"ภูเก็ต ไนท์บาซาร์" หวังดูดเงิน 3,000 ล้านบาท ผุดโครงการ "อินเตอร์เนชั่นแนลไนท์บาซาร์" สานฝันพัฒนาเป็นเมืองใหม่สมบูรณ์ แบบ และสวรรค์ของนักชอปปิ้ง ระบุหากภาครัฐอนุมัติให้ภูเก็ตเป็นเมืองปลอดภาษีจะช่วยสนับสนุนให้โครงการดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ ขณะที่เจ้าของที่ "อนุภาษและบุตร" รับเละตลอดอายุสัญญาเช่า 30 ปี กว่า 1 พันล้านบาท
ร.ท.ภูมิศักดิ์ หงษ์หยก กรรมการผู้จัดการบริษัท อนุภาษและบุตร จำกัด เปิดเผยถึงโครงการภูเก็ต อินเตอร์เนชั่นแนล ไนท์บาซาร์ ว่า ขณะนี้บริษัท ภูเก็ตไนท์บาซาร์ จำกัด ได้ตกลงที่จะเช่าที่ดินในโครงการ เมืองเจ้าฟ้าที่มีพื้นที่โครงการ 170 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 1,500 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นโครงการภูเก็ต อินเตอร์เนชั่น แนล ไนท์บาซาร์ โดยใช้เงินลงทุนในเฟสแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท สำหรับสัญญาเช่าพื้นที่มีกำหนดอายุเช่า 30 ปี
ทั้งนี้ บริษัท อนุภาษและบุตร จำกัดจะมีรายได้จาก ค่าเช่าล่วงหน้า ค่ากินเปล่า และค่ารายเดือน คาดว่าตลอดระยะการเช่าบริษัทฯ รวมประมาณ 1,000 ล้านบาท
"บริษัทต้องการพัฒนาที่ดินทั้งหมดให้เป็นเมืองใหม่ที่สมบูรณ์ และมีการควบคุมการใช้พื้นที่เพื่อดูแลชุมชนข้างเคียง ซึ่งโครงการ นี้จะกลายเป็นสวรรค์ของนักชอปปิ้ง และเป็นการสอดรับกับเขตเศรษฐกิจแห่งที่ 2 ในจังหวัดภูเก็ต"
ร.ท.ภูมิศักดิ์ กล่าวว่า หากรัฐบาลผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเมืองปลอดภาษีจะมีส่วนกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในโครงการภูเก็ต อินเตอร์ เนชั่นแนล ไนท์บาซาร์ ได้รับผลประโยชน์ยิ่งขึ้น โดยจะเห็นความชัดเจนประมาณปีกว่า แต่ส่วนของภาพใหญ่นั้นขณะนี้มีการเจรจาระหว่าง 3 หน่วยงานคือ กรมศุลกากร กรมสรรพากร และสรรพสามิต อย่างน้อยไม่เกิน 4 เดือนคงจะดำเนินการได้" ร.ท.ภูมิศักดิ์ กล่าว
นางจินตนา แสงสว่าง แดงเดช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภูเก็ต ไนท์บาซาร์ จำกัด กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการ ว่าบริษัทจะเข้าไปลงทุนใน โครงการ 3 ส่วน ของมูลค่าโครงการทั้งหมดประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนแรก โครงการไนท์บาซาร์ บริษัทจะลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนของบริษัท 100 ล้านบาท และที่เหลือมาจากรายได้ที่เป็นค่าเช่าของผู้ประกอบการ
"ไนท์บาซาร์ มีพื้นที่กว่า 1 แสนตารางเมตร แบ่งออกเป็น 9 โซน กำหนดค่าเซ้งพื้นที่เริ่มต้น 99,000 บาท และค่าเช่า 500 บาทต่อเดือนในช่วง 3 ปีแรก และจะปรับเพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือนในช่วงปีที่ 4-6 ก่อนจะทยอยปรับราคาขึ้นตามดัชนีทางเศรษฐกิจ ซึ่งบริษัทจะสามารถทำกำไรได้หากมียอดจองสูงกว่า 10,000 ยูนิต"
ส่วนที่ 2 ศูนย์รวมสถาบันการศึกษา บริษัทจะใช้เงินก่อสร้าง ส่วนของโครงสร้างให้คิดเป็นมูลค่า 20-25 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมการตกแต่งแต่จะเป็นภาระของผู้เช่าต้องดำเนินการ โดยคิดค่าเช่า 150 บาทต่อตารางเมตร และส่วนสุดท้าย ศูนย์อิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนมากกว่าศูนย์รวมสถาบันการศึกษา
สำหรับโครงการอื่นๆ นั้น บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาผู้ลงทุนเข้ามาทำ ซึ่งคาดว่าจะไม่มีปัญหา ทั้งโครงการศูนย์รวมความบันเทิงที่อยู่หน้าสุดของโครง การภูเก็ต ไนท์บาซาร์ ที่เจรจากับเอกชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โครงการบูติค โฮเทล ที่บริษัทอาจ จะเข้าไปร่วมทุนคาดไม่เกิน 10% โดยอยู่ระหว่างเจรจา เชนโรงแรมจากต่างประเทศมาบริหาร ทั้งนี้ภายในโครงการจะมีทั้งหมด 14 โครงการคาดจะเปิดดำเนิน การได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2548 ยกเว้นโครงการ บ้านพักนานาชาติที่จะเสร็จช้ากว่ากำหนด
นางจินตนา กล่าวว่า ด้านการเช่าบูทของลูกค้า รายย่อย ทางบริษัทได้มีการเจรจากับธนาคารพัฒนา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า โดยการนำสัญญาการเช่ามาค้ำประกันในการขอเงินกู้ แต่ผู้เช่าต้องวางเงินดาวน์อย่างน้อย 30,000 บาทขึ้นไป
สำหรับภาพรวมของจังหวัดภูเก็ต นางจินตนา กล่าวว่า เป็นเมืองแม่เหล็กของการท่องเที่ยว มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงที่สุดในประเทศ ข้อมูลจากการ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยปี 2544 ภูเก็ตมีจำนวนสถานประกอบการโรงแรมมากที่สุดในประเทศ มีจำนวนนักท่องเที่ยวปีละ 4 ล้านคน มีกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นสูงถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งมาจากนักท่องเที่ยวถึง 72,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่คนภูเก็ตมีเงินฝากเฉลี่ยต่อคน 134,724 บาทต่อปี คิดเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย และมีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย 27,002 บาทต่อครอบครัวต่อเดือน มีสถิติการใช้เงินประมาณ 87.2% สูงกว่าคน ในกรุงเทพฯและนนทบุรีที่มีการใช้เงินเพียง 76-77% ที่เหลือเป็นเงินออม แสดงให้เห็นว่าชาวภูเก็ตมีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง จำนวนสถานประกอบการ โรงแรมของจังหวัดภูเก็ตมีถึง 549 โรง ซึ่งมากกว่ากรุงเทพฯ 2 เท่า มีห้องพัก 31,302 ห้อง มากกว่าจังหวัดเชียงใหม่ 2 เท่า
|