รถยนต์ 500 คันแรกถูกขายออกไปได้ท่ามกลางความปลาบปลื้มของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
ผู้ซื้อนั้นคงปลื้มใจที่ว่าพวกเขาได้ของดีราคาถูกไปใช้ ส่วนผู้ขายก็ปลื้มเพราะขายของได้และได้เกินเป้าจากที่ตั้งราคากลางไว้ค่อนข้างมากถึง
20%
ความสำเร็จในครั้งนั้นสืบเนื่องมาจากการทำตามขั้นตอน ที่ IMF ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด
นับตั้งแต่การประกาศปิด 56 ไฟแนนซ์ การเข้าไปควบคุมกิจการโดยผู้จัดการเฉพาะกิจ
จนกระทั่งถึงการประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งทุกขั้นตอนต้องถือว่าทั้งทางการโดยกระทรวงการคลัง
ปรส. และทีมผู้จัดการเฉพาะกิจ ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี นั่นเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็น
แต่ใครจะรู้บ้างว่าเบื้องหลังการถ่ายทำมีความยากลำบากและสลับซับซ้อนอย่างไรบ้าง
ที่สำคัญถ้าภารกิจในช่วงนั้นไม่เรียบร้อย อะไรจะเกิดขึ้นกับเราในช่วงนี้ก็เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาได้....
ชั่วโมงวิกฤต
พายุร้ายเริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้งในบ่ายวันที่ 7 ธันวาคม 2540 หลังจากที่เคยมีคลื่นลมของข่าวลือเรื่องการปิดไฟแนนซ์
มาก่อนหน้านี้แล้ว
ดร.ชัยยุทธ ปิลันธน์โอวาท ประธานกรรมการ บริษัท สินบัวหลวง ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลัง
เพื่อให้รับหน้าที่แกนนำในการจัดทีมผู้จัดการเฉพาะกิจ (Special Managers
: SMs) เพื่อเตรียมตัวเข้าปฏิบัติการควบคุมบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกประกาศปิดกิจการ
โดยในเช้าของวันที่ 8 ธันวาคม ผู้จัดการเฉพาะกิจจะต้องเข้าพื้นที่เป้าหมายพร้อมกันทั่วประเทศ
122 แห่ง!!
"ใครก็ตามแต่ที่ไปอยู่ที่กระทรวงการคลังในวันที่ 7 ธันวาคม เวลาบ่าย
2 โมง จะรู้เลยว่าเป็นภารกิจที่เรียกว่า ถ้าเราไม่ช่วยกันกู้ชาติในวันนั้นนะ
อันตรายมาก เครียดกันทั้งกระทรวงเลย เพราะเราถือว่าเป็นไปไม่ได้ที่คนไทยจะทำไม่ได้
มันจึงเกิดศักดิ์ศรีของคนไทยที่รวมกลุ่มกัน เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำในวันนั้นว่า
สินบัวหลวงจะเป็นแกนในการจัดทีมผู้จัดการเฉพาะกิจ เพราะในวันนั้นมีทั้งทีมสำนักงานผู้สอบบัญชีคนไทย
4-5 บริษัท และมีทีมไอที (คอมพิวเตอร์) จาก 3 ธนาคาร คือ ธ.กรุงเทพ, ธ.กสิกรไทย
และ ธ.ไทยพาณิชย์ รวมกันอยู่ในเหตุการณ์นั้น เพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติภารกิจร่วมกันในเช้าวันที่
8 ธันวาคม" ดร.ชัยยุทธกล่าว
ผลดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากในหลักการเดิมนั้น เมื่อทางการประกาศปิดไฟแนนซ์แล้ว
จะต้องมีทีมผู้จัดการเฉพาะกิจเข้าไปดูแลแทนผู้บริหารเดิมในพื้นที่ 56 สำนักงานใหญ่
และ 64 สาขาต่างจังหวัด เพื่อให้ธุรกรรมบางอย่างดำเนินต่อไปได้โดยไม่เสียหาย
อาทิ การชำระเงินของลูกหนี้ไฟแนนซ์ทั้งหลาย รวมทั้งการเข้าไปปกป้องทรัพย์สินของบริษัทไม่ให้สูญหาย
ทีมผู้จัดการเฉพาะกิจที่กำหนดไว้ตามความเห็นชอบของทางการไทย รวมทั้ง IMF
และ World Bank นั้นเป็นบริษัทต่างชาติ แต่เนื่องจากบริษัทดังกล่าววางเงื่อนไขในการเข้ามาทำงานครั้งนี้ไว้สูงมาก
จนรัฐบาลไทยไม่สามารถรับได้ จึงจำเป็นต้องหาผู้ที่จะมาทำหน้าที่ผู้จัดการเฉพาะกิจคนไทยแทน
ทั้งนี้ทีมงานดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบและผ่านเกณฑ์จาก IMF และ World
Bank ด้วยเช่นกัน
"ในช่วงบ่ายวันที่ 7 ธันวาคม เวลาบ่ายโมงครึ่งโดยประมาณ ทางเราเอง
(บ.สินบัวหลวง) ได้รับโทรศัพท์จากกระทรวงการคลังหารือว่า เป็นไปได้ไหมที่สินบัวหลวงจะจัดทีมงานผู้จัดการเฉพาะกิจเข้าปฏิบัติหน้าที่
ซึ่งเรียนด้วยความสัตย์จริงว่า เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำในขณะนั้นว่า ขอบเขตงานทั้งหมดจริงๆ
มีอะไรบ้าง" ดร.ชัยยุทธกล่าวและเสริมว่า
"เราเองค่อนข้างตกใจพอสมควรเพราะผมได้รับโทรศัพท์เวลาบ่ายโมงครึ่ง
แล้วมีเวลาคิดปรึกษาหารือกับทีมงานเพียง 15 นาที เพื่อที่ทางการจะต้องรีบนำชื่อของบริษัทสินบัวหลวงไปขอความเห็นชอบจาก
IMF เสียก่อนว่า จะยอมรับหรือไม่ภายในเวลาบ่าย 2 ก็นับว่าในเวลานั้นจะเรียกว่า
ชั่วโมงวิกฤต ทีเดียว"
หลังจากรับปากและได้รับความเห็นชอบจาก IMF แล้ว ทีมงานระดับหัวหน้าผู้บริหารของสินบัวหลวงถูกเรียกตัวมาประชุมตั้งแต่ประมาณ
17.00 น. ไปจนถึงตี 2 ของวันใหม่ เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจเพื่อชาติในครั้งนี้
"เนื่องจากเป็นปฏิบัติการที่ไม่มีเวลาเตรียมตัวมากนัก เพราะในวันรุ่งขึ้นของวันที่
8 ธันวาคม เวลา 8 โมงครึ่ง ทางการจะทำการปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กี่แห่งเราก็ไม่ทราบ
ดังนั้นวิกฤตนี้ถ้าหากว่าเราไม่กระโดดเข้าไปช่วยกันในช่วงนั้น มันก็จะเป็นวิกฤตตัวใหม่เกิดขึ้นมาทันที"
ดร.ชัยยุทธกล่าว
ภาวการณ์ขณะนั้นก็ไม่ผิดจากที่ ดร.ชัยยุทธพูดไว้ เพราะหากไม่มีใครเข้ามาช่วย
ในขณะที่ทางการต้องประกาศปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แล้วไม่มีมาตรการรองรับ
โดยที่มีผู้จัดการเฉพาะกิจเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ทันที เหตุการณ์ก็คงโกลาหลกันพอสมควรทีเดียว
และคาดว่า IMF ก็คงไม่ยอมซึ่งก็ต้องกลับไปที่เก่าก็คือ มอบให้ต่างชาติทำ
ปัญหาก็จะวนกลับมายังสิ่งที่ ดร.ชัยยุทธพูดถึงหลายครั้งในการแถลงข่าวคือ
เงื่อนไขที่เขียนไว้ค่อนข้างแรงเกินจนรัฐบาลไทยรับไม่ได้เลย
"เวลาเตรียมตัวมีน้อยกว่า 24 ชั่วโมง คือบ่ายโมงครึ่งของวันอาทิตย์ที่
7 ธันวาคม รุ่งขึ้นวันที่ 8 ธันวาคม เวลา 8 โมงครึ่ง ต้องปฏิบัติการพร้อมกันทั่วประเทศ
ผมคิดว่าต่างชาติเขาคงคิดว่า ไม่มีทางที่ประเทศไทยจะสามารถหาทีมงานผู้จัดการเฉพาะกิจได้
แต่เนื่องจากว่าเป็นปฏิบัติการที่เรียกว่ากู้วิกฤตจริงๆ เราก็เลยไม่มีทางที่จะตอบปฏิเสธ
ด้วยศักดิ์ศรีและสามัญสำนึกของความเป็นคนไทยว่า ถ้าหากว่ามันจะต้องช่วยกันกู้วิกฤต
ก็ถึงทีที่ต้องแสดงศักยภาพให้ต่างชาติได้เห็นว่าคนไทยก็ทำได้"
อาทิตย์แรกก็มีปัญหาแล้ว
เมื่อแรกเข้าปฏิบัติงานในหน้าที่ผู้จัดการเฉพาะกิจ ทีมงานของสินบัวหลวงก็เจอปัญหามากมายพอสมควร
เริ่มตั้งแต่ความเคลือบแคลงสงสัยถึงที่มาของทีมงาน ความอ่อนอาวุโสทั้งด้านคุณวุฒิและวัยวุฒิของผู้ปฏิบัติงาน
เพราะหลายคนหวังไว้ว่าจะเป็นระดับเอ็มดีขึ้นไปที่เข้ามาทำหน้าที่นี้ รวมทั้งปัญหาในเนื้องานที่ทีมผู้จัดการเฉพาะกิจไม่ยอมรับชำระเงินจากลูกค้า
จนถูกกล่าวหาว่าทีมนี้ทำงานเป็นกันหรือเปล่า และปัญหาการไม่ยอมให้ลูกค้าไถ่ถอนโฉนดจนถูกโวยวายมานักต่อนักแล้ว
ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ใช่ว่าทีมงานสินบัวหลวงจะไม่รับรู้หรือไม่ใส่ใจ แต่ด้วยงานเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นก็มากพอสมควร
เนื่องจากเป็นงานใหม่ ทำให้ทีมงานจึงไม่มีเวลามาชี้แจงแถลงข่าวให้ทราบในช่วงนั้น
แต่เมื่อภารกิจสิ้นสุด ความอัดอั้นก็พรั่งพรูออกมามากมาย
เริ่มตั้งแต่ที่มาของสินบัวหลวง ดร.ชัยยุทธได้ไขข้อข้องใจว่า เนื่องจากทางการมีเวลาหาทีมงาน
SM คนไทยน้อยมาก หลังจากที่แน่ใจว่ารับเงื่อนไขของต่างชาติไม่ได้แน่นอน การควานหาตัวทีมงานจึงเกิดขึ้น
สินบัวหลวงเองมีความพร้อมทั้งในแง่เครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศถึง 39
แห่ง เรื่องบุคลากรปูพื้นที่ทั่วประเทศจึงไม่มีปัญหา, มีบุคลากรที่ผ่านการทำงานทางด้านสถาบันการเงินมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากธนาคารพาณิชย์ถัวเฉลี่ยประมาณ 15 ปี ประกอบกับเป็นช่วงแรกของการเปิดดำเนินงานของสินบัวหลวงเอง
งานหลักยังมีไม่มากนัก จึงพอจะปลีกตัวมาช่วยทางการได้ค่อนข้างมาก "จริงๆ
แล้วเราไม่ได้ต้องการเข้ามาใน Mission นี้เลย เรามีธุรกิจหลักของเราอยู่แล้ว
เราไม่ได้ต้องการมาปฏิบัติเพื่อที่จะได้รายได้มาเลี้ยงบริษัท ภารกิจหลักของเราไม่ใช่ตัวนี้"
ดร.ชัยยุทธกล่าว
เมื่อปัญหาที่มาของสินบัวหลวงจางลงจากความสนใจ ปัญหาการทำงานก็ถูกหยิบยกขึ้นมาต่อ
ทั้งในแง่คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานและเนื้องานที่ทำ
บ้างก็วิจารณ์ในเรื่องความรู้ความสามารถว่า SM บางคนจบทางด้านกฏหมายมาจะทำงานเป็นหรือ??
ดร.ชัยยุทธ ตอบว่า "ความรู้เราให้เพิ่มเติมทีหลังได้ อาทิ ด้านสินเชื่อ,
forward contract, การจัดสรรเงิน เพราะเราคัดคนที่มีคุณภาพดีอยู่แล้ว"
ดังนั้น SM ทุกคนจึงต้องเข้ารับการ Training ตลอดเดือนธันวาคม ทุกวันจันทร์-ศุกร์
ตั้งแต่ 1 ทุ่ม จนถึง 5 ทุ่ม และวันเสาร์เต็มวัน เพื่อจะเติมในสิ่งที่ SM
บางคนขาดในบางด้าน เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ จัดเทรนนิ่งอังคาร-พฤหัส ตั้งแต่
1-5 ทุ่ม ตลอดระยะเวลา 2 เดือนครึ่งโดยประมาณ "เพื่อให้เป็นผู้จัดการเฉพาะกิจที่สมบูรณ์แบบและครบทุกด้านจริงๆ
ทุกคนจะถูกฝึกให้ทำงานในมาตรฐานเดียวกันหมด จากศูนย์ปฏิบัติการประสานงานของสินบัวหลวงที่แบ็คให้ผู้จัดการเฉพาะกิจทุกคน
สิ่งเหล่านี้ข้างนอกไม่รู้ แต่ในแง่ผู้ปฏิบัติหรือ ปรส.รู้"
และในท่ามกลางวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ดร.ชัยยุทธ ได้ชี้แจงชนิดทะลุกลางปล้องถึงงานที่ต้องทำว่า
"ผมอยากจะเรียนว่าปฏิบัติการที่เกิดขึ้น เป็นปฏิบัติการที่เข้าไปกู้วิกฤต
ไม่ใช่ปฏิบัติการที่เข้าไปบริหารธุรกิจแบบประเภททำ marketing ที่ต้องเข้ามาขยายธุรกิจ
เป็นปฏิบัติการที่เข้าไปปกป้องเพื่อไม่ให้มันเสียหาย และให้ความเป็นธรรมความเป็นกลางกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เป้าหมายใหญ่ของเราก็คือ การไปติดหมายตามกฎหมาย และการดูแลทรัพย์สินให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด
และสามารถดำเนินธุรกิจบางอย่างไปได้ตามปกติ เช่น ชำระเงิน"
กรณีที่ SM ไม่รับเงินสดในการชำระหนี้ มีข้อชี้แจงว่า "ไม่มีใครไม่อยากรับเงินชำระหนี้
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันโกลาหล เพราะเหตุว่าผู้บริหารถูกปลด ทำให้บริษัทไม่มีหัวแล้ว
ดังนั้น SM ที่เราส่งเข้าไป บริษัทละ 1 คนเท่านั้นเอง เดิมทีเดียวในการบริหารงานจะมีกรรมการบริหารงาน
4-5 คนในแต่ละบริษัท เมื่อ SM เข้าไปต้องไปทำงานแทน 4-5 คน ไหนจะต้องไปเรียนรู้งานใหม่
ไหนจะต้องทำงานแบกรับแทน 4-5 คนที่ถูกทางการถอดออกจากตำแหน่งหน้าที่ ไหนจะต้องดูในแง่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรในเวลาที่พนักงานของบริษัทส่งเรื่องเข้ามา"
ทีมงานจึงสร้างรูปแบบการชำระเงินใหม่ร่วมกับ ปรส. เพื่อให้เกิดความรัดกุมในการทำงาน
และความปลอดภัยในการชำระเงินของลูกค้า โดยการเปิดบัญชีธนาคาร "ปรส.1"
เพื่อให้ลูกค้าสามารถชำระเงินผ่านเข้าบัญชีนี้แล้วนำหลักฐานมาให้บริษัท เพื่อที่บริษัทจะออกใบเสร็จให้โดยไม่มีการส่งพนักงานออกไปรับเงินสด
เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้าหากพนักงานที่ลาออกไปแล้ว ไปเก็บเงินลูกค้า โดยที่บริษัทไม่ได้รับรู้
ความเสียหายก็จะตกกับลูกค้า และเนื่องจากเป็นพื้นที่ทั่วประเทศ การคุมจึงเป็นไปได้ยาก
"เพราะฉะนั้นเราก็เลยตัดปัญหา อย่าให้เกิดความเสี่ยงกับลูกค้าเลย
มันไม่ยุติธรรม ถ้ามีคนไปเก็บเงินลูกค้าแล้วไม่นำเงินเข้าบริษัท เราต้องตัดวงจรการไปเก็บเงินสด
ก็เลยใช้วิธีการเปิดบัญชีธนาคาร ปรส.1 ในช่วง 1-2 อาทิตย์แรกอาจจะมีการสะดุดบ้าง
เพราะลูกค้าอาจจะยังไม่ชิน"
สำหรับลูกค้าที่เดิมจ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคารอยู่แล้วสามารถทำได้ตามปกติ
เพียงแต่ยกเลิกผู้รับมอบอำนาจเดิม คือผู้บริหารเดิมไม่ให้เซ็น แต่ให้ประธานตามมาตรา
30 เซ็นเพียงผู้เดียว เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเงินเข้าไปแล้วอยู่ครบถ้วน อันนี้เพื่อปกป้องให้ทุกคนรวมทั้งเจ้าหนี้ด้วย
อีกกรณีที่เป็นเรื่องฮือฮาในหมู่ลูกค้าคือ เมื่อลูกค้ามาขอไถ่ถอนโฉนดหรือชำระเงิน
แต่ SM ไม่กล้าตัดสินใจให้ไถ่ถอน??
"ในเรื่องนี้ดูเพียงผิวเผินอาจมองว่าใช่แต่ในความเป็นจริงแล้ว เกี่ยวกับกฎหมายจัดสรรจะต้องมีการปลอดจำนองออกไป
ทำให้บุริมสิทธิของบริษัทสูญหายไป ซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องวางกฎกติกาในเรื่องการปลอดจำนองได้เพียงใดนั้น
ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวบริษัทเป็นหลัก ไม่ใช่ความสะดวกของผู้ที่อยากจะไถ่ถอนโดยที่ไม่จ่ายสตางค์เป็นหลักอันนี้ไม่ได้
เพราะเกิดความเสียหายที่เรารับไม่ได้ แต่เวลาคนพูดพูดไม่ครบ" ดร.ชัยยุทธกล่าว
ดังนั้นจึงตั้งกติกาง่ายๆ ว่า ถ้าลูกค้าชำระเงินบริษัทก็ยินดีรับ แต่ขอเข้าระบบเพื่อความปลอดภัยของลูกค้าเอง
เมื่อชำระเงินเรียบร้อยลูกค้าก็สามารถเอาโฉนดไปได้
"ลูกค้าจำนวนหนึ่งอยากได้โฉนด ขอให้เราปลอดจำนองหน่อยแต่ไม่จ่ายตังค์
เอ๊ะทำอย่างนี้ได้ไง อย่างนี้องค์กรก็เสี่ยง เพราะถ้าเจ้าหนี้อื่นเขามาฟ้องแทรกเข้าไป
บุริมสิทธิก็หายทันที แล้วจะกลายเป็นว่าเรา (SM) ไปสร้างความเสียหาย เราไม่ได้กลัวในการตัดสินใจ
แต่เราไม่ต้องการตัดสินใจบนความประมาทเลินเล่อ แล้วทำให้เกิดความเสียหายในองค์กร
ถึงแม้ว่ามันอาจจะช้าไปบ้างในช่วงแรก แต่หลังจากเราได้วางระบบแล้วทุกอย่างก็เรียบร้อย"
จบลงด้วยดี
ตลอดระยะเวลา 75 วันของการปฏิบัติงานท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ผลงานที่ออกมาเป็นเครื่องพิสูจน์สิ่งที่
ดร.ชัยยุทธพูดไว้ทั้งหมดคือ งานเสร็จทันตามกำหนดของ IMF การประชุมเจ้าหนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ทีมงานควบ คุมตรวจสอบจาก IMF ถึงกับกล่าวชื่นชมความสามารถ ทั้งๆ ที่ในช่วงแรกๆ
ก็ยังไม่แน่ใจนักว่าทีมงานสินบัวหลวงจะทำงานกันได้หรือเปล่า
"คุณคิดดู ในวันที่ 8 ธันวาคม IMF โทร.ตามคนของเราวันเดียวเกือบ 30
ครั้ง คิดกันเองแล้วกันว่าวันหนึ่งมีกี่ชั่วโมง แล้วเขาโทร.ตามเราถี่ขนาดไหน"
แม้จะผ่านเกณฑ์ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่ผู้จัดการเฉพาะกิจได้ แต่เนื่องจากเป็นงานใหม่ของสินบัวหลวง
หรือจะเรียกว่าเป็นงานใหม่ของเมืองไทยก็ไม่ผิดนัก ผู้ตรวจก็ต้องเข้มงวดเป็นพิเศษหน่อย
"เราได้รับความเห็นชอบจากทั้ง IMF และ World Bank ให้ปฏิบัติหน้าที่นี้
จิตสำนึกตัวนี้ เราจึงยอมลดมาตรฐานไม่ได้เลยในแง่การปฏิบัติงาน ผมเชื่อว่า
SM ทุกคนที่ปฏิบัติงานภายใต้ภารกิจที่ผ่านมา ถูกติวเข้มกันตลอด ถึงขนาดที่ว่า
แต่ละคนไม่เคยคาดคิดว่าต้องทำงานหนักกันถึงขนาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งหนึ่งที่เราตระหนักว่า
ประเทศไทยได้ประกาศไปแล้วว่าเราจะมีการประชุมเจ้าหนี้ ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์
คือปฏิบัติงานตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการห้ามเกินประมาณ 2 เดือนครึ่งคือ 75
วัน"
แต่เมื่องานเรียบร้อยอย่างที่ตั้งเป้าไว้ บางคนถึงกับกระเซ้าทีมงานสินบัวหลวงเล่นๆ
ว่า อย่างนี้รับงานที่ปรึกษาระดับนานาชาติได้เลย" ก็ยังความภูมิใจและปลาบปลื้มให้กับทีมงานเป็นอย่างมาก
แต่กว่าจะผ่านพ้นมาได้ ช่วง 3-4 อาทิตย์เป็นช่วงที่ ดร.ชัยยุทธกล่าวได้อย่างเดียวว่า
"ต้องเร่งกันสุดชีวิต"
"ก่อนการประชุมเจ้าหนี้ เรียกว่า แทบจะทำงานกัน 7 วัน 7 คืน วันหนึ่งๆ
ทำงานกัน 12-16 ชั่วโมง โดยเฉพาะอาทิตย์ที่จะต้องส่งรายงานหรือ final report
คือวันที่ 9 กุมภาพันธ์ อันนั้นก็เรียกว่า หลับกันที่ออฟฟิศของที่ปรึกษาเฉพาะกิจก็ว่าได้
มีบางทีมต้องทำงานกันถึงตี 4 ตี 5 เพราะเราไม่ต้องการให้มีการเลื่อนประชุมเจ้าหนี้ที่กำหนดไว้วันที่
13-15 กุมภาพันธ์"
เพราะภารกิจนี้ถือเป็นหน้าตาของประเทศ ถ้าเลื่อนก็จะกระทบแผนการขายทรัพย์สิน
และแผนงานอื่นต้องเลื่อนตามกันไปหมด ความสำเร็จในครั้งนี้ นอกจาก ดร.ชัยยุทธจะยกย่องทีมงานผู้จัดการของสินบัวหลวง
ที่สามรถปรับตัวและพัฒนางานได้ในเวลาอันรวดเร็วแล้ว เขายังให้เครดิตกับผู้ร่วมสนับสนุนทุกๆ
ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาเฉพาะกิจ (Special Advisor/SA) ซึ่งเป็นทีมบริษัทฝรั่ง,
ความร่วมมือจากพนักงานของทุกบริษัท, กรมตำรวจซึ่งส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูแลความปลอดภัย
โดยนี้เป็นข้อเรียกร้องที่ SM ต่างชาติขอไว้แต่เดิม, การสนับสนุนจากทั้งประธานและกรรมการตามมาตรา
30 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธาน ตามมาตรา 30 คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ประจำแต่ละบริษัท
ถือว่าอยู่พื้นที่ของ SM เข้าไปในพื้นที่
"กรรมการเหล่านี้จะเป็นประจักษ์พยานได้อย่างดีเยี่ยม ถึงความโปร่งใส
ถึงความเป็นกลาง SM ที่สินบัวหลวงคัดไปทุกคน ซึ่งจุดนี้เราถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก
เพราะเราไม่ต้องการทำอะไรก็ตามแต่ให้เกิดข้อกังขาถึงความไม่เป็นกลาง เพราะ
mission นี้ทั้ง IMF และ World Bank จับตาดูอยู่"
แม้ภาพรวมจะเรียบร้อย แต่ในรายละเอียดก็มีปัญหาบ้าง แต่ก็ต้องให้อภัยได้
เพราะต้องทำงานชนิดคิดไปทำไป จะให้สมบูรณ์แบบทุกอย่างคงเป็นไปได้ยาก แต่ที่ผ่านมาทั้งหมดก็ถือว่าดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ตามเหตุปัจจัยและข้อจำกัดที่มีอยู่ในขณะนั้น
"จุดพวกนี้ผมอยากจะเรียนว่า ทั้งหลายทั้งปวงที่เรากระโดดเข้ามารับภารกิจนี้
จะเรียกว่าโดยบังเอิญหรืออะไรก็ตามแต่ แต่เราจะไม่ใช้คำว่าโดยบังเอิญ หรือความเร่งด่วนเป็นข้อแก้ตัวว่า
ทำให้งานด้อยคุณภาพ เรามีหน้าที่อย่างเดียวเมื่อรับแล้ว คือ ผลักดันให้เข้ามาตรฐานสากลให้ได้
เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ต่างประเทศที่เฝ้าจับตาดูอยู่ทั่วโลก หรือแม้กระทั่ง
IMF หรือ World Bank ที่จับตาดูอยู่"
ภารกิจของทีมผู้จัดการเฉพาะกิจชุดแรกกินเวลา 75 วันได้เสร็จสิ้นลงแล้วในวันที่
18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ต่อจากนี้ไปเป็นหน้าที่ของทีมงานชุดที่สอง ที่จะเข้ามาปฏิบัติภารกิจไปจนกระทั่งถึงสิ้นปี
ในการที่ต้องทยอยขายสินทรัพย์ ที่จัดเป็นแพ็กเกจตามที่ IMF กำหนดไว้เช่นกันว่าต้องขายสินทรัพย์ให้หมดภายในสิ้นปีนี้
และทยอยจ่ายคืนเจ้าหนี้ในปีหน้า
ความสำเร็จครั้งนี้ นอกจากเมืองไทยจะได้หน้าว่าเดินตาม IMF ได้ทุกกระเบียดนิ้วแล้ว
คนที่อดปลาบปลื้มและภาคภูมิใจไม่ได้คือ ดร.ชัยยุทธ หัวหอกสำคัญที่ผลักดันให้ทีมงานสินบัวหลวงสามารถปฏิบัติภารกิจได้
อย่างสมควรได้รับการชื่นชม จนเจ้าตัวถึงกับดำริว่า จะทำเหรียญเป็นการภายในแจกให้กับทีมผู้จัดการเฉพาะกิจ
เพื่อประกาศเกียรติคุณกันเลยทีเดียว!!