ปตท. กำไร 6 เดือนแรก 2.6 หมื่นล้านบาท โตขึ้น 47% ผลจากราคาน้ำมัน-ก๊าซ-ปิโตรเคมีสูงขึ้น หุ้นขึ้น 4 บาท ขาน รับผลประกอบการ ยืนยันนำไทยออยล์เข้าตลาด 26 ต.ค. จะระดมทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2547 ว่า ปตท. และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขาย 150,673 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26% มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย จ่ายภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBI TDA) 19,431 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.4% และกำไรสุทธิ 14,083 ล้านบาท เติบโตขึ้น 106.5% คิดเป็น กำไรสุทธิต่อหุ้น 5.03 บาท
ส่วนผลประกอบการงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2547 ปตท.และบริษัทย่อย มีรายได้ จากการขาย 287,796 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน EBITDA 37,277 ล้านบาท ขยายตัว 17.7% และกำไรสุทธิ 26,357 ล้านบาท โตขึ้น 47.8%
นายประเสริฐกล่าวถึงสาเหตุที่รายได้และกำไรขยายตัวขึ้นมากว่า เนื่องจากปริมาณขายและราคาผลิตภัณฑ์น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์โรงแยกก๊าซฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้ง มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียเพิ่มขึ้น จากการที่บริษัทในเครือกลุ่มธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมีที่มีผลประกอบการที่ดีขึ้น รวมทั้งปตท.ได้บันทึกกลับรายการสำรองผลขาดทุนที่เกินกว่าเงินลงทุนในบริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ATC) ที่คงเหลือจำนวน 2,160.44 ล้านบาท เป็นรายได้ในงบกำไรขาดทุน อันเนื่องมาจากการที่ ปตท. และ ATC ได้ร่วมลงนามในสัญญา Shareholder Loan Agreement เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 เพื่อทดแทนสัญญาให้การสนับสนุนของผู้ถือหุ้นที่ ปตท.มีกับกลุ่มเจ้าหนี้เดิม ซึ่งสิ้นสุดลง
ส่วนผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าปตท.จะมีอัตราการเติบโตของกำไรจะไม่สูงเท่า ครึ่งปีแรก เนื่องจากไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว ปตท. มีรายได้และกำไรต่ำกว่าปกติเนื่องจากเกิดการระบาดของโรคซาร์ส และค่าการกลั่นต่ำ ทำให้ไตรมาส 2 ของปีนี้มีผลการดำเนินงานขยายตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก ดังนั้น การเติบโตของผลประกอบการครึ่งปีหลังนี้จะสอดคล้องกับปริมาณการขายและมาร์จิ้นของผลิตภัณฑ์
ความเคลื่อนไหวของหุ้น ปตท. เมื่อวานนี้ มีแรงซื้อขายเข้ามาอย่างต่อเนื่องหลังจากบริษัทได้แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2 โดยราคาหุ้นปิดตลาดราคาหุ้นปิดตลาดที่ 151.00 บาท เพิ่มขึ้น 4 บาท เปลี่ยนแปลง 2.72% มูลค่าการซื้อขายรวม 805.63 ล้านบาท
ไทยออยล์เข้าตลาด 26 ต.ค.
นายประเสริฐ ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ถือหุ้น โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ มีความเห็นพ้องร่วมกัน ที่จะนำไทยออยล์เข้าตลาดหลักทรัพย์ตามแผนเดิมแม้ว่าจะมีความห่วงใยในประเด็นราคาน้ำมัน ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นและภาวะตลาดหุ้นไทยที่ผันผวน ก็ตาม เนื่องจากธุรกิจการกลั่นอยู่ในช่วงขาขึ้น และค่าการกลั่นไทยออยล์อยู่ในเกณฑ์ที่ดี 6.9 เหรียญต่อบาร์เรล เพราะเป็นโรงกลั่นที่ทันสมัย และภาระหนี้ต่ำ ทำให้ต้นทุนการกลั่นของไทยออยล์อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับโรงกลั่นอื่นๆ โดยจะทำพรีมาร์เกตติ้งในช่วงเดือนกันยายน หลังจากนั้นจะประกาศราคาขายหุ้น (ไอพีโอ) ในวันที่ 13 ตุลาคม และกำหนดวันซื้อขายหุ้นวันที่ 26 ตุลาคม 2547 โดยมีมูลค่าการระดมทุนประมาณ 500-600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 20,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนหุ้น 800-1,000 ล้านหุ้นหรือประมาณ 40% ของทุนจดทะเบียน ซึ่งมูลค่าระดมทุนสูงกว่าที่ตั้งไว้เดิม 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะตลาดมีความต้องการหุ้นไทยออยล์มาก นับเป็นบริษัทที่มีขนาดการระดม ทุนใหญ่ที่สุดในรอบปีนี้
นอกจากนั้น ยังจะปรับโครงสร้างของไทยออยล์คือ จะนำบริษัทในเครือ คือ บริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด และบริษัท ไทยลูบเบส จำกัดเข้ามารวมอยู่ในไทยออยล์ด้วย โดยผู้ถือหุ้นเดิม ใน 2 บริษัทดังกล่าวจะขายหุ้นที่ถืออยู่ให้กับไทยออยล์ทั้งหมด ซึ่งอาจจะรวมกันก่อนหรือภายหลังการกระจายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้น การกำหนดราคาเสนอซื้อขาย และบริษัทไทยลูบเบส ต้องออกจากกระบวนการ ฟื้นฟูกิจการด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยออยล์จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ปตท.ยืนยันที่จะรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไทยออยล์เอาไว้ไม่ต่ำกว่า 40% จากปัจจุบันที่ถือหุ้นอยู่ 49.99% เนื่องจากเป็นโรงกลั่น หลักของปตท. โดยแหล่งเงินที่ใช้ในการซื้อหุ้นไทยออยล์นั้น จะมาจากการขายหุ้นในบริษัทไทย พาราไซลีนและไทยลูบเบส คืนแก่ไทยออยล์
ปัจจุบันไทยออยล์มีกำลังการกลั่นน้ำมันอยู่ที่ 2.2 แสนบาร์เรล/วัน โดยผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2547 บริษัทฯมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) 10,157 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 6,300 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าในการซื้อหุ้นบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (ทีพีไอ) ว่า ปตท.ยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดในการเข้าไปถือหุ้นทีพีไอ โดยข้อเสนอของผู้ถือหุ้นระบุว่า เงื่อนไขต้องเหมาะสมทั้งด้าน ราคา และผลตอบแทนการลงทุน ซึ่งสามารถชี้แจงนักลงทุนได้ รวมทั้งใช้เงินไม่สูงเนื่องจากปตท.มีแผนจะใช้เงินเพื่อต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมี โดยสัดส่วนที่ปตท.จะเข้าไปถือทีพีไอไม่เกิน 30%
ทั้งนี้ ปตท.มีแผนจะร่วมลงทุนกับบริษัทในเครือฯเพื่อนำโพรเพนและอีเทนที่เหลือในโรงแยกก๊าซฯแห่งที่ 5 และส่วนปรับปรุงของโรงแยก ก๊าซฯที่ 2 และ 3 เพื่อผลิตโพลีโพรพิลีนและโพลีเอทิลีน รองรับการใช้ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
|