นักวิจัยจะมองผลงานของตนเองเป็นเหมือนลูก ไม่มองในเชิงพาณิชย์ เราต้องเอาผลงานที่ได้ถ่ายทอดสู่ภาคเอกชน
ไม่ใช่เพราะเราต้องการผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน แต่เห็นว่าผลงานที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า"
แนวคิดของดรุณี เอ็ดเวิร์ดส ในฐานะผู้จัดการธุรกิจของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
หรือ สวทช. สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน งานดูแลจะเป็นการจัดการผลงานด้านการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพในเชิงธุรกิจ
เป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐเข้าไปประสานงานกับภาคเอกชนที่มีการผลิต ซึ่งต้องใช้ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เข้าไปมีส่วนช่วย
ตัวอย่างเช่นสำนักงานฯ พยายามที่จะผลักดันให้งานวิจัยด้านการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว
เพื่อให้การตายของผู้ป่วยน้อยลง การรักษาโรคเป็นไปได้เร็วขึ้น โดยเอาเรื่องของเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง
เพราะการนำผลงานวิจัยมาใช้ในแง่ธุรกิจยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน
การตรวจไข้เลือดออกที่ต้องใช้เวลาเจ็ดวันก่อนที่จะสรุปผล ซึ่งอาจไม่ทัน
การตรวจวินิจฉัยได้รวดเร็ว แพทย์สามารถรู้การรักษาได้เร็วขึ้น ต่างประเทศมีงานวิจัยแล้ว
เทคโนโลยีนั้นมาจากต่างประเทศ แต่หลายโรคในเขตเมืองร้อนและประเทศกำลังพัฒนา
ต่างประเทศไม่มีการศึกษาวิจัย อย่างอหิวาต์ มาเลเรีย ต้องให้ประเทศของเราเป็นผู้พัฒนาตัวยาทดสอบในเชิงเทคโนโลยีชีวภาพ
แต่เทคโนโลยีหลักในแง่อุปกรณ์ของเรายังไม่มี ต้องผสมผสานกัน
การทำเป็นธุรกิจ โดยการทำให้ตัวยาที่คิดค้นให้สามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์ของเทคโนโลยีต่างประเทศได้
ทางสำนักงานฯ ก็จะออกไปติดต่อกับผู้ผลิตในต่างประเทศ หาเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม
ทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการตรวจวินิจฉัย ซึ่งแพทย์ไทยก็พร้อมแล้ว
และสิ่งที่ค้นพบก็นำไปเผยแพร่ในโรงพยาบาลต่างๆ และสถานีอนามัยในต่างจังหวัด
สิ่งที่ทางสำนักงานสามารถทำได้ก็คืองานวิจัยที่จะป้อนเข้าสู่สายการผลิต
ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งมีอยู่หลากหลาย โดยมีทรัพยากรบุคคลที่ทำการวิจัยอยู่เป็นจำนวนมาก
เราเข้าไปช่วยเอกชนเพื่อให้เขาสามารถใช้งานวิจัยในแง่ธุรกิจได้ จนเขาสามารถดำเนินได้ด้วยตนเอง
งานวิจัยที่ดูเหมือนจะทำให้ออกไปสู่การทำธุรกิจชัดเจน ก็คือคิดค้นสูตรทำแหนมหมู
โดยวิจัยเชื้อแหนม ผลิตเป็นเชื้อบริสุทธิ์ใส่เข้าไปในส่วนประกอบต่างๆ ขบวนการหมักแต่ละขั้นจะรู้ว่าเกิดอะไร
สิ่งที่จะเป็นสารพิษจะน้อยลงเป็นแหนมไบโอเทค โดยอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ได้รับทุนในการคิดค้น และทาง วนัสนันท์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารดอง ที่จังหวัดเชียงใหม่
ซื้อสูตรนี้เพื่อตั้งโรงงานร่วมทุนผลิตออกจำหน่าย
"สำนักงานฯ คิดราคางานวิจัยเพียงเท่าที่มีการจ่ายค่าทุนวิจัยไป และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเอกชน
และเงินที่ได้ก็จะสามารถนำกลับไปใช้กับงานวิจัยอื่นได้"
ด้วยประสบการณ์ในภาคเอกชน ดรุณียอมรับว่าผลการวิจัยบางอย่างอาจไม่สามารถส่งผลที่สร้างประโยชน์
ต่อสาธารณชนในระยะเวลาเริ่มแรก แต่จะมีประโยชน์ในอนาคต อย่างงานในบริษัท
รามา ฟู้ด โปรดัคส์ จำกัด บริษัทในกลุ่มรามา ที่เป็นเจ้าของโรงแรมรามาการ์เด้นท์
ในครั้งนั้น ข้าวแกงรามาทำธุรกิจลักษณะแบบแฟรนไชส์ และได้ขยายทำอาหารสำเร็จรูปออกจำหน่าย
เช่นเครื่องปรุง เครื่องแกง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนปิดกิจการไปในที่สุด
ผ่านมาแล้วเป็นเวลาประมาณกว่า 10 ปี ปัจจุบันอาหารสำเร็จรูปกลับเป็นที่ต้องการของตลาด
เพราะความสะดวกรวดเร็ว นี่จึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นคุณค่าของงานศึกษาวิจัย
และคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่อาจต้องใช้ระยะเวลาในการยอมรับด้วย
ดรุณีจบการศึกษาภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปี 2514 และเข้าร่วมงานกับสถาบันวิจัยอาหารและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทางมหาวิทยาลัยฯ
อันเป็นต้นกำเนิดของโครงการหลวง ระหว่างนั้นก็ไปศึกษาระดับปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกาในสาขาวิชาเดิม
เมื่อกลับมาทำงานที่สถาบันฯ รวมเวลา 10 ปีก็ได้ลาออกไปทำงานในบริษัท รามา
ฟู้ดฯ บริษัท วอร์เนอร์ แลมเบิร์ต บริษัท พาร์ค เดวิส และบริษัท อดัมส์ ดูแลด้านการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์
จนเมื่อมีการตั้งโครงการหลวงอย่างเป็นทางการขึ้น จึงได้กลับเข้าร่วมงานอีกครั้งเมื่อปี
2531 ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ เมื่อมีการตั้งบริษัท ดอยคำ ผลิตภัณฑ์อาหาร
จำกัด ซึ่งพัฒนาไปสู่รูปแบบของบริษัทเอกชน ดรุณีทำหน้าที่ดูแลด้านการขายและการตลาดในฐานะรองประธานอยู่ระยะหนึ่ง
จึงได้ขอลาออกและมาร่วมงานกับ สวทช. เมื่อปี 2540 ที่ผ่านมา แต่ยังร่วมอยู่ในคณะกรรมการของบริษัท
ดอยคำฯ จนถึงปัจจุบัน
จากประสบการณ์การทำงานทำให้ดรุณีมีความเห็นว่าประเทศไทย ยังมีงานด้านการวิจัยและพัฒนาน้อยมาก
เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถพัฒนางานและผลิตภัณฑ์ให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ
ทั้งที่มีบุคลากร เงินทุนวิจัย และการริเริ่มมากกว่า
งานวิจัยและพัฒนาบริษัทผู้ผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่วนมากจะให้ความสำคัญอย่างมาก
เช่น บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ที่มีหน่วยงาน อาร์แอนด์ดี ขึ้นมาโดยเฉพาะ
ภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้น่าที่จะมีการเร่งพัฒนางานศึกษาวิจัย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรองรับอนาคต
ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว และมีความต้องการงานวิจัยในหลากหลายสาขา เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและเกษตรกรรมในอนาคต
แต่ปัญหาที่สำคัญคืองบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดนั่นเอง
เกี่ยวกับการเข้าร่วมในโครงการความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จะกลายเป็นโอกาสให้ต่างประเทศเข้ามาทำการวิจัยพันธุ์พืชของไทยได้มากขึ้นนั้น
แม้ไทยยังไม่ได้มีข้อตกลงเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ เนื่องจากยังขาดความพร้อมนั้น
อาจมีส่วนทำให้ไทยเสียโอกาสอันดีไป ที่จะปกป้องไม่ให้ต่างประเทศเข้ามาศึกษาค้นคว้าพืชสมุนไพรด้วยเช่นกัน
เพราะไม่สามารถออกมาใช้มาตราการใดๆ ได้อย่างเต็มที่ หากมีการเข้ามาศึกษาโดยไม่มีการบอกล่วงหน้าก่อน
ในยุคที่ประเทศไทยต้องหันมาพึ่งพาอุตสาหกรรมการเกษตร วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ในประเทศ
ที่ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามามีส่วนช่วยเหลือ
หากสามารถพัฒนาในอีกระดับขั้นหนึ่งแลัว คนไทยก็สามารถมีช่องทางในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ
เพื่อออกสู่การแข่งขันในตลาด โลกได้เช่นกัน