Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2541
ยนตรกิจ กรุ๊ป การรอคอยที่สูญเปล่า             
 


   
search resources

ยนตรกิจ กรุ๊ป




ยนตรกิจ กรุ๊ป บนเส้นทางที่หนักหนาตลอด 35 ปีในการขายบีเอ็มดับบลิว มาวันนี้ทายาทผู้สืบสานอาจต้องเด็ดขาด และเก็บไว้เป็นอดีต โฟล์กสวาเก้น จะเป็นตำนานหน้าใหม่ที่ต้องเริ่มสร้าง ถ้ามัวแต่รอ ยนตรกิจ กรุ๊ป อาจเหลือเพียงความทรงจำ จับตาการตัดสินใจครั้งสำคัญของยนตรกิจ กรุ๊ป


วามว่างเปล่า การรอคอยกับความเด็ดขาด

มีเพียงสามคำเท่านั้น สำหรับอาณาจักรรถยนต์ยุโรปที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยอย่าง ยนตรกิจ กรุ๊ป

ยนตรกิจ กรุ๊ป ในปัจจุบันได้ ค้ารถยนต์อยู่ 6 ยี่ห้อ คือ บีเอ็มดับ บลิว, เปอโยต์, ซีตรอง, โฟล์กสวาเก้น, ออดี้, และเซียท ซึ่ง 3 ยี่ห้อหลังถือเป็นรถยนต์ในกลุ่มโฟล์กฯ

การค้ารถยนต์ยุโรปที่มีมากถึง 6 ยี่ห้อ ตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับยนตรกิจ กรุ๊ป

แต่ที่จริงอาจกล่าวได้ว่าตลอดกว่า 30 ปีด้วยซ้ำที่นโยบายการค้าหลายหลากยี่ห้อ เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างอาณาจักรยนตรกิจให้โด่งดังและยิ่งใหญ่

นโยบายเมื่อครั้ง 30 ปีที่แล้ว ดำเนินเรื่อยมา ขยายวงกว้างขึ้น แต่เมื่อมาถึงวันนี้ ทายาทผู้สืบสานจะต้องหากลวิธีเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ที่ยนตรกิจ กรุ๊ป กำลังเผชิญอยู่

ปัญหาใหญ่ ของยนตรกิจ กรุ๊ป ในช่วงเวลานี้ ก็คือ จะหาทางออกอย่างไร กับแนวโน้มการเข้ามาของบริษัทรถยนต์ต้นสังกัดอย่าง บีเอ็มดับบลิว และโฟล์ก สวาเก้น

จะทำอย่างไรเพื่อให้รถยนต์ในเครือที่มีอยู่ตอนนี้สามารถจำหน่ายออก ไปได้บ้าง

และจะเอายังไงกับนโยบายการรวม การแยกยี่ห้อ

ซึ่งปัญหาเหล่านี้ กำลังกัดกร่อนฐานรากของยนตรกิจ กรุ๊ป ให้พังทลายลงทุกวัน และไร้ซึ่งอนาคต

เพราะทุกวันนี้ ดูเหมือนว่า ยนตรกิจ กรุ๊ป ไม่อาจกำหนดทิศทางได้เลยว่าจะเดินไปอย่างไร ทางไหน เนื่องจากทุกอย่างยังต้องรอคอย รอความชัดเจน ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไร

ยนตรกิจ กรุ๊ป ในสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ไม่ต่างอะไรกับบริษัทนำเข้ารถยนต์อิสระรายย่อยทั่วไป ที่รอแต่ออร์เดอร์ไปวันๆ เท่านั้น

ปลายปี 2539 เบรินด์ พิชเชท-สไรเดอร์ ประธานกรรมการบริหาร บีเอ็มดับบลิว เอจี แห่งเยอรมนี ได้ลงทุนเดินทางด้วยตนเองเพื่อร่วมตกลงเปิดบริษัทร่วมทุนระหว่างยนตรกิจ กรุ๊ป กับบีเอ็มดับบลิว เอจี

ครั้งนั้นนับเป็นเหตุการณ์ที่ฮือฮาที่สุดในช่วง 35 ปี นับตั้งแต่ยนตรกิจ ได้เริ่มต้นการจำหน่ายรถยนต์บีเอ็มดับบลิวในไทย

แต่น่าเสียดาย ที่กว่า 1 ปีมาแล้ว การร่วมทุนครั้งประวัติศาสตร์ ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในรายละเอียด ได้ ทั้งโครงสร้างการบริหารงานและการจัดสรรหุ้น

คาร์ล เอช. กาซกา ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาดและการขายจากบีเอ็มดับ บลิว เอจี เยอรมนี เคยกล่าวอย่างมั่นใจว่า การเจรจาในรายละเอียดของการร่วมทุนครั้งนั้นจะสามารถสรุปผลเสร็จสิ้นภายในปี 2540 อย่างแน่นอน

แต่จนแล้วจนรอด รูปธรรมก็ยังไม่เกิดขึ้น จนกระทั่งล่าสุด กาซกา ซึ่งเข้ามาประสานงานในเกือบทุกเรื่องระหว่างยนตรกิจกับบีเอ็มดับบลิว เอจี ทั้งภาคการผลิตและการตลาด เป็นเวลากว่า 2 ปี ก็ได้หมดวาระลง ยิ่งกว่านั้น ระหว่างนี้ทางบีเอ็มดับบลิว เอจี ก็ยังไม่ส่งผู้บริหารคนใดเข้ามาสานงานต่อ ซึ่งจะว่าไปแล้วนับว่าเป็นเรื่องผิดวิสัยมาก

ฐิติกร ลีนุตพงษ์ ทายาทคนหนึ่งของยนตรกิจ กรุ๊ป ซึ่งดูแลงานในส่วนของ บีเอ็มดับบลิว ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงความคืบหน้าของการเจรจาร่วมทุนระหว่างบีเอ็มดับบลิว เอจี กับ กลุ่มยนตรกิจ โดยอ้างว่าเรื่องยังอยู่ระหว่างพิจารณาและยังไม่ถึงเวลา แต่ก็ย้ำว่าการหมดวาระของกาซกา ไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับยนตรกิจ กรุ๊ป

เช่นเดียวกับ บุญฤทธิ์ ผ่องเมฆินทร์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ ไทยยานยนตร์ หนึ่งในเครือข่ายยนตรกิจ ที่รับหน้าที่จำหน่ายบีเอ็มดับบลิว ที่กล่าวว่า การหมดวาระของ กาซกา และยังไม่มีคนใหม่เข้ามาแทนไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร เพราะเดิมทียนตรกิจ ก็ประสานงานกับทางบีเอ็มดับบลิว สิงคโปร์ซึ่งถือเป็นสำนักงานระดับภูมิภาคของบีเอ็มดับบลิว เอจี อยู่แล้ว และหลังจากนี้ระหว่างที่ยังไม่มีตัวแทนมาอยู่ในไทย ทางยนตรกิจก็จะกลับไปประสานงานกับทางสิงคโปร์เช่นเดิม

สำหรับความคืบหน้าการร่วมทุนระหว่างยนตรกิจกับบีเอ็มดับบลิวนั้น บุญฤทธิ์กล่าวว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยเลยสะดุดลง และต้องมาคิดกันใหม่ว่าจะเอาอย่างไร

อย่างไรก็ดี บุญฤทธิ์ เลี่ยงที่จะกล่าวถึงกรณีนี้ โดยอ้างว่า นับจากมกราคมที่ผ่านมา ตนเองได้โอนย้ายการบริหารงานจากการดูแลบีเอ็มดับบลิว มาเป็นการดูแลแผนงานการจำหน่ายโฟล์กสวาเก้นแทน

ในประเด็นการโอนย้ายงานนั้น เป็นอีกส่วนหนึ่งที่น่าจับตามองการบริหารงานของเครือข่ายยนตรกิจอย่างมาก อย่างกรณี ของบุญฤทธิ์ ที่ถือเป็นผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่ง ซึ่งเขาอ้างว่า ได้โอนย้ายงานมายังบริษัท ยนตรกิจ อินเตอร์เซลส์ จำกัด เพื่อดูแลการจำหน่ายโฟล์กสวาเก้น ตั้งแต่มกราคม 2541 ที่ผ่านมา แต่ล่าสุดเอกสารข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้ ระบุชัดเจนว่า บุญฤทธิ์ ยังดำรงตำแหน่งอยู่ที่ไทยยานยนตร์

นอกจากกรณีของ บุญฤทธิ์ แล้ว ยังมีอีกหลายกรณีและหลายระดับชั้น ที่บ่งบอกว่า เครือข่ายยนตรกิจกำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารอีกครั้ง โดยแหล่งข่าวยืนยันว่ามีแนวโน้มอย่างมากที่จะกลับไปสู่รูปแบบเดิม ซึ่งก็คือ การรวมการบริหารงานเข้าไว้ที่ส่วนกลาง ไม่จำเป็นต้องแยกยี่ห้อ ซึ่งความเป็นไปได้นี้อาจขยายวงไปถึงการกลับมารวมโชว์รูมในการทำตลาดรถยนต์ทั้ง 6 ยี่ห้ออีกครั้ง

บุญฤทธิ์ กล่าวถึงการกลับมารวมศูนย์ว่าเป็นแค่เพียงการรวมสถานที่การทำงานเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อลดต้นทุนในการบริหารงานเท่าที่จะทำได้ แต่ในส่วนของบุคลากร หรือเรื่องของโชว์รูมก็ยังแยกกันตามเดิม ยังไม่มีการกลับมารวมกัน

อย่างไรก็ดี บุญฤทธิ์ กล่าวถึง โชว์รูมในส่วนของดีลเลอร์ในเขตต่างจังหวัดว่า การแยกโชว์รูมในแต่ละยี่ห้อนั้น คงไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นวัฒนธรรมที่มีมาเนิ่นนานแล้ว และถ้าแยกดีลเลอร์เหล่านั้นคงอยู่ไม่ได้

ทั้งนี้ประเด็นดีลเลอร์ต่างจังหวัดนั้น เมื่อเดือนกันยายน 2538 ในครั้งที่ยนตรกิจ กรุ๊ป ยกเลิกนโยบายพึ่งพากันของรถยนต์ทั้ง 7 ยี่ห้อในเครือ (ครั้งนั้นยังเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ฟอร์ด) ในการทำตลาด โดยสามารถใช้โชว์รูมและศูนย์บริการรวมกันได้ ซึ่งเรียกว่า "มัลติแบรนด์" โดยยนตรกิจ กรุ๊ป ได้วางแผนและประกาศการจัดรวมกลุ่มรถยนต์ในเครือเสียใหม่ โดยแยกเป็นกลุ่มเอ ที่มีโฟล์กสวาเก้น, ออดี้ และเซียท และกลุ่มบีเป็น บีเอ็ม ดับบลิว, ฟอร์ด, เปอโยต์, และซีตรอง โดยหวังผลในระยะยาว ที่การแยกแต่ละยี่ห้อออกจากกันอย่างชัดเจนในอนาคต และไม่เว้นแม้แต่ดีลเลอร์ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย

ดังนั้นคำกล่าวครั้งล่าสุดของบุญฤทธิ์ เกี่ยวกับดีลเลอร์ต่างจังหวัดจึงนับว่ามีนัยสำคัญไม่น้อย

แหล่งข่าวกล่าวว่า เหตุผลที่ยนตรกิจ กรุ๊ป จะยกเลิกการแบ่งสายของรถยนต์ในเครือ แล้วกลับมารวมกันใหม่นั้นมีอยู่ 2 เหตุผลหลักด้วยกัน

ประการแรก ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นโยบายการแบ่งแยกยี่ห้อไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้มากนัก และไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในส่วนของต่างจังหวัดแทบไม่ขยับเลยแม้แต่น้อย นอกจากนี้ต้นทุนในการดำเนินการกลับถีบตัวสูงขึ้น ขณะที่ผลประกอบการย่ำแย่ลง ซึ่งอาจเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่ช่วยย้ำความล้มเหลวให้ชัดเจนขึ้น

ประการที่สอง ในอนาคตอันใกล้ การรวมหรือแยกยี่ห้อไม่น่าจะมีผลในทางปฏิบัติแล้ว เพราะขณะนี้ ยนตรกิจ กรุ๊ป กำลังพิจารณาอย่างถ่องแท้ เพื่อที่จะตัดสินใจขั้นเด็ดขาดในการเลือกจำหน่ายรถยนต์เพียงกลุ่มเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจคาดเดาไม่ยากว่าจะเป็นกลุ่มใด

ทั้งนี้จากการโอนย้ายผู้บริหารจากฟาก บีเอ็มดับบลิว มาร่วมวางแผนงานในกลุ่มโฟล์กสวาเก้นที่เข้มข้นขึ้น หรือการเตรียมไลน์ประกอบทั้งโฟล์กสวาเก้น และออดี้ หรือกระทั่งการหยุดการประกอบบีเอ็มดับบลิว แม้จะอ้างว่ารถยนต์บีเอ็มดับบลิวที่ประกอบออกมาล้นสต็อกอยู่มากก็ตาม นอกจากนี้การจำหน่ายรถยนต์เปอโยต์ และซีตรองนั้นได้ถูกโอนย้ายมาเป็นเพียงส่วนงานย่อยของไทยยานยนตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

กิตติ มาไพศาลสิน กรรมการบริหารของยนตรกิจ กล่าวว่าความช่วยเหลือจากโฟล์กสวาเก้น กรุ๊ป ในเรื่องของต้นทุนราคานั้นมีระยะเวลาจำกัด ดังนั้นหากยนตรกิจไม่มีแผนประกอบรถขึ้นในประเทศ บริษัทแม่ก็คงไม่สามารถช่วยได้ตลอดไป

ทั้งนี้ยนตรกิจ กรุ๊ป ได้กำหนดที่จะเริ่มทำการประกอบรถยนต์ในกลุ่ม โฟล์กสวาเก้นไว้ 3 รุ่น ด้วยกัน คือออดี้ เอ 4, เอ 6 และโฟล์กสวาเกน พาสสาท โดยจะเริ่มขึ้นในปลายปี 2541 นี้

"จนถึงเวลานี้ คนจากเยอรมนีได้เข้ามาช่วยเตรียมไลน์การผลิตกันอย่างเต็มที่ แน่นอนว่าหลังมีไลน์ประกอบในประเทศ การทำตลาดจะเน้นรถประกอบในประเทศแทน ขณะเดียวกัน การนำเข้ายังมีอยู่สำหรับรุ่นพิเศษที่มีคนต้องการ นอกจากนั้น เรากำลังศึกษาที่จะประกอบเซียท คอร์โดบาอีกรุ่น เพราะจากการสำรวจพบว่ายังมีความต้องการในตลาดสูง และคอร์โดบา ยังเป็นรถที่มีอนาคตอีกรุ่นหนึ่ง"

แต่แผนการประกอบรถยนต์ใน กลุ่มโฟล์กสวาเก้น ที่อาจจะมีขึ้นในประเทศไทยนั้น ยังไม่ง่ายทีเดียว เพราะยังมีปัจจัยที่สำคัญมาเกี่ยวข้องซึ่งก็คือ การยกเลิกการบังคับใช้ชิ้นส่วนในประเทศ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ถ้าการยกเลิกการบังคับใช้ชิ้นส่วนเกิดขึ้นจริง การเริ่มต้นการประกอบก็จะง่ายขึ้น เพราะอาจสามารถนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบได้ทันที แต่ถ้าการยกเลิกต้องเลื่อนออกไป แผนการประกอบก็ต้องพิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะต้นทุนดำเนินการจะสูงขึ้น และจะยุ่งยากมากขึ้นในการหาผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานโฟล์กสวาเก้น มาผลิตป้อนให้โรงประกอบ

อย่างไรก็ดี การขยายสู่การประกอบรถยนต์ในกลุ่มโฟล์กสวาเก้นในไทยนั้น ยนตรกิจก็ยังคงต้องรอการเจรจาในรายละเอียดอีกพอสมควร เพราะมีแนวโน้มว่า โฟล์กสวาเก้นจะเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการในไทยมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากไทยเป็นพื้นที่หนึ่งในแผนการรุกสู่เอเชียของโฟล์กสวาเก้น ดังนั้นการเจรจาต่อรองในการร่วมมือตรงนี้ ยนตรกิจ กรุ๊ป จะต้องรอบคอบและตามเกมให้ทันพอสมควร ไม่เช่นนั้นอาจยืดเยื้อและส่อเค้าล้มเหลวเหมือนกรณีของบีเอ็มดับ บลิวก็ได้

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นอีก ยนตรกิจ กรุ๊ป จะไม่สามารถกำหนดทิศทางอะไรได้เลยในการค้ารถยนต์ในไทย แม้จะมีถึง 6 ยี่ห้อในมือ แต่ก็เหมือนกับมีแต่ความว่างเปล่า

สถานการณ์กำลังบีบให้เครือข่ายแห่งนี้ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ และยิ่งใหญ่กว่าเมื่อครั้งจะร่วมทุนกับบีเอ็ม ดับบลิวเสียแล้ว

เพราะอย่างไรเสียวันหนึ่งข้างหนึ่ง ยนตรกิจ กรุ๊ป ก็ไม่อาจหลีกพ้นการเหลือเพียงกลุ่มรถยนต์เดียวในการทำตลาดในเมืองไทย ดังนั้นการเลือกโฟล์กสวาเก้นที่มีมากหลายยี่ห้อน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้

อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงศักดิ์ศรีของยนตรกิจ ให้บีเอ็มดับบลิว เอจี ได้รับรู้ โทษฐานที่ตัดสายสัมพันธ์ซึ่งมีมาเก่าแก่ถึงกว่า 30 ปีอย่างไร้เยื่อใย แต่นึกแล้วก็น่าเสียดายไม่น้อยสำหรับยนตรกิจ กรุ๊ปเอง เพราะเป็นผู้ที่สร้างตำนานบีเอ็มดับบลิวในไทยมากับมือ

แต่ถ้ายนตรกิจ กรุ๊ป ยังคงรอคอย และแบกรับสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับ 6 ยี่ห้อ 4 กลุ่มบริษัทอยู่ต่อไป สถานการณ์โดยรวมก็น่าที่จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก และเมื่อถึงที่สุดแล้ว อาจไม่มีใครเห็นหัวยนตรกิจ กรุ๊ป เหมือนเมื่อครั้งที่ฟอร์ดจากอเมริกาได้กระทำไปแล้วก็ได้

ทายาทผู้สืบสานอาณาจักร คงต้องลบรอยเท้าแห่งอดีตเสียแล้ว ไม่เช่นนั้น ยนตรกิจ กรุ๊ป คงเหลือเพียงชื่อเท่านั้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us