ในปีที่ผ่านมาซีคอนเป็นบริษัทที่ไม่ได้เอาพนักงานออก ไม่ได้ลดเงินเดือน
ไม่ได้ลดโบนัส เราก็ถือว่าเราผ่านช่วงนั้นมาได้ดีพอสมควร" กอบชัย ซอโสตถิกุล
กรรมการผู้จัดการบริษัทซีคอน จำกัด กล่าวยืนยันความมั่นคงของบริษัท
ในช่วงประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจรับสร้างบ้านก็เจอผลกระทบ ในเรื่องความตกต่ำของภาวะเศรษฐกิจเข้าอย่างจังเช่นกัน
หลายบริษัทจึงได้ปิดตัวไปอย่างถาวรแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา แม้แต่ยักษ์ใหญ่ในวงการที่เคยแข่งรัศมีกับบริษัทซีคอนมาตลอด
อย่างบริษัทสตาร์บล็อคก็เจอปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทซีคอนจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย กอบชัยยอมรับว่าธุรกิจหลักคือการรับสร้างบ้านที่ทำมาตลอดเวลา
37 ปีของซีคอนนั้นกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
"ครึ่งปีแรกยังไม่หนักหนาเท่าไหร่ ยังพอมีงานเข้ามาบ้างแต่ครึ่งปีหลังเรียกได้ว่าทรุดฮวบลง"
ซึ่งสาเหตุสำคัญนอกจากการตกต่ำของภาวะเศรษฐกิจแล้ว ก็ถูกกระหน่ำซ้ำด้วยการปิดสถาบันทั้ง
56 แห่ง ทำให้ลูกค้าหลายรายที่ต้องการบ้านอยู่จริงไม่สามารถเอาเงินมาทำการสร้างบ้านได้
ในขณะเดียวกันทางธนาคารก็เข้มงวดอย่างมาก ในการปล่อยสินเชื่อเพื่อการก่อสร้างที่อยู่อาศัย
ปี 2540 ยอดรายได้ของบริษัทซีคอนที่ สุธี เกตุศิริ มือขวา และลูกหม้อเก่าแก่ของกอบชัย
และขณะนี้มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสายงานบริหาร และการเงินยืนยันว่าลดลง
30% เป้าที่วางไว้จาก 1,000 ล้านบาท จึงทำได้เพียง 700 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วนในปีนี้นอกจากรายได้หลักที่จะมาจากธุรกิจรับสร้างบ้าน และสายงานก่อสร้างโครงการแล้ว
ซีคอนยังพุ่งเป้าไปยังงานขององค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.) สิ่งที่จุดประกายความคิดของซีคอน
ในเรื่องนี้ก็คือในเดือนมีนาคม 254 เมื่อทาง ปรส.จัดให้มีการขายลูกหนี้ทอดตลาด
ก็จะมีกลุ่มผู้ร่วมลงทุนใหม่เข้ามารับผิดชอบงานตรงนี้ สิ่งแรกที่นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวต้องจัดการก็คือ
จะต้องจัดหาผู้รับเหมาที่มีศักยภาพแข็งแกร่ง จัดการทางด้านงานก่อสร้างที่ค้างคาให้เสร็จโดยเร็วที่สุด
"ในจำนวนเงิน 8 แสนล้านบาทของทรัพย์สินที่ถูกประเมินไว้แน่นอน มูลค่าของมันอาจจะลดต่ำลงมา
30-40% แต่ในส่วนของอสังหาฯ จะมีอยู่ประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นปัญหาของงานก่อสร้างที่ยังไม่เรียบร้อย"
สุธีอธิบายเพิ่มเติมและย้ำว่า ทางซีคอนมีความพร้อมอย่างมากที่จะไปรับงานตรงนั้น
และขณะนี้ได้มีการเตรียมรับมือในเรื่องนี้อย่างเต็มที่
นับว่าเป็นโชคดีของบริษัทซีคอน จำกัดที่มี กอบชัย เป็นผู้นำองค์กรที่มีบุคลิกค่อนข้างระมัดระวังตัวในการขยายกิจการ
เกือบ 37 ปีที่ผ่านมา ซีคอนเป็นบริษัทที่ถูกมองว่ามีการบริหารงานแบบอนุรักษนิยมอย่างมากบริษัทหนึ่ง
แม้ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจรับสร้างบ้าน แต่ก็ไม่ได้ขยายงานไปยังธุรกิจอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้อง เช่น งานทางด้านพัฒนาที่ดิน ทั้งๆ ที่ซีคอนเองก็มีความพร้อมทั้งในเรื่องแลนด์แบงก์
เงินทุน และทีมงาน รวมทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการก่อสร้าง
ในขณะที่บริษัทสตาร์บล็อคที่เติบโตจากธุรกิจรับก่อสร้างบ้านเช่นกัน ได้ขยายกิจการลงทุนไปยังบริษัทพัฒนาที่ดินอื่นๆ
อย่างมากมาย รวมทั้งเข้าไปผงาดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ช่วงเวลาหนึ่ง
แต่ ณ วันนี้ คนในบริษัทซีคอนคงต้องขอบคุณที่เจ้านายของเขาชื่อกอบชัย ไม่ใช่
สุเทพ บูลกุล แห่งสตาร์บล็อคที่เก่งกาจ และมีวิสัยทัศน์เป็นเยี่ยมคนนั้น
ธุรกิจพัฒนาที่ดินซึ่งซีคอนได้เข้าไปลงทุนอย่างใหญ่โตหวือหวา เห็นจะเป็นโครงการซีคอนสแควร์
ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่พื้นที่กว่า 87 ไร่ บนถนนศรีนครินทร์ และเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดประเทศไทยขณะนี้
กอบชัยให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการรายเดือน" เรื่องที่ไม่ยอมลงทุนในโครงการพัฒนาที่ดินใดๆ
เลยว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นโครงการที่ดีก็จริง แต่ความเสี่ยงสูงมาก
ก็เลยไม่ตัดสินใจทำ ส่วนที่ตัดสินใจทำโครงการซีคอนสแควร์เป็นเพราะส่วนหนึ่งเป็นที่ดินของตนเอง
รวมทั้งได้ผู้ร่วมลงทุนซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ดีด้วย
นอกจากโครงการซีคอนสแควร์ แล้ว บริษัทในเครือยังประกอบไปด้วย บริษัทนันยางผลิตรองเท้านันยาง
บริษัท ไทยชูรสจำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผงชูรสตราชฎาและผงชูรสตราถ้วยไทย
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2504 บริษัท เซาท์อีสเอเชียก่อสร้าง (เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทซีคอนเมื่อปี
2514) ได้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งนำโดยวิชัย ซอโสตถิกุล
ซึ่งต่อมาได้มอบหมายให้กอบชัย บุตรชายที่สำเร็จการศึกษาจากวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์
ประเทศออสเตรเลีย มารับผิดชอบงานแทน
หลังจากเข้ามารับผิดชอบงานในบริษัท กอบชัยก็ได้พยายามศึกษาค้นคว้าและพัฒนาระบบการก่อสร้างแบบธรรมดา
ให้เป็นแบบกึ่งสำเร็จรูป โดยได้ปรับปรุงรูปแบบเป็นการผลิตส่วนประกอบที่เป็นโครงสร้างจากโรงงาน
นำมาประกอบการติดตั้ง ณ สถานที่ก่อสร้าง หรือที่เรียกกันว่าระบบซีคอน ซึ่งสามารถทำให้การก่อสร้างรวดเร็วและได้มาตรฐานขึ้น
ผลงานชิ้นแรกๆ ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างนี้ก็คือโครงการตึกแถวย่านมหานาค,
ตึกแถวย่านสยามสแควร์, โรงภาพยนตร์สยาม, ลิโด, สกาลา, โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล,
รวมทั้งมีการเคหะแห่งชาติเป็นลูกค้ารายใหญ่มาโดยตลอด ในงานสร้างแฟลตที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย
ซึ่งแต่ละโครงการได้นำเอาระบบซีคอนมาใช้ในการก่อสร้างด้วย
ต่อมาในปี 2514 บริษัทได้เริ่มงานใหม่คือ บริการรับสร้างบ้านด้วยระบบซีคอน
บริการให้ลูกค้าที่มีที่ดินของตนเอง โดยใช้ระบบ "สร้างให้ก่อนผ่อนทีหลัง"
วิธีการก็คือหากลูกค้าบางรายไม่มีเงินสดที่จะชำระ บริษัทจะหาแหล่งเงินกู้ให้
รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าอีกหลายเรื่อง เช่น การขออนุญาตปลูกสร้าง
การขอเลขที่บ้าน การขอประปา และไฟฟ้า ซึ่งธุรกิจนี้ต่อมาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
และทำให้เกิดบริษัทรับสร้างบ้านเกิดขึ้นอีกมากมายหลายบริษัท
ปัจจุบันรายได้หลักของซีคอนมาจากธุรกิจหลักสองสายคือ ธุรกิจรับสร้างบ้านบนที่ดินของลูกค้า
และในสายของงานก่อสร้างโครงการ
ในธุรกิจรับสร้างบ้านนั้นเกือบตลอดเวลาที่ผ่านมา ซีคอนจะมีรูปแบบบ้านสำเร็จรูปให้ลูกค้าเลือกหลายสิบแบบ
โดยที่ผ่านมาจะยึดกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลางเป็นลูกค้ากลุ่มหลัก ราคาบ้านที่กำหนดไว้จะอยู่ระหว่างราคา
6 แสนบาทถึง 5 ล้านบาท แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในระยะหลัง
ซีคอนก็ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการใหมเช่นกัน เช่น ยอมให้ลูกค้าออกแบบบ้านได้เอง
โดยไม่จำเป็นต้องใช้แบบบ้านของบริษัทเท่านั้น หรือการรับสร้างบ้านที่ราคาแพงสูงกว่า
5 ล้านบาทขึ้นไป
เป็นเรื่องจำเป็นที่ซีคอนต้องให้โอกาสตัวเองเพิ่มขึ้น และเป็นการหารายได้เพิ่มขึ้นด้วย
แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบบ้านยอดนิยมของกลุ่มลูกค้าซีคอนยังอยู่ที่ระดับราคา
1.2 ล้าน-3 ล้านบาท
ส่วนทางด้านก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่นั้น หลังจากเริ่มพัฒนาธุรกิจการก่อสร้างมาเป็นบริการรับสร้างบ้านด้วยระบบซีคอน
ตั้งแต่ปี 2514 ทางบริษัทก็หันมาให้ความสำคัญกับงานรับสร้างบ้านเป็นส่วนใหญ่
จนกระทั่งกลายเป็นรายใหญ่ระดับต้นๆ ในตลาด ทางซีคอนเพิ่งกลับมาให้ความสำคัญกับสายงานก่อสร้างโครงการใหม่
เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้เอง เพราะบริษัทมองว่าเมื่อยังมีศักยภาพตรงนี้อยู่ก็น่าจะเอามาใช้เพื่อผลประโยชน์สูงสุด
งานแฟลตสำเร็จรูป, โรงงานสำเร็จรูป, รวมทั้งโครงการที่พักอาศัยในรูปสวัสดิการของบริษัทใหญ่ๆ
เช่น โครงการบ้านพักระดับหัวหน้าบริษัทของบริษัทซันโยยูนิเวอร์แชล อีเลคทริคจำกัด
(มหาชน) ในนิคมกบินทร์บุรี 150 หลัง โครงการบ้านพักอาศัยสำหรับผู้บริหารระดับสูง
ในโครงการกันตะอุทยานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จึงเป็นตลาดใหม่ที่ซีคอนโหมบุกอย่างหนักในช่วงปีหลังๆ
นี้จนในปี 2540 ที่ผ่านมาสามารถทำรายได้ให้กับบริษัท โดยอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับสายงานรับสร้างบ้าน
ส่วนในปี 2541 นอกเหนือจากงานเดิมในสายงานโครงการ ทางซีคอนยังเน้นหนักไปทางออกแบบโรงงานให้กับนักอุตสาหกรรมต่างๆ
อีกด้วย
มีความเป็นไปได้มากว่า ในปีนี้งานสายโครงการของซีคอนจะมีความเติบโตมากกว่าสายรับก่อสร้างบ้าน
เพราะงานก่อสร้างบ้านจะยังมีปัญหาเรื่องที่สถาบันไม่ค่อยยอมปล่อยเงินกู้
รวมทั้งประเมินราคาที่ดินต่ำเกินไป ทำให้ลูกค้าบางรายอาจจะชะลอการก่อสร้างงานใหม่ไปก่อน
ในขณะที่งานโครงการจะรับงานจากบริษัทใหญ่ที่มีความั่นคงทางด้านการเงินมากกว่า
ในปีนี้รายได้จากงานหลักสองสายนี้ซีคอนตั้งเป้าไว้เพียง 700 ล้านซึ่งเท่ากับตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงในปี
2540 ซึ่งคาดว่าจะเป็นรายได้ในแต่ละสายๆ ละ 350 ล้าน แน่นอนว่าแม้จะเป็นตัวเลขเดิม
แต่ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายนักแน่นอน เมื่อเร็วๆ นี้ ซีคอนก็ยังได้มีแคมเปญใหม่ให้ค่าเช่าบ้านตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง
เพื่อกระตุ้นลูกค้าอีกทางหนึ่งด้วย (รายละเอียดในล้อมกรอบ) รวมทั้งออกแบบบ้านใหม่ๆ
มาเพื่อให้ลูกค้า มีสิทธิเลือกได้มากขึ้น
การบริหารต้นทุนเป็นสิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของบริษัทในช่วงเวลานี้
"ยอมรับว่าตอนนี้ต้นทุนยังแกว่งมาก ขณะนี้ราคาขายส่งกับราคาขายปลีกต่างกันประมาณ
6% ถ้าราคาน้ำมันเพิ่ม เงินเฟ้อขึ้น ราคาวัสดุก่อสร้างก็ต้องขึ้น แต่ผมมีความมั่นใจต่อซัปพลายเออร์
เพราะทำการค้ามาด้วยกันเป็นสิบๆ ปี เพราะฉะนั้นมั่นใจว่าเขาก็ไม่ทิ้งเรา"
สุธีกล่าว และอธิบายเพิ่มเติมว่า จุดนี้เป็นจุดแข็งของบริษัทที่อาจจะบล็อกราคาของงานไว้ได้
ตามที่กำหนดและทำให้มั่นใจในการบริหารต้นทุน
"แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการปรับราคาขึ้นมาบ้าง เอากันไม่อยู่หรอกครับ
ถ้าไม่ขึ้นซีครับอันตราย ผู้บริโภคควรตรวจสอบให้ดีว่า บ้านจะมีคุณภาพอย่างที่บอกจริงหรือเปล่า"
สุธียืนยันว่าเรื่องปรับราคานั้นต้องปรับแน่ แต่จะน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับการบริหารต้นทุนที่ดีกว่า
การมีสายสัมพันธ์ที่ดี ถ้าบริษัทใดสามารถจ่ายอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า เร็วกว่า
และเข้มแข็งกว่ากัน ตรงนั้นจะรักษาค่าใช้จ่ายให้ลดลงเพื่อที่จะได้ไม่ต้องขึ้นราคามาก
ส่วนราคาบ้านของซีคอนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ในเร็วๆ นี้
ส่วนหัวใจหลักในการทำรายได้ให้ทะลุเป้าจาก 700 ล้านเป็นพันกว่าล้านบาทให้ได้นั้น
ทางบริษัทซีคอนฝากความหวังอย่างมากกับงานของ ปรส.
ณ วันนี้ ซีคอนมีทีมงานก่อสร้างที่โรงงานมีอยู่ประมาณ 300 คน และที่หน้างานก่อสร้างมีชุดทีมก่อสร้าง
ประมาณ 50 ชุดรวมคนแล้วประมาณ 1,000 คน และในส่วนของงานโครงการอีกประมาณ
300 คน ซีคอนหวังว่าจากความพร้อมของทีมงานที่มี จะคว้างานมาได้ประมาณ 3-4
โครงการใหญ่ๆ และอีก 2-3 โครงการเล็กๆ ในปี 41
โครงการใหญ่ที่ว่านี้ก็ต้องเกินกว่า 100 ยูนิตขึ้นไปส่วนโครงการเล็กๆ ก็คงประมาณ
30-40-50 ยูนิต ศักยภาพของซีคอน รับได้ไม่ต่ำกว่า 1 พัน ยูนิต สำหรับปี 41
ปีเดียว ส่วนงานปีต่อไปก็จะทยอยรับไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับงานเก่าที่จะค่อยๆ
ทยอยสร้างเสร็จไป
"เรามีเครดิตดี มีประสบการณ์ และมีวัสดุก่อสร้างที่ทันสมัยทำให้การก่อสร้างเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว
ผมเชื่อว่าเรามีศักยภาพตรงนี้ เราจึงหวังเต็มที่ว่าเราจะเข้าไปติดต่อกับเจ้าของเดิมหรือเจ้าของใหม่
เพื่อไปรับงานก่อสร้างมาทำ โดยเฉพาะโครงการที่มีกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อ
ซึ่งพวกนี้จะไม่มีคนที่จัดการทางด้านโครงการทางด้านตลาด ทางด้านงานก่อสร้าง
ซึ่งเราสามารถเข้าไปช่วยได้ทั้งหมด"
การระวังตัวในการขยายงาน ไม่กู้เงินนอก และมีผลประกอบการที่ดีทำให้ทางบริษัทมั่นใจมากว่า
เป็นกลุ่มที่มีเครดิตที่ดี ประกอบกับเมื่อสภาพเศรษฐกิจมีปัญหา ทางซีคอนก็ยังให้ความสำคัญในการรักษาทีมงาน
เพื่อเตรียมรับงานใหม่ และที่สำคัญซีคอนมีระบบการก่อสร้างที่เอื้ออำนวย พื้นสำเร็จรูป
หรือผนังสำเร็จรูปทำให้ซีคอนสามารถรับงานก่อสร้างได้เป็นจำนวนมาก และสามารถทำการก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว
สามารถลดต้นทุน และลดดอกเบี้ยได้ด้วย
ถึงแม้ผู้บริหารของซีคอนจะมั่นใจศักยภาพของความพร้อมในเรื่อง ทีมงานระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย
แต่ในเรื่องการเงินนั้นไม่ค่อยมีความกระจ่างชัดนักว่า ซีคอนจะมีสภาพความคล่องทางการเงินเป็นอย่างไร
และมีความพร้อมในการเตรียมรับงานใหญ่ที่หวังไว้หรือไม่
"มีเงินทุน 100 ล้านเราสามารถทำงานได้ถึง 1,000 ล้านบาท ฉะนั้นเรื่องเงิน
เรื่องสภาพคล่องนี้ไม่มีปัญหาเลย เรามีวงเงินโอดีไม่ต่ำกว่า 60 ล้าน เงินหมุนเวียนเราก็มีถึง
100 ล้าน การทำแบงก์การันตี เราก็อาจจะไม่ต้องใช้เงินไปวาง ใช้เครดิตนี่ล่ะไปวาง
ในขณะที่บริษัทเล็กต้องเอาเงินไปวาง การทำงานเองก็มีการแบ่งเป็นงวดๆ มีเงินล่วง
หน้าจากเจ้าของโครงการมาช่วยด้วย" กอบชัยย้ำถึงความมั่นใจ
แน่นอนเค้กก้อนนี้เป็นเค้กก้อนใหญ่ของ ปรส.ที่กำลังโชยกลิ่นหอมหวาน ทำให้วงการก่อสร้างเริ่มคึกคักขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ผู้รับเหมารายใหญ่ในตลาดเองที่ร้างงานมานาน ก็เตรียมลดเพดานบินลงมาตะครุบ
บริษัทก่อสร้างรายกลางๆ หรือรายเล็กๆ เอง ก็พยายามหาวิธีการสร้างภาพของตนให้เป็นที่ยอมรับ
เพื่อไม่ให้พลาด