Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2541
มนต์ วนิศรกุล เจ้าแห่งตำนานขนมปังปิ้ง "มนต์นมสด"             
 


   
search resources

มนต์ วนิศรกุล




ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีของการสร้างตำนานร้านมนต์นมสด มนต์คิดอยู่เสมอว่าจะต้องมีร้านเป็นของตนเองให้ได้ ในที่สุดเขาก็ได้รางวัลแห่งความเพียรพยายามที่ไม่ย่อท้อกับอุปสรรคใดๆ... จากรถเข็นริมถนน จากเพิงเล็กๆ ริมคลอง กลายมาเป็นร้านสองคูหาริมถนนดินสอ เสาชิงช้า และสิ่งที่ไม่เคยขาดหายไปจากมนต์นมสดก็คือ ลูกค้าหน้าเก่าหน้าใหม่ที่เต็มใจมาเบียดเสียดกัน เพื่อจะได้ลิ้มรสชาติความอร่อยที่เป็นอมตะ ณ ที่แห่งนี้

หากเอ่ยถึงชื่อของ  "มนต์นมสด" น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในย่านเกาะรัตนโกสินทร์นับตั้งแต่คนเฒ่าคนแก่ จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ต่างก็คุ้นเคยกับร้านนี้เป็นอย่างดี และไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่เมื่อใดได้ไปเยือนถิ่นเสาชิงช้า ยังคงแลเห็นร้านมนต์นมสดคับคั่งไปด้วยผู้คนทุกเพศทุกวัยไม่เว้นแม้กลางวันหรือกลางคืน 

อาศัยชื่อเสียงเป็นเดิมพัน เพียงปากต่อปาก... พี่บอกน้อง น้องบอกเพื่อน เพื่อนบอกเพื่อน ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเสียงบในการประชาสัมพันธ์ทำการตลาด ให้สิ้นเปลือง แต่กว่าจะสั่งสมชื่อเสียงให้มาถึง ณ วันนี้ได้ มนต์ วนิศรกุล ก็ต้องใช้เวลาและความอดทนมากมายที่จะฝ่าด่านนานาประการเคียงคู่กับเตี่ยของเขา 

เริ่มตั้งแต่ปี 2507 ด้วย การเป็นลูกจ้างชงกาแฟขายในร้านกาแฟหัวมุมถนนศาลาว่าการ กทม. ซึ่งพวกเขาก็ได้รับความไว้วางใจจากเถ้าแก่เจ้าของร้านเป็นอย่างดี ขายอยู่ได้ประมาณ 15 ปีเส้นทางการค้าขายของเขาก็เริ่มสะดุด เมื่อวันหนึ่งเจ้าของที่ตึกแถวแห่งนั้นมาบอกขอคืนที่จากเถ้าแก่  ทำให้สองพ่อลูกต้องถูกลอยแพ แต่เขาทั้งสองก็ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาง่ายๆ จากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มขายกาแฟบนรถกระบะคันเล็กๆ ริมถนนหน้าร้านเดิมที่เคยเป็นลูกจ้างอยู่  สินค้าบนกระบะคันนี้มิได้มีเพียงกาแฟเท่านั้น ยังมีขนมปังสังขยาและนมสดอีกด้วย ขายของบนรถกระบะได้ประมาณ  4-5 ปีก็เริ่มท่าไม่ดี เพราะถูกเทศกิจจับๆ ปรับๆ นับครั้งไม่ถ้วน มนต์จึงคิดว่า น่าจะเสียเงินเช่าร้านสักหนึ่งร้าน เพื่อความสบายใจและคุ้มค่าเหนื่อย  มากกว่าที่จะเหนื่อยแทบตายแต่ต้องหมดไปกับการเสียค่าปรับให้เทศกิจ

ดังนั้นในปี  2527 สองพ่อลูกก็เข้ามาปักหลักเช่าที่ริมคลองข้างศาลาว่าการ กทม. และเขาก็เริ่มพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น  จากที่ขายเพียงกาแฟ ขนมปังสังขยา และนมสด ยังมีขนมปังปิ้งทาเนย ราดนม โรยน้ำตาล ราดแยม ให้ลูกค้าได้เลือกตามใจชอบอีกด้วย

แม้ว่าปีแรกของการมาเช่าที่ขายของนั้นจะไม่ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากเป็นปีที่แชร์แม่ชม้อยล้ม ผู้คนก็ลำบาก ไม่ค่อยมีกระจิตกระใจจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ยอดขายของมนต์ตกลงไปด้วย แต่เขาก็ไม่ท้อถอย  คิดแต่เพียงว่า "ทำเพียงพอมีกินมีใช้ก็พอแล้ว อย่าคิดอะไรมาก"

3 ปีหลังจากนั้น มนต์ก็เริ่มลืม ตาอ้าปากได้อีกครั้ง และชื่อเสียงของเขาก็เริ่มกำจรกำจายไปอย่างรวดเร็ว ลูกค้าส่วนใหญ่ของมนต์ก็จะเป็นนักเรียน นักศึกษา และพนักงาน กทม.

มนต์นมสดเฟื่องฟูอยู่ได้ประมาณ 7 ปี โชคชะตาก็เริ่มเล่นตลกกับเขาอีก เมื่อเจ้าของที่ที่เขาเช่าอยู่บอกขอคืนที่และมีเวลาให้เพียง  1 ปีกับ 1 เดือนเท่านั้นในการเตรียมย้ายออกเขา ก็เริ่มมองหาร้านใหม่อีกครั้ง และแล้วโชคก็เริ่มเข้าข้างเขา เมื่อเพื่อนเขาต้องการเซ้งตึกแถว 1 คูหาริมถนนดินสอที่อยู่ไม่ไกลจากร้านริมคลองของมนต์มากนัก เขาก็คิดว่าถ้าได้ห้องเดียวก็คงไม่เอา เพราะไหนๆ จะต้องเสียเงินเซ้งเองก็น่าจะได้สัก 2 ห้อง เขาจึงไปทาบทามร้านขายผ้าที่อยู่ติดกับห้องของเพื่อนเขาดูว่าสนใจที่จะขายให้เขาไหม  ซึ่งเจ้าของร้านขายผ้าก็สนใจ เพราะเห็นว่าเขาเสนอราคาที่น่าสนใจ

วันนั้น  มนต์ใช้เงินลงทุนที่กู้มาจากแบงก์ทั้งสิ้นประมาณ  7 ล้านบาท เพื่อให้ได้มาซึ่งร้านที่เป็นของตัวเองอย่างแท้จริง

"ตอนนั้นเราก็กัดฟันกู้แบงก์มา  แต่ก็ไม่ถึงกับเดือดร้อนมาก ขายของก็พออยู่ได้ ไม่ได้กำไรมากมาย ผมต้องการที่จะอยู่แถวนี้โดยไม่ต้องเสียหน้า เพราะผมอยู่แถวนี้มา 30 กว่าปี แต่ก็ไม่เคยมีที่เป็นของตัวเองสักที ซึ่งชาวบ้านเขาก็ถามเสมอว่าทำไมเราถึงหาร้านแถวนี้ไม่ได้สักที ในที่สุดผมก็ทำได้ แม้จะต้องใช้เวลานานก็ตาม" มนต์กล่าวอย่างภูมิใจ

เมื่อได้ทำเลที่มั่นแล้ว  มนต์ก็ระดมสมองจากทีมผู้บริหารของเขาที่ประกอบไปด้วย เตี่ย  ภรรยา  และลูกๆ ทั้ง 4 คน ช่วยกันออกความเห็นในการสร้างร้านมนต์นมสด สาขาเสาชิงช้าร้านนี้ให้เป็นจริงขึ้นมา   ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็ลงความเห็นว่า  ร้านใหม่นี้ควรจะมีความเปลี่ยนแปลงที่พัฒนาขึ้น ไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่ เขาจึงจ้างนักตกแต่งภายในมาตกแต่งร้านให้

"ตอนที่ผมเห็นร้านครั้งแรกก็บอกกับช่างว่าทำไมถึงหรูหราแบบนี้ คนจะไม่กล้าเข้านะ แต่ช่างกลับรับประกันว่า  ร้านสวยๆ แบบนี้คนต้องแย่งกันเข้าแน่นอน ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าจะจริงหรือเปล่า วันที่เปิดร้านวันแรก ผมก็ไม่กล้ามาที่ร้านเลย ผมหนีไปที่อื่น ปล่อยให้แฟนกับลูกๆ รับหน้าไป  ผมกลัวที่สุด ไม่อยากเห็นภาพที่ไม่มีคนเข้าร้าน แต่พอผมกลับเข้ามาที่ร้านถึงกับยืนตะลึงเลยว่า  คนแห่มาจากที่ไหนเนี่ย หน้าประตูก็มีคนออกันเต็ม ถึงขั้นเบียดเสียดกันเข้ามาก็แปลกใจและดีใจมากว่า เรารอดตายแล้ว มีเงินส่งแบงก์ได้แล้ว" มนต์เล่าถึงเหต การณ์วันเปิดร้านวันแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้วด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้น และภาพที่มนต์เห็นในวันแรกของการเปิดร้านก็ยังคงปรากฏอยู่ทุกวันนี้

เสน่ห์ของมนต์นมสดนอกจากจะอยู่ที่ชื่อเสียงที่ยาวนานของร้านแล้ว  ยังอยู่ที่พฤติกรรมของลูกค้าเองด้วย ลูกค้าทุกคนที่นี่จะเป็นผู้ที่รักการรับประทานของว่างที่เป็นขนมปัง นม เนย อย่างแท้จริง  ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า หากไม่รักกันจริงแล้วก็คงจะไม่อดทนรอคิว เพื่อจะสั่งเมนูที่ตนต้องการได้  ทั้งยังเป็นคนใจดี ใจเย็น แม้มีการกระทบกระทั่งกันบ้างก็จะให้อภัยกันด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส

สำหรับความสำเร็จของธุรกิจในวันนี้เป็นเพียงความพอใจ ณ ระดับหนึ่งของมนต์ หนุ่มใหญ่ผู้ทุ่มเทเวลากว่า  30  ปีให้กับงานมาโดยตลอดเท่านั้น  เนื่องจากร้านนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เขาได้ปูทางไว้ให้ลูกๆ ช่วยกันสานต่อตำนานมนต์นมสดให้เจริญยิ่งขึ้นในอนาคต

"ตอนนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของเราและเราก็พอใจ  ณ  วันนี้ เราไม่อยากดิ้นรนมาก ถ้าทำมากก็เหนื่อยมาก ไม่มีเวลาให้กับครอบครัว  ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญสำหรับผมมาก  ผมคิดว่า  การทำการค้าอะไรก็แล้วแต่จะรุ่งไม่รุ่งก็อยู่ที่ครอบครัว  ถ้าครอบครัวสงบ ทุกอย่างก็ราบรื่น  เพราะใจเราสบาย บริหารงานก็เต็มที่ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง แต่ถ้าครอบครัวไม่สงบ  เราคิดจะกอบโกยเพียงอย่างเดียว  ครอบครัวยุ่งเหยิง ลูกไปทางแม่ไปทาง การค้าเราได้เงินจริง แต่ใจเราไม่สบาย  มีเงินก็ช่วยอะไรเราไม่ได้" มุมมองของมนต์ที่ใส่ใจในสถาบันครอบครัว

ดังนั้น  จากวันนี้ต่อไปอีก  2 ปีข้างหน้า มนต์นมสดจะยังคงมีเพียงแค่สาขาเดียวที่เสาชิงช้าเท่านั้น  และเมื่อถึงปี  43  เขาก็จะเริ่มลงทุนขยายสาขาเพิ่ม โดยในกรุงเทพฯ อาจจะเปิดอีกเพียง  2-3 แห่งเท่านั้น ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า "ถ้าเปิดเยอะ ไปไหนต่อไหนก็เจอแต่มนต์นมสด ผมว่ามันเซ็ง เอียน เลี่ยนไป แต่ถ้าเรามีน้อยๆ สาขา ให้ลูกค้ารู้สึกว่าต้องมากินให้ถึงถิ่นถึงจะคุ้ม ก็จะให้ความรู้สึกที่ประทับใจมากกว่า"

ภายใน 2 ปีนี้จะเป็นปีแห่งการสร้างชื่อเสียงของมนต์ให้รู้จักยิ่งขึ้นให้ทั่วทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเขาไม่เคยกลัวว่าใครจะเปิดร้านแข่งกับเขา เขาหวังแต่เพียงว่า ในอนาคตลูกๆ หลานๆ จะช่วยกันสานฝันให้มนต์นมสดกลายเป็นตำนานที่เก่าแก่ และมีชื่อเสียงโด่งดังดุจตำนานของร้านแมคโดนัลด์ที่มีมานานกว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันมนต์นมสดก็เดินมาเกือบครึ่งทางแล้ว  ถ้าเปรียบกับอายุของคนก็เขาสู่วัยฉกรรจ์พร้อมที่จะลุยต่อทุกสภาพ เพื่อให้ไปถึงยังจุดมุ่งหมายที่วาดไว้

"การค้าขายของเราต้องไม่ฝันสูง  เพราะจะหล่นง่าย  ฉะนั้นทำอะไรก็แล้วแต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป   เริ่มจากการจับจุดเล็กๆ จากศูนย์และค่อยๆ ไต่เต้าไป  ไม่ใช่ไปเริ่มที่สูงเลยก็เป็นไปไม่ได้หรอก" เป็นเคล็ดลับในการดำเนินธุรกิจที่มนต์สอนแก่ลูกๆ ทุกคน เพื่อให้ก้าวแต่ละก้าวของพวกเขาเป็นไปอย่างมั่นคง มิใช่กลวงๆ หลวมๆ ดั่งเช่นหลายๆ กิจการที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนั้น มนต์ยังฝากข้อคิดเตือนสติสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ด้วยว่า "ใครที่คิดจะลงทุนอะไรตอนนี้  ผมว่าอย่าเพิ่งทำดีกว่า  พยายามทำแต่ที่พอกินพอใช้ก็พอ อย่าไปทำอะไรใหญ่โต กิจการถ้ายิ่งขยายใหญ่เท่าไรก็ยิ่งลำบากเท่านั้น  ตอนนี้พยายามพยุงตัวเองให้พ้นผ่านวิกฤติการณ์ในปีนี้และปีหน้าไปก่อนก็จะดีขึ้นเอง"

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตำนานเริ่มต้นของร้านมนต์นมสดที่มนต์ได้เล่าไว้ ตลอดระยะเวลา 34 ปีของการทำงานนั้น เป็นเพียงการปูทางธุรกิจสำหรับลูกๆ ของเขาทั้ง 4 คนที่กำลังสั่งสมประสบการณ์  เพื่อรับช่วงงานต่อจากปู่และพ่อของเขาในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นวันที่มนต์จะวางมือจากธุรกิจนี้ และคอยดูอยู่ห่างๆ

จากเตาถ่านปิ้งขนมปังก็กลายมาเป็นเตาไฟฟ้า จากคนปิ้ง  คนชง กาแฟ คนเสิร์ฟ กลายมาเป็นเถ้าแก่คุมร้าน ยืนดูความสำเร็จเบื้องหน้าเคียงข้างกันสองพ่อลูกดั่งเดิม...

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us