เช้าวันศุกร์ที่ 16 มกราคม โรงงานสีไอซีไอ บนถนนแจ้งวัฒนะถูกจัดให้เป็นที่แถลงข่าวความร่วมมือของ
2 บริษัทสียักษ์ใหญ่ แทนที่จะเป็นห้องประชุมตามโรงแรมใจกลางเมือง เหมือนเมื่อครั้งประเทศยังรุ่งเรือง
แต่กระนั้นก็กลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วสำหรับบริษัททั้งหลาย สุภัทร ตันสถิติกร
ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไอซีไอ 1996 (ประเทศไทย) เริ่มกล่าวเป็นคนแรกถึงข่าวดีของเขาเอง
"ในบรรยากาศ IMF ข่าวความร่วมมือระหว่างไอซีไอและเฮอร์เบิรตส์ จะเป็นข่าวดีชิ้นหนึ่งของเมืองไทย
ที่จะเรียกร้องความมั่นใจในบรรยากาศการลงทุนในไทยกลับมา"
ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการซื้อลิขสิทธิ์เทคโนโลยีสีอุตสาหกรรมรถยนต์ จากบริษัทเฮอร์
เบิรตส์ ประเทศเยอรมนี เนื่องจากประเทศไทยถูกวางให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและประกอบรถยนต์
และสุภัทรเชื่อว่า ไอซีไอมีความเข้าใจในตลาดรถยนต์ในประเทศไทยอย่างแท้จริง
และทีมขายมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ผลิตรถยนต์หลายรายในประเทศ
ไอซีไอตั้งเป้าหมายในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งมีมูลค่า
2,000 ล้านบาท จากเดิม 5% เป็น 10% ภายในเวลา 3 ปี และเพิ่มเป็น 20% ภายในเวลา
5 ปี โดยจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมาผลิตในประเทศไทย เพื่อจำหน่ายในขั้นแรกให้กับผู้ผลิตรถยนต์ค่ายยุโรป
อาทิ เมอร์เซเดสเบนซ์ บีเอ็มดับบลิว วอลโว่ จากนั้นจะขยายไปยังค่ายญี่ปุ่น
โดยขณะนี้ก็ผลิตให้กับค่ายอีซูซุ และนิสสันไปบ้างบางส่วนแล้ว และกำลังเจรจากับค่ายโตโยต้า
ฮอนด้า และมิตซูบิชิ ต่อไป
การเริ่มต้นในตอนนี้อาจจะไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่ทุกอย่างกำลังชะลอตัว
แต่สุภัทรเชื่อว่า "แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะอยู่ในช่วงปรับตัว
ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 3-5 ปีสำหรับอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ที่จะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง
แต่ทางไอซีไอก็เล็งเห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาว จึงได้ตัดสินใจลงทุน
โดยคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่ผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่าย ไม่ว่าจะเป็นค่ายยุโรป
ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ได้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย"
ธุรกิจของเครือไอซีไอในประเทศไทยทั้งหมด 3 ประเภท แบ่งตามยอดขายได้เป็น
ธุรกิจสี 55%, เคมีภัณฑ์ 25%, และโพลียูรีเทน 20% โดยปี'40 มียอดขายรวมเป็นเงินประมาณ
6,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นยอดขายจากธุรกิจสีถึง 3,500 ล้านบาท
สำหรับธุรกิจสีซึ่งเป็นธุรกิจหลักนั้น แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มสีทาบ้านและวัสดุเคลือบผิวงานสถาปัตยกรรม
ซึ่งมีสัดส่วนถึง 80% ของยอดขายสีโดยรวม 2. กลุ่มสีพ่นรถยนต์ ออโต้คัลเลอร์
และกลุ่มสีอุตสาหกรรมที่บริษัทต้องการรุกขยายส่วนแบ่ง และ 3. กลุ่มสีเคลือบภาชนะบรรจุภัณฑ์
เมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหา ไอซีไอย่อมถูกกระทบโดยตรง แม้ว่าไอซีไอจะมีส่วนแบ่งการตลาดของสีทาบ้านอยู่ถึง
28% ของมูลค่าตลาดสีโดยรวม ซึ่งมีมูลค่า 60,000-70,000 ล้านบาทก็ตาม (จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ
90,000 ล้านบาท)
"เพราะตลาดบ้านเองก็ตกลงประมาณ 20-30% จากเดิมที่มีโครงการบ้านประมาณ
100 โครงการ คาดว่าปีนี้จะเหลือโครงการใหม่เพียง 15-20 โครงการเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการขนาดเล็กและอยู่ในเขตพื้นที่รอบนอก
เพราะในขณะนี้ซัปพลายบ้านที่อยู่อาศัยในตลาด ก็มีเหลือพอที่จะสามารถขายได้อย่างสบายๆ
ในช่วง 2-3 ปีโดย ไม่ต้องสร้างใหม่เลย" สุภัทรกล่าว
เมื่อธุรกิจสีทาอาคารบ้านเรือน ย่ำแย่ สุภัทรจึงต้องพยุงฐานะของบริษัทให้ได้
ซึ่งก็เห็นความพยายามที่จะเข้ามาในธุรกิจสีอุตสาหกรรมรถยนต์มาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว
แต่ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องยากพอสมควรในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาสุภัทรยอมรับว่า
การดำเนินงานของบริษัทต้องปรับชนิด "อาทิตย์ต่ออาทิตย์" ดังนั้นการร่วมมือกับยักษ์ใหญ่อย่างเฮอร์เบิรตส์
จึงถือเป็นความสำเร็จที่งดงามของสุภัทรและไอซีไอ ประเทศ ไทย
สำหรับเฮอร์เบิรตส์เองเป็น 1 ใน 6 บริษัทสีอุตสาหกรรมรถยนต์ระดับโลก และเป็นบริษัทในเครือของบริษัทเฮิกซ์
เอจี ซึ่งเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของเยอรมนี
ความร่วมมือของเฮอร์เบิรตส์กับไอซีไอนี้ ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ได้เซ็นสัญญามาแล้ว ที่มาเลเซียเมื่อวันจันทร์ที่ 12 มกราคม และอินเดียเมื่อวันพุธที่
14 มกราคม สำหรับมาเลเซียนั้นได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตและประกอบรถยนต์อยู่แล้ว
เห็นได้จากมีรถยนต์ยี่ห้อของมาเลเซียเอง ส่วนอินเดียนั้นเป็นการเปิดเกมรุกใหม่
หลังจากที่มีการสร้างโรงงานสีที่นั่นมาแล้ว 1 แห่ง และในปีนี้จะสร้างเพิ่มอีก
1 แห่ง
การเปิดเกมรุกของเฮอร์เบิรตส์ในภูมิภาคเอเชียครั้งนี้ ดร.ฮาน เจอส์เก้น
ฟรอมม์ ผู้จัดการใหญ่ให้ความกระจ่างว่า "เป็นการเปิดเกมแบบ Globalisation
เพราะเรามองโลกเป็นตลาด เมื่อลูกค้าเรากระจายไปทั่วโลก เราก็ต้องตามไปดูแลและบริการให้กับลูกค้า
เพราะในความเป็นจริง แม้ว่าสีจะมีคุณภาพดีอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ได้รับการแนะนำการใช้ที่ถูกวิธี
ก็ย่อมจะไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด"
สำหรับเรื่องค่าลิขสิทธิ์เทคโนโลยี แม้จะไม่มีการเปิดเผย แต่ทั้งสองค่ายยืนยันว่า
ได้ผลประโยชน์เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย เพราะไอซีไอเองก็มีบุคลากร มีช่องทางการผลิตและจำหน่าย
และเป็นคนในพื้นที่ "แต่ที่ผ่านมา เราไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มที่
เพราะเทคโนโลยีเราไม่พอจึงไม่สามารถผลิตสินค้าบางประเภทได้" สุภัทรกล่าว
ด้านของเฮอร์เบิรตส์มีไฮเทคโนโลยี และมีความพร้อม ความเชี่ยวชาญในการให้ความรู้และบริการแก่คู่ค้าอยู่แล้ว
การขายลิขสิทธิ์เทคโนโลยีแต่ละครั้ง นอกจากเป็นการเผยแพร่วิทยาการที่มีอยู่แล้ว
ยังเป็นการสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาอีกด้วย
ที่สำคัญอย่างที่ ดร.ฟรอมม์กล่าวคือ เป็นการขยายตัวสู่ระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย
แม้ขณะนี้ระบบเศรษฐกิจยังไม่มีเสถียรภาพ แต่ในระยะยาวทุกฝ่ายก็มองว่าจะดีขึ้น
การเข้ามาของเฮอร์เบิรตส์จึงเห็นถึงจุดยืนการทำธุรกิจในเชิงรุกอย่างชัดเจน
และอย่างที่สุภัทรได้กล่าวไว้ว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการยืนยันศักยภาพการลงทุนของประเทศไทย
ซึ่งนอกจากทำให้บรรยากาศของประเทศดีขึ้นแล้ว บรรยากาศของไอซีไอเองก็ดีขึ้นด้วยเหมือนกัน
เพราะถ้าไม่มีพันธมิตรรายใหญ่เข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ตอนนี้ สุภัทรกล่าวอย่างไม่สะทกสะท้านว่า
"อย่างช้าที่สุด ปีหน้าเราก็เลิกทำธุรกิจสีในไทย"