บบส.เตรียมซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจากแบงก์กรุงไทย มูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท ระบุกรอบเดิมสามารถเข้าซื้อได้ทันทีโดยไม่ต้องรอกฎหมาย ใหม่ คาดภายในปีนี้โอนทรัพย์สินเข้าบริหารได้ ประกาศ พร้อมรับซื้อหนี้จากสถาบันการเงินเอกชน และเข้าประมูลจากกรมบังคับคดีต่อเนื่อง โชว์ผลงาน 5 เดือนแรกปีนี้ ทำกำไรได้ 2.6 พันล้านบาท พร้อมปรับกลยุทธ์ เพิ่มอำนาจทนายตัดสินใจปรับโครงสร้างหนี้วงเงิน 5 แสนถึง 1 ล้านบาทได้ทันที
นายสิน เอกวิศาล กรรมการผู้จัดการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ สถาบันการเงิน (บบส.) เปิด เผยว่า บบส.กำลังเจรจาเพื่อขอซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้ เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีเอ) ของธนาคารกรุงไทย จำนวนประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเอ็นพีแอล ประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท และเอ็นพีเอประมาณ 23,000-25,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ขั้นตอนการดำเนินงานอยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากแล้ว ขณะเดียวกัน บบส.ได้เข้า ไปทำการตรวจสอบทรัพย์สิน (ดิวดิลิเจนซ์) ของธนาคาร กรุงไทยอยู่ เพื่อประเมินราคาในการซื้อขาย ซึ่งคาดว่าจะสามารถโอนทรัพย์สินเข้ามาบริหารได้ภายในปีนี้
"ตามกฎหมาย บบส.สามารถเข้าไปซื้อทรัพย์สินของกรุงไทยได้เลย โดยไม่ต้องรอกฎหมายใหม่ คือ กฎหมายเปิดทางให้บบส.สามารถซื้อทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง กับการเข้าไปถือหุ้นของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้ นอกจากรับซื้อทรัพย์สิน จากสถาบันการเงิน 58 แห่งที่ถูกปิดกิจการ"
ขณะเดียวกัน บบส.ยังให้ความสำคัญกับทรัพย์สิน ที่อยู่ในกรมบังคับคดี โดยบบส.ได้เข้าไปประมูลเป็นครั้งที่ 6 คิดเป็นมูลหนี้กว่า 7,000-8,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเข้าไปประมูลทรัพย์สินดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากบบส.มีความพร้อม ประสบการณ์เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ ดังนั้นกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบบส. จึงขอแก้ไขพระราชกำหนดของบบส.ให้มีขอบเขตหน้าที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของคณะกรรม การกฤษฎีกา
สำหรับกลยุทธ์ในการบริหารทรัพย์สิน บบส.ได้ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ โดยจะใช้ช่องทางการ จำหน่ายทรัพย์สินทุกรูปแบบ รวมทั้งเริ่มโครงการกิจกรรมร่วมทำ (Consortium) ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาและขายไปแล้วประมาณ 11 โครงการ และมีเซ็นสัญญาใหม่โครงการ ขนาดใหญ่ 2 โครงการ โครงการขนาดเล็กอีก 3-4 โครงการ และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 3 โครงการ
นอกจากนี้ ยังมีการสร้าง Marketing Lawyer หรือทนายนัดการตลาด โดยบบส.ต้องการที่จะดึงลูกค้าหนี้ที่อยู่กระบวนการฟ้องร้องเข้ามาเร่งจัดการให้เรียบร้อยก่อนกระบวนการศาล ดังนั้น บบส. จะให้อำนาจของทนายในการพิจารณาปรับโครงสร้าง หนี้ได้ในวงเงินตั้งแต่ 500,000-1,000,000 บาท เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้
ด้านผลประกอบการของบบส. ในช่วง 5 เดือนแรก ปี 2547 บบส.มีรายได้ทั้งหมด 2,942.28 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีประมาณ 5,574 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวม 261.44 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 1,092 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิประมาณ 2,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของเป้าหมาย กำไรสุทธิทั้งปีที่ 4,400 ล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าการปรับโครงสร้างหนี้นั้น บบส. ประนอมหนี้ ลูกหนี้จากปรส. จำนวน 2,208 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 197,048 ล้านบาท โดยได้ข้อยุติแล้ว 1,596 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 152,809 ล้านบาท และได้ข้อยุติด้วยการดำเนินคดีและระงับการติดตาม 612 ราย มูลหนี้ 44,239 ล้านบาท เป้าหมายทั้งปีลดลงเหลือ ประมาณ 30,000 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้จาก กรมบังคับคดีและ อบส.จำนวน 781 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 6,158 ล้านบาท อยู่ระหว่างการสวมสิทธิทางคดี 699 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 5,873 ล้านบาท และสวมสิทธิทาง คดีแล้ว/ไม่ต้องสวมสิทธิ 82 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 285 ล้านบาท
"บบส.มีความระมัดระวังในการเข้าไประมูลทรัพย์สินของกรมบังคับคดี เพราะได้สุ่มตรวจสอบ ปรากฏว่ามีลูกหนี้ที่หมดอายุความแล้ว ทำให้เกิดความเสียหายกับบบส. จึงได้สั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดของ บบส.ว่าหมดอายุความหรือยัง เพื่อเร่งดำเนินการทันที" นายสิน กล่าว
|