Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2541
โอ๊ะ! เหลือเชื่อ เปิดท้าย 4 เดือน เงินสะพัดกว่า 200ลบ.             
 





กิจกรรมเปิดท้ายขายของที่มีมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2540 หลายคนคิดว่ากิจกรรมนี้จะหายไปภายใน 3 เดือน แต่ผิดคาด เพราะยิ่งขายยิ่งสะพัด ถึงทุกวันนี้คิดกันเล่นๆ มีเงินหมุนเวียนจากการเปิดท้ายรถขายของถูกถึงกว่า 200 ล้านบาท ซ้ำร้ายหากเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น กิจกรรมนี้ก็จะยังคงมีต่อเนื่อง อย่างน้อยกว่าตลาดจะวายก็คงถึงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ตามภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้การเปิดท้ายที่เป็นกระบวนการแก้จนให้กับคนตกงานหรือถูกลดเงินเดือน ยังก่อให้เกิดอาชีพเหมาเช่าที่ดินจัดงานขึ้นอีกด้วย

เรื่องโดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย

แต่เดิมของเก่าของเหลือที่คนมักจะคิดว่าจะเอาไปเก็บไว้ที่ไหนดี มาวันนี้กลับกลายเป็นของมีค่าที่ทุกคนมาเปลี่ยนสภาพเป็นเงินสดกัน โดยเฉพาะนับแต่ช่วง 4 เดือนก่อนหน้านี้ คือตั้งแต่เดือนธันวาคม 2540 เป็นต้นมา ซึ่งมีหลายที่จัดกิจกรรมเปิดท้ายรถขายของหรือ คาร์บูธเซล ขึ้นมากมายหลายแห่ง นับรวมถึงวันนี้มีเงินหมุนเวียน จากคาร์บูธเซลกว่า 267 ล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ "ผู้จัดการรายเดือน" คำนวณจากจำนวนรถที่ทำการเปิดท้ายขายของ ที่สำรวจพบประมาณ 1,674 คัน ที่ร่วมในงานคาร์บูธเซลที่รวบรวมมาจำนวน 32 แห่ง จากจำนวนที่มีอยู่จริงซึ่งประเมินกันว่าจะมีมากกว่า 50 แห่ง เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คูณกับยอดขายเฉลี่ยต่อครั้งคือ 2-3 วัน ตามช่วงเวลาจัดงานของแต่ละแห่ง ซึ่งโดยเฉลี่ยคือ 10,000 บาท คูณกับจำนวน 16 สัปดาห์ที่เริ่มมีกิจกรรมคาร์บูธเซล

แนวคิดการจัดคาร์บูธเซล มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนที่ขาดสภาพคล่องในวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งหลายคนมองว่าจะวูบหายไปอย่างรวดเร็ว การณ์กลับกันว่าแนวโน้มของตลาดเปิดท้ายรถยังจะมีต่อไปไม่หยุด ซึ่งแต่ละแห่งก็มีที่มาของตลาด จุดเด่นและแนวโน้มที่ต่างกันออกไป


เอสซีบี:ขายดีแบบนี้ต้องจับฉลาก

โชคชัย ประทีปอุษานนท์ เจ้าของร้านเลฬีฬา ซึ่งเป็นผู้จัดงานเอสซีบี คาร์บูธเซล กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า ตนได้เป็นผู้ริเริ่มที่จะจัดคาร์บูธเซลขึ้น บริเวณด้านหน้าของอาคารไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่า (เอสซีบี) โดยใช้คอนเซ็ปต์การจัดงานจากต่างประเทศจริงๆ คือ หนึ่ง - ของที่มาขายต้องเป็นของเก่า สอง - บริเวณที่จัดงานจะต้องเห็นได้ชัด ไม่ซ่อนอยู่มุมใดมุมหนึ่งของอาคารหรือลานจอดรถ และประการที่สาม - สำหรับการจัดงานนี้ก็คือ การช่วยคนไทยต่อสู้กับไอเอ็มเอฟ ในภาวะที่รายได้ของคนส่วนใหญ่ไม่คล่องตัว การเข้าร่วมคาร์บูธเซลจะช่วยคนให้คนเหล่านั้น มีทางออกชั่วคราวสำหรับภาวะเศรษฐกิจที่ขาดสภาพคล่อง

"รายได้ในส่วนที่เราจัดนี้สะพัดเป็นล้านบาทต่ออาทิตย์ เพราะร้านๆ หนึ่งมียอดขายต่ออาทิตย์ต่ำสุดเฉลี่ย 1 หมื่นบาท รถที่มาขายจำนวน 110 คัน เฉลี่ยรวมประมาณ 1.1 ล้านบาท ไม่นับรวมคนที่ได้ 3-4 หมื่นบาทต่ออาทิตย์ เพราะทั่วไปจะขายได้ 1-3 หมื่นบาท ถ้าเป็นดาราอาจจะถึง 5 หมื่นบาท รายได้ช่วงกลางเดือนกับต้นเดือนก็ต่างกันเล็กน้อย แต่ทุกคนมีความสุขที่ขายได้"

ทั้งนี้โชคชัยเชื่อว่า รายได้จากการเปิดท้ายขายของนี้ สามารถช่วยผู้ประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพนักงานไฟแนนซ์ซึ่งตกงาน หรือกลุ่มคนที่ถูกลดเงินเดือน เพราะภายในอาทิตย์ บางคนสามารถหารายได้ชดเชยจากการขายของได้เท่ากับเงินเดือนทั้งเดือน

"ตลาดนี้เปิดโอกาสให้คนนำของเก่า ของที่ไม่ใช้มาเปลี่ยนเป็นเงินสด โดยไม่สูญเปล่า เช่น เสื้อผ้าแพงๆ โรงรับจำนำก็ไม่ตีราคาให้ เอามาขาย หมุนเวียนไป ได้ราคาที่พอใจ ก็ได้เงินสดมาใช้ พนักงานที่ตกงานช่วงรุ่งเรือง อาจจะเคยไปต่างประเทศ ซื้อโน่นซื้อนี่มา ไม่ได้ใช้ จะขายก็ไม่รู้จะขายอย่างไร ตลาดนี้จะเป็นตัวรองรับได้ดี" โชคชัยกล่าว

การจัดงานครั้งนี้โชคชัยเป็นฝ่ายเริ่มเสนอแนวคิดกับผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อโปรโมตพลาซ่า ซึ่งจะเงียบมากในวันเสาร์และอาทิตย์

"เราอยู่ในนี้เสาร์และอาทิตย์จะเงียบมาก เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าที่นี่เปิดเฉพาะวันทำงาน เราเห็นว่าพื้นที่ด้านหน้ายาวติดถนน เหมาะที่จะจัดเปิดท้ายรถก็เลยไปเสนอทางแบงก์ ทางแบงก์ก็โอเค แต่ตอนแรกจะให้จัดเป็นเลฬีฬาคาร์บูธเซล แต่เราอยากโปรโมตศูนย์ก็เลยใช้ชื่อเอสซีบีคาร์บูธเซล"

โชคชัยเชื่อว่าพื้นที่ของเอสซีบีใช้ได้ดีสำหรับคาร์บูธเซล เพราะเป็นพื้นที่ตรงติดถนน คนผ่านไปผ่านมาสามารถเห็นได้หมด แล้วคิดด้วยคนที่มาเดินจะถูกคัดโดยธรรมชาติว่า จะมีเกรดดี มีรถยนต์ขับ เพราะบริเวณด้านหน้าไม่มีป้ายรถเมล์ คนที่มาก็จะตั้งใจมาเดินซื้อ เพราะมีที่ให้จอดรถได้สะดวก

แต่ความคิดของโชคชัยในตอนแรก ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของร้านค้าภายในศูนย์ เพราะไม่แน่ใจว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ดังนั้นหลังจากโชคชัยเสนอแนวคิดให้กับกลุ่มร้านค้าด้วยกัน จึงมีร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพียง 8-9 ร้านเท่านั้น

รวมถึงกลุ่มผู้ขายด้วยที่คิดว่า ถ้าจัดขายของวันศุกร์ก็อาจจะมีคนมาเดิน แต่วันเสาร์และอาทิตย์จะไม่มีคนเดิน เพราะที่นี่มีแต่คนทำงาน บางคนก็ไม่มั่นใจว่าตลาดนี้จะเริ่มซาแล้วหรือยัง ทำให้ผู้ขายในอาทิตย์แรกจึงเป็นกลุ่มที่โชคชัย ต้องโทรศัพท์ไปเชิญมาขาย

"ครั้งแรกเราต้องเชิญคนมาขาย มีปัญหามากเพราะคนไม่มีความมั่นใจว่าจะไปได้ดี ได้มาทั้งหมด 80 คน จากจำนวนรถที่สามารถมาจอดได้ 110 คัน ร้านค้าได้โควตาคนละ 1 คัน"

การณ์กลับเป็นว่าเอสซีบีคาร์บูธเซล ประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ละร้านที่มาขายมียอดขายเฉลี่ยเป็นหลายหมื่นบาทต่ออาทิตย์ แล้วคนก็มาเดินกันคับคั่ง ทำให้ร้านค้าจำนวนมากอยากจะมีโควตารถที่มาขายมากขึ้น แต่ก็หมดสิทธิ์ ผู้บริหารแบงก์ซึ่งเดิมได้โควตาไป 20 คันก็จะขอเพิ่ม โดยอ้างว่ามีพนักงานกว่า 3,000 คน รวมทั้งผู้ขายทั่วไปที่อยากได้สิทธิ์ขายของ โชคชัยบอกว่าด้วยความเป็นคนซื่อตรงของเขา ทำให้ไม่สามารถให้โควตาเพิ่มกับใครได้ทั้งนั้น ส่วนผู้ต้องการขายก็ต้องมาจองพื้นที่แล้วจับฉลาก

"เราแบ่งโควตากันครบแล้ว ร้านค้าคนละ 1 คัน แบงก์ 20 คัน รวมแล้วมีโควตาที่เราต้องเก็บไว้ ไม่ได้เปิดจองจำนวน 50 คัน ซึ่งในส่วนนี้เราต้องการให้คนใหม่ๆ เข้ามาขายจึงใช้วิธีจับฉลากเดือนละครั้ง ในหนึ่งเดือนแต่ละอาทิตย์ จะไม่มีคนขายคนเดิม เว้นแต่จับฉลากได้" เพราะเกณฑ์คนมาช่วยจอง

ทั้งนี้ โชคชัยกล่าวว่า การที่เขาใช้วิธีจับฉลากในการคัดคน เพราะเชื่อว่าการที่มีคนใหม่ๆ มาขาย เช่น คนจาก 58 ไฟแนนซ์ หรือกลุ่มเจ้าของโรงงานที่ปิดตัว เพื่อที่สินค้าก็จะไม่เปลี่ยนไปยังคงเป็นของมือสอง ที่ราคาถูก ซึ่งเชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะหมุนเวียนกันนำของดีๆ ที่เก็บไว้มาขาย ตลาดก็จะประสบความสำเร็จไปได้เรื่อย ถ้าปล่อยให้ใครจองก่อนได้ก่อน ก็จะกันมืออาชีพไม่ได้ ตลาดก็จะไม่น่าสนใจแล้วก็จะหมดความน่าสนใจเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ตลาดคาร์บูธเซลบางแห่งหมดความนิยมเร็ว

สำหรับการแบ่งรายได้ของเอสซีบีคาร์บูธเซล เจ้าของพื้นที่คิดค่าเช่าจากส่วนแบ่งค่าเช่าที่คันละ 200 บาทต่อการจัดงานสามวัน คือศุกร์เสาร์และอาทิตย์ จากค่าเช่าวันละ 220 บาท ส่วนที่เหลือคือ 460 เป็นของผู้จัด ซึ่งจะคืนคูปองให้กับผู้ขายคนละ 200 บาท สำหรับนำไปซื้อของหรือรับประทานอาหารภายในศูนย์การค้า จำนวนรถที่นอกเหนือโควตาที่ต้องจ่ายค่าเช่า จำนวน 60 คันต่ออาทิตย์ ทำให้โชคชัยมีรายได้เสริมจากการจัดงานที่นี่อาทิตย์ละ 15,600 บาท จากรายได้หลักจากร้านเลฬีฬาซึ่งมีอยู่ถึงสามสาขาแล้ว

จากความสำเร็จในการจัดงานที่เอสซีบี ทำให้โชคชัยได้รับการทาบทามจากเจ้าของพื้นที่ที่ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต และอิตัลไทย บริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่ให้ไปจัดงานคาร์บูธเซลให้

ในตอนแรกโชคชัยยังไม่ตกลงที่จะจัดงาน แต่เหตุการณ์การจับฉลากเพื่อได้สิทธิ์ขายที่เอสซีบีในวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เข้าจองกว่า 1,000 ราย แล้วต้องผิดหวังที่ไม่ได้พื้นที่ขาย ได้ยุให้โชคชัยจัดที่ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต โดยทุกคนเชื่อในตัวผู้จัด

ส่วนที่อิตัลไทย ซึ่งติดต่อให้โชคชัยไปจัดคาร์บูธเซล เพราะต้องการโปรโมตศูนย์ในฐานะเพื่อนกัน โชคชัยจึงรับจัดงาน การจัดครั้งแรกซึ่งจะมีขึ้นทุกวันพฤหัส ศุกร์และเสาร์ โชคชัยจึงเลือกใช้วิธีโทรศัพท์ไปเชิญคนที่เขาเลือกแล้วว่า มีสินค้ามือสองที่ดูดีไปขาย เพราะต้องการให้การเปิดตลาดครั้งแรกถูกใจผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดี โชคชัยคิดว่า คาร์บูธเซลสำหรับเขาจะไม่พัฒนาเป็นตลาดถาวร แต่จะเน้นเป็นตลาดหมุนเวียนเช่นนี้ ให้เป็นกิจกรรมหนึ่งของครอบครัวที่พ่อแม่สามารถพาลูกๆ มาช่วยขาย มาเดินเที่ยว ไม่อยากให้เป็นเหมือนตลาดนัดทั่วไป

สำหรับที่เอสซีบี มีกำหนดเช่าที่จากผู้บริหารเอสซีบีเพียง 4 เดือน คือตั้งแต่เดือนมกราคม 2541 เป็นต้นมา ซึ่งโชคชัยกล่าวว่า จะหยุดจัดในช่วงฤดูฝน หลังจากนั้นก็จะกลับมาจัดใหม่ โดยเชื่อว่าทางผู้บริหารแบงก์ยังคงให้ใช้พื้นที่ต่อไปเช่นเดิม ในฐานะที่ตนเป็นคนเสนอความคิด โดยไม่นำพื้นที่กลับไปจัดเอง ซึ่งการจัดครั้งใหม่อาจจะจัดให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น จัดเป็นการกุศล ให้เฉพาะดารามาขายแล้วหักรายได้ครึ่งหนึ่งให้การกุศล หรือไม่ก็จัดเป็นขายภาพวาด เป็นงานศิลปะทั้งหมด

โชคชัย ถือเป็นผู้จัดงานคาร์บูธเซลคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ และได้รับความร่วมมือด้วยดีจากเจ้าของพื้นที่ ในขณะที่ผู้จัดคาร์บูธเซลซึ่งมีเกิดขึ้นใหม่อีกหลายรายในช่วงนี้ เนื่องจากมองเห็นลู่ทางการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่ง คือการเช่าพื้นที่เพื่อจัดงาน เพียงมีคนมาเช่าพื้นที่ก็จะมีรายได้โดยไม่ต้องขายสินค้า ซึ่งบางคนกำลังประสบปัญหากับเจ้าของพื้นที่ ที่ดึงพื้นที่กลับไปบริหารเอง หลังจากเห็นแนวทางการหารายได้เพิ่มให้กับสถานที่ของตน


ฟอร์จูนทาวเวอร์
เรื่องรายได้ไม่เข้าใครออกใคร

เช่นเดียวกับกรณีของสองแม่ลูกคือคุณแดงและคุณอ้อม (ลูกสาว) สองคนแม่ลูก ซึ่งเป็นผู้เริ่มจัดคาร์บูธเซลที่อาคารฟอร์จูน สี่แยก อ.ส.ม.ท. บนถนนรัชดาภิเษก ก็ต้องเลิก ไปหาพื้นที่อื่นเพื่อจัดงาน ขณะนี้ทั้งคู่อยู่ระหว่างการหาเช่าพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นแถวถนนรัชดาภิเษก เพื่อจัดงานคาร์บูธเซล

ก่อนหน้านี้ ทั้งคู่จัดที่เฟรชแลนด์หรือ ป.กุ้งเผา บนถนนรัชดาฯ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในด้านผู้ซื้อ คือทั้งสองสามารถขายพื้นที่ได้ แต่ไม่มีผู้ซื้อเท่าไรนัก ทำให้เลิกจัดที่ ป.กุ้งเผาไป ขณะเดียวกันนั้นก็จัดที่ฟอร์จูน ไปพร้อมๆ กันด้วย ทั้งคู่เริ่มจัดคาร์บูธเซลที่ฟอร์จูนมาตั้งแต่ปลายปี 2540 โดยจัดอาทิตย์ละ 2 วัน คือวันศุกร์และวันเสาร์ วันละ 200 บาท โดยจัดประมาณ 65 คัน เพราะเป็นช่วงที่มีเทศกาลเบียร์ ในขณะที่ทางซีพีพลาซ่าเจ้าของพื้นที่ ต้องการให้จัดมากกว่านี้ จนในที่สุดเมื่อหมดเทศกาลเบียร์ ซีพีพลาซ่าจึงเข้ามาจัดในบางส่วนที่เพิ่มขึ้น ก่อนที่สองแม่ลูกจะหมดสัญญาไปเมื่อต้นเดือนเมษายน 2541

"เดิมเราจัดเฉพาะวันเสาร์วันเดียว มาตอนหลังเพิ่มวันศุกร์อีก 1 วัน ซึ่งเจ้าของพื้นที่ก็จัดอยู่ด้วย ทำให้เป็นการจัดร่วมกันมา ตอนหลังก็มาเหลือแค่ 65 คันเฉพาะวันเสาร์ วันศุกร์ เป็นของซีพีพลาซ่าทั้งหมด ซึ่งทำเพิ่มขึ้นเป็น 104 คัน และเพิ่มราคาเป็น 250 บาทต่อวัน" คุณแดงกล่าวถึงการจัดงานก่อนที่ตนจะหมดสัญญา

โดยเจ้าหน้าที่ของซีพีพลาซ่า กล่าวกับผู้มาจองพื้นที่ว่า ต่อไปจะเหลือผู้จัดเพียงเจ้าเดียว โดยสองแม่ลูกจะไม่ได้มีส่วนในการจัดงานอีก เรื่องรายได้ไม่เข้าใครออกใคร ในขณะเดียวกันซีพีพลาซ่า ก็ต้องบริหารศูนย์การค้าไปด้วยในตัว ซึ่งดูเหมือนว่าค่าเช่าพื้นที่ในศูนย์จะถูกกว่าพื้นที่เปิดท้ายรถเสียอีก

ถนนรัชดาฯ ยังมีอีกหลายเจ้าที่จัดเปิดท้ายรถขายของ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็น ซันนี่ ร้านนายแกละ ซึ่งคนที่มา ไม่ได้มาซื้อของ แต่มารับประทานอาหาร แดนซ์ ฟีเวอร์ และตะวันแดง (แคปปิตอลเก่า) ก็มีจัดกิจกรรมนี้ แต่ก็ไม่มีคนเดิน เพราะกลุ่มคนที่มาคือมาเที่ยว มาฟังเพลง ไม่ได้ตั้งใจมาซื้อของ รวมทั้งคนเที่ยวกลางคืนปัจจุบันก็มีน้อยลงเช่นกัน


เสรีเซ็นเตอร์
ใช้ดาราดึงความสนใจ

ที่เสรีเซ็นเตอร์ ก็มีการเปิดท้ายรถขายของที่คึกคักไม่แพ้หลายๆ ที่ที่ประสบความสำเร็จ โดยจัดบริเวณพื้นที่ด้านหน้าศูนย์การค้าสำหรับจอดรถเพียง 70 คัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2540 มีจุดเด่นของงานอยู่ที่การเว้นที่ไว้ 10 คันสำหรับผู้ขายกิตติมศักดิ์ อาทิ กลุ่มดารา ผู้มีชื่อเสียง ที่มาช่วยเติมสีสันให้กับกิจกรรม

ส่วนผู้สนใจทั่วไปจะจัดให้จองเดือนละครั้ง โดยจะมีงานทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือน แต่ตอนนี้ยอดจองพื้นที่เต็มถึงเดือนพฤษภาคมแล้ว เพราะจุดเด่นที่เสรีเซ็นเตอร์เอาดารามาใช้ดึงลูกค้า โดยเปิดขายตั้งแต่ช่วง 15.00-21.00 น. รายได้จากการขายพื้นที่ทั้งหมดมอบให้กับมูลนิธิยุวพัฒน์ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือเด็กยากจน

เรียกได้ว่า งานนี้เสรีฯ จัดงานได้ประโยชน์ถึงสามชั้น หนึ่ง - สามารถดึงคนมาเดินที่ศูนย์การค้าจากการจัดงาน สอง - ช่วยเหลือคนที่รายได้ลดลงหรือหายไปในช่วงนี้ให้มีที่หารายได้เสริม สาม - ได้กุศลจากการทำบุญ

ในขณะที่ซีคอนสแควร์ก็ได้ใช้พื้นที่ของลานจอดรถด้านหลัง ซึ่งมีเนื้อที่ถึง 4,500 ตารางเมตร มาจัดงานเปิดท้ายขายของ โดยจอดรถได้กว่า 200 คัน ในอัตราค่าเช่าวันละ 200 บาทต่อคัน ทำให้ซีคอนมีรายได้เข้าศูนย์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นอีก วันละ 40,000 บาท ในวันที่มีการเปิดท้ายขายของ

ยอดจองพื้นที่เปิดท้ายรถของซีคอนเต็มไปถึงเดือนเมษายน 2541 และต่อจากนี้จะเปิดให้จองเดือนต่อเดือน โดยจะเปิดให้มีขายเดือนละครั้งในทุกวันเสาร์ต้นเดือน


สยามเซ็นเตอร์
เน้นสนุกจะขายดี

สยามเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอีกหลายๆ เจ้าที่จัดงานคาร์บูธเซลในสไตล์ไทยๆ คือนึกจะจัดที่ใดก็ได้โดยไม่ต้องมีคอนเซ็ปต์แบบเมืองนอก จึงเลือกใช้บริเวณลานจอดรถชั้น 6 เอ เป็นที่จัดงาน สำหรับรถที่จะมาเปิดท้ายขายจำนวน 60 คัน ทุกวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับด้วยดีจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของศูนย์การค้าด้วยเช่นกัน

ผู้จัดงานการาจเซลที่สยาม ให้คำแนะนำสำหรับคนที่มาขายว่า แม้ผู้ขายส่วนใหญ่จะมาขายเพื่อแก้ขัดในยามที่รายได้ฝืดเคือง แต่ก็ควรขายแบบเน้นเป็นงานอดิเรกไม่ใช่มุ่งมั่นทำเป็นอาชีพ คือ ให้ทำกันแบบสนุกๆ เพราะเท่าที่สังเกต ถ้าคนขายเป็นกลุ่มที่สนุกสนานจะทำให้ขายได้ดีเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ดีแม้กิจกรรมคาร์บูธเซลของสยามเซ็นเตอร์จะไปได้ดี แต่ก็ประกาศที่จะหยุดพักในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้จัดงานให้เหตุผลว่าตรงกับเทศกาลสงกรานต์ และมีวันหยุดมากกว่าเดือนอื่นๆ ทำให้กลัวจะไม่มีคนมาเดิน จึงของดหนึ่งเดือน ก่อนจะเปิดจองพื้นที่ตามปกติอีกครั้งในเดือนถัดไป

เท่าที่ผ่านมา มีเพียงสยามเซ็นเตอร์เจ้าเดียวเท่านั้นที่หยุดจัดงานในช่วงเมษายน ในขณะที่เจ้าอื่นๆ อย่างฟอร์จูน ทาวเวอร์ ก็ยังจัดตามปกติ ด้วยความคิดต่างกันไปว่า คนกรุงเทพฯ อาจจะไม่ออกไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่จะตระเวนเที่ยวในกรุงแทน


เจ้าเก่าดั้งเดิม
ถึงเวลาต้องปรับตัวก่อนตลาดวาย

ถ้าพูดถึงผู้เริ่มต้นของคาร์บูธเซลในเมืองไทย คงต้องยกให้กลุ่มพรีเมียร์ และเอกมัย คาร์บูธเซล ซึ่งเป็นเจ้าแรกๆ ในกิจกรรมนี้ ซึ่งหลายฝ่ายยอมรับในความสำเร็จของการจัดงาน แต่ถึงทุกวันนี้ รูปแบบของตลาดเริ่มจะเปลี่ยนไป

เหตุผลหนึ่งเนื่องจากการเป็นตลาดที่จูงใจมืออาชีพ ทำให้การเปิดท้ายรถในยุคหลังๆ มีสินค้าใหม่เข้ามาปน เป็นผลให้ความน่าสนใจของตลาดลดลง

เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเอกมัย คาร์บูธเซล ซึ่งจากเดิมตลาดจะเริ่มมีคนมาเดินเมื่อประมาณบ่ายสี่โมง หลังจากที่ผู้ขายมาตั้งร้านเพียงสองถึงสามชั่วโมง แต่ผู้จัดก็ปล่อยให้ผู้ขายเข้ามาจองพื้นที่และตั้งร้านกันตั้งแต่สิบโมงเช้า โดยตั้งใจขายพื้นที่ให้หมดไปเป็นอันดับแรก โดยไม่คำนึงถึงสภาพตลาดที่แท้จริง

มีผู้จัดในวงการให้ความเห็นว่า ที่ความนิยมของตลาดกลุ่มนี้ลดลงรวดเร็ว เพราะไม่ค่อยพิถีพิถันในการคัดคนส่วนใหญ่ ใครจองก่อนก็ได้ไป โดยไม่มีการตรวจสอบรายการสินค้าที่จะนำมาขาย

ถ้าผู้จัดไม่พยายามคุมคอนเซ็ปต์ของงานและสินค้าที่มาขายให้ชัดเจน แนวโน้มของตลาดก็จะไปเร็วเช่นบางกลุ่มที่เลิกจัดกิจกรรมนี้ไปแล้วคือ เดอะมอลล์ ทั้งที่สาขาบางกะปิและบางแค เพราะคอนเซ็ปต์ของห้างไม่ได้เน้นที่กิจกรรมดังกล่าว


ผู้จัดงานคาร์บูธเซล
อาชีพเสริมยุคขายของเก่า

นอกจากโชคชัย คุณแดงและคุณอ้อม ตัวแทนสมาคมอย่างกรรณิการ์ อมตะวาณิชย์ ซึ่งถือเป็นผู้จัดงานคาร์บูธเซลอาชีพในช่วงนี้แล้ว ผู้จัดในรูปของบริษัทก็มีเช่นตัวอย่างต่อไปนี้

อัมพุท ตามไท กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอแอนด์ เอ็ม เรียลตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ดำเนินการจัดเปิดท้ายขายของที่พระราม 9 สแควร์, ดิโอลด์สยาม และคาร์ฟูร์ทั้ง 5 สาขา

อัมพุทเริ่มต้นธุรกิจนี้จากการที่เขามีลูกค้าประเภทศูนย์การค้าอยู่ที่พระราม 9 สแควร์ แล้วได้เห็นตัวอย่างการเปิดท้ายขายของจากที่อื่นๆ โดยเฉพาะที่อาคารฟอร์จูน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพื้นที่ของพระราม 9 สแควร์ ทำให้อัมพุทและเจ้าของพื้นที่ได้ปรึกษากันที่จะจัดเปิดท้ายขึ้นบริเวณพื้นที่ว่างดังกล่าว เพื่อทำให้พื้นที่เกิดประโยชน์ขึ้นมา

เนื่องจากเป็นที่เปล่าๆ ไม่มีศูนย์การค้า ทำให้อัมพุทสร้างจุดแข็งให้กับพื้นที่นี้โดยเก็บค่าเช่าที่เพียงคันละ 100 บาท

ครั้งแรกๆ ดูเหมือนว่าอัมพุทจะประสบความสำเร็จกับการจัดงานในสถานที่นี้ แต่ดูเหมือนความไม่สะดวกของลูกค้า ทำให้พื้นที่ของพระราม 9 สแควร์ดูจะไปได้ไม่ดีนักกับกิจกรรมเปิดท้ายรถ

อย่างไรก็ดี สำหรับอัมพุท หากที่พระราม 9 สแควร์ไม่ประสบความสำเร็จในที่สุด เขาก็คงไม่เดือดร้อนนัก เพราะรายได้จากการจัดเปิดท้ายรถของบริษัท อัมพุทยืนยันว่า แม้จะเป็นรายได้ที่มาแทนรายได้จากธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งงานหายไป แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นรายได้หลักของบริษัท โดยรายได้ของบริษัทยังมาจากเรื่องของศูนย์การค้าเป็นส่วนใหญ่

ตามความเห็นของอัมพุท เมื่อพระราม 9 สแควร์ประสบความสำเร็จ ในช่วงแรกนั้นเขาจึงคิดว่า ถ้าบริษัทสามารถบริหารพื้นที่ในรูปแบบของกิจกรรมคาร์บูธเซลได้พร้อมกันทีเดียวหลายๆ จุด ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ของบริษัทขึ้นมาอีก

ช่วงแรกๆ อัมพุทเคยจัดคาร์บูธเซลขึ้นที่บิ๊กซี สาขาบางพลี แต่ถูกทางศูนย์ดึงพื้นที่กลับไปทำเอง ซึ่งอัมพุทไม่ได้เดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว เขาได้ที่ใหม่ที่ ดิโอลด์ สยามพลาซ่า สำหรับจัดคาร์บูธเซล จำนวน 60 คัน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

รวมทั้งการเจรจากับบริษัทเซ็นคาร์ ผู้บริหารห้างคาร์ฟูร์ ขอเช่าพื้นที่จอดรถบริเวณด้านหน้าของคาร์ฟูร์ทั้ง 5 สาขา คือ บางใหญ่, รังสิต, สุขาภิบาล 3, ศรีนครินทร์, และเพชรเกษม เพื่อจัดคาร์บูธเซล ด้วยสัญญาเช่าพื้นที่เดือนต่อเดือน

ทั้งนี้ อัมพุท กล่าวว่า การเป็นผู้จัดคาร์บูธเซลถือเป็นรายได้เสริมที่ดี เขาจึงพยายามหาพื้นที่ต่อไปที่เหมาะกับการจัดงาน แต่มีเงื่อนไขต้องคุมราคาค่าเช่าให้ได้ปริมาณที่เหมาะสม มิเช่นนั้นก็จะไม่คุ้มกับการจัดงาน

"ค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่กับรายได้ แบ่งกันแล้ว เต็มที่จะต้องไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการจัดงาน ถ้าเกินก็ไม่คุ้ม ของเราส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายจะออกมาในรูปของค่าเช่าตายตัว" อัมพุทกล่าว

ลองสมมติค่าเช่าต่อเดือนของอัมพุทในแต่ละที่ คาดว่าจะตกประมาณไม่เกิน 48,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงิน 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าเช่าพื้นที่ของรถจำนวน 60 คันต่อ 1 แห่ง สำหรับการจัดงานแห่งละ 2 วัน

รวมการจัดงานเฉพาะพื้นที่ของห้างที่อัมพุทเช่ามาจำนวน 6 แห่งไม่รวมพระราม 9 สแควร์ เขาจะมีรายได้เข้าบริษัทเพิ่มขึ้นจากการจัดงานอีกเดือนละ 288,000 บาท หรือมากกว่านี้กรณีที่ค่าใช้จ่ายในการจัดงานไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทของตัวเองแล้ว อัมพุทเชื่อว่าการจัดงานคาร์บูธเซลยังช่วยผู้ขายได้มาก เพราะจากการที่เขาได้พูดคุยกับผู้มาขาย คนส่วนใหญ่เป็นคนทำงานที่เจอมรสุมเศรษฐกิจ ทั้งถูกปลดออกจากงานและถูกลดเงินเดือน แต่สามารถมีรายได้เสริมจากการขายของเก่า ซึ่งโดยเฉลี่ยในพื้นที่ที่เขาจะจัดงาน ผู้ขายหนึ่งคนจะมีรายได้เฉลี่ยวันละ 4,000 บาท ขายสามวันก็มีรายได้แล้ว 12,000 บาท

ถ้าสมมติเราคิดให้เฉลี่ยรายได้ต่อ 1 คันรถ ต่อครั้งเฉลี่ย 5,000 บาท อาทิตย์หนึ่งก็เฉลี่ยอย่างน้อย 300,000 บาท จัดอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 7 ที่ เฉลี่ยแล้วในแต่ละอาทิตย์ มีเงินสะพัดในกิจกรรมที่บริษัทเอแอนด์เอ็มถึง 2,100,000 บาท คูณเข้าไปอีก 4 ครั้งใน 1 เดือน ก็จะมีเงินสะพัดเฉลี่ยเดือนละ 8,400,000 บาท

สำหรับกลุ่มผู้ขายในตลาดเปิดท้ายรถ อัมพุท กล่าวว่า สำหรับของบริษัทแล้วจะระบุในใบสมัครว่าไม่ให้ขายของอาชีพ ซึ่งเคยมีการเชิญออกจากพื้นที่มาแล้วสำหรับการขายของอาชีพ แต่เท่าที่ "ผู้จัดการรายเดือน" เดินสำรวจพื้นที่ที่คาร์ฟูร์พบว่าก็มีสินค้าใหม่ๆ มาขายเหมือนกัน

ซึ่งอัมพุท กล่าวว่า การที่มีมืออาชีพเข้ามาปน เป็นเพราะตลาดแบบนี้ไปจูงใจมืออาชีพ หรือแม้แต่คนขายที่พัฒนาเป็นมืออาชีพ เอาสินค้าใหม่มาขาย ซึ่งไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะการเอาสินค้าใหม่มาขาย จะมีข้อเสียเปรียบในเรื่องของราคา ที่สินค้าใหม่ถึงอย่างไรก็จะไม่สามารถกดราคาได้ต่ำเท่ากับของเก่า ถ้าอยากให้ตลาดนี้อยู่ได้นานต้องเน้นขายของใช้แล้วเท่านั้น ซึ่งยังมีผู้ต้องการมาขายอีกมาก แล้วก็มีผู้ซื้อส่วนใหญ่ยอมรับ

"ถ้ามีตลาดแบบนี้ 50 แห่ง แห่งละประมาณ 50 คัน ก็เป็น 2,500 คัน รถคันหนึ่งมีคนเฉลี่ยที่มาขายรวมกัน 3 คน ก็มีคนมาขาย 7,500 อาจจะให้ถึงหมื่นคนที่เจอปัญหาเหล่านี้แล้วต้องการหาทางออก หารายได้เสริมด้วยวิธีนี้ แต่จริงๆ แล้วคนที่เดือดร้อนจากเศรษฐกิจช่วงนี้จริงๆ มีเป็นล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริหาร ซึ่งยังมีทยอยเข้ามาสู่ตลาดนี้ ทำให้เชื่อได้ว่า ถ้าเศรษฐกิจยังเป็นอย่างนี้ในระยะนี้ และแนวโน้มถึงไตรมาสที่ 2 ตลาดนี้จะยังไม่มีทางตาย เพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจมีสูง" อัมพุทกล่าว

อัมพุท ยังให้ความเห็นถึงแนวโน้มของตลาดประเภทนี้ว่า กิจกรรมนี้ยังคงไปได้อีกระยะหนึ่งดังที่กล่าว จนกว่าทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้น ในที่สุดก็จะเหลือไม่กี่แห่ง แล้วรูปแบบกิจกรรมก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง มีโปรโมชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะไม่ใช่รูปแบบของการาจเซลที่แท้จริงอีกต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us