หลังจากบริษัทเฮิกซ์ เอ.จี. จากเยอรมนี เข้ามาทำการผลิตเรซิ่นสังเคราะห์ในไทยเมื่อปี
2521 โดยเริ่มจากการผลิตสารสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์แบบไม่อิ่มตัว ซึ่งโรงงานแห่งแรกตั้งอยู่แถบราษฎร์บูรณะ
จนกระทั่งเมื่อปี 2539 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร โดยฝ่ายการตลาดและฝ่ายขายย้ายเข้ามาอยู่ในการดูแลของบริษัทเฮิกซ์
เคมีคัล อินดัสตรี้ส จำกัด (HCIL) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเฮิกซ์ไทย,
เฮิกซ์ โกไซ จากญี่ปุ่น, ธนาคารกรุงเทพ, บงล.กรุงเทพธนากร และกรุงเทพประกันภัย
โดยมีสัดส่วนถือหุ้นจำนวน 50.99%, 24.54%, 7%, 6% และ 6% ตามลำดับ พร้อมทั้งขยายไลน์การผลิตด้านโพลีเอสเตอร์
เพาเดอร์ เรซิ่น และอะครีลิค เรซิ่น
เมื่อกลางปี 2540 HCIL ได้ย้ายฐานการผลิตไปยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขณะเดียวกันจากการที่กลุ่มเฮิกซ์ทั่วโลกได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร
โดยเปลี่ยนเฮิกซ์ เป็นโฮลดิ้งคัมปานีเพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน โดยเฉพาะการประกาศขยายฐานธุรกิจกลุ่มเคมีภัณฑ์
และเคมีอุตสาหกรรมเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้
HCIL ต้องปรับโครงสร้างอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือโดยบริษัทเวียโนว่า
เรซิ่น จี.เอ็ม.บี.เอช จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเฮิกซ์ เอ.จี. เข้ามาซื้อหุ้นจากเฮิกซ์ไทยและเฮิกซ์
โกไซ ใน HCIL ทั้งหมด ทำให้เหลือผู้ถือหุ้น 2 ฝ่าย คือ เวียโนว่า เรซิ่น
ถือ หุ้น 81% และกลุ่มธนาคารกรุงเทพ ถือหุ้น 19% พร้อมเปลี่ยนชื่อจาก HCIL
เป็น บริษัทเวียโนว่า เรซิ่น จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท
"การปรับองค์กรใหม่โดยเปลี่ยนชื่อมาเป็น เวียโนว่า เรซิ่น เพื่อมุ่งเน้นการผลิต
เรซิ่นสังเคราะห์เพียงอย่างเดียว และเน้นการสร้างตลาดเคมีภัณฑ์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น"
เจอร์เก้นท์ ไรชโฮลด รองประธานกลุ่มเวียโนว่า เรซิ่น กล่าวในงานเปิดตัวบริษัทใหม่อย่างเป็นทางการ
เขากล่าวต่อไปว่าปัจจุบันเวียโนว่า เรซิ่น มีฐานการผลิตอยู่ 10 แห่งทั่วโลก
คือ ในเยอรมนีและยุโรป 8 แห่ง ในบราซิล 1 แห่ง และในไทย 1 แห่ง ซึ่งทั้ง
10 โรงงานมีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 240,000 ตันต่อปี และขณะนี้กำลังวางแผนที่จะตั้งฐานการผลิตในอเมริกาอีก
1 แห่ง
ด้านโรงงานผลิตเรซิ่นแห่งใหม่ในไทยนั้นใช้เงินลงทุนก่อสร้างทั้งสิ้น 1,200
ล้านบาท ด้วยกำลังการผลิตเต็มที่ 16,000 ตันต่อปี แต่ปัจจุบันสามารถผลิตได้
11,500 ตันต่อปี โดยเริ่มผลิตเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
โรงงานดังกล่าวจะผลิตเรซิ่น ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ เรซิ่นเคลือบแบบเหลว
(Liquid Coating Resins) เรซิ่นสำหรับงานเทคนิค (Technical Resins) เรซิ่นสำหรับหมึกพิมพ์
(Printing Inks Resins) และ Phenolic Resins
"ภารกิจเราภายใต้ชื่อบริษัทใหม่ คือ จะเป็นศูนย์กลางของการส่งออกเรซิ่นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
แม้ว่าขณะนี้ในภูมิภาคนี้กำลังประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและวิกฤตการณ์ด้านการเงิน
แต่นโยบายการดำเนินการของเวียโนว่า เรซิ่น ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทเราทั่วโลกทำให้นโยบายของเวียโนว่า
เรซิ่นในไทยเป็นอิสระจากสภาวะ ทางการเงินของภูมิภาคนี้" เฟรดริค ยุงเกอร์
กรรมการผู้จัดการ ที่เข้ามาดูแลเวียโนว่า เรซิ่น ในไทย กล่าวถึงการทำงานภายใต้ชื่อบริษัทใหม่
จากอดีตที่ผ่านมาบริษัทสามารถสร้างยอดขายเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี
2535-2538 มีรายได้ 378.18 ล้านบาท, 390.99 ล้านบาท, 427.98 ล้านบาท และ
468.22 ล้านบาท ตามลำดับ และครึ่งปีแรกปี 2539 มียอดขายประมาณ 300 ล้านบาท
แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซา ทั่วเอเชียทำให้เวียโนว่า เรซิ่น เริ่มมีอุปสรรคในการสร้างยอดขายมากขึ้น
"คาดว่าภายในระยะ 2 ปีข้างหน้าอัตราการเจริญเติบโต จะเป็นไปอย่างช้าๆ หรือเท่าเดิม
แต่ในระยะยาวแล้วภูมิภาคเอเชียยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่ดีอยู่ ส่วนปีนี้ได้ตั้งเป้าไว้ว่าเรซิ่นที่ผลิตจะจำหน่ายในประเทศ
75% และส่งออก 25%" ยุงเกอร์ กล่าว
แต่ล่าสุดความต้องการเรซิ่นภายในประเทศอยู่ที่ระดับ ประมาณ 20,000 ตันต่อปีเท่านั้น
ขณะที่กำลังการผลิตเรซิ่น รวมมีสูงถึงประมาณ 40,000 ตันต่อปี ทำให้เวียโนว่า
เรซิ่น ต้องเร่งส่งออกมากกว่าเป้าหมายเดิม
"ตอนแรกตั้งเป้าว่าจะผลิตเพื่อส่งออกเฉพาะในเอเชีย-แปซิฟิก แต่ตอนนี้ได้เล็งตลาดไปแถบตะวันออกกลาง
ออส เตรเลีย เกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดที่เราน่าจะเข้าไป เจาะในอนาคต
คือ จีนและอินเดีย" ไรชโฮลด กล่าว
ส่วนยุงเกอร์ กล่าวเสริมว่า ปี 2541 บริษัทไม่ได้คาดหวังการเพิ่มจำนวนยอดขายในตลาดในประเทศและตลาด
ในภูมิภาคเอเชีย แต่ได้หวังออกไปยังตลาดนอกภูมิภาค อาเซียนที่จะสามารถดันให้ยอดขายเพิ่มสูงขึ้น
พร้อมทั้งมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เนื่องจาก เวียโนว่า เรซิ่น ผลิตเรซิ่นที่ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยและสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ
สำหรับปัญหาของทุกวงการอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ วัตถุดิบที่มีราคาถีบตัวสูงขึ้นหลังจากไทยลดมูลค่าเงินบาทลง
เวียโนว่า เรซิ่น ก็กำลังเจอเช่นเดียวกัน เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเรซิ่น
ประมาณ 70-80% ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามทางบริษัทพยายามใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้มากขึ้น
"รวมทั้งได้ทำการจัดตั้งหน่วย ธุรกิจที่เรียกว่า ลอจิสติก ขึ้น ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงการส่งผ่านวัตถุดิบไปยังทุกๆ
สถานี กระบวนการสั่ง การวางแผนการผลิต การสั่งซื้อวัตถุ ดิบ การจัดหาวัตถุดิบเพื่อการผลิต
การขนส่งภายใน การส่งผลิตภัณฑ์ที่เสร็จแล้วไปยังลูกค้า และรวมถึงตัวอย่างสินค้า
การเก็บและการจัดระบบคลังสินค้า" ยุงเกอร์ กล่าว
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่เวียโนว่า เรซิ่น ผลิตและจำหน่ายอยู่มียี่ห้อ ALFTALAT
เป็นโพลีเอสเตอร์ เพาว เดอร์ เรซิ่น สำหรับสีผง, VIACRYL, MACRYNAL เป็นอะครีลิก
เรซิ่น สำหรับสีพ่นรถยนต์ และงานด้านอุตสาหกรรมต่างๆ และ VIAPAL เป็นโพลีเอสเตอร์
เรซิ่นแบบแห้ง ใช้สำหรับพลาสติกเสริมแรง งานหล่อและอื่นๆ