Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2541
ปรส.โชว์ฝีมือ ตรงแนว IMF             
 

   
related stories

75 วันอันตราย
ไพบูลย์ ปิลันธน์โอวาท "ผมมาเป็น MISSION พิเศษ"

   
search resources

องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน - ปรส.




การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจไทย ก้าวล่วงมาสู่ช่วงที่สามของกระบวนการคือการขายทรัพย์สิน ผลงานของ ปรส. หรือคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน ที่ผ่านมาได้รับการประเมินคะแนนในระดับค่อนข้างดี โดยเฉพาะความเคร่งครัดต่อกรอบเวลาที่ IMF กำหนดไว้ ซึ่งเป็นปมเงื่อนสำคัญที่ต่างชาติจับตามองในการขายทรัพย์สิน ซึ่งทีมผู้จัดการพิเศษได้ประเมินราคาทางบัญชีไว้โดยมีส่วนลด 31% เป็นอัตราต่ำสุด และ 51% เป็นอัตราสูงสุดนั้น ปรากฏว่าการขายรถยนต์รอบแรก ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือสามารถขายได้สูงกว่าราคาที่ตั้งไว้ถึง 20% แต่ทรัพย์สินที่เป็นสินเชื่อรถยนต์นั้น มีสัดส่วนเพียง 8% ของทรัพย์สินทั้งหมด รายการที่ใหญ่ที่สุดคือเงินกู้นิติบุคคล ซึ่งมีสัดส่วนถึง 60% นั้น ยังอยู่ระหว่างการจัดเตรียมแพ็กเกจเพื่อการขาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้จัดการพิเศษชุดที่สอง ที่ต้องเข้ามาดำเนินการรับช่วงต่อจากชุดที่หนึ่งที่หมดอายุไปแล้วเมื่อ18 ก.พ.ที่ผ่านมา การดำเนินงานของ ปรส.มีเจ้าหน้าที่ของ World Bank คอยช่วยดูแลกำกับทุกด้าน ซึ่งพวกเขาเพิ่งเข้ามาประจำการในกรุงเทพฯ หลังจากที่ออฟฟิศเวิลด์แบงก์ที่อาคารดีทแฮล์มเกือบจะลดขนาดหน่วยงานลง เพราะไม่มีภารกิจใดๆ แต่หลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทและเริ่มมีวิกฤติเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่ของเวิลด์แบงก์ก็เริ่มกลับเข้ามาประจำดูแลการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขเงินกู้ที่เวิลด์แบงก์ปล่อยให้ไทย พวกเขามั่นใจแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก และมองปัญหาไทยแยกแยะจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่ในช่วงกลางปีนี้ พวกเขาเชื่อว่าไทยต้องเจอวิกฤติหนักกว่าที่ผ่านมา!

เรื่องโดย ภัชราพร ช้างแก้ว, สนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์


4 กระบวนการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน

หลังจากที่มีความขลุกขลักและสารพันปัญหาเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน จนในที่สุดการก่อตั้งและดำเนินการ FRA ก็บรรลุผลสำเร็จและมีการดำเนินงานมาเป็นลำดับนั้น ขั้นตอนปัจจุบันอาจนับได้ว่าเป็นช่วงที่ต้องกินเวลานานที่สุด มีความยุ่งยากซับซ้อนในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใสในการดำเนินงานมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะเป็นขั้นตอนของการขายทรัพย์ หลังจากผ่านสองขั้นตอนแรกที่มีความยุ่งยากไม่แพ้กันมาแล้วคือ การประกาศปิดกิจการ 56 สถาบันการเงิน และการเข้าควบคุมตรวจสอบดูแลรักษาสภาพทรัพย์สิน

ในขั้นตอนที่สามนี้ อมเรศ ศิลาอ่อน ประธานคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินหรือ ปรส. ได้อธิบายความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานของ ปรส. ว่ามีการประชุมเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ที่ปิดกิจการไปแล้ว 56 แห่ง ซึ่งเป็นการประชุมฯครั้งที่ 2 ไปแล้วเมื่อ 13-15 ก.พ.ที่ผ่านมา

การประชุมช่วงแรกเป็นการประชุมรวมเพื่อรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานของ ปรส.ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน และรายงานแผนการกับขั้นตอนการจำหน่ายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ ในการประชุมช่วงที่สองเป็นการเสนอรายงานให้เจ้าหนี้ ซึ่งจัดเตรียมโดยผู้จัดการเฉพาะกิจ เพื่อสรุปการดำเนินงานตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2540 ซึ่งเป็นวันที่ได้ปิดกิจการ 56 บริษัทนี้เป็นต้นมา และเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ได้ซักถามเกี่ยวกับการดำเนินงานของแต่ละบริษัท

นับแต่การประชุมครั้งที่ 1 เมื่อ 20-21 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ปรส. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในการประชุมระหว่าง 3 วันนี้ คณะกรรมการฯ ได้จัดเตรียมรายงานสถานะทางการเงินและรายงานเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินทั้ง 56 แห่ง เพื่อจะให้เจ้าหนี้ทุกท่านทราบถึงสถานะของสถาบันที่เขาเป็นเจ้าหนี้อยู่ รายงานต่างๆ เหล่านี้ได้จัดทำโดยผู้จัดการเฉพาะกิจ (SMs) ด้วยความช่วยเหลือของที่ปรึกษาเฉพาะกิจ (SA) และในการประชุมแยกบริษัทนั้น เจ้าหนี้ของทั้ง 56 บริษัทสามารถซักถามรายละเอียดต่างๆ ตลอดจนสถานภาพของบริษัทแต่ละแห่งจากคณะกรรมการตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ปรส. และได้จัดผู้จัดการเฉพาะกิจและที่ปรึกษาเฉพาะกิจไว้อย่างเต็มที่

"ผมขอเรียนให้ทราบโดยสรุปว่า สินทรัพย์ของสถาบันการเงินทั้ง 56 แห่ง ที่รวบรวมจากรายงานสถานะการเงิน ซึ่งเดิมประเมินมูลค่าไว้ประมาณ 866,000 ล้านบาทจากรายงานของ ผจก.เฉพาะกิจก็มีการคาดคะเนว่า จะมีกรอบขั้นสูงต่ำ เมื่อขายสินทรัพย์แล้วจะเหลือเงินชดใช้เจ้าหนี้ เป็นมูลค่าสูงสุดคาดคะเนไว้ว่าประมาณ 592,000 ล้านบาท และต่ำสุดที่ 363,000 ล้านบาท นี่เป็นการคาดคะเน"

ส่วนหนี้ของสถาบันการเงินทั้ง 56 แห่งเมื่อวันที่ 8 ก.พ. มีมูลค่ารวมประมาณ 866,000 ล้านบาท

ทั้งนี้เมื่อคำนวณอัตราส่วนลดของทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่ามีอัตราส่วนลด 31.64%-51.08% (ดูตาราง 1 มูลค่าสินทรัพย์ของ 56 สถาบันการเงิน)

อมเรศย้ำว่าตัวเลขนี้เป็นการประเมินทางบัญชี ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะ "เมื่อมีการขายสินทรัพย์นั้นขึ้นอยู่กับว่าตลาดจะให้มูลค่าสินทรัพย์นี้อย่างไรเท่าไร"

ขณะเดียวกัน ปรส.ก็กำลังเดินหน้าเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งมีความคืบหน้าไปพอสมควร มีการกำหนดวันที่จะมีการประมูลรถยึดและรถบริษัทของ 56 ไฟแนนซ์ โดยเริ่มแต่วันที่ 21 ก.พ. ซึ่งคาดว่าคงจะสามารถดำเนินการจำหน่ายสินทรัพย์อื่นๆ ต่อไปได้ตามตารางที่กำหนดไว้ (ดูตาราง 2 แผนการดำเนินงานของ ปรส.)

นอกเหนือจากภารกิจที่จะต้องดูแลกำกับสถาบันการเงินทั้ง 56 แห่ง ตลอดจนการพัฒนากระบวนการจำหน่ายสินทรัพย์หลักและสินทรัพย์อื่นๆ แล้ว คณะกรรมการ ปรส.ก็ยังได้ดำเนินการเรื่องอื่นอีก เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเจ้าหนี้ และทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับ 56 บริษัทนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ความคืบหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับ 56 บริษัทในเวลานี้มีอยู่ 3 เรื่อง :-

- การที่ ปรส.ได้ทำเรื่องขอเสนอไปยังกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือที่เรียกว่า กองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อขอให้กองทุนฟื้นฟูฯ สละหลักประกันที่ได้ยึดไปจาก 56 บริษัทนี้ ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่คณะกรรมการบริหารของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งได้มีการประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ให้ความเห็นชอบในหลักการเรื่องการสละหลักประกัน โดยจะยอมรับสภาพในฐานะที่เท่าเทียมกันกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ ด้วยเหตุที่ว่ากองทุนฯ เป็นเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันรายใหญ่ที่สุดของสถาบันการเงิน 56 แห่งนี้ ความเห็นชอบในหลักการนี้จะเป็นส่วนสำคัญมากในการเปิดโอกาสที่ดีให้แก่เจ้าหนี้รายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่าความเห็นชอบในหลักการของกองทุนฯ นี้ต้องได้รับความเห็นชอบการอนุมัติจาก รมต.คลัง ซึ่งตอนนี้ยังรอขั้นตอนขั้นสุดท้ายนี้อยู่ แต่ก็คาดว่าจะเป็นวิวัฒนาการที่น่าสนใจ

- เรื่องที่สองคือ ต้องมีการให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ต่างประเทศที่อาจจะมีเวลาในการพิจารณาข้อมูลต่างๆ น้อยกว่าคนอื่น เพื่อเป็นการขยายเวลาให้เจ้าหนี้ได้พิจารณาข้อมูลและรายงานสถานะการเงิน ตลอดจนขั้นตอนในกระบวนการจำหน่ายสินทรัพย์ ปรส.ก็ได้หารือกับแบงก์ชาติ กระทรวงการคลังและธนาคารกรุงไทย ซึ่งธนาคารกรุงไทยได้ตกลงยินยอมที่จะยืดเวลาการแลกเปลี่ยนหนี้เป็นบัตรเงินฝากของธนาคาร ซึ่งเดิมกำหนดไว้สิ้นสุดวันที่ 20 ก.พ. 2541 ธนาคารยอมยืดออกไปเป็นวันที่ 31 มี.ค. 2541 และก่อนที่จะถึงระยะเวลาที่กำหนดนี้ ทาง ก.ล.ต.จะจัดให้มีการสัมมนากลุ่มสำหรับกลุ่มเจ้าหนี้และผู้ที่ประสงค์เข้าประมูล เพื่อให้ทุกคนเข้าใจรายละเอียดของหลักเกณฑ์และวิธีการจำหน่ายสินทรัพย์ ตลอดจนวิธีการขอเข้าร่วมประมูล

- เรื่องที่สาม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่งในการพิจารณาหลักเกณฑ์การจ่ายชำระคืนเจ้าหนี้ ปรส.ได้พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเพื่อให้มั่นใจว่าการชำระคืนแก่เจ้าหนี้ทุกคนจะดำเนินไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายของไทย ก็เป็นที่สรุปในเบื้องต้นในตอนนี้ว่า หลักเกณฑ์การเฉลี่ยทรัพย์คืนแก่เจ้าหนี้ที่มีมูลหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ จะใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่เฉลี่ยทรัพย์คืน ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายไทย ซึ่ง ปรส. ก็ยังศึกษาเรื่องนี้ในรายละเอียดและผลกระทบที่อาจจะมีต่อการเรียกร้องสิทธิของหนี้ จากเจ้าหนี้ทั้งฝ่ายต่างประเทศและเจ้าหนี้ไทย อันนี้คงจะแจ้งผลการวินิจฉัยให้ทราบในระยะต่อไป แต่ขณะนี้เป็นที่เชื่อได้ว่าผลคงจะออกมาในลักษณะที่ว่า วันที่จะใช้ในการแปลงหนี้จากเงินไทยเป็นเงินตราต่างประเทศคงจะใช้วันที่มีการเฉลี่ยทรัพย์คืน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีหน้า และถือเป็นขั้นตอนที่สี่ของการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน 56 แห่งที่ถูกสั่งปิดกิจการ

ดังนั้น ความคืบหน้าทั้ง 3 เรื่อง ถือเป็นนิมิตที่ดีแก่ฝ่ายเจ้าหนี้ และคณะกรรมการ ปรส.ก็ได้ให้ความมั่นใจแก่เจ้าหนี้ว่า จะดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้สินทรัพย์จำหน่ายไปได้ในราคาที่เหมาะสม และมีมูลค่าสูงสุดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ของแต่ละสถาบันการเงิน และกระบวนการประมูลสินทรัพย์จะสามารถดำเนินการไปได้ ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


จัดแพ็กเกจขายทรัพย์สิน
ต้องล่อตาล่อใจนักลงทุนต่างชาติกันสุดๆ

กลุ่มเป้าหมายผู้ที่จะเข้ามาซื้อทรัพย์สินของ 56 สถาบันการเงินในปีนี้ ไม่ใช่กลุ่มนักลงทุนในประเทศอย่างแน่นอน แม้ว่าการขายรถยนต์ในช่วงแรกๆ ผู้ที่ซื้อเป็นคนในประเทศ แต่นั่นไม่ใช่ทรัพย์สินรายใหญ่

วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ เลขาธิการ ปรส. เปิดเผยว่า "หากประเมินจากแขกต่างประเทศที่ผมต้องรับอยู่ทุกๆ วัน ก็คงต้องบอกว่าความสนใจมีสูงมาก เพราะว่าจะมีผู้ที่เข้ามาถามเรื่องกระบวนการขาย เรื่องสินทรัพย์ที่จะนำออกมาขาย มีหลายแห่งบอกมาว่าเขาสนใจสินทรัพย์ประเภทไหน และหลายแห่งก็บอกว่าต้องให้แน่ใจว่าหากมีกระบวนการขายทรัพย์สินจริง เขาต้องได้รับทราบเพื่อที่จะเข้ามาร่วมประมูลได้"

ในตอนนี้ ปรส.ยังเปิดหนทางไว้กว้างมากเพื่อที่จะดูว่าจะจัดกลุ่มทรัพย์สินเพื่อขายอย่างไร "ผมคิดว่าในแง่ของคนที่สนใจนั้น ส่วนใหญ่จะสนใจตามประเภทของทรัพย์สิน เช่น สนใจลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้อสังหาริมทรัพย์ ปรส.จะดูว่าความต้องการของผู้สนใจเหล่านี้เป็นอย่างไร และเราจะจัดแพ็กเกจตามความต้องการเหล่านั้น แต่คงไม่มีการกำหนดตายตัวว่าต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอดทุกครั้ง เราจะเข้าไปดูภาวะ และความต้องการของตลาด เพื่อที่จะจัดแพ็กเกจออกมาให้ดีที่สุดและได้มูลค่าที่ดีที่สุด" วิชรัตน์กล่าว

อมเรศอธิบายว่าสินทรัพย์ที่จะนำออกขายจัดได้เป็น 2 กลุ่มหลักคือ สินทรัพย์หลัก (core asset) กับที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลัก (non-core asset) (ดูตาราง 3 ประเภทของสินทรัพย์)

สินทรัพย์หลักคือสิ่งที่เรียกว่า สภาพของการเป็นเจ้าหนี้ สมมติมีพอร์ตโฟลิโอของรถเช่าซื้ออยู่ 1,000 คัน ก็อาจจะเอามารวมกันเป็นสัญญาสำหรับการเช่าซื้อรถ 1,000 คัน ซึ่งรถเหล่านี้บางคันอาจจะใกล้ผ่อนหมด บางคันอาจจะมีเวลาอีกนาน ก็เอาสัญญานี้มาขายเป็นกลุ่ม ซึ่งคนที่จะมาซื้อก็ต้องมาพิจารณาว่า สัญญานี้มีราคาเท่าไหร่ในระยะ 3-5 ปี และให้เสนอราคาแก่ ปรส.

ทั้งนี้ ผู้ที่ซื้อลูกหนี้เหล่านี้ไป จำเป็นต้องดำเนินการให้บริการแก่พวกเขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเท่ากับว่าผู้ที่จะซื้อลูกหนี้แต่ละประเภทต้องมีใบอนุญาตที่จำเป็นแก่การดำเนินการ เพื่อให้บริการแก่ลูกหนี้เหล่านี้ต่อไป เช่น พอร์ตเช่าซื้อรถยนต์ ในกรณีนี้ก็ต้องดำเนินการธุรกิจเช่าซื้อต่อ ซึ่งหากมีใบอนุญาตธุรกิจเงินทุนก็สามารถทำได้ หรือบริษัทธรรมดาก็ทำเช่าซื้อได้เช่นกัน หรือหากต้องการซื้อธุรกิจหลักทรัพย์เพื่อไปให้บริการต่อ ก็มีหลายบริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถทำได้ ใบอนุญาตที่จำเป็นในการดำเนินการต่อนี้ วิชรัตน์กล่าวว่า "อันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อหรือ bidders ต้องจัดการเรื่องเหล่านี้เอง"

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ออกจะมีความขัดแย้งกันอยู่ในตัว เพราะ ปรส.หวังเม็ดเงินหรือกำลังซื้อจากนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเป็นผู้เข้ามาประมูลซื้อทรัพย์สินเหล่านี้ ทว่ามีมาตรการด้านกฎหมายหลายประการ ที่อาจเป็นอุปสรรคกีดขวางการเข้ามาซื้อสินทรัพย์ของพวกเขา เช่น เรื่องการครอบครองที่ดิน

แต่วิชรัตน์มองว่าประเด็นทางกฎหมายยังมีความยืดหยุ่นอยู่มาก หลายเรื่องมีข้อยกเว้นให้ ซึ่งในประเด็นนี้ ปรส.ก็มีจุดยืนที่ชัดเจน วิชรัตน์กล่าวว่า "หากถามว่าควรมีการยกเว้นมากกว่านี้หรือไม่ ทาง ปรส.ก็เห็นว่า หากมีความคล่องตัวก็อาจจะมีคนสนใจซื้อของเรามากขึ้น ก็น่าจะดีสำหรับ ปรส. แต่ว่าหากเป็นการเกี่ยวโยงกับเรื่องมหภาคหรือภาพใหญ่ เราก็ควรถูกกำหนดโดยนโยบายหรือความเป็นไปได้ของภาพใหญ่"

ขณะที่ มารินา โมเร็ทตี้ นักเศรษฐศาสตร์การเงินแห่งเวิลด์แบงก์ กรุงเทพฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ในเรื่องนี้ว่า "มีข้อกฎหมายอยู่ 3 เรื่องที่ควรปรับปรุง เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติได้เข้าถึงทรัพย์สินในไทยได้มากขึ้น คือกฎหมายที่เปิดเผยเกี่ยวกับสินทรัพย์รอการขาย (Forclosed Law) กฎหมายล้มละลาย (Bankruptcy Law) และกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนของชาวต่างชาติ (Alien Business Law)"

โดยกฎหมายที่มารินาคิดว่ามีความสำคัญมากคือเรื่อง Foreclosed Law โดยเฉพาะการใช้กฎหมายนี้กับบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ และกับเงินกู้ที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งก็มักจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ อาคารสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น

แม้ว่าการดำเนินการต่างๆ ยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ซึ่งเจ้าหน้าที่เวิลด์แบงก์ ก็เชื่อว่าในระยะเริ่มต้นของการขายสินทรัพย์จะต้องมีความขลุกขลักพอสมควร แต่ภาพโดยรวมการทำงานของ FRA เป็นที่พอใจของพวกเขาอย่างมาก มารินากล่าวว่า "ดิฉันเห็นว่า FRA ทำงานได้อย่างดี โดยเฉพาะส่วน back office มีประสิทธิภาพมาก ทำงานดี แต่อาจจะมีจุดอ่อนในบางเรื่อง เช่น เรื่องขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมาย เรื่องภาษี เรื่องการฟ้องร้องบริษัทกฎหมายต่างประเทศ

การทำงานของพวกเขามีความน่าเชื่อถือมาก ซึ่งพวกเขาก็ต้องระมัดระวังอย่างมากในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ที่จะมีขึ้นด้วย แต่พวกเขาทำงานหนัก ทำงานได้เร็ว ซึ่งก็เหมาะสมดีแล้ว งานขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาชำระคืนเจ้าหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แต่พวกเขาก็ทำได้ดี"

ทั้งนี้เวิลด์แบงก์ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในเรื่องการปฏิรูปสถาบันการเงินเป็นเงินมูลค่า 15 ล้านเหรียญ (645 ล้านบาทที่อัตรา 43 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งในจำนวนนี้มอบให้ FRA ประมาณไม่เกิน 8-9 ล้านเหรียญ

ในการที่จะทำให้สินทรัพย์ของ 56 ไฟแนนซ์เป็นที่น่าสนใจนั้น ปรส. คิดเรื่องการไปทำโรดโชว์เสนอขายสินทรัพย์เหล่านี้ในต่างประเทศด้วย โดยวิชรัตน์กล่าวว่า "เรื่องนี้เรายังไม่ได้ดูในรายละเอียด แต่เราถือว่า ข้อมูลและความชัดเจนในเรื่องทรัพย์สินที่เราจะขาย ต้องกระจายไปสู่จุดต่างๆ ในทั่วโลกได้ เช่น กระจายผ่านสื่อมวลชน ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขณะเดียวกันมีผู้สนใจหลายรายมาเกริ่นกับเราว่ากลุ่มผู้ลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นลูกค้าของเขา เป็นลูกค้าของวาณิชธนกิจต่างๆ ที่มีความสนใจในทรัพย์สินเหล่านี้ หากเราสามารถไปพูดคุยทำความเข้าใจกับเขาได้ ก็อาจจะมีประโยชน์ อันนี้เราก็พิจารณาอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ผมคิดว่าในแง่หนึ่ง เราต้องมีการกระจายข้อมูลต่างๆ ออกไป เพราะลูกค้าเรามีอยู่ทั่วโลก เราจะมาจำกัดการให้ข้อมูลเฉพาะในเมืองไทยไม่ได้ เป็นหน้าที่ของ ปรส. ที่จะกระจายข้อมูลไปทั่วโลก"


เน้นกระบวนการโปร่งใสทุกขั้นตอน

ในการทำงานของ ปรส.นั้น เป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการเน้นเรื่องความโปร่งใสของขั้นตอนต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นทิศทางที่ทั้ง IMF และ World Bank พอใจ บวกกับบุคลิกของอมเรศ ศิลาอ่อน ประธานฯ ด้วย

ในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆที่มีการกำหนดไว้นั้น ปรส.จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการและการแถลงข่าวในทุกครั้ง ซึ่งในกลางเดือนนี้ก็จะมีการจัดสัมมนากลุ่มเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการประมูลสินทรัพย์ ให้ผู้สนใจเสนอซื้อและสื่อมวลชนเข้าฟังด้วย

ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เร่งจัดกลุ่มสินทรัพย์และทำรายละเอียดสินทรัพย์และขั้นตอนการเสนอซื้อ

วิชรัตน์เล่าว่า "ในการประมูลหลักของทาง ปรส. เราจะมีการประกาศเป็น announcement เพื่อให้ผู้สนใจทราบว่าในเดือนใด เราจะเริ่มนำทรัพย์สินประเภทใดออกมา เมื่อเราประกาศให้ทราบแล้ว เขาสามารถมาขอข้อมูลได้ ที่เรียกว่า sales memorandom ซึ่งเขาสามารถมาเลือกดูได้ และเสนอ bid ได้ ดังนั้นเราก็มีวิธีการประกาศให้ทราบว่าเราจะขายทรัพย์สินอะไรบ้าง ซึ่งคงจะเป็นวิธีการหลักที่เราจะใช้ในการจัดจำหน่ายทรัพย์สินทั้งหมด"

แต่ในเวลาเดียวกัน ปรส.จะเปิดช่องไว้อีกทางหนึ่ง คือทรัพย์สินประเภทที่ไม่ได้มีการประกาศ แต่มีคนมาบอกกับ ปรส. ว่าเขาสนใจทรัพย์สินนี้ เขาขอซื้อได้ไหม วิชรัตน์กล่าวว่า "เราก็จะเข้ามาทำการประเมินว่า การที่ให้เขาเข้ามาซื้อทรัพย์สินนี้จะมีประโยชน์อะไรไหม น่าจะได้ราคาดีไหม จะมีอะไรที่ขัดกับการขายทรัพย์สินหลักหรือไม่ หากเราเห็นว่าน่าสนใจ จะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ หากเราจัดกลุ่มทรัพย์สินนี้ไปให้คนที่เขาสนใจ เราก็จะต้องเรียกแข่งขันราคา แต่ว่ากรณีเช่นนี้ต้องเป็นกรณีพิเศษ ไม่ใช่ทั่วไป และต้องมีเหตุผลจริงๆ ว่าทำไมเราให้เขาทำ ทำไมเราต้องเอาทรัพย์สินไปขายตามที่เขาขอมา แต่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นขั้นตอนว่า ปรส.จะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเอาทรัพย์อะไรมาและก็ประกาศขายออกไป"

นี่คือขั้นตอนต่อไปที่จะได้เห็นใน การดำเนินการขายทรัพย์สินของ ปรส. ส่วนประเด็นเรื่องการชำระราคาหลักทรัพย์ที่ประมูลไปได้นั้น การกำหนดว่าจะรับอะไรเพื่อการชำระสินค้าเป็นเรื่องที่ ปรส. เห็นว่ามีความสำคัญและมีการพิจารณาเรื่องนี้ในรายละเอียดมาก

"หากเราจะกำหนดว่าเราจะรับอะไร เราจะมีการแจ้งมาแต่ต้น เช่นสำหรับสินทรัพย์ชุดนี้ เรารับเฉพาะเงินสด หรือรับพันธบัตรด้วย เราจะชี้แจงให้ทราบตั้งแต่ต้นก่อน เพื่อที่คน bid เข้ามาจะได้ทราบ rule of the game และเราจะมีกระบวนการของการทำ deep evaluation ในเรื่องของการประเมินซองประมูลต่างๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอนของวิชาชีพที่ถูกต้องและสามารถที่จะอธิบายให้ทราบได้ว่า ทำไมเราเลือกคนนี้มาเป็นผู้ bid เพื่อไม่ให้เราถูกกล่าวหาได้ว่าเรารับโน่น นี่เป็นกรณีพิเศษสำหรับใครหรือไม่

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกคนว่าใครก็ตามที่เข้ามา bid สามารถทำได้ด้วยความเสมอภาค เราไม่ได้กำหนดกติกาที่สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบแก่ใคร เพราะฉะนั้นประเด็นนี้เราจะระวังอย่างมาก และเราจะคอยฟังปฏิกิริยาของตลาดว่ามี market reaction กลับมาอย่างไรในเรื่องที่เราทำไปแล้ว และเราจะพยายามพัฒนาขั้นตอนของเรา เพราะว่าเรายึดหลักการว่าต้องมีความโปร่งใส เสมอภาคกับทุกท่าน" วิชรัตน์ ให้คำมั่นไว้


ความเห็นเวิลด์แบงก์ (กรุงเทพฯ)
ต้องแยกไทยออกจากประเทศอื่นๆ

หลังจากที่มีพัฒนาการคืบหน้าในการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน 56 แห่ง ไปได้มากแล้ว รวมทั้งการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดใหม่ การปรับเงื่อนไขในหนังสือแสดงเจตจำนงเงินกู้ฉบับที่ 3 ฯลฯ หลายประเด็นของความคืบหน้าเหล่านี้ ทำให้มีนักวิเคราะห์ไม่น้อยที่เห็นว่า สถานะการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความแตกต่างจากอีก 2 ประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือทำนองเดียวกันจาก IMF คืออินโดนีเซียและเกาหลีใต้

นักวิเคราะห์บางท่านให้ความเห็นว่า ไทยได้หักมุมกลับจากอาการที่เศรษฐกิจทรุดต่ำลงอย่างต่อเนื่องแล้ว (turned the corner) ซึ่งเมื่อถามความเห็นนี้กับ ดร.สเตฟาน โคเบอรี่ นักเศรษฐศาสตร์แห่งเวิลด์แบงก์ ที่กรุงเทพฯ เขาก็เห็นด้วย แต่ทำนายว่าในระยะ 6 เดือนข้างหน้า สถานการณ์จะเลวลงกว่านี้ หลังจากนั้นจึงจะดีขึ้น

ทั้งนี้เม็กซิโกใช้เวลาประมาณ 18 เดือน จึงจะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในระดับที่พอมีเสถียรภาพได้บ้าง แต่ก็มีเงินช่วยเหลือขนาดมหึมาจากสหรัฐฯ มาค้ำยัน ขณะที่ไทยแตกต่างจากเม็กซิโกมากนัก

เหตุที่ ดร.สเตฟานคิดว่าสถาน การณ์ข้างหน้าจะแย่ลงอีก 6 เดือน เพราะผลกระทบของเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลง เพิ่งจะส่งผลออกมายังภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ การหยุด-ชะลอการผลิต คนว่างงานมากขึ้น บริษัททั่วไปต้องระงับกิจการ บริษัทส่งออกต้องเลิกกิจการ เป็นต้น ผลพวงของปรากฏการณ์เหล่านี้จะสะท้อนออกมาในปัญหาสังคมซึ่งเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี แนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เดินมาถูกทางนั้นก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้ประเทศมาถึงจุดหักมุมได้เร็วขึ้นด้วย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us