ภายหลังจากที่บริษัท ไทยฟูจิ ซีร็อกซ์ได้เข้าประชุม "Environment Safety
Workshop" ร่วมกับบริษัทในเครือของฟูจิซีร็อกซ์ในเอเชียทั้งหมด เมื่อปี
1994 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลการประชุมในครั้งนั้น บริษัทแม่ซึ่งมีฐานอยู่ที่โตเกียวได้มีนโยบายและแผนการปฏิบัติการที่ชัดเจนกว่า
ในปี 2000 ผลิตภัณฑ์ของฟูจิซีร็อกซ์ทั้งหมดจะเป็น "Zero Landfill"
ซึ่งหมายความว่า เมื่อถึงปี 2000 ที่เมืองโตเกียวจะปราศจากขยะที่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ
ที่มาจากผลิตภัณฑ์ของซีร็อกซ์ทุกชนิด
เมื่อทางบริษัทแม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นนั้นแล้ว
ทางฟูจิซีร็อกซ์ประเทศไทยก็ได้นำแนวคิดนั้นมาศึกษา จนกระทั่งในปลายปีที่ผ่านมา
ผู้บริหารไทยฟูจิซีร็อกซ์มีนโยบายให้ตั้งหน่วยงานรีไซเคิลขึ้นมา โดยมี นิพนธ์
ราชแผ่นดิน ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนการตลาด เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ในเบื้องต้น
หน่วยงานรีไซเคิลนี้จะทำการรีไซเคิลเฉพาะ "CRU" ของเครื่องซีร็อกซ์รุ่น
VIVACE 400, 450, 500 และ 550 เท่านั้น
"บริษัทแม่เรามีนโยบายที่จะทำให้โตเกียวในปี 2000 เป็น Zero Landfill
แต่ในเมืองไทยคงทำเช่นนั้นไม่ได้ เนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ดังนั้นเราจึงทำเพียงบางส่วนก่อน
โดยเริ่มจาก CRU (Customer Replace Unit) หรือส่วนที่ทำให้เกิดภาพ อันถือเป็นหัวใจของเครื่องถ่ายเอกสารทุกรุ่น"
นิพนธ์ชี้แจงและอธิบายเพิ่มเติมว่า
โดยทั่วไปแล้ว CRU ของเครื่องรุ่นดังกล่าวจะมีอายุการใช้งานประมาณ 120,000
ก๊อบปี้ และเมื่อหมดอายุก็จะถูกทิ้งไปโดยไร้ประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนประกอบของ
CRU ประกอบไปด้วยพลาสติก อะลูมิเนียม ผงหมึก เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก
ในทางกลับกัน หากสามารถนำชิ้นส่วนต่างๆ เหล่านั้นมาผ่านกระบวนการผลิต เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในคุณภาพเหมือนของใหม่
100% ก็จะเป็นการช่วยยืดเวลาของสิ่งแวดล้อมให้ยาวนานยิ่งขึ้น นี่คือ เหตุผลหลักที่ทางไทยฟูจิซีร็อกซ์ตัดสินใจทำโครงการนี้ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ
8 ล้านบาท จากน้ำมือของบุคลากรไม่ถึง 10 คน
สำหรับกระบวนการในการรีไซเคิล นิพนธ์ได้เล่าว่า เริ่มตั้งแต่การนำ CRU ที่หมดอายุแล้วกลับมาจากลูกค้า
เพื่อนำมาแยกส่วนประกอบต่างๆ ออกและทำความสะอาด จนเหลือแต่เฟรมพลาสติกสีดำเท่านั้น
ที่จะสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ ส่วนลูกดรัมหรือส่วนที่ทำให้เกิดภาพนั้นจะต้องเปลี่ยนเป็นของใหม่
เพราะของเดิมเสื่อมอายุแล้ว รวมทั้งชิ้นส่วนย่อยส่วนอื่นที่ใช้งานไม่ได้แล้วด้วย
จากนั้นก็นำมาประกอบใหม่ด้วยช่างเทคนิคที่ได้รับการฝึกอบรมจากวิศวกรชาวญี่ปุ่น
ที่บริษัทแม่ส่งมา และควบคุมการทำงานโดยวิศวกรชาวไทย ที่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับโครงการนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น
และเพื่อให้คุณภาพของ CRU ที่ได้รับการรีไซเคิลใหม่นั้นมีคุณภาพเหมือนของใหม่
ทางบริษัทฯ จะต้องทำการทดลองการผลิต และส่งผลที่ได้ไปทดสอบยังบริษัทแม่ที่โตเกียวเป็นจำนวน
50 ยูนิต จากนั้นจึงจะนำมาผลิตเพื่อจำหน่ายต่อไปได้ โดยทางบริษัทฯ ได้วางแผนไว้ว่าจะสามาระผลิตเพื่อจำหน่ายได้ประมาณกลางปีนี้
ในส่วนของการกำหนดราคานั้น ยังไม่ได้สรุปออกมาชัดเจน แต่นิพนธ์ในฐานะผู้รู้ขั้นตอนกระบวนการผลิตได้แสดงความเห็นว่า
"ผมคิดว่าราคาของที่รีไซเคิลน่าจะมีราคาเท่ากับของใหม่ เนื่องจากเราเปลี่ยนชิ้นส่วนภายในใหม่ทั้งหมด
คงเหลือแต่เฟรมเท่านั้นที่เป็นของเก่า และชิ้นส่วนต่างๆ นั้นเราก็ต้องนำเข้ามาทั้งสิ้น
นอกจากนั้นยังมีต้นทุนในเรื่องของการนำกลับ และค่าใช้จ่ายในการบริหารงานต่างๆ
อีกด้วย ซึ่งทำให้ต้นทุนของรีไซเคิลจะค่อนข้างจะสูงกว่าของใหม่ด้วยซ้ำ"
สำหรับกำลังการผลิตนั้น ทางบริษัทฯ ตั้งเป้าไว้ว่าจะพยายามผลิตให้ได้จำนวนที่ใกล้เคียงกับการใช้จริงในแต่ละปี
ซึ่งตามปกติจะใช้ประมาณ 6,500 ยูนิตต่อปี และในอนาคตหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จได้ดี
บริษัทฯ ก็มีนโยบายที่จะส่งออก CRU ที่ได้รับการรีไซเคิลแล้วไปยังกลุ่มลูกค้าซีร็อกซ์ในภูมิภาคนี้ด้วย
ปีนี้หวังโต 7 % โดยครองมาร์เก็ตแชร์ที่ 35-40%
แม้ว่าซีร็อกซ์จะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทเช่นเดียวกับผู้ค้ารายอื่น แต่ผลประกอบการสิ้นปี'40
ที่ผ่านมา ก็อยู่ในอัตราที่เติบโตกว่าปี'39 ประมาณ 2-3% ถึงจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ประมาณ
15% ก็ตาม โดยคิดเป็นรายได้รวมทั้งสิ้นประมาณ 2,450 ล้านบาท
สำหรับในปี'41 ทางบริษัทฯ ได้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 2,600 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณ
7% ของปีที่ผ่านมา โดยยังคงสัดส่วนทางการตลาดไว้ที่ 35-45% และรายได้หลักก็ยังคงมาจากเครื่องถ่ายเอกสารสีและขาวดำกว่า
80%
สำหรับนโยบายทางการตลาดในปีใหม่นี้ ซีร็อกซ์มีนโยบายเน้นเครื่องเช่ามากกว่าเครื่องขาย
เพื่อเป็นการลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้า และในส่วนของเครื่องขาย ทางบริษัทฯ
ก็ได้นำระบบลิสซิ่งหรือการผ่อนชำระระยะยาวเข้ามาช่วยลูกค้าอีกทางหนึ่งด้วย
พร้อมกันนั้นยังคงเน้นการให้บริการหลังการขายที่เรียกว่า Total Service Contract
(TSC) และระบบบริการแบบ RTG Response Time Guarantee ที่จะรับประกันว่า พนักงานจะไปถึงลูกค้าภายใน
2 ชั่วโมงทันที หลังจากที่ได้รับแจ้งสำหรับเครื่องเฉพาะบางรุ่นเท่านั้น ซึ่งการบริการนี้ถือเป็นจุดขายที่สำคัญของซีร็อกซ์ทีเดียว
ในการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในเวลาอันรวดเร็ว รวมทั้งเป็นการยืดระยะเวลาการใช้งานของเครื่องให้ยาวนานที่สุดด้วย
นอกจานี้ บริษัทฯ ยังมีนโยบายในการปรับโฉมใหม่ให้กับศูนย์บริการของซีร็อกซ์
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริการที่นอกเหนือจากการถ่ายเอกสาร ให้กลายเป็นศูนน์บริการงานเอการครบวงจร
ซึ่งจะให้บริการครอบคลุมงานเอกสาร งานออกแบบ งานจัดหน้า หรืองานพรีเซนเตชั่น
เป็นต้น รวมทั้งเป็นศูนย์เบิกจ่ายอุปกรณ์สิ้นเปลือง ยิ่งไปกว่านั้น ลูกค้าสามารถนำผลิตภัณฑ์รุ่นเล็กที่มีปัญหามารับบริการซ่อมได้ที่ศูนย์ฯ
นี้เช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในกลางปีนี้