|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
จากกรณีที่มีการช่วงชิงเพื่อครอบครองบริษัทปุ๋ยเอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) (NFC) หรือ ปุ๋ยแห่งชาติ เพื่อช่วงชิงการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีสัดส่วนเกิน 50% ระหว่างนายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี เอ็นเอฟซี (ถือหุ้น 39.73%) กับนายดิเรก ฉัตรพิมลกุล (ถือหุ้น 32.36%) และนายวิชัย ทองแตง (8.04%) โดยนายวิชัยเป็นพันธมิตรกับนายดิเรก ส่งผลให้สัดส่วนหุ้นรวม 40.40% นั้น "ผู้จัดการรายวัน" มีโอกาสสัมภาษณ์ประเสริฐ เอื้อกมลสุโข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบสท. ซึ่งรับผิดชอบการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูเอ็นเอฟซี มาตั้งแต่มีการโอนหนี้เข้ามายังบสท. เพื่อฉายภาพที่ไปที่มาและอนาคตของปุ๋ยแห่งชาติที่กำลังกลายสภาพ จากธุรกิจเชิงนโยบายรัฐไปเป็นธุรกิจเอกชนเต็มตัวภายใต้ชื่อใหม่
นายประเสริฐยอมรับว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 กลุ่ม จึงแย่งกันเพื่อให้ได้หุ้นเพิ่มและเพื่อคุมอำนาจบริหารและไม่รู้ว่าทั้งสองฝ่ายจะขัดแย้งกันเรื่องอะไร เพราะเดิมทีนายณัฐภพเป็นพันธมิตรกับนายดิเรก แต่ข่าวที่ออกมาล่าสุดระบุว่าทั้งสองคนทะเลาะกัน
การเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะนายณัฐภพที่เสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายอื่นหรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์ซึ่งรวมถึงขอซื้อหุ้นจากบสท.ในราคา 11.50 บาท นายประเสริฐคิดว่าไม่มีความจำเป็นเนื่องจากบสท.สนับสนุนนายณัฐภพเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) อยู่แล้ว แม้เอ็นเอฟซีจะมีท่าเรือที่ระยอง สามารถต่อยอดธุรกิจได้จริงก็ตาม ก็ยังไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ ยิ่งถ้าเป็นมุมมองจากคนนอกคงสงสัยไม่น้อยว่าเอ็นเอฟซีมีอะไรดีจึงต้องลงทุนลงแรงแย่งกันทั้งๆ ที่ก่อนหน้าเป็นบริษัทล้มละลาย
"ผมในฐานะผู้ที่รับผิดชอบตั้งแต่รับโอนหนี้มา คิดว่าเอ็นเอฟซี ต้องมีบสท.และรายย่อยถือหุ้นอยู่หรืออย่างน้อยบสท.ต้องอยู่เพื่อรายย่อย ที่สำคัญผมยังไม่เห็นเหตุผลที่ดีพอในการขอซื้อหุ้นครั้งนี้"
นายประเสริฐเปิดเผยว่า ตนในฐานะผู้รับผิดชอบได้เสนอบอร์ดบสท. รักษาสัดส่วนการถือหุ้นในปุ๋ยแห่งชาติไว้ที่ 17.35% เช่นเดิม เนื่องจากไม่สามารถ หาคำตอบถึงความจำเป็นที่บสท.ต้องเร่งขายหุ้นออกมา และที่สำคัญถ้าหากบสท. นำหุ้นออกมาประมูลก็จะเป็นการทิ้งปัญหาให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อย
นายประเสริฐมั่นใจว่า การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเดินมาถูกทาง เจ้าหนี้ยอมลดหนี้ให้ หาผู้ร่วมทุนรายใหม่ ที่โชคดีคือมีการแปลงหนี้เป็นทุน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า หลังจากที่นายณัฐภพเข้ามาซื้อหุ้นและเข้ามาบริหารเอ็นเอฟซีเริ่มมีอนาคตเพราะมีทั้งเงินทุนใหม่และประสบการณ์ด้านธุรกิจเกี่ยวเนื่องของนายณัฐภพน่าจะช่วยเอ็นเอฟซีให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ สถาบันการเงินสนใจที่จะปล่อยสินเชื่อให้ เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็กำลังจะให้เครดิตสินเชื่ออีกว่า 2 พันล้านบาท
นายประเสริฐเปิดเผยว่า ขณะนี้เอ็นเอฟซีอยู่ระหว่างการหารือกับ นายประยุทธ์ มหากิจศิริ เจ้าของไทยคอปเปอร์ เพื่อขายกรดกำมะถันซึ่งเป็นของเสียจากการผลิตทองแดงให้เอ็นเอฟซีนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตปุ๋ย ซึ่งจะถูกกว่ากรดกำมะถันที่เอ็นเอฟซีผลิตเอง
"ต้องยอมรับว่าปุ๋ยแห่งชาติในขณะนั้นเกิดผิดที่ผิดเวลา เพราะในขณะที่ปุ๋ยแห่งชาติเกิดขึ้นแล้ว บริษัทผู้ผลิตทองแดงไม่มี แตกต่างจากต่างประเทศที่โรงงานปุ๋ยกับโรงงานทองแดงอยู่คู่กันเพื่อเอื้อซึ่งกันและกัน"
ทั้งนี้โรงงานปุ๋ยเอ็นเอฟซีกับไทยคอปเปอร์อยู่ห่างกันเพียง 2 กิโลเมตร ที่อ.มาบตาพุด จ.ระยอง
ดิ้นเข้าตลาดหุ้นพาเจ๊ง
สำหรับที่มาของเอ็นเอฟซีภายใต้ชื่อปุ๋ยแห่งชาติก่อนจะถึงวันนี้ แหล่งข่าว ในวงการค้าปุ๋ยวิเคราะห์ว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการลงทุนที่เกินตัว ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามในการผลักดันปุ๋ยแห่งชาติให้สามารถเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงทำให้บริษัทต้องไปสร้างโรงงานผลิตกรด เพื่อผลิตกรดซัลฟิวริก มาใช้สำหรับกระบวนการผลิตปุ๋ย ขึ้นมาแทนที่จะสั่งนำเข้าจากต่างประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า
"การสร้างโรงงานกรดทำให้บริษัทมีเงินลงทุนเกิน 10,000 ล้านบาท ตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่ได้ตั้งใจที่ทำธุรกิจโรงกรดอย่างจริงจัง นี่เป็นประเด็นสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาขาดทุนและกลายเป็นหนี้สิน"
นอกจากนั้น การที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้มีบริษัทปุ๋ยแห่งชาติเป็นของรัฐบาล ก็ขาดการวางแผนด้านการตลาด และการส่งเสริมความรู้ให้กับเกษตรกร แม้ว่าในวงการอุตสาหกรรมปุ๋ยจะยอมรับว่าโรงงานผลิตปุ๋ยของบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ ผลิตปุ๋ยฟอสฟอรัส ได้อย่างมีคุณภาพ เมื่อเทียบกับโรงงานปุ๋ยทั่วไป แต่ระยะเวลาเห็นผลช้ากว่าปุ๋ยทั่วไป ที่ระยะเวลาเห็นผลจากการใส่ปุ๋ยเพียง 3 เดือนเท่านั้น ขณะที่ปุ๋ยแห่งชาติใช้เวลากว่า 6 เดือน นี่คืออีกปัจจัยสำคัญ
"ถามว่าทำไมปุ๋ยแห่งชาติจึงแจ้งเกิดไม่ได้ ก็เพราะว่าขาดการวางแผนด้านการตลาดมาตั้งแต่แรก ขาดการส่งเสริม การให้ความรู้เกษตรกรว่า การใช้ปุ๋ยของปุ๋ยแห่งชาติในระยะยาวส่งผลดีกับดินหรือพืชพันธุ์ทางการเกษตรอย่างไร พอเกษตรกรทดลองใช้กว่าจะเห็นผลก็ปาเข้าไป 6 เดือน แต่ถ้าเขายังคงใช้ปุ๋ยในรูปแบบเดิมๆ เห็นผลภายใน 3 เดือน และที่สำคัญเกษตรกรบ้านเรามีรายได้มาจากการขายพืชผลทางการเกษตร ทำให้ไม่กล้าเสี่ยงที่จะเปลี่ยนอะไรง่ายๆ นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ปุ๋ยแห่งชาติยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้" แหล่งข่าวกล่าว
และจากปัญหาข้างต้น จึงทำให้ปุ๋ยแห่งชาติตัดสินใจกระโดดเข้าแข่งขันด้านราคากับบริษัทปุ๋ยที่เป็นเจ้าตลาด โดยในระหว่างปี 2539-2540 ปุ๋ยแห่งชาติได้ตัดสินใจขายในราคาที่ต่ำกว่าทุน ซึ่งทำให้ช่วงนั้นมียอดขายสูงประมาณ 3-4 พันล้านบาท แต่นั่นก็ทำให้ปุ๋ยแห่งชาติเองขาดทุนกว่า 1 พันล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถทำให้ปุ๋ยแห่งชาติเข้ามาเบียดในตลาดปุ๋ยได้
ที่ผ่านมา จึงเห็นว่าการใช้กำลังการผลิตของปุ๋ยแห่งชาติไม่สามารถทำได้เต็มที่ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10-20% เท่านั้น นอกจากนี้โรงงานปุ๋ยแห่งชาติยังมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการผลิต เพราะจะมียิปซัมเหลือจากกระบวน การผลิต ซึ่งยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจได้...
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าสนใจว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในการซื้อหุ้นอีก 17% จากบสท. มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การโยกย้ายถ่ายเท หรือเป็นหุ่นเชิดให้กับบิ๊กในวงการธุรกิจในรัฐบาลหรือไม่ คงไม่อาจฟันธงได้ในขณะนี้ รู้แต่ว่า "ปุ๋ยแห่งชาติ" นอกจากจะแปรสภาพจากองค์กรที่ต้องรับผิดชอบต่อเกษตรกรไทยเป็นบริษัทธุรกิจเอกชนแล้ว "ปุ๋ยแห่งชาติ" จะเหลือแต่ชื่อเพราะตามเงื่อนไขฟื้นฟูกิจการหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทใหม่ห้ามใช้ชื่อ (คำว่า) "ปุ๋ยแห่งชาติ แต่ให้ใช้ "ปุ๋ยเอ็นเอฟซี" แทน...
|
|
|
|
|