|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2547
|
|
การแข่งขันฟุตบอลชิงชนะเลิศแห่งชาติยุโรป (European Nations' Cup) ประจำปี 2547 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Euro 2004 จบสิ้นลงแล้วตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม 2547 แต่สิ่งที่ควรกล่าวถึง Euro 2004 ยังไม่หมด
ผมเริ่มศึกษาการเติบโตของการแข่งขันกีฬาอาชีพ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของระบบทุนวัฒนธรรม (Cultural Capitalism) ตั้งแต่ประมาณปี 2536 และทุกครั้งที่มีการแข่งขันกีฬาโลก ไม่ว่าจะป็นโอลิมปิก ฟุตบอลโลก รักบี้โลก และคริกเกตโลก ผมไม่ลังเลที่จะนำเสนอบทวิเคราะห์ในบริบทการเติบโตของระบบทุนวัฒนธรรม
ความสำเร็จในการจัดการแข่งขัน Euro 2004 สะท้อนให้เห็นการเติบโตของระบบทุนวัฒนธรรมอย่างชัดเจน แต่ประเด็นที่ยังมีผู้กล่าวถึงไม่มากนัก ก็คือทุนวัฒนธรรมมิได้เป็นเพียงหน่อใหม่ของระบบทุนนิยมโลกที่มีพลวัตการเติบโตที่น่าตื่นตาตื่นใจเท่านั้น หากยังเป็นกลไกใหม่ของกระบวนการโลกานุวัตร (Globalization Process) อีกด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างทุนวัฒนธรรมกับโลกานุวัตร เป็นความสัมพันธ์สองทิศทาง กล่าวคือ มิเพียงแต่ทุนวัฒนธรรมมีผลต่อกระบวนการโลกานุวัตรเท่านั้น หากทว่าโลกานุวัตรก็มีผลต่อทุนวัฒนธรรมด้วย Euro 2004 นับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความข้อนี้
Euro 2004 เป็นจักรกลในการขับเคลื่อนกระบวนการโลกานุวัตรอย่างมิอาจปฏิเสธได้ เพราะ Euro 2004 เชื่อมสัมพันธ์สังคมเศรษฐกิจโลกเข้าด้วยกัน โดยมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติยุโรปเป็นตัวเชื่อม ผู้คนนับร้อยล้านคนในประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ประเทศ ใจจดใจจ่อเฝ้าติดตามการแข่งขันฟุตบอลรายการสำคัญ ดังกล่าวนี้ บางคนติดตามชมการแข่งขัน เพราะต้องการ ความสุข หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "อรรถประโยชน์" (Utility) จากการได้เห็นดารานักฟุตบอลระดับโลกโชว์ฝีเท้า แต่บางคนอาจมีผลประโยชน์จากการพนันฟุตบอล
ในอีกด้านหนึ่ง โลกานุวัตรมีผลต่อกีฬาฟุตบอลอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศผสมผสานกับเทคโนโลยีอวกาศ ทำให้การถ่ายทอดโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเป็นไปได้ และนับวันประสิทธิภาพการถ่ายทอด มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้น ฟุตบอล รวมตลอดจนกีฬาอื่นๆ เข้าสู่กระบวนการโทรทัศนานุวัตร และได้ประโยชน์จากกระบวนการโทรทัศนานุวัตรทั้งในด้านการพัฒนากีฬา และในเชิงธุรกิจ
กระบวนการโทรทัศนานุวัตรให้ประโยชน์เชิงธุรกิจแก่การกีฬาอย่างยิ่งยวด เพราะช่วยกรุยทางในการหาประโยชน์จากการขายสิทธิการถ่ายทอดโทรทัศน์ ตามมาด้วยรายได้จากสปอนเซอร์ บรรดานักกีฬาระดับดาราโลกพลอยฟ้าพลอยฝนมีรายได้ในฐานะผู้โฆษณาสินค้าด้วย ในแง่นี้กระบวนการโทรทัศนานุวัตรก่อผลสำคัญอย่างน้อย 2 ด้าน ด้านหนึ่ง ทำลายลักษณะสมัครเล่นของการกีฬา กีฬาหลายต่อหลายประเภทแปรสภาพเป็นกีฬาอาชีพชนิดเต็มรูป อีกด้านหนึ่ง ให้พลังการเติบโตอย่างมีพลวัตแก่ระบบทุนวัฒนธรรม
กระบวนการโทรทัศนานุวัตรมิได้ให้ประโยชน์ด้านธุรกิจเท่านั้น หากยังให้ประโยชน์ในการพัฒนากีฬาด้วย นักกีฬาประเภทต่างๆ สามารถเฝ้าติดตามคู่แข่ง ของตนได้โดยง่าย ทีมฟุตบอลดังเช่น Real Madrid สามารถมีข้อมูลที่ค่อนข้างสมบูรณ์เกี่ยวกับยุทธวิธีการเล่นฟุตบอลของ Manchester United
ในยุคสมัยที่กระบวนการโทรทัศนานุวัตรยังไม่เติบโต กว่าที่จะรู้ว่าทีมฟุตบอลชาติใดมีความโดดเด่นเป็น พิเศษ ก็เป็นเวลาที่การแข่งขันใกล้จะจบสิ้น ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันฟุตบอลโลก FIFA World Cup หรือการแข่งขันฟุตบอลชิงชนะเลิศแห่งชาติยุโรป
กระบวนการโทรทัศนานุวัตรทำให้ข้อมูลข่าวสาร ในวงการกีฬามีความสมบูรณ์มากขึ้น ยุทธวิธีการเล่นฟุตบอลของทีมแต่ละทีมสามารถศึกษาวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นยุทธวิธี catenaccio (ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Defensive Lockdown) ของทีมชาติอิตาลีก่อนทศวรรษ 2520 หรือลีลา Samba ของทีมชาติบราซิล ผู้เล่นตำแหน่งผู้รักษาประตูสามารถศึกษาลีลาการเตะลูกโทษของดาราฟุตบอลแต่ละคนได้
กระบวนการโลกานุวัตรของกีฬาฟุตบอล ซึ่งอาศัยจักรกลของกระบวนการโทรทัศนานุวัตรเป็นสำคัญ นอกจากจะเกื้อกูลให้สารสนเทศเกี่ยวกับวงการกีฬามีความสมบูรณ์มากขึ้นแล้ว ยังช่วยแปลงโฉมตลาดแรงงาน กีฬาให้เป็นตลาดระหว่างประเทศอีกด้วย แม้ประเทศต่างๆ จะมีกฎระเบียบในการสงวนการแข่งขันกีฬาเฉพาะนักกีฬาชาติของตน ดังเช่น กฎกติกาการจำกัดจำนวนนักกีฬาต่างชาติในการแข่งขันแต่ละครั้ง แต่กฎกติกาเหล่านี้มิอาจรับแรงเสียดทานจากกระแสโลกานุวัตร และการเติบใหญ่ของระบบทุนวัฒนธรรมได้ มิช้ามินานกฎกติกาชาตินิยมเหล่านี้ก็ล่มสลาย ตลาดแรงงาน กีฬาในประเทศต่างๆ เริ่มเชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้น จนเริ่มก่อเกิดธุรกิจเอเย่นต์นักกีฬา ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการเจรจาต่อรองค่าตอบแทนนักกีฬา ทั้งกับสโมสรที่สังกัดในปัจจุบัน และสโมสรที่จะย้ายไปในอนาคต ตลาด แรงงานกีฬาค่อยๆ แปรเป็นตลาดไร้พรมแดน การเคลื่อนย้ายแรงงานกีฬาระหว่างประเทศเป็นไปอย่างเสรีมากกว่าปางก่อน
Euro 2004 ได้รับผลกระทบจากกระบวนการโลกานุวัตรดังกล่าวนี้ กระบวนการโลกานุวัตรทำให้ตลาดฟุตบอลชาติต่างๆ ในยุโรปเชื่อมโยงกัน นักฟุตบอล จาก 16 ชาติที่แข่งขันใน Euro 2004 เกินกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในตลาดแรงงานกีฬาระหว่างประเทศ และจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามประเทศหลังจากที่ Euro 2004 จบสิ้นลง ในประการสำคัญกระบวนการโลกานุวัตรทำให้มาตรฐานการเล่นฟุตบอลของชาติต่างๆ ใกล้เคียงกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า ชาติที่เคยด้อยพัฒนาด้านกีฬาฟุตบอลในยุโรป ดังเช่น กรีซ สามารถยึดตำแหน่งชนะเลิศได้ ในขณะที่มหาอำนาจในกีฬาฟุตบอล ดังเช่น อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และสเปน มิอาจ เปล่งรัศมี ความแตกต่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนาในกีฬาฟุตบอลมีน้อยลง ความข้อนี้ปรากฏให้เห็นแล้วในการแข่งขันฟุตบอลโลก FIFA World Cup 2002 เมื่อเกาหลีใต้และตุรกีสามารถเข้ารอบ Semi-Final ได้ ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ปรากฏให้เห็น อีกใน Euro 2004
Euro 2004 มิได้เป็นฝ่ายรับผลกระทบจากกระบวนการโลกานุวัตรถ่ายเดียว หาก Euro 2004 ส่งผลต่อกระบวนการโลกานุวัตรด้วย เพราะการแข่งขันฟุตบอลใน Euro 2004 สามารถเชื่อมโยงมนุษย์ในส่วนต่างๆ ของโลกเข้าด้วยกัน ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า ทุนวัฒนธรรมกำลังถีบตัวขึ้นมาเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการโลกานุวัตร
ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก การค้าระหว่างประเทศและต่อมาการลงทุนระหว่างประเทศ เป็นพาหะในการเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของสังคมเศรษฐกิจ โลกเข้าด้วยกัน และเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการโลกานุวัตรระยะแรกเริ่ม ต่อเมื่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยเชื่อมโยงตลาดการเงินของประเทศต่างๆ เข้าด้วยกัน ประกอบกับนโยบายการเปิดเสรีทางการเงินของประเทศต่างๆ จำนวนมาก การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศกลายเป็นจักรกลสำคัญยิ่ง ในการขับเคลื่อนกระบวนการโลกานุวัตรนับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา
บัดนี้ ทุนวัฒนธรรมกำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในกระบวนการโลกานุวัตร บทบาทของวัฒนธรรมในการเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของโลกมิได้เพิ่งปรากฏในศตวรรษนี้ หากมีมาช้านานแล้ว ในยุคจักรวรรดินิยม การที่วัฒนธรรมเมืองแม่แผ่อิทธิพล สู่อาณานิคมเป็นปรากฏการณ์สามัญ อาณานิคมภายใต้จักรวรรดิเดียวกันมักจะมีวัฒนธรรมเมืองแม่เป็นจักรกลในการเชื่อมสัมพันธ์ ในยุคจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ วัฒนธรรมยังคงมีบทบาทเดียวกันนี้ จนก่อเกิดระบบจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม (Cultural Imperialism)
แต่ไม่มียุคสมัยใดที่วัฒนธรรมและทุนวัฒนธรรมมีบทบาทในกระบวนการโลกานุวัตรมากเท่ายุคปัจจุบัน ส่วนสำคัญเป็นเพราะการเติบใหญ่กล้าแข็งของระบบทุนวัฒนธรรม ประกอบกับการหนุนช่วยของเทคโนโลยีสารสนเทศ
นี่เป็นปรากฏการณ์อันควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง
|
|
|
|
|