บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจ อีกแห่งหนึ่งที่ยังไม่สามารถหาเอกชนเข้ามาร่วมทุนได้อย่างแท้จริง
ด้วยความขัดแย้งในการตั้งสายการเดินเรือ แห่งชาติ (ไทย) แต่ต้องอาศัยบริษัทเรือเอกชนต่างประเทศมาช่วย
การประมูลเพื่อขายหุ้น บทด. เพื่อการแปรรูปนั้นมีความชัดเจนเป็นครั้งแรกในรัฐบาลของอานันท์
ปันยารชุน และมีผลต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาล ชวน หลีกภัย ในช่วงต่อเนื่องกัน
ครั้งนั้น กลุ่มบริษัท จุฑานาวี ร่วมกับ บริษัท โหงวฮก จำกัด และธนาคารไทยพาณิชย์
(มหาชน) จำกัด ได้รับการคัดเลือก โดยจะเป็นผู้เข้าซื้อหุ้น 55% ราคาหุ้นละ
35 บาท แต่นายบุญชู โรจนเสถียร รองนายกรัฐมนตรีทำหนังสือคัดค้านไปที่กระทรวงคมนาคม
ผ่านทาง พ.อ.วินัย สมพงษ์ ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนากองเรือพาณิชย์นาวีของไทยเอง
ไม่ใช่การประมูล บทด.ให้กับเอกชนไป
การประมูลยกเลิกในเวลาต่อมา เมื่อเกิดการประมูลใหม่ ในปี 2537 บริษัท พาราชิปปิ้ง
จำกัด เป็นผู้ประมูลได้ แต่ก็มีการรื้อฟื้นเรื่องการถือหุ้นของบริษัทเรือต่างประเทศคือ
NOL (Neptune Orient Lines) สายการเดินเรือของสิงคโปร์ใน บริษัท พาราฯ ทำให้ผลการประมูลต้องยกเลิกในเวลาต่อมาอีกครั้ง
การแปรรูป บทด.จึงไม่ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในสมัยของรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มีสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ได้ตั้งคณะกรรมการจัดตั้งกองเรือแห่งชาติ เพื่อพิจารณาแก้ปัญหากองเรือพาณิชย์นาวีของไทย
โดยกำหนดแนวทางไว้ 3 แนวทางคือ การแปรรูป บทด., การตั้งบริษัทใหม่ ที่ถือหุ้นโดยส่วนราชการ
รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เป็นสายการเดินเรือแห่งชาติรายใหม่ และการตั้งบริษัท
โฮลดิ้ง คอมพานี เข้าดูแลกิจการของ บทด.
ผลปรากฏว่ามติของคณะกรรมการเมื่อเดือนเมษายน 2540 ได้ข้อสรุปคือ การตั้งกองเรือแห่งชาติเป็นบริษัทรายใหม่
ซึ่งมีรูปแบบเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี ให้เอกชนถือหุ้นร่วมกับรัฐบาลในสัดส่วน
70 ต่อ 30 ซึ่งในการตัดสินใจครั้งแรกนั้นไม่ได้มีการสรุปว่า สมาคมเจ้าของเรือไทย
กับสมาชิกจะได้ถือหุ้นในสัดส่วนเท่าไรสรุปเพียงแต่ถือหุ้นไม่เกิน 25% ส่วนอีก
45% ที่กันไว้ไม่บอกว่าจะเป็นใครแน่
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นบริษัทเรือจากต่างประเทศ ประธานกรรมการชุดนี้คือ
มหิดล จันทรางกูร ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ที่ไม่ยอมเฉลยว่าหุ้นที่กันไว้นั้นควรเป็นของใคร
การไม่ได้สรุปว่าผู้ถือหุ้นรายใหม่จะเป็นใครนั้น อาจเป็นความขัดแย้งกับนโยบายเดิม
ที่ไม่ต้องการให้บริษัทเรือต่างประเทศเข้ามาบริหารงานสายการเดินเรือแห่งชาติของไทย
เพราะไม่ได้กำหนดไว้เลยว่าบริษัทเรือควรเป็นของไทยหรือไม่
หลังการพบปะหารือระหว่างพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
กับสุเมธ ตันธุวนิตย์ ในฐานะประธานสมาคมเจ้าของเรือไทย ก็ได้ข้อสรุปว่า พินิจต้องการให้สมาคมฯ
ทำการจองหุ้นใน บทด. เพิ่มอีก 26% ซึ่งเท่ากับสมาคมฯ ได้รับหุ้น 51% ซึ่งได้รับความสนใจจากสมาชิกประมาณ
30 รายจาก 50 ราย
แต่ก็เป็นช่วงไม่นานที่มีการเสนอของบริษัทเรือ Cosco ของจีนว่าต้องการเข้ามาร่วมบริหาร
บทด.
ดูเหมือน "บิ๊กจิ๋ว" กับ "พินิจ" จะพอใจกับเงื่อนไขของจีน
บริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นมาจะได้รับสิทธิพิเศษในเรื่องการขนส่งสินค้าหลายอย่างจากทางรัฐบาลไทย
เพียงรายเดียว จากที่รัฐบาลเคยให้สิทธิต่างๆ เช่นที่ให้กับ บทด.เดิม, บริษัท
ยูนิไทยชิปปิ้ง จำกัด , องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์
ยกตัวอย่างสิทธิพิเศษก็คือ การขนส่งสินค้ารัฐบาลรวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์
น้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ สินค้าตามโครงการต่างๆ ของรัฐบาล การได้รับสิทธิในการบริหารงานท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่
2 การให้บริการ ไอซีดี ของการรถไฟที่ลาดกระบัง การได้รับสิทธิพิเศษในการใช้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กับ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม
แห่งประเทศไทย
พล.อ.ชวลิตดูเหมือนจะหนุน Cosco เต็มตัวทั้งที่ก่อตั้งได้ไม่นาน มีความพยายามเสนอข้อเสนอพิเศษหลายอย่างมาทาง
พล.อ.ชวลิต เช่น การนำเรือขนาดใหญ่เข้ามารับส่งสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง
การจัดหาเรือสินค้ามารับส่งสินค้าให้
มีผู้ระบุว่าแรงหนุนส่วนหนึ่งมาจากวิโรจน์ อมตกุลชัย กับประธานสมาคมชิปปิ้ง
แต่เสียงคัดค้านการปล่อยให้บริษัทต่างชาติฮุบกิจการ ยังมีการคิดวิธีปรับปรุงสัดส่วนหุ้นเกิดขึ้นตลอด
เมื่อมีแรงต้านบริษัทเรือต่างชาติให้คงหุ้นที่ 25% ฝ่าย บทด.ถือหุ้น 19%
ที่เหลือ 51% หากสมาคมเจ้าของเรือไทยไม่ยอมรับ ก็คงต้องหาผู้ร่วมทุนรายอื่น
หนึ่งนั้นคือไปดึงบริษัท ยูไนเต็ดไทย ชิปปิ้ง จำกัด กับ บริษัท Cosnam ซึ่งหลายคนรู้ว่าเป็นบริษัทร่วมทุนของ
Cosco และนามยืนยง ที่ตั้งบริษัทในประเทศ ไทย
หากมี Cosnam มาเสริมแน่นอนว่าเท่ากับ Cosco ฮุบกิจการไทยได้จำนวนมาก หลายคนคัดค้าน
เผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีท่าทีว่าหนุน Cosco
เพราะไม่ต้องการให้สมาคมเจ้าของเรือไทยถือหุ้น 51% ด้วย เกรงว่าฝ่ายไทยจะมีหุ้นถึง
75% มากกว่าของจีน แต่แรงต่อต้านต่างชาติยังมีอยู่ เผดิมชัยจึงเปลี่ยนเสียงยอมให้สมาคมเจ้าของเรือไทยถือหุ้นได้ตามที่ขอ
แต่เป็นเหมือนลองเชิง
ฝ่ายสมาคมเจ้าของเรือไทย โดยสุเมธนั้นเสนอเงื่อนไข 11 ข้อไปที่กระทรวงคมนาคม
เป็นเรื่องเกี่ยวกับซื้อหุ้น และการดูแลกิจการ บทด. หากไม่เป็นไปตามที่ขอ
สมาคมก็คงไม่ร่วม
สุเมธเองก็ย้ำว่า หากบริษัทตั้งใหม่เป็นกิจการที่ออกไปช่วยขยายตลาดโลกก็น่าที่จะส่งเสริม
แต่หากเป็นการตั้งใหม่ แล้วมาแย่งตลาดกันเองก็ไม่สมควร ต้องดูด้วยว่าผลประโยชน์ที่บริษัทใหม่ได้
ใครจะเป็นผู้รับไป ไม่ใช่เพราะสมาคมฯ ต้องการขัดขวางการพัฒนา แต่ต้องดูให้ถ่องแท้ถึงผู้ที่รับผลอย่างแท้จริงว่าควรเป็นประเทศไทยมากกว่า
จึงมีการคาดเดาว่าแม้ได้รับหุ้น 51% สมาคมฯ ก็คงไม่รับถือหุ้นใน บทด.เพราะไม่ต้องการลงทุนเพิ่ม
แต่ต้องแข่งกับสายเดินเรือของตนเอง ให้ลดส่วนแบ่งตลาดลงไป ตัวแปรก็คือ ยูไนเต็ดไทยฯ
ของสุธรรม จิตรานุเคราะห์ กรรมการบริหาร ที่มีชวลิต เชา ชาวฮ่องกงแปลงสัญชาติเป็นไทยกุมบังเหียนอยู่
ขึ้นอยู่กับว่าอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บทด.ต้องการให้ใครเข้ามาร่วมกิจการ
บทด. ตัวเขาเองคงไม่เกี่ยงว่าจะมาจากจีนหรือฮ่องกง เพราะกอร์ดอน วู แห่งโฮปเวลล์ก็เป็นคนฮ่องกงไม่ใช่หรือ?