ทันทีที่สิ้นเสียง ปิ๊งป่อง! "Irasshaimase Konnichiwa" ก็ดังตามมาราวกับถูกตั้งโปรแกรมเอาไว้ที่ประตูทางเข้าร้านสะดวกซื้อทุกร้านในญี่ปุ่น ซึ่งคงจะเป็นรูปแบบการทักทายลูกค้าที่คล้ายกันของร้านสะดวกซื้อทั่วโลก แต่อยากจะให้มาได้ยินด้วยตัวเองว่า น้ำเสียงในการทักทายของพนักงานขายของร้านสะดวกซื้อที่นี่ เต็มไปด้วยความกระฉับกระเฉงที่พร้อมจะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงจริงๆ
Konbinii คำในภาษาญี่ปุ่นที่มาจากคำว่า convenient store หรือร้านสะดวกซื้อนั้นหากดูเผินๆแล้วก็เหมือนๆ กับร้านสะดวกซื้อทั่วไปในเมืองไทยทั้งรูปแบบการจัดร้าน ประเภทสินค้า หรือแม้กระทั่งชื่อร้านที่เป็นแฟรนไชส์อยู่ทั่วโลกอย่าง 7-Eleven, AM-PM, Familymart เป็นต้น แต่ถ้าพิจารณาดูลึกๆแล้วจะพบความเหมือนที่แตกต่างอย่างน่าสนใจทีเดียว
อาหารสำเร็จรูปประเภทแซนด์วิช, obento, onigiri, บะหมี่เย็น, สลัด มักจะจัดวางอยู่ในตู้แช่ด้านในใกล้เคาน์เตอร์ชำระเงิน พร้อมบริการอุ่น obento ด้วย microwave (ฟรี) ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตที่รีบเร่งในญี่ปุ่น เมนูอาหารมักจะมีการสับเปลี่ยน เป็นระยะๆ บนฉลากของอาหารสำเร็จรูปจะมีรายละเอียดของปริมาณและสัดส่วนวัตถุดิบที่ใช้ ตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดพร้อมทั้งวัน เวลาหมดอายุกำกับไว้เสมอ อาหารสำเร็จรูปเหล่านี้จะถูกเก็บกลับ (ในกรณีที่ขายไม่หมด) และนำของใหม่มาวางแทนที่วันละ 3 รอบ ทำให้มั่นใจได้ว่าอาหารนั้นใหม่และสดอยู่เสมอ ถึงขั้นเคยมีข่าวของร้าน 7-Eleven ที่ถูกโจมตีเกี่ยวกับการเก็บอาหารกลับก่อนเวลาที่กำหนดและนำไปทิ้งขยะ ทั้งๆ ที่ยังไม่หมดอายุ
หลายครั้งที่อาหารในตู้แช่แข็ง (frozen food) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ฉีกความจำเจของเมนูอาหารสำเร็จรูปดังกล่าว อย่างในกรณีไปพบว่ามีแกงเขียวหวาน ของไทยในตู้แช่แข็งในร้าน Lawson โดยบังเอิญ ทำให้ อดไม่ได้ที่จะไปเดินโฉบเข้าไปดูเผื่อว่าจะมีเมนูเด็ดอื่นๆ อีกเวลาเข้าร้านสะดวกซื้อในครั้งถัดๆ ไป
ร้านสะดวกซื้อบางร้าน เช่น Ministop จะมีมุมสำหรับให้นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ และร้านสะดวกซื้อแทบจะทุกร้านก็มีห้องน้ำสะอาดให้บริการฟรี
ที่ที่เด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะก้าวตรงเข้าไปสำรวจ สินค้าใหม่โดยไม่สนใจคำทักทายจากพนักงาน ก็คือเคาน์เตอร์ขนมที่มักจะมีของแถมเป็นของเล่น การ์ตูน สารพัดแบบให้สะสม โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมนั้น จะมีความหลากหลายของสินค้าประเภทนี้ในร้านสะดวกซื้อมากเป็นพิเศษ จนในบางครั้งอดคิดไม่ได้ว่าเกิดเป็นเด็กในญี่ปุ่นนั้นโชคดีเหลือหลาย
ในส่วนของตู้เครื่องดื่มมีเครื่องดื่มวางเรียงกันอยู่กว่า 50 ชนิด นั้นช่วยสร้างความเพลิดเพลินในการเลือกซื้อได้ไม่น้อย เครื่องดื่มหลายชนิดมีขายเฉพาะฤดูกาลจึงทำให้สินค้าประเภทนี้มี turn-over rate สูง ยกตัวอย่างเช่น น้ำสาลี่ญี่ปุ่นที่เคยซื้อไปเมื่อคราวก่อนอาจจะหาไม่ได้อีกในคราวนี้ (คงต้องรอออกมาใหม่ปีหน้า) เป็นต้น นอกจากนี้แล้วความหลากหลายของเครื่องดื่มในญี่ปุ่น กลายเป็นสิ่งผลักดันให้เกิดการแข่งขันสูงในตลาดระหว่างบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม หลายยี่ห้อ กลยุทธ์ทางการตลาดที่นำมาใช้มักจะมีร้านสะดวกซื้อเป็นสนามประลองอยู่บ่อยครั้ง หนึ่งในตัวอย่างที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้คือ การเปิดตัวของ Coca Cola C2 ในญี่ปุ่นวันแรก (ซึ่งเป็นครั้งแรกในโลกด้วย) สร้างสถิติยอดขายถล่มทลายจาก channel ของร้านสะดวกซื้อนี่เอง
สินค้าอุปโภคต่างๆ ในชีวิตประจำวัน รวมทั้ง หนังสือพิมพ์ นิตยสาร การ์ตูนก็มีวางจำหน่ายตรงตามคำจำกัดความของร้านสะดวกซื้อทุกประการ และที่ดูเหมือนจะวาง position ของสินค้าได้ชัดเจน คือเครื่องสำอาง DHC ที่มีคุณภาพดีราคาไม่แพงเกิน ไปซึ่งจะมีจำหน่ายเฉพาะในร้าน 7-Eleven เท่านั้น
"ในญี่ปุ่นมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับชีวิต ประจำวันอย่างครบครัน" คงเป็นคำกล่าวที่ใช้ไม่ได้กับ ATM ของธนาคารในญี่ปุ่น เพราะว่าในขณะที่ธนาคารส่วนใหญ่งดให้บริการหลัง 6 โมงเย็นไปแล้วนั้นร้านสะดวกซื้อ (ไม่ทุกร้าน) กลับมีเครื่องกด ATM ของทุกธนาคาร (อยู่ในตู้เดียวกัน) ไว้คอยบริการ ซึ่งสามารถฝาก ถอน โอนเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยจ่ายเพิ่ม 100-200 เยนสำหรับบริการนอกเวลาทำการของ ATM ธนาคาร และนี่ก็เป็นหลักประกันได้ว่าสามารถกดเงินในยามจำเป็นได้ตลอดเวลา เมื่อเร็วๆ นี้ยังสามารถเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิตทุกยี่ห้อโดยใช้ตู้ที่ว่านี้ได้เช่นกัน
ปกติการชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ฯลฯ สามารถทำโดยตัดผ่านบัญชีอัตโนมัติได้ก็จริงแต่ก็มีไม่น้อยที่เลือกใช้บริการชำระผ่านร้านสะดวกซื้อ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสามารถจ่ายเงินหลังวันครบกำหนดชำระได้ถ้าไม่ถูกระงับบริการไปเสียก่อน
นอกจากนี้ที่เคาน์เตอร์ชำระเงินในร้านสะดวกซื้อยังสามารถซื้อตั๋วภาพยนตร์ลดราคา 500 เยน (ต้องซื้อก่อน roadshow), ตั๋วคอนเสิร์ต, ตั๋วมวยปล้ำ รวมถึง ตั๋วเข้า Disney Resort ในราคาถูกกว่าปกติ 1,200 เยน (เฉพาะช่วง promotion) ได้ตามประกาศไว้หน้าร้าน
ก่อนช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ในร้าน สะดวกซื้อหลายๆ ร้านมักจะมีโฆษณาการสั่งจองเค้ก สารพัดแบบในราคาประหยัด ซึ่งทางร้าน 7-Eleven ได้ประยุกต์ไอเดียนี้ในการสั่งกับข้าวประจำวันแบบวันต่อวันได้ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่ไม่สะดวกในการทำอาหารด้วยตนเอง เช่น คุณตาคุณยายที่อยู่กันลำพัง
การจับมือกับบริษัทส่งพัสดุช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้มาก ของที่ส่งใช้เวลาเพียงข้ามวัน ซึ่งนอกจากจะเร็วกว่าบริการของไปรษณีย์แล้วยังกำหนดเวลาที่จะให้ของส่งไปถึงได้อีกด้วย อีกทั้งยังสามารถเลือกบริการเก็บเงินปลายทางได้ เพียงแค่ทางร้านโทรไปสอบถามความจำนงของผู้รับปลายทาง ว่าจะยินดีรับเงื่อนไขการเก็บเงินปลายทางนี้หรือไม่ ถ้าตกลงก็เป็นอันสามารถส่งของได้ฟรีเช่นกัน ที่สะดวกไปกว่านั้นคือ บริการส่งกระเป๋าเดินทางไปสนามบิน (ควรส่งล่วงหน้า 2-3 วัน) เป็นบริการที่สร้างความสะดวก สบายในการเดินทางได้มาก เมื่อไปถึงสนามบินก็สามารถ รับกระเป๋าได้จากเคาน์เตอร์พิเศษของทางบริษัทโดยแสดงตั๋วที่ออกโดยร้านสะดวกซื้อที่ไปใช้บริการ
นอกเหนือจากบริการโดยพนักงานของร้านแล้วยังมีระบบการบริการตนเองในร้านสะดวกซื้อ นั่นคือ บริการเครื่องถ่ายเอกสารคุณภาพเยี่ยมแบบหยอดเหรียญ ที่ถ่ายได้ทั้งขาวดำและสี อีกทั้งเครื่องส่งแฟกซ์ก็ใช้ได้เพียงแค่แจ้งความประสงค์ในการใช้กับพนักงานก่อนใช้ และจ่ายเงินตามระยะเวลาและระยะทางของการส่ง แฟกซ์ที่เคาน์เตอร์ชำระเงิน
ทุกวันนี้ร้านสะดวกซื้อกลายมาเป็นสถานที่ที่มีบทบาทสำคัญของชีวิตประจำวันในญี่ปุ่นไปโดยปริยาย ลูกค้าที่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อก็เพราะสามารถใช้บริการ หลากหลายได้อย่าง "สะดวก" ที่ไม่ใช่เพียงแค่ไป "ซื้อ"....
Special Thanks to Mr. Hiroyuki Ishida for nice picture from Seven-Eleven Tendai 5-choume branch, Chiba, Japan
|