|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2547
|
|
Character ของ "ภัทรลิสซิ่ง" เน้น low profile การเปลี่ยนแปลง logo ที่บริษัทอื่นอาจเห็นว่าไม่มีความหมายมากนัก แต่ที่นี่ให้ความสำคัญ ถึงขนาดต้องจัดแถลงข่าว
"วันนี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีของภัทรลิสซิ่งที่ได้มีการจัดการแถลงข่าวขึ้น" เสียงโฆษกหญิง ซึ่งเป็นตัวแทนจากบริษัท agency ประชา สัมพันธ์ ประกาศก่อนเริ่มต้นการแถลงข่าว เรื่อง "การ re-branding ภัทรลิสซิ่ง" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อกลางเดือนก่อน
ประเด็นหลักของการจัดงานแถลงข่าวครั้งนี้คือการประกาศเปลี่ยนแปลงโลโกใหม่และบ่งบอกถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการรักษาความเป็นผู้นำ ในธุรกิจให้เช่าใช้รถยนต์ของบริษัท ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ทำมาตลอดระยะเวลา 16 ปี รวมถึงนโยบายการตลาด และทิศทางของธุรกิจในอนาคต
ผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วยเกริกชัย ศิริภักดี กรรมการผู้จัดการ ภูษิต แสนโสภณ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาด และพิภพ กุนาศล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบัญชีและการเงิน
"การเปลี่ยนแปลง logo ของเราในครั้งนี้ก็เพื่อให้ look ของภัทรลิสซิ่ง เป็นที่รู้จักมากขึ้น" เกริกชัยกล่าว
เกริกชัยดูเหมือนจะเป็นเพียงคนเดียวที่มีการระบุข้อมูลไว้ในเอกสารประวัติผู้บริหาร ที่แจกให้กับนักข่าวว่าจบการศึกษาระดับมัธยมจากวชิราวุธวิทยาลัยในปี 2509 ก่อนจะจบปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ MBA จาก CSU สหรัฐอเมริกา และเริ่มงานครั้งแรกที่บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ ในปี 2517
การระบุการศึกษาระดับมัธยม เหมือนเป็นการการันตีตำแหน่งของเขาได้ดีว่า มีสายสัมพันธ์อยู่กับใครบ้างในกลุ่มภัทร
ขณะที่ผู้บริหารคนอื่นมีการระบุข้อมูลการศึกษาขั้นต้นในระดับปริญญาตรี โดยภูษิตจบปริญญาตรี นิติศาสตร์ จุฬาฯ และ MBA จากศศินทร์ ส่วนพิภพจบทั้งปริญญาตรีและโท จากคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนการแถลงข่าวครั้งนี้ ภัทรลิสซิ่ง ได้เคยเปลี่ยนโลโกมาแล้ว 2 ครั้ง นับแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2530 และโลโกที่นำมาใช้ในแต่ละอัน ล้วนมีความหมายเฉพาะอยู่ในตัวเอง
โลโกแรกใช้ตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทจนถึงปี 2538 มีความหมายถึงการแสวงหาแนวคิดในการทำธุรกิจ โดยมีเป้าหมายว่าจะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจ operating lease ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
โลโกที่ 2 เริ่มใช้ในปี 2538-2546 ภายหลังจากที่ภัทรลิสซิ่งเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งบ่งบอก ถึงความเป็นบริษัทมหาชน
โลโกที่ 3 ที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มีความหมายถึงยุคใหม่ ที่พร้อมจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะให้บริการแก่ลูกค้ารายใหญ่ในระดับประเทศ
ภัทรลิสซิ่ง เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจให้เช่าใช้ทรัพย์สิน (leasing) ที่แท้จริงซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย แตกต่างจากบริษัทอื่นที่มีคำว่าลิสซิ่งต่อท้าย ซึ่งกลุ่มหลังนี้ส่วนใหญ่ทำธุรกิจเช่าซื้อ (hire-purchase) รถยนต์เป็นหลัก
กลุ่มลูกค้าของภัทรลิสซิ่งคือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย ที่มองเห็นถึงข้อดีที่ว่าการลงทุนในเรื่องรถยนต์ในองค์กร เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักโดยตรง ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ดังนั้น ภัทรลิสซิ่งจะมีบทบาทแทรกเข้ามาในจุดนี้ โดยการจัดหารถยนต์ทุกประเภทให้กับองค์กรดังกล่าวเช่า โดยเสียค่าใช้จ่าย เป็นรายเดือน
โดยรถยนต์ที่ภัทรลิสซิ่งมีให้บริการ มีทั้งรถผู้บริหาร รถที่ใช้งานในเชิงพาณิชย์ รถของพนักงานขาย หรือรถยนต์ที่องค์กรนั้นๆ สามารถนำมาใช้เป็นรถส่วนกลาง ฯลฯ
"ทุกวันนี้บริษัทหลายแห่งที่มีขนาดใหญ่ มีการใช้รถยนต์เป็นจำนวนมากถึงขนาดต้องตั้งแผนกยานพาหนะเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่จำเป็น" ภูษิตระบุ
สำหรับวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีการประกาศพร้อมกับการเปลี่ยนโลโกใหม่ในครั้งนี้ ก็คือบริการครบวงจรที่เรียกว่า "PHATRA FLEET LEASING" ซึ่งกินความหมายใน 3 มิติ
มิติแรกในด้านเวลา โดยภัทรลิสซิ่งจะมีศูนย์ที่จะให้บริการแก่ลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง มิติต่อมาคือความลึก ซึ่งหมายถึงบริการที่ครบวงจร ทั้งด้านการจัดหา บำรุงรักษา และซ่อมแซมหากรถที่ลูกค้าเช่าไปเกิดปัญหา และมิติสุดท้ายคือความกว้าง โดยภัทรลิสซิ่ง มีคู่สัญญาที่เป็นจุดให้บริการ ครบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย รวมมากกว่า 500 ศูนย์
จากงบการเงินไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ภัทรลิสซิ่งมีรายได้รวม 715.41 ล้านบาท กำไรสุทธิ 124.88 ล้านบาท เทียบกับผลประกอบการ ตลอดทั้งปี 2545-2546 ที่สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายนปีที่แล้ว ซึ่งมีรายได้รวม 1,086.68 ล้านบาท กำไรสุทธิ 155.02 ล้านบาท ทำให้ คาดหมายได้ว่าในปีบัญชีนี้ ภัทรลิสซิ่งอาจ มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 50% และกำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว
|
|
|
|
|