ในฐานะที่ กลุ่มบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของไทย
ที่มีส่วนแบ่งจากการหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2541 สูงถึง 16.02% ซึ่งสูงกว่าเดิมจาก
14% เมื่อฤดูการผลิตเมื่อปีที่แล้ว ขณะเดียวกันกลุ่มมิตรผลยังมีส่วนแบ่งด้านการตลาดในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ
17.08%
จากโรงงานน้ำตาลในประเทศทั้งหมด 46 แห่ง กลุ่มมิตรผลมีโรงงาน 4 แห่ง ด้วยกำลังการผลิตรวม
83,000 ตันต่อวัน และมีรายได้ปีล่าสุดประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนโรงงานน้ำตาลในต่างประเทศปัจจุบันมีโรงงานผลิตน้ำตาลในจีนทั้งหมด
5 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิต ประมาณครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตรวมในประเทศไทย
"เราเพิ่งซื้อโรงงานในจีนเพิ่มจากเดิม 4 แห่งเป็น 5 แห่ง ที่ซื้อเนื่องจากทางจีนขอร้องให้เราซื้อเพราะการบริหารโรงงานขาดทุน
เขาเห็นว่าทางเราเข้าไปทำแล้วมีกำไรก็เลยตกลงให้เราลงทุนเพิ่ม ทำให้รายได้จากจีนจึงเข้ามาไม่มากเท่าไหร่"
ทัศน์ วนากรกุล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดของกลุ่มบริษัท มิตรผล กล่าว
นอกจากนี้ยังเข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยเป็นผู้ถือหุ้นน้อยจำนวน 10.5% ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ใช้เงินลงทุน
80 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นเงินกู้ 55 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินทุนอีก 25
ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตได้ในปลายปีนี้
"ในด้านโรงงานในไทยขณะนี้เราจะย้ายโรงงานจากกำแพงเพชรไปยังกาฬสินธุ์ โดยมีกำลังการผลิต
18,000 ตันต่อวัน คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปลายปีนี้เช่นกัน สำหรับเงินลงทุนในการย้ายโรงงานครั้งนี้ทางกลุ่มมิตรผลได้ทำการกู้เงินจากธนาคารราโบ
จากเนเธอร์แลนด์ จำนวน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ" ทัศน์ กล่าว
และล่าสุดกลุ่มมิตรผลกำลังเจรจากับนักลงทุนจากต่างประะเทศ เพื่อวางแผนเข้าไปประมูลซื้อโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
3 แห่ง ได้แก่ โรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี โรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ และโรงงานน้ำตาลลำปาง
โดยมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 7,500 ตันอ้อยต่อวัน คาดว่ากลุ่มมิตรผลจะต้องใช้เงินอีกจำนวนมากสำหรับโครงการนี้พอสมควร
สาเหตุที่กลุ่มมิตรผลขยายการลงทุนชนิดไม่เกรงใจ IMF เนื่องจากมองว่าตลาดน้ำตาลในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะตลาดเอเชียซึ่งเป็นตลาดหลักของกลุ่มมิตรผล ที่คาดว่าการบริโภคน้ำตาลของคนเอเชียจะเพิ่มขึ้นประมาณ
10 ล้านตันภายในปี 2548 ในขณะที่กำลังการผลิตยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ
"โดยเฉลี่ยอุตสาหกรรมน้ำตาลเติบโตขึ้นปีละประมาณ 2% แต่การผลิตเติบโตไม่ถึงเท่าไหร่
ซึ่งปัจจุบันเราส่งออกน้ำตาล 67% ส่วนตลาดไม่จำเป็นต้องไปที่ไหนแค่ในเอเชียก็ไม่พอจำหน่ายแล้ว"
ทัศน์ กล่าว
ส่วนรายได้ในปีนี้กลุ่มมิตรผลก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน คาดว่ารายได้จะลดลงจากปีที่แล้วประมาณ
1,000 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณอ้อยลดลงเพราะปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้บริษัทสามารถผลิตน้ำตาลได้ในฤดูกาลผลิตนี้ประมาณ
6.4 ล้านตัน ลดลงจากฤดูกาลที่แล้วที่ผลิตได้ 7.8 ล้านตัน
"ดังนั้นเราในฐานะเจ้าของโรงงานจึงจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือชาวไร่อ้อย
เพื่อกระตุ้นให้เพิ่มผลผลิตอ้อย ด้วยวิธีการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งในส่วนนี้เราลงทุนไปทุกปีๆ
ละ 60-70 ล้านบาท" ทัศน์ กล่าว
การรุกคืบหน้าของกลุ่มมิตรผลครั้งนี้ คงจะเป็นตัวอย่างหนึ่งของวงการธุรกิจคนไทย
แม้ว่าสถานการณ์จะไม่เอื้ออำนวยมากนักแต่ในอนาคตแล้วคงจะเป็นคำตอบได้ดีว่า
อุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ก็เป็นหนึ่งที่สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศและเจ้าของบริษัทได้ดีเช่นเดิม