สวดยับบทบาทผู้ว่าฯแบงก์ชาติเลือกปฏิบัติเพราะมีวาระซ่อนเร้น ทำระบบธนาคารเสียหาย ทั้งมูลค่าหุ้นและความเชื่อมั่นจากต่างชาติ เผยมาร์เกตแคปกรุงไทยหายไปทั้งสิ้น 24,000 ล้านบาท จี้รับผิดชอบข้อมูลลูกค้ารั่วเหตุผิดกฎหมาย ส่วนคนแบงก์ชาติเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่บิ๊กหมงโต้ไม่รู้ที่มาข้อมูลลูกค้า "สมคิด" มั่นใจฐานะกรุงไทยแข็งแกร่ง ระบุ "วิโรจน์" บริหารดีแล้ว ส่วนนายแบงก์ระบุบาเซิล ทู เป็นแค่ข้ออ้างของบิ๊กแบงก์ชาติ เพราะอย่างเร็วต้องใช้ในปี 2550
กรณีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ถูกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สั่งกันสำรอง หนี้เพิ่มโดยอ้างว่าหนี้รายใหญ่ 14 โครงการมีแนวโน้มกลายเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ทั้งๆ ที่ได้กันสำรองเกินเกณฑ์มาตรฐานเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์อื่นนั้น แหล่งข่าวสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า การออกมาให้สัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯ ธปท.ได้สร้างความเสียหายแก่ระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งในแง่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ มูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งมูลค่าตลาดที่หายไป และยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมต่อเศรษฐกิจไทย
ราคาหุ้น KTB ได้ตกต่ำ มาอย่างต่อเนื่องนับจากมีการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ซึ่งต่ำกว่าความคาดหมายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ในวันถัดมา ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธปท. ให้ข่าวว่าได้สั่งให้ธนาคาร กรุงไทยคิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นในส่วนของลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอลและตั้งสำรองเพิ่ม ทำให้ราคาหุ้นลดลงอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดวานนี้ ปิดที่ 9.00 บาท จากราคา 11.20 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 20 ก.ค. รวมลดลง 2.20 บาท หรือ 17.8% ในเวลาเพียง 5 วันทำการ คิดเป็นมูลค่าตามราคาตลาดที่หายไปถึง 24,000 ล้านบาท
"แม้แบงก์ชาติจะออกมาอธิบายแก้ตัวหลัง คลังสั่งให้ชี้แจง แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ที่สำคัญยังสำทับไปอีกว่า 12 ธนาคารไม่มีปัญหาแต่กรุงไทยมีปัญหา และยังให้ข้อมูลในเชิงเปรียบเทียบกับกรณีธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ (บีบีซี) ยิ่งสร้งความตื่นตระหนกให้ประชาชนที่ไม่เข้าใจระบบธนาคารไทยในปัจจุบันซึ่งแตกต่างจากอดีต"
แหล่งข่าวยังกล่าวว่า หากเปรียบเทียบบทบาท ผู้ว่าฯธปท.ในอดีตกับปัจจุบันจะพบความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากผู้ว่าฯธปท.ในอดีตจะไม่ทำธุรกิจส่วนตัวที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตำแหน่ง เพราะอาจเกิดความสับสนและความคลาดเคลื่อนในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเหมือนกรณีโจมตีกรุงไทย เนื่องจากไม่พอใจการปล่อยกู้ให้คู่แข่งทางธุรกิจของตนคือ บริษัทแนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) (N-PARK)
"กรณีกรุงไทยเป็นตัวอย่างถึงการขาดความโปร่งใส สร้างความตื่นตระหนกจนระบบธนาคารปั่นป่วน เป็นพฤติกรรมที่ผู้ว่าธนาคารกลางไม่สมควร ทำ เพราะเรื่องธนาคารละเอียดอ่อน หากเป็นห่วงว่าถ้าปล่อยไว้อาจมีปัญหาก็สามารถสั่งให้สำรองหนี้เป็นการภายใน ไม่ใช่ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างนี้"
เป็นที่น่าสังเกตว่า การให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ เรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมาที่มีการ กล่าวว่า เกรงว่า ธนาคารกรุงไทยจะซ้ำรอยบีบีซีนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรไม่ยอมให้ผู้สื่อข่าววิทยุและทีวีบันทึกภาพและเสียง
จี้แบงก์ชาติรับผิดชอบข้อมูลรั่ว
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรณีการเผยแพร่เอกสารรายงานการตรวจสอบคุณภาพหนี้ของธนาคารกรุงไทยโดยระบุชื่อลูกค้าสินเชื่อของธนาคารหลายรายอย่างชัดเจนต่อสาธารณะ ซึ่งในเวลาต่อมา ธปท.แถลงยอมรับว่าได้สั่งให้ธนาคารกรุงไทยจัดชั้นหนี้ใหม่พร้อมสำรองหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกค้ากลุ่มดังกล่าวจริง พฤติกรรมดังกล่าวผู้บริหารธปท.น่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องที่นำเอกสารออกมาอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ ว่าด้วยการรักษาความลับของลูกค้า
แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้ว่าสิ่งที่ ธปท.ดำเนินการกับธนาคารกรุงไทยนั้นจะอ้างว่าเป็นหน้าที่ แต่การปล่อยให้รายงานการตรวจสอบที่ถือเป็นความลับสุด ยอดออกมาสู่สาธารณะโดยไม่ได้ตั้งข้อสงสัยเท่ากับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า การปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าหลายรายดังกล่าวหละหลวมและใช้อำนาจสั่งให้ธนาคารกรุงไทยตั้งสำรองฯ แต่กลับไม่มีการพิจารณาโทษผู้บริหาร คณะกรรมการ ที่ร่วมกันรับผิดชอบการปล่อยสินเชื่อ
"ไม่ว่ารายงานการตรวจสอบจะรั่วไหลออกมาอย่างไร ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะปกติความลับ ของลูกค้าและการตรวจสอบจะไม่มีการเปิดเผย แบงก์ชาติต้องสอบเรื่องนี้ด้วย หากไม่จะสร้างความเสียหายแก่รัฐบาลที่เป็นผู้ถือหุ้นธนาคารกรุงไทย ลูกค้าที่สุจริต ที่สำคัญการดำเนินการของแบงก์ชาติ ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของระบบแบงก์และเศรษฐกิจ ไปแล้ว" แหล่งข่าวกล่าว
ขณะเดียวกัน ในความรับผิดของผู้บริหารธนาคารกรุงไทย โดยเฉพาะคณะกรรมการธนาคารควรจะต้องถูกสอบจากธปท.ถึงความหละหลวมที่เกิด ขึ้น หากพบว่าผิดจริงก็ควรมีเสนอให้เอาผิดตามกฎ หมาย ขณะเดียวกันธปท.เองก็มีผู้แทนของกองทุนฟื้นฟูฯเข้าไปเป็นกรรมการด้วยหากพบสิ่งผิดปกติในธนาคารก็ควรรีบรายงานธปท.ให้ทราบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
นางนุชจรินทร์ อุทัยเจริญพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) (KMC) เปิดเผยถึงภาระหนี้ธนาคารกรุงไทยว่า หลายปีที่ผ่านมาบริษัทฯได้กู้เงินจากธนาคารกรุงไทยเป็นวงเงิน 1,000 กว่าล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการกฤษดานคร บางนา-เทพารักษ์ บนพื้นทั้งหมด 1,000 ไร่ โดยปัจจุบันบริษัทได้ปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารกรุงไทยแล้ว ทำให้มีมูลหนี้คงเหลือประมาณ 300 กว่าล้านบาท และขณะนี้บริษัทยังชำระหนี้กับธนาคารตาม ปกติ นอกจากนี้โครงการกฤษดานคร ยังดำเนินการ ขายอยู่ โดยมียอดขายแล้ว 50%
"เข้าใจว่ากรณีที่เป็นข่าวกับแบงก์กรุงไทย อยู่ในส่วนของบริษัทโกลเด้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับกฤษดามหานคร แต่เป็นบริษัทในครอบครัวของตระกูลกฤษดามหานคร โดยที่ดินแปลงที่มีข้อพิพาทนี้ มีเนื้อ ที่อยู่ 4,000 ไร่ บริเวณสนามบินหนองงูเห่า ซึ่งราคาประเมินช่วงก่อนจะเกิดสนามบินหนองงูเห่า มีมูลค่า ประมาณ 4,000 ล้านบาท แต่ราคาประเมินปัจจุบันมูลค่าสูงถึง 12,000 ล้านบาท และเป็นราคาประเมิน ที่อ้างอิงจากบริษัทประเมินที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งราคาที่ประเมินล่าสุดสามารถครอบคลุมทุกอย่างได้ แต่ไม่แน่ใจว่าข้อมูลจากแบงก์ ชาติอาจจะยังไม่มีการปรับปรุงก็ได้ และขอยืนยันว่าบริษัท โกลเด้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับบริษัทกฤษดามหานคร" นางนุชจรินทร์กล่าว
ขุนคลังยันกรุงไทยยังแข็งแกร่ง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า น่าจะมาจากความไม่เข้าใจ ในข่าวที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯธปท.ได้หารือและชี้แจงกับตนแล้ว ขอยืนยันว่ากรุงไทยมีความแข็ง แกร่งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การที่แบงก์ชาติมีความเข้มในการตรวจสอบเรื่องนี้ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี เพื่อจะให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม ในขณะที่กรุงไทยก็ถือเป็นธนาคารตัวอย่างในการปรับตัวเองขึ้นมาให้ดีขึ้น โดยเรื่องความเข้มงวดในการกันสำรองเอ็นพีแอล ธนาคารทุกแห่งต้องปฏิบัติเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว เนื่องจากอีก 3-4 ปี ข้างหน้าต้องแข่งขันกับต่างประเทศ
"กรุงไทยยังเป็นธนาคารที่ดี หลังรับโอนหนี้ธนาคารมหานครเมื่อวิกฤตแบงก์ปี 2540 ก็มีการพัฒนาที่สูงและสามารถทำได้ดี แต่แบงก์ชาติไม่ค่อย สบายใจกับการปล่อยสินเชื่อของกรุงไทยใน 2-3 โครงการ ผมก็ได้กำชับให้เข้าไปตรวจสอบอย่าง รอบคอบว่าใครเป็นผู้กู้ กู้ไปทำอะไร หากพบความไม่ชอบมาพากลก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่ผิดก็ไม่เป็นไร" นายสมคิดกล่าว
"บิ๊กหมง" โต้ไม่รู้ที่มาข้อมูลลูกค้ารั่ว
พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อที่ผ่านมา ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมือง แต่เป็นไปตาม หลักเกณฑ์และเป็นองค์คณะกรรมการตามลำดับจนถึงคณะกรรมการบริหาร สำหรับการจัดชั้น เอ็นพีแอลเป็นความเห็นร่วมกันระหว่าง ธปท.กับธนาคารกรุงไทย เพราะต้องกันสำรองในเชิงคุณภาพ และลูกหนี้ที่จัดชั้นใหม่เป็นเอ็นพีแอลยังคงมีการชำระดอกเบี้ยให้กับธนาคารทุกเดือน แต่เพื่อสอด คล้องกับการตั้งสำรองส่วนเกินที่ธนาคารได้ทำไว้ก่อนหน้านี้ นำมาสำรองเป็นรายลูกหนี้ และยืนยันว่า หนี้เสียจะไม่เพิ่มขึ้นจนถึงขั้นกระทบฐานะธนาคารในอนาคต ทั้งนี้ ไตรมาสที่ 2 ปี 2546 มีการดำเนินการในลักษณะนี้มาแล้ว แต่ไม่เป็นข่าวดังเหมือนครั้งนี้
ทั้งนี้ กรณี N-PARK ถึงขณะนี้ยังไม่ได้เป็นหนี้เสีย แต่ฝ่ายบริหารได้มีการพิจารณาคุณภาพสินเชื่อตามเกณฑ์ใหม่จึงมีการดำเนินการจัดลูกหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นตามดุลพินิจที่เข้มงวดมากขึ้นของธปท.
"ส่วนที่มีการระบุรายชื่อ 14 โครงการที่เป็นลูกค้ากรุงไทยนั้น ธนาคารไม่มีนโยบายที่จะเปิดเผยรายชื่อและข้อมูล เพราะเป็นข้อมูลทางธุรกิจที่ไม่พึงเปิดเผย ซึ่งผมก็ไม่ทราบแหล่งที่มาและข้อเท็จจริงของบัญชีรายชื่อตามที่เป็นข่าว" พล.อ.มงคลกล่าว
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปีนี้มีกำไรสุทธิ 6,806 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ที่กำไรสุทธิอยู่ในระดับ 1,587 ล้านบาท และยังคงยึดเป้าหมายกำไรสุทธิทั้งปีเดิมอยู่ที่ระดับ 12,000-14,000 ล้านบาท คาดว่าสามารถทำได้ รวมทั้งนโยบาย ที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 40% ของกำไรสุทธิต่อไป
นายพงศธร สิริโยธิน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสและรักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มีผลกระทบกับกำไร เพราะธนาคารได้นำสำรองส่วนเกินก่อนหน้านี้ โอนเข้ามาสู่สำรองรายตัว ทำให้ใช้เม็ดเงิน ใหม่เพียงเล็กน้อย จึงขอย้ำว่าจะไม่กระทบกับผลประกอบการของธนาคารแน่นอน สาเหตุที่ทำให้ เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 46,000 ล้านบาท เกิดจากการใช้เกณฑ์ดุลพินิจที่เข้มงวดมากขึ้นในการจัดชั้นลูก หนี้ให้เป็นหนี้สงสัยจะสูญ แม้ว่าลูกหนี้จะยังชำระหนี้ปกติ ดุลพินิจที่เข้มงวดนี้ เป็นการมองคาดการณ์ ในอนาคตว่าอาจมีเหตุการณ์หรือปัจจัยที่จะทำให้ ลูกหนี้บางรายไม่สามารถชำระหนี้ได้เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นประมาณ 50% เป็นลูกหนี้ที่ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่รับโอนมาจากธนาคารมหานครที่มีอยู่ 80% ของลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ อีก 50% เป็นลูกหนี้ทั่วไป ซึ่งประกอบด้วยลูกหนี้ขนาดใหญ่และขนาดกลางหลายราย
"แบงก์ชาติต้องการให้กรุงไทยเป็นตัวอย่างในการใช้เกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อเตรียมตัวรับมือกับมาตรฐานสากลตามกรอบบาเซิล ทู ซึ่งกรุงไทยเห็นด้วยและจะถือปฏิบัติต่อไป โดยจะมีการติดตามและหารืออย่างใกล้ชิดกับทางการและมีการสำรองเฉลี่ยเดือนละ 100 ล้านบาท" นายพงศธร กล่าว
แหล่งข่าวสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งรวมทั้งกรุงไทยได้กันสำรองเกินเกณฑ์เพื่อรองรับเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนฉบับใหม่ของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บาเซิล ทู) ที่ใช้กำกับสถาบันการเงิน แต่บังเอิญธปท.เจาะจงที่กรุงไทย อาจเรียกได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติของทางการก็ไม่ผิด
"ผู้บริหารกรุงไทยคงดำเนินการอยู่แล้วแต่ข่าวที่ออกมาเหมือนแบงก์ชาติไปสั่งเพราะห่วงว่าเอ็นพีแอลจะลุกลาม หากแบงก์ชาติอ้างบาเซิล ทู ก็ถือว่าไม่มีน้ำหนักพอ เนื่องจากอย่างเร็วที่สุด บาเซิล ทู จะนำมาใช้กับธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2550"
สำหรับบาเซิล ทู เป็นเกณฑ์ใหม่ที่เพิ่มน้ำหนักความเสี่ยงที่ใช้คำนวณสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเพิ่มจาก 100% เป็น 150% ดังนั้นหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีสำรองเฉพาะรายรองรับก็จะถูกเพิ่มน้ำหนัก ตามขนาดของลูกหนี้ โดยหากมีสำรองเยอะก็ไม่ต้องถ่วงเอ็นพีแอล
มอร์แกนพอใจหนี้แบงก์ไทยลด
นายวิลลาร์ด แม็คเลน (Willard McLane) กรรมการบริหาร มอร์แกน สแตนเลย์ (Morgan Stanley) ประจำฮ่องกง กล่าววานนี้ (28 ก.ค.) ว่าธนาคารในไทยกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ด้วยการขยายตัวด้านสินเชื่อ และกำไรชัดเจน แม้มีความเสี่ยงจากสินเชื่อเพื่อการบริโภค ที่แบงก์ในไทยแข่งขันกันปล่อยอย่างหนักขณะนี้
นอกจากนี้ บริษัทในไทยก็กำลังทำกำไรดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจไทย ที่กำลังฟื้นตัวแข็ง แกร่ง ด้วยอัตราขยายตัวปีนี้ ที่คาดว่าจะประมาณ 7% ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในไทยกำลังเพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้เสียในระบบสถาบันการเงินไทยกำลังลดลง ต่อเนื่อง รวมถึงความสามารถชำระหนี้ของลูกค้า ทำให้คุณภาพสินทรัพย์ที่เป็นประกันกับแบงก์ดีขึ้น
โดยสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทในประเทศ ไทย ลดจาก 27%9 ระหว่างช่วงวิกฤตเศรษฐกิจไทย-เอเชียปี 2540 เหลือประมาณ 52% ปี 2546 ขณะที่การซื้อขายที่ดินปัจจุบัน กลับไปคึกคักเท่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว
ส่วนหนี้เสียลดลงอย่างมาก นับจากช่วงวิกฤต เศรษฐกิจ เหลือเพียง 13% ของสินเชื่อรวมปี 2546 ขณะที่สัดส่วนสำรองหนี้เสียต่อหนี้เสียสูงถึง 72% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานโลก
"หนี้เสียที่เหลืออยู่ระหว่างกระบวนการตัดสินในศาล ขณะที่เศรษฐกิจ (ไทย) กำลังขยายตัวต่อเนื่อง อัตราฟื้นตัวของหนี้เสีย (ที่กำลังลดลง) เป็นไปในสัดส่วนที่มากกว่า" เขากล่าว ยืนยันว่าเขาไม่กังวลกับกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องการ จัดชั้นหนี้สิน ที่เข้มงวดขึ้น
"ระบบธนาคาร (ในไทย) กำลังอยู่ในภาวะที่ดีมาก ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่คนต้องกังวลจนเกินไป" เขายืนยัน
ส่วนกรณีธนาคารกรุงไทย นายแมคเลนกล่าวว่าคงต้องตั้งสำรองเพิ่ม เหมือนที่หลายแบงก์ในไทยได้ทำมาแล้ว
แต่เขาเตือนว่า ความเสี่ยงที่อาจมี คือการเพิ่มขึ้นอย่างมากของสินเชื่อเพื่อการบริโภคในไทย ซึ่งเป็น เรื่องน่าวิตก เพราะบริการนี้ เกี่ยวพันกับผู้บริโภคราย บุคคลจำนวนมาก
|