การสรุปความเคลื่อนไหวล่าสุดของบริษัทเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด
หรือซีอาร์ซี ซึ่งมีสุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
แม่งานหลักของซีอาร์ซี ต้องออกมาสรุปให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวของธุรกิจค้าปลีกหน่วยใดในซีอาร์ซี
ที่ต้องมีการหยุดชะลอตัว หรือจะขยายต่อไปในปีที่เศรษฐกิจเลวร้าย
เพราะภายใต้เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกของซีอาร์ซี มีธุรกิจค้าปลีกอยู่กว่า
100 ร้าน ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล
ห้างสรรพสินค้า โรบินสัน และเซน
รูปแบบของดิสเคานต์สโตร์ (Discount Store) ที่มีทั้ง บิ๊กซี และคาร์ฟูร์
รูปแบบการจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค ในชื่อท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต เดวิด
โฮลเซล และ แฟมิลี่ มาร์ท
รูปแบบของแคเทอกอรี่ คิลเลอร์ (Category Killer) ได้แก่ พาวเวอร์บาย ออฟฟิศเดโป
ซูเปอร์สปอร์ต และในรูปแบบของสเปเชียลตี้ สโตร์ (Specialty Store) อย่างมาร์ค
แอนด์สเปนเซอร์ มาเธอร์แคร์ และวัตสัน
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สุทธิชาติ กล่าวว่า เป็นธุรกิจค้าปลีกที่เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มเซ็นทรัล นอกเหนือจากธุรกิจหลักอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ฟาสต์ฟู้ด
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาโครงการศูนย์การค้า และธุรกิจการ์เม้นท์
ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจหลักที่กลุ่มให้ความสำคัญและดำเนินงานต่อเนื่อง
ในขณะที่ธุรกิจบางอย่างของกลุ่มเซ็นทรัลที่ไม่นับเป็นธุรกิจหลัก เริ่มทยอยปิดไปตั้งแต่ปี
2540 เช่น ธุรกิจสนามกอล์ฟ ซึ่งผู้บริหารในกลุ่มเซ็นทรัลจะเข้าไปถือหุ้นอยู่ประมาณ
20% ก็จะหยุดไป การถือหุ้นของบริษัทอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งไม่ถือเป็นธุรกิจหลักก็ตัดออกไป
เหล่านี้เป็นต้น
"บริษัทที่ปิดไปแล้วในเครือคาดว่าจะถึง 20 บริษัทเล็กๆ ส่วนใหญ่อะไรไม่ใช่ธุรกิจหลักที่เราตัดออกหมด
เพื่อไม่ให้เงินจมแล้วหันมาเน้นธุรกิจหลัก แต่พวกธุรกิจหลักถ้าขาดทุนเราก็ปิดเหมือนกัน
เช่น ร้านหนังสือชมอักษร ก็ปิดไปก่อนหน้านี้แล้ว ร้านบายดีไซน์ ร้าน Tab
ส่วนที่ปิดจะเน้นที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก เพราะถึงแม้จะมีกำไรก็จะยกเลิกก่อนที่จะเป็นธุรกิจที่ไม่เวิร์กในอนาคต"
สุทธิชาติ กล่าว
ตัวอย่างเช่น 3 ธุรกิจที่ปิดไปคือ บายดีไซน์ ชมอักษร และ Tab มีมูลค่ารวมกันประมาณ
300 ล้านบาท ซึ่งสุทธิชาติเชื่อว่าหากยังเปิดดำเนินงานต่อไป มูลค่าธุรกิจเหล่านี้อาจจะลดเหลือเพียง
100 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น
กิจการที่ยุบไปของซีอาร์ซี ไม่ใช่มีเพียงแต่ส่วนของธุรกิจประกอบ แต่ยังมีการชะลอหรือแทบจะเรียกได้ว่ามีการยุบบางส่วนลงอีก
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบ สเปเชียลตี้ สโตร์ ร้านจำหน่ายเสื้อผ้าแม่และเด็กจากประเทศอังกฤษ
มาร์เธอร์แคร์ ที่ซีอาร์ซีประกาศหยุดกิจการชั่วคราว จากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง
2 สาขา และเพิ่งเปิดตัวได้เพียงปีเศษเท่านั้น โดยจะเหลือเพียงเป็นส่วนหนึ่งในแผนกเสื้อผ้าเด็กของห้างเซ็นทรัล
พร้อมกับใช้นโยบายเช็กยอดขายเดือนต่อเดือน เพื่อดูความน่าจะเป็นในการที่จะขยายต่อไปอีกครั้งในอนาคต
"ร้านมาร์คแอนด์สเปนเซอร์ ก็จะหยุดขยายสาขา สาขาที่มีอยู่ก็จะลดพื้นที่ลงบางส่วน
เฉลี่ยประมาณ 30% อย่างบางสาขามีสองชั้น เราก็อาจจะลดให้เหลือเพียงชั้นเดียว"
สุทธิชาติ กล่าว
ธุรกิจค้าปลีกของซีอาร์ซีส่วนที่จัดอยู่ในประเภทยุบ หรือหยุดขยาย ก็คือห้างโรบินสัน
และเซ็นทรัล ซึ่งคาดว่าจะไม่มีการขยายสาขาแต่อย่างใด แต่กลับต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายที่จะทำให้มียอดการเติบโตในแต่ละส่วนสูงขึ้นกว่าเดิม
ด้วยการตั้งเป้าหมายเป็นรายเดือน ซึ่งก็เห็นผลไปแล้วจากยอดขายในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ซึ่งมียอดขายดีกว่าที่ตั้งเป้าไว้
"คงเป็นเพราะเราเตรียมตัวมาดี ช่วงธันวาคมปีใหม่คนไม่ค่อยให้ของขวัญ
แต่มกราคมเลยเทศกาลไปแล้วกลับมียอดขายที่ดี เพราะจริงๆ แล้วอุปสรรคของค้าปลีกอยู่ที่บรรยากาศเป็นหลัก
คนซื้อไม่ได้หายไปไหน แต่การค้าไม่ดีเอง อยู่ที่การโปรโมต เหมือนที่รัฐบาลควรจะโปรโมตปีอเมซิ่ง
เพื่อดึงดูดคนจากบรรยากาศ"
สำหรับธุรกิจค้าปลีกที่ยังขายได้ดี และซีอาร์ซีประกาศว่าจะบุกแน่ในปีนี้
คือ การขยายบิ๊กซี ท็อปส์ฯ และวัตสัน ซึ่งทั้ง 3 ช่องทางล้วนมีกลยุทธ์ในเรื่องของสินค้าราคาถูกเป็นตัวดึงดูดลูกค้าที่ได้ผล
โดยในส่วนของบิ๊กซีซึ่งได้รับผลในด้านดีอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ทำให้ผู้ซื้อส่วนใหญ่หันไปซื้อของจากแหล่งที่มีสิ่งจูงใจในด้านราคาถูก
เช่นกลุ่มดิสเคานต์ สโตร์อย่างบิ๊กซีนี่เอง หรือแม้แต่การที่ซีอาร์ซีเอง
นำกลยุทธ์เรื่องราคาถูกไปใช้ดึงลูกค้าให้มาใช้บริการท็อปส์ ที่เตรียมจะขยายสาขาเพิ่มอีก
10-15 สาขาในปีสองปีนี้ ด้วยการเทกโอเวอร์พื้นที่ค้าปลีกที่มีอยู่เดิม เช่นเดียวกับการเช่าพื้นที่ของห้างทรูแวลูร์
บริเวณ ถ.ติวานนท์ จ.นนทบุรี แทนการก่อสร้างสถานที่ใหม่ขึ้นเอง
อย่างไรก็ตามสำหรับบิ๊กซี แม้จะมีแนวโน้มที่ยังสดใส แต่การขยายสาขาก็ไม่สามารถจะทำได้ถึง
10 สาขาต่อปีตามอัตราการขยายตัวที่มีอยู่เดิม โดยคาดว่าจะเหลือเพียง 1-4
สาขาเท่านั้น
สำหรับรูปแบบของแคเทอกอรี่ คิลเลอร์ ทั้งพาวเวอร์บาย และซูเปอร์สปอร์ต
ก็ถือเป็นรูปแบบการค้าปลีกที่ซีอาร์ซีวางแผนแนวรุกไว้เช่นกันในปีนี้ โดยการวางตัวอยู่ในพื้นที่ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล
และโรบินสัน ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการขยาย แต่ก็จะหันมาเน้นการจัดการพื้นที่ให้ได้ประโยชน์สูงสุดแทน
ไม่ว่าจะเป็นจัดวางแคเทอกอรี่ คิลเลอร์ เหล่านี้เข้าไป หรือการปล่อยเช่าพื้นที่เพื่อเพิ่มรายได้ให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ เป็นที่เชื่อแน่ว่าแนวโน้มของแคเทอกอรี่ คิลเลอร์ เหล่านี้ นอกจากจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ของซีอาร์ซีให้ได้ประโยชน์สูงสุด
แต่ยังมีแนวโน้มการซื้อสินค้าประเภทเครื่องกีฬาและเครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภค
ที่เปลี่ยนจากการเดินซื้อตามร้านค้าเครื่องกีฬาหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป
มาซื้อในห้างสรรพสินค้าซึ่งจะเป็นแหล่งรวมทุกยี่ห้อ ทุกรุ่น และที่สำคัญมีราคาถูกกว่าแทน
การรุกและรับของเครือข่ายค้าปลีกของซีอาร์ซี คงจะเรียกได้ว่ามีการรุกและรับอย่างมีแนวทางชัดเจน
ซึ่งคงจะทำให้ผลที่ตามมาต่อไปจะยังทำให้ซีอาร์ซีได้ชื่อว่า เป็นผู้นำด้านค้าปลีกของไทยไปได้อีกนาน