"กิมเอ็ง" ปรับโครงสร้างดัน 4 ผู้บริหารขึ้นดูแลธุรกิจค้าหุ้น-สถาบันต่างประเทศ-วาณิชธนกิจและงานวิจัยเพื่อหวังเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากสุด รุกให้บริการยืมหลักทรัพย์ภายในปลายปีนี้ ขณะที่ด้านเป็นที่ปรึกษาทางการเงินนำหุ้นเข้าตลาดฯครึ่งปีหลังมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คณะกรรมการมีมติแต่งตั้งผู้บริหารใน 4 สายงานหลักประกอบด้วยนางบุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์ จากตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการดูแลสายงาน ด้านหลักทรัพย์ มีประสบการณ์กว่า 12 ปี และได้ร่วมงานกับบริษัทมานานถึง 8 ปี, นายสิทธิชัย มหาคุณ จากผู้อำนวยการอาวุโสขึ้นเป็น ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวาณิชธนกิจ ซึ่งถือ เป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ถึง 11 ปี
นายวิคัส จันดราคาวัททรา จากผู้อำนวยการอาวุโสขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานหลักทรัพย์สถาบันต่างประเทศและดูแลสายงานหลักทรัพย์สำหรับสถาบันต่างประเทศและได้แต่งตั้งนายจอร์จ ฮิบส์จากผู้อำนวยการอาวุโสมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างบริหารดังกล่าวเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมที่จะมุ่งเน้นในธุรกิจด้านต่างๆ ภายในครึ่งปีหลังและเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะรับกับการแข่งขันในธุรกิจได้อย่างเต็มที่ และเพื่อที่จะได้เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด
บล.กิมเอ็งยังพร้อมที่จะทำธุรกิจใหม่ๆเช่นธุรกิจการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมที่จะยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปีนี้ ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่จะให้ยืมหุ้นนั้นจะมี 2ประเภทคือนักลงทุนหรือสถาบัน และนักลงทุนที่ให้ยืมระยะสั้น และบริษัทยังสนใจที่จะบริการตราสาร ใหม่ๆ เช่นหุ้นกู้แปลงสภาพและตราสารอนุพันธ์ต่างๆ
นายมนตรีกล่าวว่า บริษัทกำลังพิจารณาว่าจะขอจัดตั้งบลจ.ใหม่หรือจะเป็นลักษณะการเข้าไปร่วมถือหุ้นในบลจ.เดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันในลักษณะการเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นพันธมิตรทางธุรกิจซึ่งจะต้อง พิจารณาถึงผลดีผลเสียว่าเป็นอย่างไร ส่วนการควบรวมบล.กิมเอ็งกับบริษัทหลักทรัพย์แห่งอื่นๆ นั้นพร้อมที่จะหารืออย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีบริษัทหลักทรัพย์รายใดเข้ามาติดต่อในเรื่องดังกล่าว
นางบุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์ กรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดเผยว่าบริษัทตั้งเป้า ส่วนแบ่งการตลาดในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 12% โดยจะเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 10.10% หรือเพิ่มขึ้น18% โดยในปีนี้จะเปิดสาขาใหม่ 3 แห่งซึ่งได้เปิดไปแล้ว 2แห่งคือสาขายะลา และทาวน์ อินทาวน์และจะเปิดอีกแห่งภายในปลายปีนี้ที่กรุงเทพฯ โดยปัจจุบันบริษัทมีสาขาทั้งหมด 34 แห่ง
"มีเป้าหมายจะขยายฐานลูกค้าเพิ่มเน้นชาวต่างประเทศที่สนใจการลงทุนมากขึ้นโดยสัดส่วนลูกค้าของบริษัทจะเป็นนักลงทุนรายย่อย 85-90% และเป็นลูกค้าสถาบัน 10-15% ซึ่งบริษัทจะขยายฐาน ลูกค้าสถาบันมากขึ้น โดยให้บริการผ่านทางฝ่ายบริการลูกค้าที่เป็นสมาชิกของชมรมบริการด้วยคุณภาพซึ่งมีเจ้าหน้าที่อยู่ 8คนที่จะช่วยดูแลและบริการลูกค้ารายย่อยใหม่ๆ ที่เริ่มลงทุนในหลักทรัพย์ ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าประมาณ 50,000 กว่ารายเป็นลูกค้าที่มีการซื้อขายสม่ำเสมอประมาณ 30,000 กว่าราย"
ส่วนด้านเจ้าหน้าที่การตลาดได้เพิ่มขึ้นจาก 450 คนเป็น600 คนซึ่งเพิ่มขึ้น 150 คนหรือ 33% ซึ่ง เจ้าหน้าที่มาร์เกตติ้งที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นเจ้าหน้าที่มาร์เกตติ้งใหม่ทั้งหมด
สำหรับการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านอินเทอร์เน็ตโดยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างได้ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดด้านอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 1.1% เมื่อเทียบกับของตลาดโดยรวม โดยส่วนแบ่งการตลาด ณ สิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 0.8% คิดเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้น 33.11% บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตให้เป็น 2% โดยเน้นความสะดวกรวดเร็วและงานวิจัยมีคุณภาพ ผลิตบทวิจัยครอบคลุมบริษัทจดทะเบียนกว่า 140 บริษัท
นายสิทธิไชย มหาคุณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวาณิชธนกิจกล่าวว่า ภายในครึ่งปีหลัง บริษัทมีแผนที่จะนำบริษัทต่างๆ เข้ามาระดมทุนทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ใหม่(MAI) คาดว่าจะมีมูลค่าระดมทุนรวมกว่า 10,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้ยื่นแบบรายการแสดงข้อมูล(ไฟลิ่ง)ไปแล้วประมาณ 8 บริษัทแบ่งเป็นบริษัทที่เสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯ (IPO) 5 บริษัทคือบริษัทซีเอ็ม ออร์กา ไนเซอร์,บริษัทไทยฮา,บริษัทดีคอนโปรดักส์,บริษัทเอ็น แอลดีเวลลอปเมนต์และบริษัทล็อกซบิท
ส่วนอีก 3 บริษัทซึ่งบริษัทเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (PO) จำนวน 1 บริษัทประกอบด้วย บริษัทอิตาเลี่ยนไทยดีเวลล๊อปเมนต์และการเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพต่อประชาชน (PO) จำนวน 2 บริษัทคือบริษัทวนชัย กรุ๊ป และบริษัทลลิล พร็อพเพอร์ตี้และยังเป็นผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วมของบริษัทชินแซทเทลไลท์นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อการยื่นไฟลิ่งอีกจำนวนมากกว่า10 บริษัทโดยครอบคลุมธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครื่องดื่ม สาธารณูปโภคธุรกิจ อาหาร โรงพยาบาล คาดว่าจะทยอยเสนอขายได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ถึงไตรมาส 1 ของปี 2548
|