"เศรษฐกิจของไทยตอนนี้ที่แย่ลงนั้น ยังน้อยกว่าสมัยเมื่อครั้งประเทศในกลุ่มยุโรปประสบปัญหาเรื่องภาวะเศรษฐกิจ
ของเขาคนตกงานมากกว่าและไม่ได้ขวนขวายหางานทำเหมือนกับคนไทย คนของเขาได้เงินสนับสนุนจากทางรัฐบาลมาก
ของเขาฟื้นตัวได้เร็วเพราะมีรัฐบาลที่ระดมการแก้ปัญหาอย่างมาก"
มุมมองของอภิรักษ์ วรรณสาธพ ผู้อำนวยการกองแผนงานและพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
หรือ บีโอไอ ซึ่งอาศัยประสบการณ์ที่ได้พบเห็นจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบทวีปยุโรป
สะท้อนกลับมามองสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ว่า ยังไม่ได้รุนแรงมากมาย เพียงแต่ต้องมีการแก้ไขอย่างตรงจุดรวดเร็วและต่อเนื่องจริงจังจากทางรัฐบาลเท่านั้น
การถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องปรกติของการปรับตัว เมื่อเกิดการขยายตัวอย่างมาก
เหมือนที่เกิดกับหลายประเทศ ที่อังกฤษปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเกิดเร็วและรุนแรงกว่าประเทศอื่นในยุโรป
แต่ก็ฟื้นตัวเร็ว เพราะรัฐบาลระดมหาทางแก้ปัญหาทุกวิถีทางอย่างเต็มที่
อภิรักษ์ ถือได้ว่าเป็นคนของรัฐ ที่มีความคิดก้าวหน้าแบบเอกชน โดยผู้ใหญ่หลายคนในบีโอไอเคยกล่าวไว้ว่า
มุมมองของเขานั้นเป็นแบบคนตะวันตกมากกว่าที่จะนำมาใช้ในระบบราชการแบบไทยๆ
ซึ่งเจ้าตัวยอมรับในจุดนี้ แต่ก็เป็นข้อดีสำหรับเขา
การทำงานในบีโอไอต้องติดต่อประสานงานกับภาคธุรกิจเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยเฉพาะต่างประเทศนั้น มีการทำงานที่แตกต่างกับคนไทย หากใช้วิธีคิดแบบราชการไทยทั่วไปเข้าไปเป็นตัวจักรประสานงานแล้ว
งานอาจไม่คืบหน้า
อภิรักษ์ เป็นคนกรุงเทพ เกิดเมื่อปี 2503 จึงนับได้ว่าการรับตำแหน่งผู้อำนวยการกองแผนงานและพัฒนา
ที่บีโอไอ เมื่อปี 2540 ที่ผ่านมาเป็นในช่วงที่เขายังอายุไม่มากนัก
หลังจบการศึกษามัธยมปลายที่โรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล เมื่อปี 2521 ก็สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์
สาขาวิชาอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจบการศึกษาปริญญาตรี ก็เข้าทำงานที่บริษัทมารูเบนีได้ไม่นานก็ไปศึกษาต่อปริญญาโท
ด้านอุตสาหกรรมและการจัดการ ที่มหาวิทยาลัยโอกลาโฮมา สหรัฐอเมริกาเมื่อปี
2525 จนกระทั่งปี 2531 เขาได้รับประกาศนียบัตรการจัดการโครงการอุตสาหกรรม
กลับมาเมืองไทยก็เข้าเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์โครงการ ที่บีโอไอ
"การทำงานที่บีโอไอนั้นเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะเห็นประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์
เลยเขียนใบสมัครและมาสอบสัมภาษณ์จนได้งานในที่สุด" นั่นคือจุดเริ่มต้นการทำงานที่บีโอไอของอภิรักษ์
อภิรักษ์ใช้เวลาอยู่ในบีโอไอที่เมืองไทยไม่นานนัก ก็ต้องไปเป็นผู้แทนไทยประจำองค์การยูนิโด
ที่สวิตเซอร์แลนด์ จนปี 2533 ก็ย้ายไปเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษาเศรษฐกิจ (การลงทุน)
ประจำนครแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี 2 ปีก็ย้ายไปอยู่ที่กรุงปารีสในตำแหน่งเดียวกัน
ซึ่งที่ฝรั่งเศสนี้เขาทำงานเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจ (การลงทุน) อยู่ถึง 4
ปี ก่อนย้ายมาเป็นหัวหน้าหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่สำนักงานกรุงเทพฯ
เพียงปีเดียว ก็ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองแผนงานและพัฒนา ซึ่งเริ่มต้นงานในหน้าที่ใหม่นี้พร้อมกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เริ่มชะลอตัว
ประสบการณ์ในยุโรปนี้เองที่เขานำมาใช้กับการทำงานในกองแผนงานที่บีโอไอ
อภิรักษ์เล่าว่า เมื่อครั้งที่อยู่สวิตเซอร์แลนด์นั้น มีบริษัทเอกชนหลายรายของสวิสสนใจเข้ามาลงทุนที่ประเทศไทยจำนวนมาก
ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ที่ตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ผ่านการติดต่อกับอภิรักษ์เมื่อสมัยประจำอยู่ที่ซูริก
แม้แต่กระทั่งโรงงานทำช็อกโกแลตเพื่อการส่งออกที่สระบุรี ซึ่งมีการส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก
แต่ในประเทศไทยไม่มีใครรู้ เพราะไม่ใช่โรงงานที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ
ที่เยอรมนีนั้น อภิรักษ์เคยประสานงานกับบริษัทเครื่องมืออุตสาหกรรรมอย่าง
BOSCH ซึ่งให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และเชิญเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไปดูงานถึงเยอรมนี
เพียงแต่บริษัทระงับแผนการลงทุนชั่วคราว ทำให้เงียบหายไประยะหนึ่ง
ในปีใหม่นี้ อภิรักษ์กล่าวว่า BOSCH ก็ยังให้ความสนใจตั้งโรงงานผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์
เพราะยังเห็นแนวโน้มในประเทศไทยว่าดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค แม้อยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาลงก็ตาม
ส่วนที่ฝรั่งเศสนั้น มีบริษัทเอกชนหลายรายซึ่งเป็นรายย่อย ซึ่งเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทในประเทศไทยด้านอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
รายใหญ่ก็เป็นพวกอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น แบตเตอรี่
การทำงานของเขาที่สำนักงานที่ปรึกษาฯ ในยุโรปนั้น นอกจากจะทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับหน้าที่ของบีโอไอ
ในการเป็นผู้ประสานงานและเผยแพร่ข้อมูลการลงทุนในประเทศไทยแล้ว ยังทำหน้าที่ด้านการตลาดที่จะออกไปชักชวนนักลงทุนในประเทศนั้นๆ
ให้สนใจเข้ามาลงทุนด้วย
และงานที่นอกเหนือจากนี้ก็คือ เป็นผู้รับรองวีซ่าเข้าประเทศให้กับนักลงทุนต่างชาติผ่านสถานทูต
เพราะการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้รับความไว้วางใจอย่างมาก ในการรับประกันธุรกิจเอกชนให้เข้ามาลงทุน
หน้าที่ของบีโอไอนั้นมีความหลากหลาย การประสานกับภาคธุรกิจที่ไม่ได้เน้นเพียงแค่อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อตั้งโรงงาน
เพราะธุรกิจสาขาอื่นๆ ก็สามารถใช้บริการของบีโอไอได้ หากเขาเห็นทิศทางด้านธุรกิจที่ดี
ก็อาจหันมาลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ แทนก็ได้
ความคิดของคนรุ่นใหม่อย่างอภิรักษ์ก็มีบางแง่มุม ซึ่งผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย
เพราะดูจะเป็นการทำงานที่ไม่เข้ากับวัฒนธรรมแบบราชการไทย และทำให้เขาได้รับการตักเตือนหลายครั้ง
ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่ายังรอดมาได้ด้วยดี โดยไม่มีปัญหาในการทำงานรุนแรงนัก
การทำงาน หากเป็นคนของรัฐน่าที่จะสามารถวิจารณ์งานของรัฐได้ เพราะเป็นการวิจารณ์ที่เนื้องาน
ไม่ใช่ตัวผู้บังคับบัญชา ซึ่งถือเป็นข้อห้ามของคนรับราชการ การวิจารณ์เพื่อระดมความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ
หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ในฐานะเจ้าหน้าที่เขาก็สามารถรับขั้นตอนมาปฏิบัติงานได้
โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างไร เพราะถือว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นบทสรุปที่มีความชัดเจนแล้ว
เมื่อครั้งกลับมากรุงเทพฯ ใหม่ๆ เขาได้เขียนหนังสือเพื่อทำรายงานเสนอผู้ใหญ่ในบีโอไอ
2 เรื่อง เรื่องหนึ่งคือ "บีโอไอกับการพัฒนาคนและสังคม" และ "บีโอไอกับการปรับเปลี่ยนของกระแสโลก"
ตั้งแต่ประมาณต้นปี 2540 แต่สิ่งที่ทำนั้นดูเหมือนจะล้ำยุคเกินไปสำหรับบีโอไอ
และคงไม่เหมาะกับงานภาครัฐและการเป็นคนของรัฐบาล ทำให้หลายคนมองว่า เขาน่าจะไปอยู่ในหน่วยงานพัฒนาที่ไม่ใช่ของรัฐ
หรือที่เรียกว่าเอ็นจีโอเสียมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ความคิดที่ค่อนข้างแรงและชัดเจนของผู้อำนวยการผู้นี้ คงมีส่วนช่วยงานของบีโอไอในหลายเรื่อง
ไม่ให้หน่วยงานแห่งนี้ถูกมองว่าทำงานแบบราชการมากเกินไป เพราะเมื่อประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจ
หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องปรับตัวเอง ให้พร้อมเป็นผู้ช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้กับประเทศชาติได้เช่นกัน