|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2547
|
 |

วันนี้จะพาคุณผู้อ่านมารู้จักน้องคนไทย คนเก่งของนิวคาสเซิลกันสักหน่อย ที่ว่าเก่งนี่ก็เพราะน้องปุ้ยพูดได้หลายภาษา แถมยังได้ไปฝึกงานที่รัฐสภาของอียู หรือ European Parliament มาแล้วด้วย ซึ่งการฝึกงานนี้น้องปุ้ยยืนยันว่าไม่จำกัดอยู่แค่คนที่ถือสัญชาติของประเทศสมาชิกอียูเท่านั้น ดังนั้น น้องๆ นักศึกษาหรือคุณผู้อ่านทางบ้านท่านใดมีความสนใจในเรื่องการเมืองของยุโรป และต้องการหาโอกาสไปฝึกงานกับอียูด้วยตนเองแล้วล่ะก็ ลองมาอ่านเรื่องของน้องปุ้ยดูนะคะ
ชื่อจริงของน้องปุ้ยคือ พจนาถ พัฒนเจริญ อายุ 25 ปี ปัจจุบันเรียนปริญญาโทสาขายุโรปศึกษา อยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล เกิดที่กรุงเทพฯ พออายุ 11 ปี ก็ย้ายตามคุณแม่ ไปอยู่ที่เมือง Gothenburg ประเทศสวีเดน เรียนหนังสือ อยู่ที่นั่นจนจบมัธยมปลาย ย้ายมาเรียนระดับปริญญาตรี ที่ประเทศอังกฤษ สาขายุโรปศึกษา จบแล้วเรียนต่อปริญญาโทที่คณะนี้ในสาขาเดียวกัน ตอนนี้กำลังวุ่นอยู่กับการเขียนวิทยานิพนธ์อยู่
น้องปุ้ยพูดได้หลายภาษา คือทั้งสวีดิช อังกฤษ ฝรั่งเศส และไทย เพราะไปอยู่ที่สวีเดนตั้งแต่เด็ก จึงพูดสวีดิชได้คล่องเหมือนเจ้าของภาษาแล้ว ส่วนภาษาอังกฤษ น้องปุ้ยบอกแบบถ่อมตนว่าเพิ่งจะมาคล่องก็ตอนที่ย้ายมาเรียนที่อังกฤษนี่เอง น้องปุ้ยเล่าว่า เด็กที่สวีเดนต้องเรียนภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ตอน ป.3 แถมโทรทัศน์ที่สวีเดน ก็นำละครของอเมริกามาฉายให้ดูอยู่ทุกวัน ดังนั้นชาวสวีเดนส่วนใหญ่จะพูดอังกฤษได้คล่อง บางคนพูดได้ราว กับเป็นเจ้าของภาษาเอง สำหรับฝรั่งเศสนั้นน้องปุ้ยเรียน มาตั้งแต่มัธยม 1 นอกจากฝรั่งเศสแล้ว รัฐบาลสวีเดนยังมีภาษาอื่นๆ ให้เด็กเลือกเรียนอีก เช่น อิตาเลียน สเปน โปรตุเกส และเยอรมัน พอมัธยมปลายก็จะมีภาษาละติน จีน และญี่ปุ่นเพิ่มมาด้วย
การมีภาษาเอเชียให้เด็กเรียนแสดงให้เห็นว่าสวีเดนเล็งเห็นถึงความสำคัญของยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียทั้ง 2 ประเทศนี้ ออสเตรเลียเองก็ยังมีภาษาเกาหลีกับอินโดนีเซียให้เด็กมัธยมได้เรียนกัน แต่ทำไมไทยเราถึงมองข้ามความสำคัญของภาษาเอเชียด้วยกันไปก็ไม่รู้ เพราะเห็นมีแต่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่เป็นภาษายอดฮิตในหมู่เด็กไทย แต่จีนนั้นไม่ค่อยมีคนสนใจกันเท่าไร ทั้งๆ ที่เป็นภาษาที่สำคัญมากภาษาหนึ่ง ส่วนภาษาอินโดนีเซีย คงไม่ต้องพูดถึง จริงๆ แล้วไทยน่าจะให้ความสำคัญกับ ภาษามาเลย์และอินโดนีเซียกันสักหน่อย เพื่อเสริมสร้าง ความเข้าใจอันดีกับเพื่อนบ้านของเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเหตุวุ่นวายทางการเมืองกับพี่น้องชาวมุสลิมกันอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ขึ้น
มาเข้าเรื่องการไปฝึกงานของน้องปุ้ยกันดีกว่า น้องปุ้ยไปทำงานที่รัฐสภาแห่งอียู โดยสมัครไปเป็นผู้ช่วย ของ ส.ส.จากอังกฤษที่ชื่อ ดร.บาร์บาร่า โอทูล พรรคเลเบอร์ ซึ่งประจำตำแหน่งอยู่ที่รัฐสภาอียู (หรือที่เรียกกันว่าตำแหน่ง MEP คือ Member of the European Parliament) รัฐสภาแห่งอียูนี้ทำหน้าที่คล้ายๆ กับวุฒิสภา มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินงบประมาณประจำปีของอียู อีกหน้าที่หนึ่งคือการให้คำแนะนำในด้านนโยบาย การเงิน หรือเรื่องภาษีแก่ประเทศสมาชิก ซึ่งสมาชิกมีสิทธิที่จะนำไปปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ ส.ส.ของรัฐสภาอียูได้มาจากการเลือกตั้งภายในแต่ละประเทศ ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำ European Commission และ European Council นั้นทุกคนมาจากการแต่งตั้งทั้งสิ้น ใน 1 เดือน MEP จะทำงานกันที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศ เบลเยียม อยู่ 3 สัปดาห์ อีก 1 สัปดาห์ที่เหลือจะไปประจำที่เมือง Strasbourg ประเทศฝรั่งเศส
น้องปุ้ยได้ไปฝึกงานที่เมือง Strasbourg เป็นเวลาทั้งหมด 9 เดือน ทำงานเดือนละ 1 สัปดาห์ เวลา ที่เหลือไปลงเรียนกับสถาบัน L'Institut des Etudes Politiques (IEP) อันเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย L'Universite de Robert Schuman ในเมือง Strasbourg ซึ่งทำโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลอยู่ ที่เรียนเกี่ยวกับอียูเพราะเห็นว่า อียูเป็นองค์กรนานาชาติที่มีระบบน่าสนใจ น่าเรียนรู้ น้องปุ้ยทำงานเป็นผู้ช่วยของ ส.ส. บาร์บาร่าอยู่ หลายด้าน ตั้งแต่จดโน้ต รับโทรศัพท์ ค้นข้อมูล (รวม ถึงอ่านข้อมูลแทน ส.ส.ด้วย) หรือไปร่วมฟังการประชุมและสรุปผลการประชุมให้ ส.ส.ฟัง งานยุ่งขนาดนี้เป็นเพราะ ส.ส.แต่ละคนรับผิดชอบงานหลายด้าน บ้างก็เป็นสมาชิกของคณะทำงานหลายกลุ่มในเวลาเดียวกัน เช่นอาจดูแลทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ และการเกษตร บางครั้งตารางการประชุมของคณะทำงานแต่ละชุดจะชนกัน ส.ส.จึงจำเป็นต้องส่งผู้ช่วยไปประชุมแทน
น้องปุ้ยเล่าให้ฟังถึงข้อคิดที่น่าสนใจที่ได้จากการไปฝึกงานครั้งนี้ คือการถูกฝรั่งมองว่าเป็นคนขี้อาย เนื่องมาจากวัฒนธรรมไทยที่สอนให้เด็กไทยเคารพนอบน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่เวลาคุยกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ยังติดตัวน้องปุ้ยมาจนทุกวันนี้ แต่ความนอบน้อมถ่อม ตนกลับทำให้ถูกฝรั่งมองว่า เป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองไป เสียนี่ เช่นเวลารับโทรศัพท์ น้องปุ้ยมักถูกผู้ช่วยของ ส.ส. บาร์บาร่าที่บรัสเซลส์ดุว่าต้องทำเสียงให้มั่นใจหน่อย ตัวเองจึงต้องพยายามทำน้ำเสียงให้หนักแน่น เวลาพูดภาษาต่างประเทศ นี่ก็เป็นประสบ การณ์ในเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับเทศของน้องปุ้ย ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้อ่านบ้าง หากต้องทำงานกับชาวต่างชาติ อีกเรื่องที่ได้ไปเรียนรู้มาก็คือ เรื่องการเมืองในอียู เช่นได้เรียนรู้ว่า ทำไมประเทศเล็กๆ อย่างลักเซมเบิร์กจึงยืนกราน ไม่ยอมลดจำนวน MEP ของตนลง (ปัจจุบันมีอยู่ 6 คน) เพราะตามกฎแล้ว หลังจากที่อียูขยายสมาชิกออกไปเป็น 25 ประเทศ สมาชิกเดิมต้องลดจำนวน MEP ของตนลง แต่ลักเซมเบิร์กโต้ว่า ส.ส.ของตนมีน้อยและแต่ละคนก็ทำงานหนักเป็นกรรมการในคณะทำงานหลายชุดอยู่แล้ว หากลดจำนวน ส.ส.ลงอีก งานคงล้นมือจนทำไม่ไหว ลักเซมเบิร์กจึงยืนยันไม่ยอม ลดจำนวน ส.ส.ในอียูของตน ส่วนประเทศที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดคือเยอรมนี 99 คน สหราชอาณาจักรเองมี 72 คน
สำหรับเกณฑ์การสมัครไปฝึกงานกับรัฐสภาแห่งอียูนี้ไม่มีการจำกัดสัญชาติ (คนไทยก็สมัครได้) แต่ต้องเก่งอย่างน้อย 3 ภาษา ที่ต้องคล่องก็คือ อังกฤษ กับฝรั่งเศส เพราะเจ้าหน้าที่ของอียูต้องทำงานกันทั้งในเบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศส ซึ่งล้วนแต่ใช้ภาษาฝรั่งเศสกันทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังต้องรู้ภาษาของสมาชิกอื่นเพิ่มอีก 1 ภาษา อาจเป็นสเปน อิตาเลียน หรือเยอรมัน แต่ที่กำลังมาแรงคือภาษาของประเทศสมาชิกใหม่ เช่น เอสโตเนียน หรือโพลิช (อันนี้คงยากหน่อยสำหรับคนไทยเรา) ใครที่รู้ภาษาของสมาชิกใหม่ จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
หากผู้อ่านท่านใดสนใจอยากไปฝึกงานที่รัฐสภา แห่งอียู ก็อาจจะสมัครกับ ส.ส.ประจำอียูได้โดยตรง (เช่น ส.ส.จากอังกฤษ) ซึ่งจะสมัครได้ทั้งปี (แต่น้องปุ้ย แนะนำว่าน่าจะสมัครช่วง มิ.ย.-ก.ค.นี้เพราะหลังจากนี้ไป ส.ส.จะพักร้อน จะกลับมาทำงานดูใบสมัครอีกทีก็คงเดือน ส.ค.) ขั้นตอนก็คือ หารายละเอียดของ ส.ส. นั้นๆ จากทางอินเทอร์เน็ตก่อนว่าเขาทำงานด้านไหน ซึ่งควรจะเป็นเรื่องที่เรามีความรู้ความสนใจอยู่ด้วย จากนั้นจึงส่งจดหมายและประวัติส่วนตัวของเราไปให้เขาดู น้องปุ้ยบอกว่าสิ่งที่ทำให้การสมัครเข้าไปทำงานกับรัฐสภาอียูเป็นเรื่องยากสำหรับคนต่างชาตินั้น ไม่ใช่เรื่องสัญชาติแต่เป็นเรื่องภาษามากกว่า
อยากขอฝากไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า สมัยนี้การพูดอังกฤษเก่งอย่างเดียวนั้นไม่พออีกต่อไปแล้ว หากใคร ต้องการทำงานกับองค์กรนานาชาติ (เช่น ยูเอ็น) การมี ความรู้อย่างน้อย 2-3 ภาษากลายเป็นข้อกำหนดพื้นฐาน ในการสมัครงานไปโดยปริยาย ส่วนท่านใดที่สนใจอยาก จะฝึกงานกับรัฐสภาอียู สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.europarl.eu.int/stages/reg_en.htm
ก็ต้องขอปรบมือให้น้องปุ้ย คนไทยคนเก่งวันนี้ด้วยค่ะ
|
|
 |
|
|