Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2541
มูลนิธิโตโยต้า เพื่อคนไทย เพื่อโตโยต้า             
 


   
search resources

โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, บจก.




หล้ามีพี่ 2 คน คนโตเป็นสาว บอกจะหาสตางค์มาให้แม่ แล้วเค้าก็หายไป ต่อมาไม่ถึงปี พี่น้อยโตเป็นสาว แล้วพี่น้อยก็หายไปอีกคน "พี่น้อย พี่น้อยกลับมาแล้ว" น้องหล้าร้องดีใจ พี่สาวในชุดนางพยาบาลกอดน้องสาวตัวเล็กด้วยความยินดี โอกาสทางการศึกษาของน้อยได้มาจาก โครงการนักเรียนพยาบาลโดยมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย แล้วโตโยต้าบอกว่า ภูมิใจที่ได้เติบโตร่วมกับสังคมไทย

สปอตของมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทยเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการนักเรียนพยาบาลชุดนี้ว่ากันว่ากินใจนัก ผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศที่มาจากพื้นเพล้านนาหลายท่านถึงกับอึ้งต่อการเตือนความจำครั้งนี้ สปอตเจาะจงบรรยายด้วยคำเมือง ด้วยเสียงคุ้นหูของส.ส. หญิง ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ที่รณรงค์เพื่อสตรีภาคเหนือมาโดยตลอด และใช้ภาพอันงดงามของผืนดินถิ่นเอื้องเหนืออันแสนจะไร้เดียงสา เป็นบริบทแห่งเรื่องราวของเด็กสาวเอื้องคำผู้บอกว่า "จะไปหาสตางค์มาให้แม่" ท้องเรื่องและถ้อยคำสามารถสื่อสารระหว่างบรรทัดได้ โดยที่ไม่ต้องเล่าก็พอจะรู้สึกเจ็บปวดลึกซึ้งนักว่าเธอหลงหายไปทางไหน ในขณะที่สปอตซีรี่ส์นี้บอกถึงกิจกรรมของมูลนิธิโตโยต้าในพื้นถิ่นแดนเหนือ มันก็ได้ย้ำพ่อแม่พี่น้องชาวไทยว่าบาดแผลแห่งชุมชนยังต้องการการเยียวยาอีกมาก

พร้อมกับสปอตโครงการนักเรียนพยาบาล บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ยังยิงสปอตซีรี่ส์อื่นของมูลนิธิโตโยต้าให้อีก 3 ชุด คือ โครงการหนูรักผักสีเขียว โครงการรางวัลทีทีเอฟอวอร์ด และโครงการต้นน้ำต้นชีวิต คุณภาพของสปอตงดงามตามมาตรฐานโตโยต้า แถมยังได้เสียงบรรยายของนักสื่อสารมวลชน ที่กล้าเล่าเรื่องราวความจริงแห่งสังคมไทยมายาวนานและสม่ำเสมอ อย่าง นฤมล เมธีสุวกุล กับเสียงของคนรุ่นครูผู้เป็นที่นับถือกันทั้งวงการ อย่าง พิชัย วาสนาส่ง มายืนยันความมีอยู่จริงของปัญหาทั้งหลาย ที่มูลนิธิโตโยต้าเขาใฝ่จะนำเสนอต่อความรับรู้ของผู้คน

ถึงตอนนี้ กิจกรรมของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยกลายเป็นที่รู้จักไป ทั้งเมืองแล้ว พร้อมกับตอกย้ำแบรนด์เนมโตโยต้าให้เป็นที่จดจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้จดจำกันในฐานะอีกหนึ่งพระเอกผู้ช่วยเยียวยาสังคมอันป่วยไข้ของประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่รายแรก บริษัทธุรกิจนับไม่ถ้วนทั้งในไทยและในประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนใช้กลไกแห่งสาธาณประโยชน์เป็นสื่อในการสร้างสัมพันธ์ด้านลึกกับผู้บริโภค ณ วันนี้ วิวาทะว่าด้วยคุณค่าแห่งสาธารณประโยชน์ของบริษัทธุรกิจทำประโยชน์แก่ใครกันแน่ ยังเป็นข้อถกเถียงอมตะเสมอ

คืนกำไรแก่สังคม เป็นคอนเซ็ปต์พื้นฐานในการทำกิจกรรมทางสังคมและสาธารณประโยชน์ของบริษัทธุรกิจทั่วไป ตามทฤษฎีสื่อสารมวลชนแล้ว มันคือการบรรเทาความรู้สึกต่อต้านและสะสมความยอมรับที่ผู้คนในชุมชนมีต่อบริษัทธุรกิจ พร้อมๆ กับการสร้างความเชื่อถือต่อแบรนด์เนม ซึ่งเป็นผลดีความผูกพันระหว่างผู้คนกับภาพลักษณ์ของบริษัทธุรกิจ

เรื่องนี้แอ็คติวิสต์ทางสังคมยังไม่มีทัศนะเป็นเอกภาพ บางสำนักชี้ว่า สัดส่วนการคืนกำไรที่บริษัทธุรกิจให้แก่สังคมเป็นแค่เศษสตางค์ เมื่อเทียบกับผลประโยชน์มหาศาลที่ตัวบริษัทธุรกิจได้รับตอบแทนในรูปของศรัทธาและภาพลักษณ์ หนำซ้ำยังเป็นแค่เสี้ยวส่วนเดียวของต้นทุนทางสังคมที่ชุมชนสูญเสีย อย่างไรก็ตาม บางสำนักชี้ว่าในสถานการณ์ที่บริการภาครัฐยังด้อยเปลี้ย การสนับสนุนจากบริษัทธุรกิจเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคมบ้างย่อมเป็นประโยชน์ อาจเรียกได้ว่าเป็นการดึงทรัพยากรจากคนรวยลงสู่คนจนช่องทางหนึ่งนั่นเอง

ในกรณีของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ไทยแลนด์ ซึ่งมีภูมิหลังในประเทศไทยมาเนิ่นนานกว่า 3 ทศวรรษ การสถาปนากิจกรรมทางสังคมและสาธารณประโยชน์ขึ้นเป็นมูลนิธิเพิ่งแจ้งเกิดเมื่อปลาย ปี 2535 สมัยที่เศรษฐกิจยังเฟื่องฟู ยอดขายยังอู้ฟู่ การ แจ้งเกิดของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยนับว่าช้าไปจริงๆ เพราะสำนักงานของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะคลอดมูลนิธิกันไปมากมายแล้ว

มาช้าดีกว่าไม่มา ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายไทยของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย คงจะเชื่ออย่างนั้น จึงถือเอาวาระครบรอบ 30 ปีของบริษัทมาชงเรื่องเสนอ ทาคูม่า ซาโต้ ประธานบริษัทชาวญี่ปุ่นคนที่แล้ว บนหนึ่งในสี่หลักการที่ว่า โตโยต้ามุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี โตโยต้ามุ่งสร้างความพอใจสูงสุดแก่ผู้บริโภค โตโยต้ามุ่งส่งเสริมบทบาทเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หรือที่เรียกเล่นๆ ให้ฝรั่งอมยิ้ม ว่านโยบาย ไทไนเซชั่น และโตโยต้ามุ่งส่งเสริมการทำประโยชน์แก่สังคม

หลังจากที่ ซาโต้ พยักหน้าหงึกหงักเป็นไฟเขียวผ่านตลอด มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย ก็ถูกสถาปนาขึ้นด้วยเงินกองทุนตั้งต้น 30 ล้านบาท กับปณิธานที่จะส่งเสริม ในด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และการศึกษา

บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ไทยแลนด์ วางตำแหน่งแห่งที่ของมูลนิธิโตโยต้าไว้อย่างสง่างาม ไม่เสียทีที่เป็นบริษัทเงินถุงเงินถัง สามารถเชื้อเชิญ พล.ต.อ. เภา สารสิน ขึ้นรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการมูลนิธิ นอกจากนั้น ในบอร์ดยังดารดาษด้วยบิ๊กเนมแห่งแวดวงการพัฒนาและเกจิสายวิชาการ อาทิ ดร.พิสิฎฐ ภัคเกษม, ดร.เจตน์ สุจริตกุล, ศ.ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์, รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นต้น แต่แน่นอนว่า ในซีกส่วนของคณะกรรมการบริหารย่อมเป็นพื้นที่ของระดับนายหัวของบริษัทเท่านั้น

ภายในโครงสร้างส่วนบนอันหรู สง่า ฝ่ายปฏิบัติงานของมูลนิธิโตโยต้า ดูว่าจะเลือกพื้นที่ทำกิจกรรมที่เหยียบติดพื้น หยิบติดดิน จิ้งจกจากถนนทางรถไฟเก่า สมุทรปราการ อันเป็นที่ตั้งของมูลนิธิ เม้าท์ให้ทราบว่า กว่าจะเป็นวันนี้ ต้องผ่านการขับเคี่ยวทางความคิดอย่างหนักระหว่างสายปฏิบัติงาน 2 สาย 2 วิธีคิด

สายหนึ่งบอกว่าบริษัทธุรกิจต้อง มุ่งเป้าหมายธุรกิจเป็นด้านหลัก วิธีปฏิบัติงานที่ผลักดันออกมาคือ กิจกรรมระดับมหภาค ชูประเด็นนามธรรมประเภทกระตุ้นจิตสำนึก ท้าทายสังคม ซึ่งสามารถประชาสัมพันธ์แบรนด์เนมควบคู่กันไปได้ตลอดกิจกรรม

อีกสายหนึ่งเชื่อว่ากิจกรรมสาธารณประโยชน์ต้องเป็นรูปธรรม ยั่งยืน กินยาว ต้องให้เวลาพิสูจน์ความ จริงจังและจริงใจต่อภารกิจที่รับอาสา เอาให้ถึงระดับชั่งตวงวัดเป็นปริมาณได้ย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าคำพูดปาวๆ ซึ่งบริษัทธุรกิจอื่นทำกันจนเฝือแล้ว

งานนี้ไม่มีหญ้าแพรกแหลกลาญ มีแต่คนยอมงอนไม่ยอมหัก จิ้งจกข้างฝาห้องประชุมฟันธงว่าผู้ใหญ่ให้อิสระทางความคิดแก่ผู้ปฏิบัติงานใคร มีคาริสมาร์ มีวิชั่น มีแรงทำ ย่อมสามารถคว้าการนำไปได้ ใครคว้าไม่ได้ก็ไปคว้างานอื่นทำ มีงานให้ทำเหลือเฟือ

แล้วมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยก็สวมบุคลิกนักพัฒนา ทยอยออกโครงการต่างๆ มาแบบเน้นรูปธรรม การโฆษณาประชาสัมพันธ์ก่อนกาลไม่ต้องมาข้องแวะจนกว่าจะเห็นเนื้องานจับต้องได้ มิไยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบริษัท จะทวงถามความพร้อม สารพันโครงการที่ริเริ่มมาอย่างต่อเนื่องจะมีลักษณะ ร่วมที่สำคัญคือ พื้นที่ปฏิบัติงานจะอยู่ในภาคที่มีปัญหาโดดเด่น มากกว่าจะพิจารณาตามฐานการตลาด ดังนั้นภาคที่ได้รับเลือกเข้าแต่ละโครงการจึงเป็นภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ใช่ภาคกลางและภาคใต้ที่เป็นที่รับรู้ว่ามีพื้นที่ปัญหาสังคมน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ แม้ว่าภาคใต้จะเป็นฐานการตลาดที่สำคัญที่สุดก็ตาม

กวาดตาดูโครงการของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยตลอดช่วง 5 ปี กว่า จะเห็นความจริงข้อนี้

- ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนยากจนที่สุด 10 โรงเรียนเป็นเวลาต่อเนื่อง 3 ปี
- โครงการจัดซื้อหนังสืออ่านประกอบการเรียนระดับประถมศึกษ แก่ 450 โรงเรียนในชนบท
- โครงการทุนการศึกษาวิชาชีพพยาบาลสำหรับผู้หญิงในภาคเหนือปีละ 50 ทุน
- โครงการส่งเสริมการรับประทานผักในพื้นที่ชนบท
- โครงการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร
- การให้ทุนสนับสนุนแก่องค์กรพัฒนาเอกชน เช่น โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์ ของมูลนิธิหมอเสม พริ้งพวง แก้ว โครงการบ้านตะวันใหม่ของมูลนิธิป้องกันและปราบปรามยาเสพย์ติด โครงการวิชาการเพื่อสังคมของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย

ในห้วงเวลาเดียวกัน กิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ที่จัดโดยฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ของบริษัท ถูกทยอยผลิตออกมาตามคอนเซ็ปต์เน้นปลุกจิตสำนึกของคนในชาติ อาทิ โครงการถนนสีขาว โครงการหนังสือมือสอง เป็นต้น สืบเนื่องจากความเอื้ออวยแห่งรายได้การขายอันอุ่นหนาฝาคั่ง การโหมประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสารพัด เวทีสื่อมวลชนจึงมีสุ้มเสียงกังวานกู่ก้องด้วยงบประมาณก้อนโต เป็นที่ชื่นมื่นของทุกฝ่าย

กิจกรรมของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย เริ่มถูกนำไปใช้ในฐานะสื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทบนสโลแกน "โตโยต้า ภูมิใจที่ได้เติบโตร่วมกับสังคมไทย" ก็เมื่อช่วงที่ ซาโต้ ประธานบริษัทคนเดิมใกล้จะครบวาระกลับญี่ปุ่น ซึ่งทางมูลนิธิมีเนื้องานเป็นรูปธรรมพอเพียงแก่บทบาทดังกล่าวได้อย่างมั่นใจ และเมื่อมาถึงวันเวลาของ โยชิอะคิ มูรามัตสึ ประธานบริษัทคนปัจจุบัน เนื้องานสาธารณประโยชน์ของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยกลายเป็นเนื้อหนังมังสาที่จับต้องได้ พร้อมกับเป็นที่ยอมรับจากฝ่ายราชการและองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนไม่น้อย ในแง่ความเป็น "ของจริง" เมื่อมีการขอความร่วมมือในภาคปฏิบัติ หนทางมักสะดวกดายตามประสาคนทำงานจริงด้วยกัน

กิจกรรมเรือธงของมูลนิธิโตโยต้า ณ วันนี้ กำลังถูกนำเสนอบนสื่อมวลชน รอรับการท้าทายจากฝ่ายตรวจสอบสังคม

โครงการรางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยคือกำลังใจและเวทีให้กลุ่ม "ขายยาก"

รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยหรือ ทีทีเอฟ อวอร์ด ออกตัวว่าไม่ได้หมายจะเป็นบรรทัดฐานตัดสินคุณภาพของผลงาน หากเพียงจะช่วยเติมช่องว่างเชิงการตลาดให้แก่งานวิชาการที่ดีๆ ซึ่งมักมีปัญหาด้านการสนับสนุน ถ้าศาสตร์สาขานั้นไม่ใช่ศาสตร์ที่เป็นที่ต้องการของตลาด บ่อยครั้งที่ยากแม้กระทั่งจะหาสำนักพิมพ์จัดพิมพ์ให้

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใจดีรับหน้าเสื่อเป็นสถาบันกลางช่วยเหลือโครงการนี้ของมูลนิธิโตโยต้า มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารางวัลขึ้น ทำหน้าที่คัดสรรงานวิชาการที่สมควรได้รับการประกาศเกียรติคุณรางวัลสนับสนุนอันนี้ เจ้าของงานสามารถส่งงานของตนให้คณะกรรมการพิจารณา ผ่านทางสำนักพิมพ์ทบวงมหาวิทยาลัย ศูนย์การศึกษาต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย หรือผ่านสำนักพิมพ์องค์กรเอกชนที่ไม่ค้ากำไร ลักษณะงานที่ส่งประกวดมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผลงานที่เขียนขึ้นใหม่ มีวิธีการผลิตงานตามจารีตของงานวิชาการ ไม่เป็นบทความหรือรวมบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ทางวิชาการ อีกทั้งไม่ใช่งานแปลจากภาษาต่างประเทศ

กำลังใจสำหรับงานซึ่งชนะการประกวดคือ รางวัลเงินสด 1 แสนบาท และการตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไป ดังนั้นงานวิชาการที่ไม่ใช่ "งานตลาด-งานขายดี" จึงมีรางวัลตัวนี้เป็นกำลังใจสนับสนุน และเป็นเวทีเผยแพร่ผลงาน

ในช่วงปี 2538-2540 มูลนิธิควักกระเป๋าจ่ายค่ากำลังใจ ตลอดจนค่าตีพิมพ์ไปแล้ว 5 เล่ม ดังนี้

* คนยองย้ายแผ่นดิน ของ แสวง มาละแซม
* สัญลักษณ์ในงานจิตรกรรมไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19-24 ของ รศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ
* ชีวิตกับสภาพแวดล้อม ของ ศ.มุกดา สุขสมาน
* การจัดการคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงปลา ของ รศ.ดร.มั่นสิน ตัณฑุลเวศน์ และ รศ.ไพพรรณ พรประภา
* คุณค่าและลักษณะเด่นของวรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ของ รศ.ดร.ดวงมน จิตร์จำนงค์

โครงการหนูรักผักสีเขียวพร้อมระดมการจัดการจากภายในชุมชน

เป็นงานในสายคุณภาพชีวิตโดยตรง มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยบอกว่าเป็นห่วงโภชนาการของคนชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรเด็กเล็กในโรงเรียน โครงการของมูลนิธิจับประเด็นการรณรงค์ปลูกพืชผัก ที่อุดมด้วยแร่ธาตุวิตามินที่ขาดแคลนในพื้นถิ่น พร้อมกับจัดรายการส่งเสริมให้เด็กๆ รักการรับประทานพืชผักเหล่านั้น

งานนี้ได้สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล รับเป็นโต้โผ เนื้องานที่สถาบันเข้ามาช่วย มีตั้งแต่คัดเลือกพืชที่จะรณรงค์ ซึ่งทางสถาบันแนะนำให้เริ่มจากการปลูกตำลึงซึ่งมีวิตามินเอสูง ปลูกง่าย และยังลงมาสนับสนุนในภาคปฏิบัติ เพราะบางพื้นที่มีสภาพดินที่ไม่เอื้อแก่การปลูก จึงต้องได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการ ส่วนทางมูลนิธิทำหน้าที่ประสานงานและควักกระเป๋าสนับสนุนด้านทุนทรัพย์

ภาคสมทบของโครงการเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ในเรื่องการระดมความสนับสนุนจากอี่พ่ออี่แม่ในท้องถิ่น ตั้งแต่เรื่องการจัดสรรพื้นที่เพาะปลูก การให้ความใส่ใจดูแลการเพาะปลูก การรณรงค์เผยแพร่เข้าไปในแต่ละครัวเรือน ปรากฏว่ามีหมู่บ้านหนึ่งที่เพิ่งค้นพบว่าสภาพดินเหมาะแก่การเพาะปลูกตำลึงมาก ชาวบ้านจึงสนุกกับการปลูกตำลึงเพื่อขายกันเป็นกอบเป็นกำ กลายเป็นธุรกิจขนาดย่อมในหมู่บ้านทีเดียว

โครงการหนูรักผักสีเขียวผ่านร้อนผ่านหนาวมาครบ 2 รอบปีแล้ว พื้นที่รณรงค์อยู่ในโรงเรียนต่างๆ ของจังหวัดศรีสะเกษและอุบลราชธานีรวม 370 โรงเรียน มูลนิธิภูมิใจนักหนากับตัวเลขเด็กในโครงการนี้ว่าครอบคลุมนักเรียนทั้งสิ้น 80,000 คน

นอกจากนั้น มูลนิธิโตโยต้ายังผลิตวัสดุชักชวนเด็กในเมืองมารับประทานผัก เป็นกองทัพของโปสเตอร์ สติ๊กเกอร์ และหนังสือ เพื่อบุกจัดนิทรรศการเผยแพร่ในโรงเรียนและสถานที่ราชการต่างๆ แถมยังมีมีละครหนูรักผักสีเขียวแสดงในโรงเรียนประถมศึกษาในกรุงเทพฯ ด้วย

สำหรับหนังสือเป็นความภูมิใจข้อหนึ่งของทางมูลนิธิ เพราะหนังสือของมูลนิธิได้รับการตอบรับจากวงการนักอ่านอย่างอบอุ่น ขณะนี้ 3,000 เล่ม แรกขายหมดแล้ว ทางมูลนิธิจึงตีพิมพ์อีก 10,000 เล่ม ในรูปโฉมใหม่ เพื่อวางตลาดอย่างต่อเนื่อง


โครงการนักเรียนพยาบาล :
ลงทุนเพื่ออนาคตที่ภาคภูมิ

เด็กแรกสาวในพื้นที่ภาคเหนือมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นเหยื่อของความโลภ ซึ่งจะส่งผลให้พวกเธอต้องตกเป็นสินค้าทางเพศ มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย คงจะใส่ใจในข้อนี้ จึงริเริ่มโครงการนักเรียนพยาบาล เพื่อเปิดช่องทางเล็กๆ ป้องกันปัญหาสักเสี้ยวส่วนหนึ่ง

วิทยาลัยพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวหอกให้แก่โครงการนี้ ด้วยการอนุมัติโควตาเรียนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 50 ที่นั่งแก่เด็กของโครงการ รวมทั้งยอมเหนื่อย ลงพื้นที่ไปคัดเลือกเด็กเข้าเรียน มูลนิธิโตโยต้ารับบทถนัดคือให้ทุนปีละ 30,000 บาทต่อราย ซึ่งจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด รวมทั้งค่าหอพักในเขตวิทยาลัย เมื่อเด็กจบการศึกษา 2 ปีตามหลักสูตร เด็กจะมีงานรองรับทันทีในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เท่าที่ผ่านมายังไม่ปรากฏเด็กลาออกจากการเรียน ซึ่งนั่นนับว่าเป็นนิมิตที่ดี เพราะการลาออกของเด็กสักคนหนึ่ง ย่อมหมายถึงการตัดสินใจของเจ้าตัว ตลอดจนของพ่อแม่ที่จะโยกย้ายไปสู่อุตสาหกรรมเพศพาณิชย์

มูลนิธิโตโยต้ามีวิชั่นที่น่าชมอยู่ข้อหนึ่งคือ การวางแผนให้โครงการสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาว ด้วยการที่เด็กที่สำเร็จการศึกษาและทำงานมีรายได้ จะผ่อนชำระทุนการศึกษาเดือนละ 1,000 บาท เงินคืนจะกลายเป็นกองทุนสำหรับเด็กรุ่นต่อๆ ไป โครงการนี้จะเริ่มเลี้ยงตัวเองได้ในกำหนดขึ้นปีที่ 5 เท่าที่ผ่านมา 3 ปี มีลูกสาวเอื้องเหนือ 180 คนที่ได้เข้าโปรแกรมนี้

มาถึงวันนี้ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ใจดีควักกระเป๋ากระหน่ำทุนทรัพย์แก่กองทุนของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย เพิ่มขึ้นหลายรอบจนกองทุนขยายขึ้นเป็น 270.5 ล้านบาท โดยยังยืนหยัดกับสไตล์การสร้างประโยชน์แก่สังคมแบบยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ส่งให้มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย โดดเด่นและแตกต่างจากมูลนิธิของบริษัทธุรกิจรายอื่นๆ ปริมาณผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงอาจเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยนัก เมื่อเทียบกับปริมาณผู้คนที่ประสบความทุกข์ยาก แต่ถ้าบริษัทธุรกิจอื่นอีกสักร้อยรายพันรายร่วมร้อยใจประสาน สัดส่วนของผู้ที่ได้อานิสงส์ย่อมขยายทวีคูณตามไปด้วย

ของดีต้องสนับสนุน ของจริงต้องชมเชย ไม่ว่าการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์จะเป็นผลดีแก่ใคร หากสำหรับกิจกรรมของมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทยแล้ว เหล่านั้นคือประโยชน์ที่จับต้องได้สำหรับประชาชนผู้ด้อยโอกาสจำนวนหนึ่ง พร้อมกับเป็นตัวแบบแก่ผู้อื่นอีกมากมาย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us