Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2541
ประกันภัยติดลมบนในตลาดตราสารหนี้             
 


   
search resources

Insurance




มีตราสารหนี้วินาศภัยมาขายครับ ผลตอบแทนเกือบ 2 เท่าของตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำทั่วไปเชียวนะครับ ความเสี่ยงของตราสารหนี้ตัวนี้หรือครับ ถ้าภายใน 10 ปีข้างหน้า กรุงโตเกียวเกิดเจอแผ่นดินไหวรุนแรงล่ะก้อ เงินลงทุนของท่านจะสูญไปตามมูลค่าความรับผิดชอบที่บริษัทขายกรมธรรม์ไว้ครับ"

ตราสารหนี้ที่เอ่ยถึงข้างต้น คือตราสารที่ออกโดยบริษัทโตกิโอ มารีน แอนด์ ไฟร์เออร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1997 มูลค่ารวม 100 ล้านดอลลาร์ มันเป็นหนึ่งในตราสารหนี้อีกมากมาย ที่ออกโดยบรรดาบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทรับประกันภัยต่อรายใหญ่ๆ ของหลายประเทศ

นอกจากนั้นในระยะอันใกล้นี้จะมีตราสารหนี้ทำนองนี้ แต่ฉีกแนวออกไปหน่อย ซึ่งจะออกโดยบริษัทฮันโนเวอร์ รี ผู้รับประกันภัยต่อสัญชาติเยอรมัน ความแตกต่างอยู่ที่ว่า ตราสารหนี้เจ้านี้จะเป็นเจ้าแรกที่ใช้กรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน

การออกตราสารหนี้โดยบริษัทประกันถือเป็นนวัตกรรมสำหรับวงการประกัน พร้อมๆ กับเป็นการผนึกอาณาจักรอุตสาหกรรมประกัน และอุตสาหกรรมวาณิชธนกิจเข้าหากันอย่างใกล้ชิด

ตราสารหนี้วินาศภัยแจ้งเกิดครั้งแรกเมื่อปี 1994 นับถึงปัจจุบันนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 11 ราย คิดเป็นมูลค่า 1,512 ล้านดอลลาร์ (ดูตารางแจกแจง)

เมื่อต้นปี 1997 สถาบันสารสนเทศเพื่อการประกันแห่งนิวยอร์ก รายงานผลสำรวจทัศนคติในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของวงการประกันภัยว่า 86% ของผู้ให้ความคิดเห็นเชื่อว่า ตราสารหนี้แบบนี้ในตลาดเงินไปไม่รอด แต่แนวโน้มที่เป็นมานับถึงปัจจุบันแสดงผลในทิศทางตรงกันข้าม ปัจจัยที่เอื้อแก่ความสำเร็จย่อมไม่ใช่ความกลัวต่อหายนะที่อาจมาเยือนทรัพย์สินของมนุษย์ หากแต่เป็นความปรารถนาที่จะทำกำไรจากการลงทุนเสียมากกว่า


เอากรมธรรม์มา Securitize

แนวคิดพื้นฐานของนวัตกรรมดังกล่าวนี้ แท้จริงแล้วคือการกระจายความเสี่ยงของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประกันภัยออกไป ในลักษณะ กินน้อยหน่อยแต่กินนานขึ้น ในเวลาเดียวมันคือการเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปสามารถเข้าแชร์ผลกำไรในอุตสาหกรรมนี้ โดยลงทุนร่วมเสี่ยงผ่านตราสารหนี้ที่เรียกกันว่า Catastrophe Bond หรือ Cat Bond ในด้านของผู้ซื้อประกันก็ได้รับความมั่นใจมากขึ้นว่า กรมธรรม์ของตนได้รับความคุ้มครองแน่นอน

แนวคิดนี้สวมรับกับเครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า Securitization ซึ่งเป็นกระบวนการรวบรวมหลักประกัน รายรับในอนาคต เอามาออกเป็นหลักทรัพย์ หลักประกันดังกล่าวรวมถึงหนังสือจดจำนอง บัญชีลูกหนี้บัตรเครดิต ไปจนถึงหนังสือกู้ยืมในวงการธุรกิจ หลักทรัพย์ประเภทนี้มองเห็นได้ชัดเจนว่า มีความสามารถให้ผลตอบแทนตลอดจนจ่ายคืนเงินต้นได้อย่างสมเหตุสมผล ประโยชน์อันสำคัญยิ่งอยู่ที่ว่า เมื่อขายตราสารหนี้ไปแล้ว บริษัทประกันภัยย่อมไม่จำเป็นต้องกันเงินทุนไว้สำหรับชำระความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซ้ำยังนำเงินทุนก้อนนั้นไปหมุนให้เกิดกำไรงอกเงยเพิ่มได้อีกด้วย

การออกตราสารหนี้แบบนี้ยังเอาไปทำเงินได้ซับซ้อนขึ้นไปอีก เช่น ถ้าบริษัทประกันภัยกำหนดนโยบายว่า ตนมีหน้าตักพร้อมจะให้ความคุ้มครองความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินในรัฐฟลอริดาในวงเงิน 400 ล้านดอลลาร์ แล้วบริษัทรายนี้ขายกรมธรรม์ออกไปได้ 600 ล้านดอลลาร์ บริษัทย่อมสามารถออกตราสารหนี้เพื่อปิดส่วนต่าง 200 ล้านดอลลาร์ที่ตนมิได้เตรียมจะแบกรับ

นอกจากนั้นบริษัทยังทำประกันความเสี่ยงให้กับตัวเองได้อีกชั้นหนึ่ง โดยเสียค่าพรีเมียมเล็กน้อย ด้วยการซื้อ Put Option ซึ่งหมายถึงการซื้อสิทธิที่จะบังคับขายหุ้นของบริษัทของตนให้แก่ผู้ออก Option ณ ราคาประมาณการล่วงหน้าเผื่อไว้ในกรณีที่ว่า หากเกิดวินาศภัยที่มีมูลค่าเกินหน้าตักจะรับผิดชอบไหว Put Option ตัวนี้จะรับประกันว่า บริษัทมีช่องทางระดมเงินทุนก้อนใหม่เข้ามาได้ในช่วงเวลาแห่งวิกฤตการณ์

ในการซื้อตราสารทั้งหลายนี้ นักลงทุนกำลังรับบทบาทผู้รับประกันภัยต่อ ดังนั้นมันจึงเป็นการกระจายความเสี่ยงออกไปในวงกว้าง พร้อมกับสร้างเสถียรภาพให้แก่อุตสาหกรรมการประกันภัย


นักลงทุนรายย่อย รอเดี๋ยว

ด้วยความที่ตราสารหนี้แบบนี้มีความเสี่ยงประเภทสุดขั้ว ปกติแล้ววินาศภัยประเภทแผ่นดินไหวรุนแรง หรือพายุเฮอริเคนถล่ม ไม่ค่อยปรากฏขึ้นบ่อยนัก แต่หากเกิดขึ้นสักครั้ง ย่อมหมายถึงการชำระความคุ้มครองกันอย่างแทบจะเทกำปั่นออกมาจ่ายทีเดียว ซึ่งหมายถึงว่านักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้ประเภทนี้ นอกจากจะไม่ได้ผลตอบแทนแล้ว ยังอาจจะเหลือเงินลงทุนของตนเพียงน้อยนิด ไปจนถึงไม่เหลือสักเซ็นต์เดียว สูตรคำนวณค่าความเสี่ยงต่อผลตอบแทนมักยากจะเอาแน่นอนได้ ผู้ที่กล้าเข้าไปจับจึงมักเป็นพวกพอร์ตโฟลิโอขนาดจัมโบ้ ระดับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น ซึ่งมีเงินถุงเงินถังพอจะกระจายสัดส่วนการลงทุนได้กว้างขวาง แล้วเจียดมาบางส่วนเพื่อลงในพื้นที่พิเศษ ที่แสนจะเสี่ยงสูงรับผลตอบแทนสูงประเภทแคทบอนด์ได้

แต่เมื่อใดก็ตามที่ตราสารหนี้ประเภทที่หลังอิงกับกรมธรรม์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือประกันยวดยานพาหนะ เริ่มโลดแล่นในตลาดเงิน นักลงทุนรายย่อยคงจะได้เข้าแจมด้วย เพราะความเสี่ยงนั้นไม่สูงเท่า นักลงทุนยังมีสิทธิ์จะได้รับพรีเมียม ได้รับผลตอบแทนการลงทุนในอัตราที่แน่นอนกว่า ตามผลประกอบการที่บรรดากรมธรรม์ที่รองรับตราสารหนี้เหล่านั้นสร้างขึ้นมา

โอกาสใหม่อันหอมหวนด้วยกลิ่นเงินกำลังบีบหัวใจบริษัทประกันทั้งหลาย ให้โดดเข้ามาทำรายได้ในอาณาจักรแห่งใหม่ ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันนัก

ปัจจุบันนี้ ปัจจัยตัดสินความสำเร็จสำหรับการประกอบการในอุตสาหกรรมประกันภัย ยังอยู่ที่ความแข็งแกร่งทางการเงินของแต่ละบริษัท แต่ในอนาคตปัจจัยตัวนี้อาจไม่สำคัญเท่ากับ ความชำนาญในการแยกแยะความเสี่ยงดีกับความเสี่ยงเน่า และการมีระบบที่จะโยกย้ายความเสี่ยงออกไปยังมือของนักลงทุนนอกบริษัท รายรับของบริษัทประกันภัยที่เกิดจากค่าเบี้ยประกัน อาจมีความสำคัญน้อยกว่ารายรับจากค่าบริการ และค่าธรรมเนียมการเป็นผู้ริเริ่มจัดหาจัดการกรมธรรม์ค้ำประกันตราสารหนี้ก็เป็นได้


อุตสาหกรรมประกันภัยในอนาคต

อลัน พันเตอร์ แห่งบริษัท เอออน ซึ่งเป็นนายหน้าประกันภัย ให้ภาพพัฒนาการต่อไปของอุตสาหกรรมประกันภัยว่า "บริษัทประกันภัยจะกลายเป็นแค่ตัวกลางระหว่างผู้ซื้อประกันกับนักลงทุน ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยทางอ้อม โดยบทบาทของบริษัทประกันภัยนั้น เป็นแค่ผู้กระจายความรับผิดชอบกับผู้สร้างแพ็กเกจการประกันภัย แทนที่จะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงทั้งหมด"

นวัตกรรมใหม่นี้จะนำพาให้บริษัทประกันภัยกระโดดเข้ามาแข่งขันกับบริษัทด้านวาณิชธนกิจ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญการสร้างแพ็กเกจทางการเงิน ณ เวลานี้ บริษัทประกันราย ใหญ่ คือ สวิส รี แห่งสวิตเซอร์แลนด์ กับ อัลไลแอนซ์ แห่งเยอรมนี ได้ตั้งแผนกงานทำการตลาดในพื้นที่ตลาดทุนขึ้นมาแล้ว พร้อมๆ กันนั้น บริษัทการเงินอย่างโกลด์แมน แซคส์ ได้ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาจับงานด้านธุรกิจประกัน ส่วนกลุ่มการเงินที่จับงานทั้ง 2 ด้านนี้มาตลอด อาทิ พรูเดนเชียล ของอเมริกา, เอเอ็กซ์เอ ของฝรั่งเศส, ไอเอ็นจี ของเนเธอร์แลนด์, และ เครดิต สวิส ของสวิตเซอร์แลนด์ อาจเป็นผู้ที่ได้เปรียบที่สุด ในการเร่ขายหลักทรัพย์ของบริษัทประกันในเครือของตนโดยตรงสู่นักลงทุน

อุตสาหกรรมประกันภัยมีช่องทางใหม่ให้สร้างกำไร ตลาดเงินมีสินค้าใหม่ให้ลงทุน ผู้บริโภคมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะชำระค่าเบี้ยประกัน หนทางข้างหน้าดูแจ่มใส ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องล้วนแต่แฮปปี้ แม้เมื่อวินาศภัยมาถล่มเข้าจริงๆ ทุกฝ่ายก็น่าจะไม่ถึงกับไขก๊อก เพราะเฉลี่ยภาระกันไปแล้วคนละไม้ละมือ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us