เมื่อเกิดวิกฤตครั้งสำคัญของอสังหาริมทรัพย์ สถาปนิกส่วนใหญ่ ซึ่งอิงอยู่กับธุรกิจนี้ถึง
90% ก็เลยต้องเจ็บตัวไปด้วย บริษัทใหญ่น้อยได้ทยอยปิดตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ก็ได้ทำให้เกิดความผิดพลาดในวงการศึกษา
เพราะแผนการผลิตนักศึกษาของคณะสถาปัตยกรรมนับวันจะเพิ่มขึ้น สถาปนิกรุ่นใหม่จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างไร?
"สถาปนิก" ยังเป็นอาชีพที่นักศึกษาระดับเกรดเอ ฝากความหวังได้อีกหรือไม่
หนทางออก และอนาคตของอาชีพนี้ ทางสมาคมสถาปนิกได้มีการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว
วันนี้สถาปนิกรุ่นพี่หลายคนตกงาน บริษัทสถาปนิกหลายแห่งปิดตายสำหรับบัณฑิตรุ่นใหม่
บางรายที่โชคดีเข้าไปได้ก็จะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นเพียง 6-7 พันบาท แทนที่จะเป็น
1-2 หมื่นบาทอย่างเช่นที่เป็นมา
การสูญเสียความเชื่อมั่นในวิชาชีพกำลังเกิดขึ้น และได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับแวดวงสถาปนิกอย่างมาก
มีการตั้งคำถามถึงขอบเขตของวิชาชีพในสภาพแวดล้อมใหม่ที่ยังคาดการณ์ไม่ได้
และได้มีการริเริ่มที่จะสร้างรูปแบบใหม่ของการให้บริการทางวิชาชีพ เพื่อรับมือกับความผันผวนหลังยุคฟองสบู่แตก
สมาคมสถาปนิกสยาม (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ได้ระบุตัวเลขของบริษัทสถาปนิกในปัจจุบันไว้ว่า
เมื่อปี 2530 นั้นมีบริษัทที่มาจดทะเบียนกับสมาคมฯ ประมาณ 200 บริษัท เมื่อช่วงปี
2535-2536 มีบริษัทสถาปนิกที่เข้ามาจดทะเบียนเพิ่มเป็น 300 บริษัท แต่พอมาปี
2539 เหลือเพียง 220 บริษัท คาดว่าประมาณมาณกลางปี 2540 มีเหลือไม่น่าจะถึง
200 บริษัท
"ตัวเลขที่แน่นอนนั้น ทางสมาคมกำลังรวบรวมอยู่ แต่เป็นเรื่องที่เช็กกันยากมาก
เพราะอาชีพทางด้านสถาปัตย์มันมีข้อจำกัด คือถ้างานก่อสร้างยังไม่เสร็จก็ปิดบริษัทไม่ได้
เพราะว่าต้องตามงานไม่อย่างนั้นแล้วจะผิดจรรยาบรรณ ถ้าเป็นการหยุดอย่างไม่เป็นทางการอาจจะเป็นไปได้
แต่ถ้าเป็นการปิดบริษัทเลย ทำไม่ได้ ก็เลยเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก แต่อาจจะสรุปได้ว่า
ณ ปัจจุบันนี้เหลืออยู่เพียง 100 บริษัทเศษๆ เท่านั้น"
นิติศักดิ์ ชอบดำรงธรรม กรรม การของสมาคมกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
ถึงปัญหาของการตรวจเช็กจำนวนบริษัทสถาปนิกที่เหลืออยู่
ทางด้านพิศิษฐ์ โรจนวานิช ผู้ที่ ยอดเยี่ยม เทพรานนท์ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม
ได้ยกย่องว่าเป็นมันสมองก้อนใหม่ที่สำคัญของวงการสถาปัตยกรรมเมืองไทย ได้ร่วมกับคณะทำงานของสมาคมฯ
วิเคราะห์ประเด็นหลักๆ ที่คาดว่า จะมีผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวิชาชีพสถาปนิกในทศวรรษต่อไป
ไว้อย่างน่าสนใจหลายประเด็นทีเดียว
ประเด็นแรกก็คือในเรื่องของการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันมานานมากจากเรื่องที่ไกลตัว
ในขณะที่เป็นหัวข้อในการเจรจาระหว่างประเทศสู่รูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น เช่น
จากการเจรจา GATT รอบต่างๆ พัฒนาสู่ข้อตกลงในรายละเอียดของ GATS (General
Agreement on Trade and Services) และการก่อตั้งองค์การค้าโลก (WTO) ในที่สุดจากเงื่อนไขตัวแปรเป็นเงื่อนไขตายตัว
ที่มีผลในการกำหนดอนาคตของวิชาชีพสถาปัตย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยต้องกู้เงินไอเอ็มเอฟ เงื่อนไขที่สำคัญคือประเทศไทยต้องเปิดเสรีในเรื่องการค้าต่างๆ
ช่วงที่น่าจับตามองก็คือในปี 2546-2548 ไทยต้องรับเงื่อนไขของ AFTA, APEC
และ WTO ตามลำดับ ซึ่งคาดกันว่ามันจะต้องมีผลกระทบต่อภาคบริการแน่นอน ข้อที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือในปีดังกล่าวจะอยู่ในช่วงที่วิชาชีพกำลังจะฟื้นตัวในระดับหนึ่ง
การประสบกับการเปิดเสรีเต็มรูปแบบในลักษณะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คงเป็นเรื่องท้าทายความแข็งแกร่งทางด้านวิชาชีพครั้งสำคัญ
การปรับโครงสร้างทางการเงินเป็นอีกประเด็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากจะเป็นกลไกในการบ่งชี้ในการปล่อยเงินกู้ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร
มีกติกาเป็นสากลระดับไหน ผลกระทบของการปรับโครงสร้างทางการเงิน การปล่อยสินเชื่อ
มีผลต่อการเปลี่ยน แปลงโครงสร้างของเจ้าของโครงการโดยตรง ประเภทของโครงการน่าจะได้รับผลต่อเนื่องด้วย
การตามแห่ทำโครงการสนามกอล์ฟ ศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม คงไม่กลับมาอีก
การเปลี่ยนแปลงประเภทอาคารของโครงการในอนาคต จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนขอบเขตและทักษะของการให้บริการวิชาชีพในที่สุด
กระทรวงการคลังและไอเอ็มเอฟ วางกรอบไว้ว่าการปรับโครงสร้างทางด้านการเงินที่สามารถสะท้อนเป็นรูปธรรม
ในแง่การออกระเบียบควบคุมสถาบันการเงินที่ได้มาตรฐานสากลจะต้องแล้วเสร็จภายในปี
2543 ดังนั้นปี 2543 จึงน่าจะเป็นปีที่ตั้งหลักครั้งใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจ
ถึงแม้ว่าในปีนี้ ปรส.จะขายทอดตลาดสินทรัพย์ และหนี้ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน
การเปลี่ยนมือของเจ้าหนี้ และสินทรัพย์คงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มาก
คงต้องรอปี 2543 มากกว่า
ดังนั้นในช่วงระยะเวลาจากปี 2541-2543 สถาปนิกจะทำอย่างไรให้ประคองตัวไปได้จึงเป็นเรื่องที่น่าคิด
ประเด็นที่ 3 กระแสพลิกผันของการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนตัวกระบวนทัศน์ทางความคิด
ความล้มเหลวทางการเงินของประเทศ ทำให้เกิดกระแสความคิดหลากหลาย เช่นกระแสชาตินิยมใหม่ที่พยายามปลดแอกไอเอ็มเอฟ
โดยการปิดประเทศและหยุดใช้หนี้ กระแสการแก้ปัญหาโดยหลักเศรษฐศาสตร์ กระแสหลักที่มีผู้วิจารณ์ว่าจะทำให้ประเทศตกไปอยู่ในวังวนของหายนะอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ก็มีกระแสธรรมรัฐที่มีความเป็นชาตินิยมเบาๆ ที่เป็นตัวแทนกระแสความประนี
ประนอม
วิชาชีพสถาปัตยกรรมนั้นได้รับการมองว่า เป็นผู้ใช้ผู้ลงทุนในกรอบของความคิดกระแสหลักโดยตลอด
ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะข้อจำกัดของวิชาชีพที่ต้องพึ่งพาพลังทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างธุรกิจ
และโอกาสในการแสดงผลงานทางการออกแบบ ต่อไปผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้คงต้องหาคุณค่าของตัวเองให้พบ
เพื่อวางตำแหน่งตนเองในกระแสการต่อสู้ทางความคิด ที่หลากหลายและแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา
เพื่อพิจารณาเงื่อนไขของการเพิ่มจำนวน สถาปนิกใหม่ในวิชาชีพอย่างฉับพลัน
สถาปนิกในแนวเดิมภายใต้กรอบความคิดที่เป็นกระแสหลัก อาจจะดำรงอยู่ได้จำนวนหนึ่ง
ที่เหลือคงต้องสร้างความหลากหลาย โดยประสานเข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในแนวทางเลือกใหม่ๆ
เพื่อกระจายความเสี่ยงของวิชาชีพ
ประเด็นที่ 4 การก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานในแง่การจราจรในต้นปี 2543
ระบบการจราจรจะได้รับการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นครั้งแรกที่ระบบขนส่งมวลชนจะได้มีบทบาทในการพัฒนาเมือง
และกระตุ้นให้มีการใช้ที่ดินในเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ที่น่าสังเกตก็คือในระยะกลาง
6 เดือนถึง 3 ปีอาจจะพบหนทางในการตอบสนองในอาคารเก่าที่สร้างไว้มากมายในปัจจุบัน
แต่ในระยะยาว 3 ปีขึ้นไปนั้น ศักยภาพของที่ดินที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้น่าลงทุนใหม่สำหรับนักลงทุนต่างชาติ
หรือผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบในวิกฤติการณ์การเงินครั้งนี้
ดังนั้นโครงการใหม่ที่มีขนาดใหญ่ซับซ้อนมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระบบรถไฟฟ้ามหานครแล้วเสร็จใน
8 ปีข้างหน้า
ประเด็นที่ 5 พ.ร.บ.และกฎหมาย อาคารที่จะประกาศใช้ในอนาคต ในเรื่องของกฎหมายนี้มีอยู่
2-3 ฉบับที่จะกระทบต่อวิชาชีพโดยตรง คือข้อบัญญัติ กทม. และกฎกระทรวงเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคารสำหรับอาคารที่เปิดใช้แล้ว
ซึ่งคาดว่าจะประกาศในปี 2542
กฎหมายอนุรักษ์พลังงานที่ประกาศใช้แล้วเมื่อปี 2539 หากมีข้อจำกัดในการตรวจสอบบังคับใช้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้จริงในปี
2543
การประกาศใช้กฎหมายข้างต้น น่าจะมีผลโดยตรงต่อการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยของอาคาร
และการปรับปรุงอาคารด้านการอนุรักษ์พลังงานในการปรับปรุงอาคารเก่า และการออกแบบก่อสร้างอาคารรุ่นใหม่ต่อไป
ที่น่าสนใจก็คือในระยะกลาง 6 เดือน-3 ปี น่าจะมีงานในการปรับปรุงอาคารเก่าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
สถาปนิกทั้งหลายต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรองรับโอกาสในเรื่องนี้
ประเด็นที่ 6 การสะสมของอาคารที่ก่อสร้างภายใต้ความต้องการเทียมในยุคฟองสบู่ในยุคฟองสบู่นั้น
ได้ทิ้งมรดกชิ้นสำคัญไว้มากมายคือ สต็อกเก่าของอาคารหลากหลายประเภท ซึ่งส่วนใหญ่อาคารเหล่านั้นโหมวางแผนและออกแบบและเร่งรีบก่อสร้าง
ภายใต้สถานการณ์ของการขาดแคลนบุคลากรทางด้านการก่อสร้าง ขาดแคลนวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ
ผลก็คือเมืองไทยในช่วงเวลานั้นจะเต็มไปด้วยอาคารที่พิการ ไร้คุณภาพในระดับที่แตกต่างกันไป
ปัญหาพื้นฐานของอาคารเหล่านั้นเกิดจากการมุ่งสร้างยอดขายสูงสุด มองข้ามความสำคัญและจำเป็นของ
architcture program กลุ่มผู้ใช้สอยอาคารไม่ชัดเจน ประกอบกับผู้ออกแบบขาดประสบการณ์ความชำนาญในอาคารประเภทต่างๆ
อาคารเหล่านั้นกำลังรอเวลาเพื่อการสะสาง และปรับปรุงเพื่อฟื้นฟูมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ต่อไป
เชื่อว่าในระยะยาวอาคารเก่าคงได้รับการแก้ไขปรับปรุงจนน้อยลงไป จนกระทั่งการก่อสร้างอาคารใหม่มีโอกาสเป็นไปได้อีกครั้ง
ประเด็นสุดท้ายเป็นเรื่องที่คาดว่าคนรุ่นใหม่หรือนักศึกษาหลายคนกำลังสนใจก็คือ
ในเรื่องของการเพิ่มของจำนวนสถาปนิกในวิชาชีพในช่วงที่กำลังเป็นปัญหาสถาปนิกล้นงาน
นับเป็นมรดกประการสำคัญที่เกิดขึ้นในวงการสถาปนิกเมืองไทย หลังเศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตกอีกข้อหนึ่งก็คือ
ในปี 2535 ทบวงมหาวิทยาลัยได้ระบุว่าสถาปนิกเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลน การวางแผนขยายกำลังการผลิตบุคลากรในอาชีพนี้ก็เลยเกิดขึ้น
ทั้งจากสถาบันการศึกษาสถาปัตย กรรมดั้งเดิมและการก่อตั้งสถาบันใหม่ๆ
ตัวเลขจากสมาคมสถาปนิกสยามยืนยันว่า ปัจจุบันมีนิสิตนักศึกษาที่จบทางด้านสถาปัตยกรรมประมาณ
600 คนต่อปี คาดว่าเมื่อทุกสถาบันผลิตได้พร้อมกันหมดใน 2-3 ปีข้างหน้า จะมีผู้จบการศึกษาใหม่ภายในประเทศ
700-800 คน บวกกับที่จบจากต่างประเทศอีก 100-200 คนต่อปี ก็เท่ากับเราจะมีผู้ที่จบทางด้านนี้ประมาณ
1,000 คนต่อปี
จากประเด็นดังกล่าวนั้นจะเห็นได้ว่า ภาพของการจ้างงานจะแปรเปลี่ยนไป เนื่องจากการขยายตัวทางการก่อสร้าง
หากจะเกิดขึ้นอีกก็คงไม่รวดเร็วและมากมายเท่าที่ผ่านมา
แน่นอนเงินเดือนขั้นต้นก็จะลดลง โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตของ กส.
การคัดเลือกพนักงานบริษัทก็จะมีความเข้มงวดมากขึ้น การจ้างงานก็จะมีแนวโน้มเป็นสัญญาระยะสั้น
ระยะกลางมากขึ้น
และถ้ามีสถาปนิกเกิดขึ้นมากๆ อย่างนี้ต่อไปโดยไม่มีการแก้ไข จะทำให้เกิดการใช้บุคลากรที่ไม่คุ้มค่า
"ต่อไปพนักงานเขียนแแบบในออฟฟิศสถาปนิกก็คงไม่ใช่เด็ก ปวช. ปวส.กันแล้ว
แต่จะมีพวกจบปริญญาตรีนี่แหละเข้าไปทำแทน" พิศิษฐ์กล่าว
ในวงการสถาปนิก ได้มีการพูดคุยมองลึกไปยังประเด็นของการปรับเปลี่ยนหลักสูตรทางด้านการศึกษาใหม่
เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในประเทศ ที่ไม่ได้ต้องการในเรื่องความสวยงามของตัวอาคารเพียงอย่างเดียว
เพราะจากสถิติที่ผ่านมาบัณฑิตที่จบการศึกษาออกมาจาก 100 คน 10 กว่า % เรียนมาทาง
Design โดยตรง ซึ่งมันก็เป็นตัวเลขที่ฟ้องว่า มันไม่ได้เข้ากับสถานการณ์ของตลาดอย่างที่ควรจะเป็น
ทางสมาคมสถาปนิกเองก็ได้มีการตั้งคำถามต่อเนื่องกันว่า พวกที่จบในสายเฉพาะที่ตลาดไม่ต้องการจะทำอย่างไรกันดี
ก็ได้ตกลงกันว่าคงเป็นเรื่องที่สมาคมที่ต้องวางแผนการศึกษาในระยะสั้น เพื่อให้ตรงกับสายอาชีพที่ด้านนี้ที่ต้องการ
อาจจะเป็นคอร์สสั้นๆ เช่นในเรื่องประหยัดพลังงาน หรือสายอนุรักษ์อาคาร
นิติศักดิ์ยังให้ตัวเลขที่น่าสนใจอีกว่าตัวเลขที่ผ่านมาสถาปนิกที่ได้งานไม่ถึง
40% จาก 7-8 ปีก่อนนี่คือภาพรวมส่วนสถาปนิกที่สอบได้ลายเส้นจาก กส. ตัวเลขล่าสุดประมาณ
10.5% จากผู้เข้าสอบประมาณ 600 กว่าคน คนที่เหลือไปไหน แสดงว่าคนกลุ่มนั้นไม่สามารถที่จะเข้าไปทำงานในหน่วยราชการได้
เพราะปกติแล้วหน่วยราชการจะต้องการผู้มีใบประกอบอาชีพได้ตามกฎหมาย
สำหรับช่องทางในการทำอาชีพนี้ในช่วง 6 เดือนถึง 3 ปีนั้นการให้บริการทางด้านวิชาชีพคงต้องพัฒนาภายใต้กรอบใหม่
โอกาสของงานในการบริหารอาคาร ความปลอดภัยของอาคาร การบริหารเพื่อการประหยัดพลังงานและการบูรณะปรับปรุงอาคารน่าจะมีแนวโน้มสูง
ส่วนโครงการออกแบบอาคารใหม่น่าจะกลับมาหลังจาก 3 ปีไปแล้ว โดยมีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่
ที่มีโครงสร้างซับซ้อนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ดินในเมืองขนาดใหญ่ โดยมีคุณภาพการพัฒนาที่สูงขึ้น
หลังจากระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการจราจรเริ่มคลี่คลายชัดเจนขึ้น
เอื้ออย่างมากสำหรับการลงทุนใหม่
ผลจากการสัมมนาของสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2541 ที่ผ่านมานั้นกับบรรดาสถาปนิกจำนวนหนึ่งได้สรุป
11 ยุทธวิธีในการอยู่รอดไว้ (อ่านในล้อมกรอบ)
ประมวลจากสถานการณ์ของวิชาชีพทั้งหมดนั้น ทำให้มองเห็นภาพในอนาคตของอาชีพสถาปนิกได้ส่วนหนึ่ง
แน่นอนว่าการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น การเปิดเสรีทางการค้า โดยแก้ไขยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เช่น ปว.281 จะเป็นการเปิดโอกาสครั้งสำคัญ ในการเข้ามาประกอบธุรกิจภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญหลายอย่าง
เช่นธุรกิจทางด้านการเงินธนาคาร อุตสาหกรรมรถยนต์ จะมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของเป็นผู้ลงทุนต่างชาติ
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของการทำงาน เช่น ที่มาของงานกลุ่มลูกค้าและการติดต่อสื่อสาร
ในขณะเดียวกันสำนักงานของสถาปนิกในอนาคตจะมีแนวโน้มที่เล็กลง และมีการจัดความสามารถในการปรับตัวเข้ากับตลาดเฉพาะของแต่ละสำนักงานมากขึ้น
การปรับลดขนาดขององค์กรต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวัฒนธรรมของอาชีพมาก่อน
ผลที่เกิดขึ้นในระยะยาวไม่สามารถคาดการณ์ได้ ไม่ว่าในด้านขวัญกำลังใจแรงยึดเหนี่ยวในองค์กร
ตลอดจนศรัทธาและความร่วมมือในวิชาชีพและสถาบันวิชาชีพ
พิศิษฐ์ ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า
"สำหรับผู้ที่เชื่อว่าวิกฤติครั้งนี้ผ่านมาและกำลังจะผ่านไป มีคำกล่าวที่น่าฟังอยู่ว่า
กลุ่มที่กำลังมีปัญหามาก คือพวกที่จมปลักในอดีต และคิดว่าอดีตจะกลับคืนมา
ซึ่งความจริงโอกาสที่อดีตจะกลับคืนมามีน้อย กรอบของความคิดของหลายคนยังเชื่อว่าสิ่งเก่าๆ
จะกลับคืนมา"