ชี้แบงก์ชาติทำธนาคารพาณิชย์ป่วน เหตุทั้งระบบตั้งสำรองหนี้เกินเกณฑ์อยู่แล้ว ระบุผู้บริหารแบงก์ชาติทำตัวเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อก้าวก่ายดุลพินิจผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ ขณะที่คนกรุงไทยโต้กรณีปล่อยกู้ N-PARK ไม่ผิด เพราะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเกินมูลหนี้ 100% แถมแผนลงทุน N-PARK ไม่เสียหาย จึงยกเรื่องภาวะตลาดหุ้นที่ตกต่ำชั่วคราวมาตัดสินไม่ได้ เผยไอ้โม่งแบงก์ชาติมีผลประโยชน์ส่วนตัวจงใจทำลายคู่แข่งทางธุรกิจ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการเข้าไปตรวจสอบฐานะของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 13 แห่ง มีกำไรเพิ่มขึ้น โดยก่อนกันสำรองหนี้ ช่วง 6 เดือนแรกมีกำไรทั้งสิ้น 55,092 ล้านบาท และหลังกันสำรองหนี้จำนวน 10,001 ล้านบาท มีกำไร สุทธิ 45,091 ล้านบาท
"การเพิ่มความเข้มงวดคุณภาพสินเชื่อ เพราะธปท. เห็นว่าขณะนี้ฐานะของธนาคาร แข็งแกร่ง จึงควรตั้งสำรองเพิ่มได้โดยไม่กระทบกับฐานะนอกจากธนาคารกรุงไทยที่ได้สั่งให้กันสำรองเพิ่ม ขณะที่ 12 ธนาคารที่เหลือมีการตั้งสำรองเพิ่มด้วยตนเอง โดยที่ธปท.ไม่ได้สั่ง เพราะต้องการสร้างความ มั่นคงให้กับตนเอง"
ทั้งนี้ จำนวนเงินที่ต้องกันสำรองหนี้ 100% ตามเกณฑ์ของ ธปท. ระบบธนาคารพาณิชย์ต้องสำรอง 352,000 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันระบบธนาคารมีเงิน สำรองรวม 475,000 ล้านบาท เท่ากับว่ามีสำรองเกินอยู่ 123,000 ล้านบาท
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า เกณฑ์การสำรองที่เน้น คุณภาพของหนี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2547 ซึ่งในกรณีของธนาคารกรุงไทยนั้นหลังจาก ตรวจสอบพบว่ามีหนี้ที่มีความเสี่ยงต้องกลับไปเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) 46,000 ล้านบาท ธปท.ได้หารือ กับนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร มีความเห็นตรงกันว่าควรตั้งสำรองเพิ่มประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากธนาคารกรุงไทยได้ตั้งสำรองหนี้ส่วนนี้แล้ว 6,000 ล้านบาท ทำให้ต้องตั้งสำรองเพิ่ม 3,200 ล้านบาท ซึ่งสินเชื่อที่ ธปท.สั่งให้กลับมาเป็นเอ็นพีแอล มีทั้งสินเชื่อที่เพิ่งปล่อยกู้ใหม่และสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้
ผู้ว่าฯธปท.กล่าวว่า หนี้ของธนาคารกรุงไทยที่กลับมาเป็นหนี้เอ็นพีแอลมีทั้งหมด 14 โครงการใหญ่ ซึ่งจัดเป็นหนี้ชั้นสงสัยจะสูญ 50% และในจำนวนดังกล่าวมีหนี้อสังหาริมทรัพย์ประมาณ 6 โครงการ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความเสียหายจากการปล่อยกู้ตามนโยบายรัฐ และเชื่อว่าหลังจากนี้ธนาคารกรุงไทยคงไม่มีความจำเป็นต้องกันสำรองหนี้ครั้งใหญ่เพิ่มเหมือนครั้งนี้อีกแล้ว
"การเข้าไปตรวจสอบอย่างใกล้ชิดครั้งนี้เพราะธปท.ไม่ต้องการให้เกิดการซ้ำรอยเหมือนเช่นกรณีบีบีซี (ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ)" ม.ร.ว. ปรีดิยาธรกล่าว
โต้ ธปท. ก้าวก่ายแบงก์ทำตัวเป็นจนท.สินเชื่อ
แหล่งข่าวธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผู้บริหารธปท.กำลังก้าวก่ายดุลพินิจของผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากการวิเคราะห์โครงการและความเป็น ไปได้ของสินเชื่อลูกหนี้เป็นหน้าที่ของธนาคาร แต่หากธปท.ยังยืนยันหน้าที่ดังกล่าวก็ควรจะเป็นผู้อนุมัติปล่อยกู้แทน ไม่ต้องให้ธนาคารเป็นผู้ดำเนินการอีกต่อไป
"หม่อมอุ๋ยกำลังทำตัวเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อ เป็นเรื่องที่ผิดหลักปฏิบัติของธนาคารกลาง หม่อมอุ๋ยมีทัศนคติที่ผิดและไม่เข้าใจระบบธนาคาร เพราะหน้าที่ปล่อยกู้เป็นไปตามขั้นตอนทั่วไปคือเจ้าหน้าที่สินเชื่อและคณะกรรมการดำเนินการอยู่แล้ว"
แหล่งข่าวยังกล่าวว่า การนำบีบีซีมาเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบัน ถือเป็นการเจตนาจะทำลายระบบ ที่สำคัญธนาคารกรุงไทยแตก ต่างจากบีบีซีอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากสินเชื่อที่ปล่อยออกไป มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเกินมูลหนี้หลาย เท่า ยกตัวอย่างกรณีปล่อยกู้บริษัทแนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) (N-PARK) วงเงิน 1.9 พันล้านบาท มีหลักทรัพย์ค้ำประกันรวม 4.1 พันล้าน บาท แบ่งเป็นหุ้น 3.7 พันล้านบาทและที่ดินอีก 400 ล้านบาท
"เหตุผลที่ธปท.ระบุว่าจำเป็นต้องสำรองหนี้ก้อนดังกล่าวเพราะ N-PARK ขาดความชัดเจนในการใช้เงินกู้ว่าจะใช้เพิ่มทุนหรือตั้งกองทุนอสังหาริม- ทรัพย์กันแน่ แถมธปท.ยังบอกว่าเสี่ยง เพราะขณะนี้ ตลาดหุ้นไม่ดีนั้น อยากถามว่าาตลาดหุ้นเมืองไทยจะตกลงโดยไม่มีวันฟื้นใช่หรือไม่"
แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การออกมาเคลื่อนไหวของธปท.ในครั้งนี้ อาจเกิดจากผู้บริหารธปท.มีวาระซ่อนเร้นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวที่มีเงิน ลงทุนกับบริษัทเอกชนซึ่งเป็นคู่แข่งกับ N-PARK ในการซื้อบริษัทเงินทุนแห่งหนึ่งซึ่งตกลงขายให้แก่กลุ่ม ฟินันซ่าซึ่งเป็นพันธมิตรกับ N-PARK
นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องการเมืองภายในธนาคาร กรุงไทยซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างคณะกรรมการทั้งความขัดแย้งเดิมและล่าสุด มีความขัดแย้งรุนแรงขึ้นตั้งแต่เปลี่ยนตัวประธานกรรมการบริหารจากร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ เป็นนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์
"การที่ผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติมีหุ้นในบริษัทเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับงานที่แบงก์ชาติดูแลทำให้ปัญหามีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องควบ รวมกิจการทั้งแบงก์และไฟแนนซ์ เช่น การผลักดันให้ไทยธนาคารซึ่งบริษัทที่ตนลงทุนถือหุ้นใหญ่เป็นแกนนำควบรวมกับไอเอฟซีที แต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งล่าสุดจะให้บริษัทที่ตัวเองถือหุ้นไปซื้อกิจการไฟแนนซ์แห่งหนึ่งที่กลุ่มฟินันซ่าซื้อตัดหน้าไปเมื่อไม่นานมานี้ และจากผลประโยชน์ส่วนตัวทำให้ผู้บริหารแบงก์ชาติคนนี้ทำหน้าที่บกพร่อง"
นายแบงก์ยันฐานะแกร่ง
นายธวัชชัย ยงกิตติกุล ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ความตื่นตระหนกตัวเลขเอ็นพีแอลและการตั้งสำรองของธนาคารกรุงไทยในช่วงที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด อาจเกิดจากการส่ง สัญญาณหรือข่าวลือที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยทุกแห่งได้สำรองเกินเกณฑ์มาตรฐานของธปท. โดยเริ่มปฏิบัติตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
"ผมคิดว่าสาเหตุที่แบงก์ชาติต้องคุมเข้มเพราะ แนวโน้มดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แบงก์ชาติอาจจะเกรงว่าใน อนาคตดอกเบี้ยสูงจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนิน งานของลูกหนี้ จึงออกมาป้องกันไว้ก่อน ส่วนเรื่องตลาดหุ้นที่ลดลงเมื่อวันก่อน ตอนนี้คงเข้าใจแล้วเห็น ได้จากหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว" นายธวัชชัย กล่าว
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่าหากธปท.จะออกมาตรการให้ธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองเพิ่มโดยมีการจัดชั้นหนี้สงสัยจะสูญ ถือว่าเป็น เรื่องของธปท.ที่จะต้องติดตาม เมื่อเห็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความเสี่ยง
|