จากภาวะการชะลอตัวทางด้านเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2539 เป็นต้นมา บริษัทที่อยู่ในลักษณะโฮลดิ้ง
คัมปานี ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทดังกล่าวต่างได้รับผลตอบแทนในรูปกำไรสุทธิ
จากการเข้าไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว อาการบาดเจ็บจากการเข้าไปลงทุนเหล่านั้นเริ่มโผล่ออกมาให้เห็น
เพราะทนกับการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ไหว ทำให้แต่ละบริษัทต้องปรับตัวด้วยการกลับสู่ธุรกิจดั้งเดิมของตัวเอง
หนึ่งในนั้น คือ บมจ.นิธิ เวนเจอร์ คอร์ปอเรชั่น (NCORP) ได้เริ่มปรับตัวอย่างเต็มที่อีกครั้งหนึ่งหลังจากเคยปรับมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา
ในอดีต NCORP เคยใช้ชื่อว่า บมจ.ริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง
จากนั้นในช่วงปี 2537 ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของบริษัท
ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นโดยดึง บง.นิธิภัทร เข้ามาถือหุ้นใหญ่จำนวน
53.63% และเปลี่ยนชื่อเป็น NCORP สาเหตุการเปลี่ยนแปลงเกิดจากผลการดำเนินงานมีผลขาดทุนสุทธิ
โดยในปี 2536 ขาดทุนสุทธิ 36.81 ล้านบาท และปี 2537 ขาดทุน 65.60 ล้านบาท
และหลังการเปลี่ยนแปลงทำให้ผลการดำเนินงานในปี 2538 มีกำไรสุทธิ 3.27 ล้านบาท
แต่เมื่อปลายปี 2538 NCORP ได้ทำการลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 10%
อย่างไรก็ตามในปี 2539 บริษัทกลับมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 88 ล้านบาท
สาเหตุหลักมาจากการเข้าไปลงทุนในบริษัทอื่นอย่างมาก ทำให้ต้นทุนถีบตัวขึ้นไปอย่างรวดเร็ว
จนทำให้บริษัทต้องมาทบทวนการดำเนินงานทางธุรกิจอีกครั้งหนึ่งในปี 2540 ด้วยการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่
ชื่อ บริษัท ริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด (RKI) โดยมีทุนจดทะเบียน
65 ล้านบาท โดย NCORP ถือ 99.99% จากการปรับครั้งนี้หมายความว่า NCORP พยายามแยกธุรกิจออกจากกันเพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
RKI ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร โดยผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องเป็นหลัก
ภายใต้ยี่ห้อ "เทสตี้ (TASTEE) ซึ่งมีไร่ข้าวโพดและโรงงานตั้งอยู่ จ.กาญจนบุรี
โดยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1,000 ไร่ ขณะนี้สามารถเพาะปลูกได้แล้ว 300 ไร่
ที่เหลือประมาณ 700 ไร่ คาดว่าจะเพาะปลูกได้ในช่วงปลายปี 2541
"ปัจจุบันเราเป็นผู้ผลิตข้าวโพดหวานกระป๋องเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้วยกำลังการผลิตสูงสุด 1 แสนตันต่อปี และสามารถรองรับได้ถึง 5 ปีข้างหน้า
แต่ปัจจุบันเรามีข้าวโพดเข้ามาโรงงานประมาณ 44,000 ตันต่อปี คาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น
55,000 ตัน" โรจน์ บุรุษรัตนพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ RKI กล่าวถึงศักยภาพของบริษัท
เขายังกล่าวต่อไปว่าในขณะนี้บริษัทได้นำระบบการจัดการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity)
การเพาะปลูกข้าวโพดหวานด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีอันทันสมัย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะการแข่งขันที่นับวันจะรุนแรงขึ้น
จึงต้องมีการคิดหาหนทางที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต ควบคู่กับการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้ได้ปริมาณสูงสุด
นอกจากทำให้ประหยัดเวลาและแรงงานแล้ว ยังทำให้เกิดความได้เปรียบด้านราคาในการส่งออก
ด้วยจากโครงการดังกล่าวส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ต่อไร่สูงขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว
เมื่อเทียบกับวิธีการปลูกข้าวโพดหวานของเกษตรกรในปัจจุบัน
"การปลูกข้าวโพดหวานตามแนวทางของเราจะให้ผลผลิตต่อไร่ระหว่าง 2-2.5
ตัน ขณะที่เกษตรกรได้ผลผลิตต่อไร่เพียง 1.2-1.5 ตัน ส่วนเรื่องการเก็บเกี่ยวเราก็ได้นำเทคโนโลยีจากอเมริกามาใช้
ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวข้าวโพดได้ 20 ไร่ต่อวัน ขณะที่ถ้าใช้แรงงานคน 2 คนจะทำได้เพียง
1 ไร่ต่อวัน" โรจน์ กล่าว
จากการรุกทางธุรกิจด้านการ เกษตรของ NCORP โดยให้ RKI เป็นหัวหอกในครั้งนี้นั้นนับเริ่มต้นได้ดีพอสมควร
โดยในช่วง 10 เดือน ปี 2540 สร้างยอดขายได้แล้วสูงถึง 400 ล้านบาท และทั้งปีจะมียอดขายทั้งสิ้นประมาณ
500 ล้านบาท ส่วนปี 2541 คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ยอดขายที่ทำได้จะมาจากการส่งออก
โดยในปี 2540 ยอดขายจากการส่งออกมีประมาณ 430 ล้านบาท ในขณะที่ยอดขายภายในประเทศมีเพียงประมาณ
70 ล้านบาท ส่วนในปี 2541 นี้คาดว่ายอดขายจะมาจากการส่งออกประมาณ 510 ล้านบาท
โดยมีปริมาณการส่งออกประมาณ 1,200 ตู้คอนเทนเนอร์ (1 ตู้คอนเทนเนอร์คิดเป็นเงินประมาณ
1-1.5 แสนบาท)
"ที่เราผลิตอยู่ส่วนใหญ่เราเน้นการส่งออก โดยปีนี้สัดส่วนการส่งออกจะอยู่ที่ระดับ
85-90% ในขณะที่ขายภายในประเทศมีเพียง 10-15% เท่านั้น ส่วนมูลค่ารวมการส่งออกทั้งประเทศมีประมาณ
700 ล้านบาท" โรจน์กล่าว
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดจากความต้องการบริโภคข้าวโพดหวานภายในประเทศลดลง
ตามสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งในปี 2539 ความต้องการบริโภคดังกล่าวลดลงประมาณ
10-15% และสถานการณ์ดังกล่าวยังคงเรื้อรังมาถึงปัจจุบันและนับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
แม้ว่าตลาดภายในจะยังไม่มีความแน่นอน แต่ตลาดต่างประเทศของ RKI กลับดีขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนหนึ่งมาจากการที่ค่าเงินบาทลดลง ล่าสุดข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องของ RKI
สามารถเข้าไปเจาะตลาดได้เกือบ 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว แต่สัดส่วนการส่งออกเกือบ
80% ยังเป็นญี่ปุ่น, 15% จีนและไต้หวัน ที่เหลืออีก 5% จะเป็นแถบยุโรปและประเทศอื่นๆ
โดยบริษัทครองตลาดโลกเป็นอันดับ 4 รองจากบริษัทในอเมริกา ฝรั่งเศส และฮังการี
"ด้านส่วนแบ่งตลาดโลกของเรามีประมาณ 3-4% อย่างไรก็ตามในปี 2543 ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ
10% และขึ้นเป็นเบอร์ 3 ของโลกให้ได้ โดยคาดว่าจะสามารถส่งออกได้สูงถึง 2,000-3,000
ตู้คอนเทนเนอร์" โรจน์กล่าว
อย่างไรก็ตามอุปสรรคในขณะนี้ของบริษัทคือ การควบคุมต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะด้านวัตถุดิบ
เพราะ RKI ยังต้องพึ่งวัตถุดิบจากต่างประเทศประมาณ 70% ส่วนใหญ่ จะเป็นกระป๋อง
กล่องกระดาษ น้ำมันเตา หลังจากค่าเงินบาทลดลงต้นทุนได้ถีบตัวสูงขึ้น 10-15%
ดังนั้นบริษัทจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ โดยนับตั้งแต่ปี 2540
เป็นต้นมาเฉลี่ยแล้วบริษัทปรับราคาเกือบ 40% นอกจากนี้ยังยกเลิกจุดขายภายในประเทศบางจุดลง
ส่วนในต่างประเทศพยายามออกแสดงสินค้าให้ถี่มากขึ้น รวมทั้งหาตลาดใหม่ๆ เข้ามาเพื่อลดความเสี่ยงด้านการตลาด
คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า RKI จะสามารถสร้างความประทับใจให้กับ NCORP
ได้มากน้อยแค่ไหน ภายใต้การดำเนินธุรกิจดั้งเดิมของตัวเอง