"ไชยวัฒน์" ลั่น เตรียมปิดฉากสวนสยามถ้าแผนเข้าตลาดหุ้นไม่สำเร็จ ทนขาดทุนไม่ไหว ย้ำเลิกบัตรฟรีทำรายได้หดหาย เร่งล้างตัวแดง ปรับใหญ่สวนสยามโละเครื่องเล่นเก่า 22 เครื่องทิ้ง ดันลูกชายนั่งแท่นเอ็มดีแทน วางแผนแตกบริษัทลูกคุมธุรกิจทั้งหมด
"ปีนี้สวนสยามก้าวเข้าสู่ปีที่ 25 แล้ว หากแผน การเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่เป็นตามที่คาดหมายคงต้องปิดฉากสวนสยาม ขายเครื่องเล่น ขายที่ดิน ทำบ้านจัดสรรแทน เพราะถ้าขาดทุนอยู่แบบนี้ก็ไม่ไหวแล้ว ช่วง 2 ปีมาพยายามปรับปรุงสวนสยามใหม่ ใช้งบประมาณมาแล้วมากกว่า 100 ล้านบาท" เป็นคำกล่าวของนายไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานกรรม การ บริษัท อมรพันธุ์นคร สวนสยาม จำกัด ผู้บริหาร "สวนสยาม"
เขากล่าวด้วยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ และเตรียมโครง การปรับภาพลักษณ์ให้กับสวนสยาม ก่อนนำสวนสยามเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2551 ให้ได้ เดิมเคยมีแผนเข้าตลาดหุ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่มีข้อจำกัดด้านโครงสร้างการบริหารการจัดการ
การที่สวนสยามจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้นั้น จะต้องปรับโครงสร้างหนี้การเงิน สร้างกลยุทธ์การทำตลาดใหม่ รวมถึงต้องทำกำไรให้ได้ติดต่อกันเป็น เวลา 3 ปี เพราะบริษัทอยู่ในภาวะการขาดทุนสะสมกว่า 1,000 ล้านบาท มานานแล้ว เนื่องจากการทำโปรโมชันแจกบัตรฟรี จัดงานกุศลต่างๆ และค่าใช้จ่าย ที่สูงถึง 200 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ บริษัทสามารถล้างขาดทุนสะสมให้เหลือ 300 ล้านบาทได้ในปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไร 20 ล้านบาทเมื่อปี 2546 ปีนี้ตั้งเป้าทำกำไรเพิ่มขึ้น 50% หรือ 40 ล้านบาท และต้องเพิ่มขึ้น จนภายในปี 2549 สวนสยามต้องมีกำไร 100 ล้านบาท
ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 700 ล้านบาท ปีหน้าจะระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเดิมอีก 300 ล้านบาท และจะ ชักชวนพันธมิตรใหม่ให้มาเข้าร่วม แต่บริษัทจะต้องมีแผนขยายงานที่ชัดเจน ซึ่งหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์อาจต้องระดมทุนเพิ่มเป็น 1,500-2,000 ล้านบาท
โครงสร้างการถือหุ้นของสวนสยามปัจจุบันเกือบ 100% เป็นของตระกูลเหลืองอมรเลิศ ซึ่งหากเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว ต้องการให้ 49% เป็นของตระกูลเหลืองอมรเลิศ แต่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน มองว่าตระกูลเหลืองอมรเลิศควรจะถือเพียง 30%
ส่วนโครงสร้างการบริหารจะแต่งตั้งนายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ บุตรชายขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ แทนนายวีระยุทธ์ จึงสุระ ซึ่งจะเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นประธานกรรมการแทนนายไชยวัฒน์ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาให้กับบริษัท
แนวทางการดำเนินงานจะแตกบริษัทลูกเพื่อควบคุมธุรกิจทั้งหมด บริษัททัวร์, บริษัทดูแลค้าปลีก ภายในสวนสนุก, บริษัทผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ "Si-am" โดยตั้งงบตลาดปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านบาท ซึ่งส่วนอื่นมาจากการสนับสนุนของพันธมิตร อาทิ เป๊ปซี่, ฟิล์มฟูจิ เป็นต้น และมีแผนปรับปรุงให้มีรูปแบบคล้ายยูนิเวอร์แซล ของสหรัฐอเมริกา เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มจาก 10% เป็น 50% ปรับภาพลักษณ์เป็น "สวนสยามแห่งเอเชีย" แทน "สวนสยามทะเลกรุงเทพฯ" หวังจับจ่ายต่อหัวเป็น 800 บาทต่อคนจากเดิมที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อคน 100 บาท เพราะปัจจุบันลูกค้า 90% เป็นคนไทย
ส่วนแผนสร้างซิตี้ วอล์ก (City Walk) บนเนื้อที่ 70 ไร่ งบลงทุน 1,000 ล้านบาท ภายใต้แนวคิดศูนย์ความบันเทิงครบวงจรหรือเอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ ขณะนี้ออกแบบซิตี้ วอล์กเสร็จแล้ว และจะเปลี่ยนเครื่องเล่นที่มีอยู่ 22 เครื่องให้เป็นเครื่องใหม่ ทั้งหมดอยู่ระหว่างติดต่อกับกลุ่มเมโช ประเทศญี่ปุ่น กลุ่มไอโม และกลุ่มฮูส จากประเทศเยอรมนี
การทำตลาดตั้งแต่ปีนี้จะปรับลดสัดส่วนการแจกบัตรฟรี แต่ละปียอดแจกบัตรฟรีสูงกว่า 10 ล้านใบ ในปีนี้ลดเหลือเพียง 10 ล้านใบ และสามารถใช้ ได้เฉพาะวันธรรมดาเท่านั้น และตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2548 จะยกเลิกการแจกบัตรฟรีทั้งหมด
|