้น เกือบทุกบริษัทที่ประกอบรถยนต์ในไทยต่างต้องหยุดสายการประกอบลงชั่วคราว
บางรายเพียงระยะสั้น แต่บางรายยาวนานหลายเดือน
สำหรับรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ แม้จะไม่ต้องวุ่นวายกับการปรับสายการประกอบในประเทศ
แต่ก็ไม่อาจหนีพ้นแผนงานที่จะต้องเริ่มคิดเกี่ยวกับการประกอบรถยนต์ขึ้นมาบ้าง
เพราะภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปจากต่างประเทศได้ถูกปรับเพิ่มขึ้นไปอีกหลายสิบเปอร์เซ็นต์
ดังนั้นย่อมทำให้ราคาจำหน่ายไม่อาจทรงไว้เช่นเดิมได้ และแน่นอนว่าเมื่อเทียบรุ่นต่อรุ่น
รถประกอบในประเทศกำลังได้เปรียบ เฉกเช่นเมื่อคราวก่อนปรับภาษีครั้งใหญ่ตอนกลางปี
2534
ดังนั้น หลายค่ายรถยนต์ที่เน้นการนำเข้ารถยนต์มาจำหน่ายในไทย จึงได้เตรียมแผนงานรองรับ
เพราะไม่เช่นนั้นก็คงทำได้แค่ปิดบริษัท
ปี 2541 แม้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์จะตกต่ำลงไปอีกมาก แต่ก็คงกล่าวได้ว่า
บริษัทต่างๆ คงจะเจ็บตัวน้อยกว่าปี 2540 เพราะต่างก็คาดการณ์ล่วงหน้ากันไว้แล้ว
มามองถึงยอดจำหน่ายในปี 2540 จะมีตัวเลขหลายอย่างน่าจดจำ และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับปี
2539 ยิ่งมีสถิติหลายด้านที่หดหู่ยิ่งนัก
โดยยอดขายของตลาดรวมตกต่ำลงเกือบ 40% อย่างไรก็ตาม โตโยต้ายังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้มากที่สุดที่
29.5% และตลาดรวมนี้ไม่มียี่ห้อใดที่ไม่ตกต่ำจากปีก่อน
สำหรับตลาดรถยนต์นั่ง แม้ก่อนหน้านั้นต่างคาดการณ์กันว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก
แต่ที่สุดแล้วก็ไม่อาจหนีพ้นชะตากรรมไปได้ ยังดีที่ว่าตกต่ำลงไม่มากนัก โดยยอดจำหน่ายทั้งตลาดรถยนต์นั่งตกต่ำลงกว่า
20%
ทั้งนี้ยี่ห้อที่ตกต่ำลงน้อยที่สุดคือ โตโยต้า คือตกต่ำลงเพียง 7.8% อย่างไรก็ตามยอดจำหน่ายของโตโยต้านั้นได้ถูกผลักดันในช่วงท้ายของปี
โดยกลยุทธ์ที่ทุ่มอย่างสุดๆ ของโตโยต้าเพื่อผลักดันสต็อกที่ค้างอยู่มาก จนตัวเลขรถยนต์นั่งออกมาดูดีจนได้
ทางด้านตลาดรถยนต์ปิกอัพนั้น ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นตัวฉุดให้ตลาดรวมตกต่ำลง
เพราะเนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ยังพบว่ายอดจำหน่ายได้ตกต่ำลงกว่า
40% ทีเดียว
ยี่ห้อที่ตกต่ำจนดูน่ากลัวนั้น ก็คือ ยักษ์ใหญ่โตโยต้า ที่ไม่ว่าจะทุ่มแคมเปญออกไปมากแค่ไหน
ก็ไม่สามารถจะผลักดันยอดจำหน่ายรถยนต์ปิกอัพให้ฟื้นคืนสภาพเดิมได้ โดยตกต่ำถึงเกือบ
50% และอีกยี่ห้อก็คือ นิสสัน ที่ยอดจำหน่ายปิกอัพตกต่ำถึง 61% ทั้งนี้นิสสันเป็นอีกยี่ห้อหนึ่งที่ต้องปิดโรงงานประกอบปิกอัพในไทยนานหลายเดือนทีเดียว
ส่วนมิตซูบิชิ แม้ยอดจำหน่ายปิกอัพจะตกต่ำเกือบ 50% เช่นกัน แต่มิตซูบิชิได้ปรับฐานการผลิตเพื่อเน้นการส่งออกไปแล้ว
ดังนั้นจึงไม่เป็นปัญหามากนักแม้ตลาดในประเทศจะตกต่ำลงอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดรถยนต์ปิกอัพนี้ มีอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ ฟอร์ดและฮอนด้า
ที่ยอดจำหน่ายสามารถเติบโตฝ่าวิกฤตได้ ทั้งนี้อาจมาจากเหตุผลที่ว่าตลาดของทั้งสองยังเล็กมากและอยู่ในช่วงเริ่มต้น
ประกอบกับผลิตภัณฑ์เริ่มเป็นที่รู้จักในนามยี่ห้อของตนมากขึ้น
สถิติต่างๆ ของตลาดรถยนต์ในปี 2540 นั้น นับว่าน่าสนใจไม่น้อย และรายละเอียดต่างๆ
ได้ถูกบรรจุไว้ในตารางประกอบแล้ว
ค่ายไหนเป็นอย่างไร มีอนาคตหรือไม่ ตัวเลขเหล่านี้อาจบ่งบอกได้ระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตัวเลขของปี 2540 จะมีความน่าสนใจอยู่มาก
แต่ยังมีอีกตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจกว่า
ตลาดรถยนต์ปี 2541 คือความน่าสนใจที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจะจบเห่จริงหรือไม่ ปีนี้รู้กัน