Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2541
เวิลด์แบงก์ เชื่อไทยพ้นวิกฤต 'แต่ต้องใช้เวลา'             
 

   
related stories

แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทางออกที่ดีของไทย

   
search resources

World Bank




25 ปี ที่เวิลด์แบงก์เข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทย เพื่อดูแลการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการเงินแก่ไทย ในฐานะประเทศด้อยพัฒนา จนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเศรษฐกิจไทยดีขึ้นจนถึงระดับที่ไม่ต้องรับความช่วยเหลืออย่างมากจากหน่วยงานนี้อีก ขนาดสำนักงานของเวิลด์แบงก์ที่กรุงเทพฯ จึงลดลงจนเหลือบุคลากรไม่กี่คน แต่ฉับพลันในเดือนกรกฎาคม 2540 เมื่อรัฐบาลไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เศรษฐกิจไทยกลับปักหัวดิ่งลง รัฐบาลประกาศขอรับความช่วยเหลือจาก IMF และเวิลด์แบงก์ ก็อนุมัติเงินช่วยในโครงการนั้นด้วย วันนี้สำนักงานเวิลด์แบงก์เริ่มคึกคักขึ้นอีกครั้ง ด้วยจำนวนนักเศรษฐศาสตร์สาขาต่างๆ กว่า 20 คน พร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่ทั้งแนวคิดและเม็ดเงิน โดยเน้นการแก้ปัญหาด้านการเงินและสังคม เจ้าหน้าที่เวิลด์แบงก์เชื่อว่า วิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยในรอบนี้จะผ่านพ้นไปได้ แต่ต้องใช้เวลา


หลังจากที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจมาตั้งแต่ต้นปี 2540 มาถึงวันนี้วิกฤตการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีแล้ว แม้ว่าหลายๆ ฝ่ายยังมีความเป็นห่วงว่าสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจก็ตาม แต่ล่าสุดสัญญาณของการฟื้นตัวเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดี นักลงทุนเริ่มเชื่อมั่นและกลับเข้ามา ดุลการชำระเงิน ตัวเลขการส่งออก เริ่มมีเสถียรภาพ แต่โดยภาพรวมแล้วประเทศไทยยังต้องปรับโครงสร้างภาคเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างระบบการธนาคาร การปรับหนี้ที่มีมูลค่ามหาศาลของภาคเอกชน ดังนั้นประชาชนคนไทยยังต้องแบกรับความเจ็บปวดไปอีกนานพอสมควร

ความสำเร็จสำหรับการแก้ปัญหาของประเทศไทย สถาบันที่เข้ามาเป็นอัศวินม้าขาว นอกจากจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังมีธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ซึ่งเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลืออย่างมาก โดยเวิลด์แบงก์จะเน้นให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง อาทิ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatisation) การปฏิรูปงบประมาณ การเก็บภาษี การปฏิรูปด้านศุลกากร นอกจากนี้ เวิลด์แบงก์ยังส่งผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน เพื่อทำงานแก้ปัญหาในกรณีสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ 56 แห่ง ตลอดจนปัญหาในภาคการธนาคารโดยรวม ดังนั้นทั้ง IMF และ เวิลด์แบงก์ จะมีลักษณะการทำงานคล้ายๆ กันและมีความใกล้ชิดกันมาก แต่องค์กรทั้งสองมีภาระหน้าที่แตกต่างกัน

"IMF เน้นเสถียรภาพในระยะสั้น คือ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (macro-economic stability) ส่วนเวิลด์แบงก์เน้นการพัฒนาในระยะยาว และในเวลาเดียวกันก็ให้การสนับสนุนแบบระยะสั้นด้วย นโยบายที่เวิลด์แบงก์ใช้ในทุกประเทศทั่วโลก คือ การให้เงินกู้ระยะยาว รูปแบบมาตรฐานการช่วยเหลือมักจะเป็นด้านสาธารณูปโภค ต่อมาเงินกู้เริ่มเข้าไปในการพัฒนาด้านสังคม ตลอดจนการกำหนดนโยบาย จึงกล้าพูดได้ว่า กิจกรรมเวิลด์แบงก์ครอบคลุมทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน วัฒนธรรม สังคม และยังสนใจเรื่องการปกครอง การต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง" ดร.สเตฟาน โคเบอรี่ นักเศรษฐศาสตร์ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ของ เวิลด์แบงก์ กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างองค์กรทั้งสอง

ในช่วงที่ผ่านมาเวิลด์แบงก์ในประเทศไทยมีบทบาทไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากก่อนหน้านั้นสถานการณ์เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เวิลด์แบงก์มีการลดขนาดองค์กรลง แต่ปัจจุบันบทบาทของเวิลด์แบงก์กลับมามีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และหลังจากนี้ไปประเทศไทยจะขาดองค์กรนี้ไปไม่ได้เป็นเวลาอีกนานพอสมควร

บทบาทของเวิลด์แบงก์ในขณะนี้ สเตฟาน กล่าวว่า จะเน้นหนักในภาคการเงิน โดยมียุทธศาสตร์ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งทำงานร่วมกับบริษัทไฟแนนซ์กับคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ตลอดจนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการอัดฉีดเงินกู้ ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือจัดตั้ง prudential regulations การสร้างกรอบแห่งกฎเกณฑ์ (regulatory framework) การตรวจสอบดูแลธนาคารพาณิชย์เพื่อ ป้องกันปัญหาในอนาคต อีกทั้งให้การสนับสนุนในด้านการสร้างดุลงบประมาณ ในระยะสั้น (short-term balance support) เนื่องจากเงินสำรองลดลงเหลือประมาณ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเวิลด์แบงก์อัดฉีดเงินเข้ามาเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว

"ในภาคเศรษฐกิจเรามีบทบาทการสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจมหภาค นอกจากนี้ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็น ในด้านสังคม โดยจัดให้เงินกู้เพื่อลดผลกระทบทางสังคม และเพื่อทดแทนงบประมาณในส่วนที่ถูกตัดออกไป เช่น ที่ผ่านมาปล่อยกู้ด้านการศึกษา อุตสาหกรรมพลังงาน โครงการทางด่วน ตลอดจนโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่ทำท่าจะล้ม และเงินกู้สนับสนุนหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง" สเตฟาน กล่าว

หลังจากเดือนกรกฎาคม 2540 เวิลด์แบงก์ได้ปล่อยกู้ให้อีก 2 รายการ เป็นเงินกู้ในลักษณะของความช่วยเหลือทางเทคนิคที่เรียกว่า การสร้างความสามารถ (capacity building) สำหรับภาคการเงิน และเงินกู้สำหรับระบบการจัดการทางเศรษฐกิจ (economic management system loan) เพื่อ ใช้ในด้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและการปฏิรูปภาคบริการ

ล่าสุดเวิลด์แบงก์ได้ปล่อยกู้อีกจำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะนำไปใช้ในโครงทางสังคม โดยมีเงื่อนไขแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรก จำนวนประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจำนวน 120 ล้านเหรียญสหรัฐ จะถูกนำไปใช้ในกองทุนการลงทุนเพื่อสังคม (social investment fund : SIF) เป็นการปล่อยผ่านองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) โดยมีธนาคารออมสิน เป็นผู้ดำเนินการ และอีกประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ จะนำไปปล่อยกู้ให้กับเทศบาลทั่วประเทศ

ส่วนที่ 2 ที่มีจำนวนเม็ดเงินประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ จะนำไปใช้ในโครงการพัฒนาทางสังคม (social development project : SDP) ผ่านหน่วยงานราชการ 6 กระทรวง และกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ประเทศไทยยังกำลังเจรจากับเวิลด์แบงก์เพื่อขอกู้เงินอีกประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องทางด้านการเงินในภาคการส่งออก


ทัศนะของเวิลด์แบงก์
ต่อเศรษฐกิจไทย

ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น ประเทศ ไทยกำลังถูกจับตามองว่าจะเป็นเสือตัวใหม่ของเอเชีย แต่แล้วปี 2540 คือ ปีแห่งความล่มสลายของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนั้นได้สร้างความประหลาดใจครั้งยิ่งใหญ่แก่ทุกฝ่าย เมื่อดุลการค้าการชำระเงินเสียเสถียรภาพ ซึ่งส่งผลให้ระบบการเงินเสื่อมถอย เนื่องจากสภาพของสินทรัพย์เริ่มมีปัญหา พร้อมกับความสามารถในการชำระหนี้

"ภาพที่ปรากฏออกมาจึงกลายเป็นว่า ปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่ประเมินกันจากภายนอก ในสถานการณ์การส่งออกและค่าเงินอ่อนตัวลง ได้ส่งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเวิลด์แบงก์เป็นห่วงในเรื่องที่ไทยต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ไม่มีใครคาดคิดว่าปัญหาทั้งหมดจะเกิดขึ้นในอาการที่ฉับพลัน รวมทั้งไม่คาดว่าจะส่งผลต่อการอ่อนค่าของเงินอย่างรุนแรงขนาดนี้ มาถึงตอนนี้เราได้พูดว่าน่าจะลดค่าเงินเสียแต่เนิ่นๆ น่าจะเร่งส่งเสริมการส่งออกให้ดีกว่าที่ทำมา อีกทั้งที่จะพูดว่ายุทธศาสตร์การสื่อสาร (communications strategy) น่าจะดีกว่าที่เป็นมา" สเตฟาน กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า บัดนี้กาลเวลาผ่านไปกว่า 8 เดือนแล้วหลังจากประเทศไทยประกาศลดค่าเงินบาท ปัจจัยต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณในทางที่ดี เนื่องจากความตั้งใจแก้ปัญหาของทุกฝ่าย ทีมเศรษฐกิจที่มีความรู้ความสามารถทำให้นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการพัฒนาของบรรดาผู้กำหนดนโยบาย พร้อมกับค่าเงินเริ่มดีขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลได้ปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมาก เพราะก่อนหน้าที่ IMF จะเข้ามาเต็มตัว จะมีปัญหาด้านนี้มาก คือ รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจเรื่องการลดค่าเงินบาทจนกระทั่งไม่มีทางเลี่ยงแล้ว และเมื่อกู้เงินจาก IMF ได้มีการประกาศว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศไปทำสัญญา ซื้อขายเงินตราล่วงหน้าจำนวนมาก (forward liability) ส่งผลให้ตลาดมีความสับสนมากพอสมควร

"แต่ตอนนี้ดีขึ้นมาก มีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลข ซึ่งเราพอใจกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทย"

อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน สเตฟานยังมีความเป็นห่วงปัญหาในระยะกลางอยู่ อย่างปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่มีแต่จะแย่ลง เพราะบริษัทธุรกิจโดยเฉพาะภาคเอกชนเพิ่งจะเริ่มปรับตัว และบริษัทเหล่านี้มีหนี้ต่างประเทศที่ไม่สามารถชำระได้ และหนี้สินจำนวนนี้ก็เพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็วตามอัตราเปลี่ยนแปลงค่าเงิน เนื่องจากไม่ได้มีการป้องกันความเสี่ยงไว้

"มาถึงช่วงนี้พวกเขากำลังประสบมรสุมร้ายแรงที่สุด ทั้งหนี้ต่างประเทศ ภาวะการตลาดฝืดเคือง สถาบันการเงินอันเป็นที่พึ่งพิงอยู่ก็มีอาการซวนเซ อีกทั้งช่องทางที่จะได้เครดิตเงินกู้เริ่มตีบตัน ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง จึงเห็นได้ว่าปัญหาในภาคเอกชนรุนแรงมาก แม้แต่ในส่วนของการส่งออกซึ่งได้ประโยชน์จากค่าเงินอ่อนตัว ก็อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาวงเงินเครดิตซึ่งคิดว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่โตมาก" สเตฟาน กล่าว

และสิ่งที่จะได้เห็นต่อไปนี้คือการชะลอตัวในภาคเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทส่งออกบางแห่งอาจจะต้องปิดตัวเองลง และยังมีปัญหาต่อเนื่องไปยังบริษัทที่กู้เงินจากต่างประเทศ แต่เน้นตลาดภายในประเทศซึ่งผลสุดท้ายอาจจะต้องล้มละลายเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาความไม่เหมาะสม (mismatch) ระหว่างแหล่งที่มาของเงินกู้กับโครงการลงทุน และปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น และจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่สามารถคาดเดาได้ว่าปัญหาจะจบสิ้นเมื่อไหร่

ผลกระทบที่ตามมาหลังจากนี้ไป ที่จะตามมาอีก คือ ปัญหาทางสังคม กลุ่มแรงงานประเภทไร้ฝีมือและความยากจนที่เป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะได้รับผลกระทบ ในขณะที่โครงสร้าง สวัสดิการสังคมยังไม่มีการรองรับเอาไว้

"ดังนั้นจึงต้องมีระบบเศรษฐกิจแบบเมือง (economics governance) การแก้ปัญหาในด้านการส่งออก และทำให้ระบบเศรษฐกิจกลับมาหมุนเวียนอีกครั้ง" สเตฟาน กล่าว


อนาคตยังอีกยาวไกล

เมื่อมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทยในอนาคต สเตฟาน ได้คาดว่าสถานการณ์ใน 6 เดือนข้างหน้าจะเลวร้ายมากกว่านี้ ก่อนที่จะคลี่คลายไปในทางที่ดี ทั้งนี้มองจากประสบการณ์ของเม็กซิโก ซึ่งกว่าจะดีขึ้นต้องใช้เวลานานถึง 18 เดือน แต่เม็กซิโกมี ข้อได้เปรียบมากกว่าไทย คือ บริษัทต่างๆ สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินในอเมริกาได้ดีกว่าในกรณีของประเทศไทย

"รูปธรรมของวิกฤตเศรษฐกิจ ใน 6 เดือนข้างหน้า ประกอบด้วยการว่างงานสูงขึ้น บริษัทปิดกิจการมากขึ้น ในขณะที่การสร้างงานใหม่ๆ มีน้อยมาก ดังนั้นการประเมินระยะเวลาของวิกฤตครั้งนี้ที่ 18 เดือน จึงนับว่าเป็นการมองโลกในแง่ดีแล้ว" สเตฟาน กล่าวปิดท้าย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us