เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2541 ที่ผ่านมาทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ได้จัดให้มีการประมูลเพื่อให้ได้สิทธิการเช่าของอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น และแผงลอยที่ปลูกสร้างบนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินบนถนนราชดำริ
หรือพื้นที่ของโครงการบางกอกบาร์ซาร์เดิม
การประมูลครั้งนี้เป็นการประมูลครั้งที่ 2 หลังจากจัดประมูลครั้งแรกไปเมื่อประมาณปลายเดือนมกราคม
2541 ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีผู้สนใจเข้ามาประมูลเลย ด้วยเหตุผลที่ว่าทางสำนักงานทรัพย์สินได้กำหนดราคาขั้นต่ำ
หรือค่าธรรมเนียมครั้งแรกไว้สูงเกินไป
ในการจัดประมูลครั้งใหม่นี้จึงได้มีการปรับปรุงราคาขั้นต่ำลดลงมากว่า 50%
เช่น ราคาห้องเดี่ยวขนาด 4 คูณ 12 เมตร เดิมกำหนดราคาเริ่มต้นไว้ที่ 500,000
บาทก็จะเหลือเพียง 200,000 บาทเท่านั้น
ผลจากการลดราคาลงนั้นทำให้การประมูลครั้งที่ 2 ได้รับความสำเร็จพอสมควร
อาคารพาณิชย์จำนวน 39 ยูนิตนั้นถูกประมูลไปทั้งหมด 21 ยูนิต เป็นยอดเงินรวม
4,872,000 บาท ราคาประมูลจะอยู่ระหว่างยูนิตละ 225,000 บาทถึง 285,000 บาท
ส่วนแผงลอยที่มีอยู่ 2 แผงได้ราคาประมูลที่ดีมากคือในขณะที่ราคาขั้นต่ำกำหนดไว้
10,000 บาท ก็สามารถปิดราคาวันนั้นในราคาแผงแรก 280,000 บาท แผงที่ 2 ปิดที่ราคา
100,000 บาท
สำหรับอาคารที่เปิดให้ประมูลมีทั้งหมดนั้นมีเงื่อนไขในการชำระเงินคือจ่าย
25% วันประมูลจ่าย 75% วันทำสัญญาส่วนจ่ายค่าเช่ารายเดือนและค่าบริหารทรัพย์สินส่วนกลาง
จ่ายตามประเภทของทรัพย์สิน โดยค่าเช่าต่อเดือนเริ่มตั้งแต่ 1,500 บาทขึ้นไป
ค่าบริหารทรัพย์สินเริ่มตั้งแต่เดือนละ 200 บาท
ประเภทห้องเดี่ยวขนาด 4 คูณ 12 เมตร ราคาเริ่มต้นที่ 200,000 บาท ก็เท่ากับจ่ายวันประมูล
50,000 บาท จ่ายวันทำสัญญาอีก 150,000 บาท ค่าเช่ารายเดือนๆ ละ 1,500 บาท
และค่าทรัพย์สินส่วนกลางเดือนละ 200 บาท
ห้องคู่ราคาเริ่มต้นที่ 400,000 บาท จ่ายวันประมูล 100,000 บาท วันทำสัญญา
300,000 บาท ค่าเช่ารายเดือนและค่าบริหารส่วนกลาง 3,000 บาทและ 400 บาท
ประเภทขนาด 3 ห้องราคาเริ่มต้นที่ 600,000 จ่ายวันประมูล 150,000 บาทวันทำสัญญา
450,000 บาท ค่าเช่าต่อเดือน 4,500 บาท ค่าบริหารทรัพย์สิน 600 บาท
ประเภท 4 ห้อง ราคาเริ่มต้นที่ 800,000 บาท จ่ายวันประมูล 200,000 บาท
วันทำสัญญา 600,000 บาท ค่าเช่าต่อเดือน 6,000 บาท ค่าบริหารทรัพย์สิน 800
บาท
ประเภท 8 ห้อง ราคาเริ่มต้นที่ 1,600,000 บาท จ่ายวันประมูล 400,000 บาท
วันทำสัญญา 1,200,000 บาท ค่าเช่าต่อเดือน 12,000 บาทค่าทรัพย์สินส่วนกลางเดือนละ
1,600 บาท
และประเภทสุดท้ายขนาด 9 ห้อง ราคาเริ่มต้นที่ 1,800,000 บาท จ่ายวันประมูล
450,000 บาทวันทำสัญญา 1,350,000 บาท ค่าเช่าต่อเดือน 13,5000 บาท ค่าบริหารทรัพย์สินต่อเดือน
1,800 บาท
ส่วนแผงลอยมี 2 แผงขนาด ราคาเริ่มต้นที่ 10,000 บาท จ่ายวันประมูล 2,500
บาท จ่ายวันทำสัญญา 7,500 บาทค่าเช่าต่อวัน 150 บาท
"ศูนย์การค้าบางกอกบาร์ซาร์" ประกอบไปด้วยอาคารพาณิชย์ทั้งหมดประมาณ
210 คูหา ในพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ เป็นอาคารตึกแถวที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2510
ทางบริษัทสหกรุงเทพฯ พัฒนาได้เข้ามาเช่าพื้นที่ตรงนี้ตั้งแต่ประมาณปี 2516
สัญญาเช่าได้หมดไปตั้งแต่ปี 2536 หลังจากนั้นทางสำนักงานฯ ก็ไม่ได้เข้าไปดูแลอย่างจริงจัง
ทำให้อาคารส่วนใหญ่ทรุดโทรม และมีการปรับปรุงต่อเติมอย่างไม่เป็นระเบียบ
รวมทั้งมีกลุ่มอิทธิพลต่างๆ ฉวยโอกาสมาหาผลประโยชน์
เมื่อประมาณปลายปี 2539 กองธุรกิจที่ดินของสำนักงานทรัพย์สิน ก็ได้เข้าไปจัดเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง
และได้ร่วมมือกับบริษัทสยามสินธร ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสำนักงานทรัพย์สินฯ
เอง จัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินจำกัดขึ้นมา เพื่อรับจ้างในการดูแลและบริหาร
รวมถึงการจัดเก็บผลประโยชน์จากพื้นที่ส่วนกลางนำส่งสำนักงานทรัพย์สินฯ
"บริษัทสยามสินธรเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยบริษัทแลนด์ แอนด์เฮ้าส์
จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาที่ดิน และการบริหารทรัพย์สินส่วนกลาง
การได้ร่วมกันทำงานกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะได้ช่วยกันในสิ่งที่แต่ละฝ่ายถนัด"
อารักษ์ สุนธรส หัวหน้าฝ่ายธุรกิจที่ดินอธิบายถึงความจำเป็นในการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา
หลังจากนั้นทางบริษัทก็ได้เข้าไปปรับปรุงดูแลในเรื่องของความสะอาด และซ่อมแซมในส่วนของอาคารที่ทรุดโทรม
รวมทั้งเข้าไปจัดการในเรื่องของแผงลอย และจัดระบบการจอดรถใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีกลุ่มอื่นมาแอบใช้สิทธิ์จัดเก็บอยู่
และได้เรียกผู้เช่าทั้งหมดเข้ามาต่อสัญญากับทรัพย์สินใหม่ อายุสัญญา 3 ปี
รวมทั้งต้องเสียค่าบำรุงรักษาส่วนกลางด้วย ปรากฏว่าผู้เช่าส่วนใหญ่ก็มาทำสัญญา
เหลืออีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มาทำก็คือส่วนที่นำเอาออกมาประมูลใหม่นั้นเอง
สำนักงานทรัพย์สินฯ ใช้งบประมาณทั้งหมดในการปรับปรุงไปประมาณ 10 ล้านบาท
โดยจะมีรายได้ที่เข้ามาในระยะแรกประมาณเดือนละ 1 ล้านบาท จากการจัดเก็บที่จอดรถค่าส่วนกลางและค่าเช่าอื่นๆ
นอกจากการที่ทางสำนักงานฯ จะได้รายได้เข้ามาเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น ยังเป็นการจัดการชุมชนที่ดี
สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้เช่ากับสำนักงานทรัพย์สิน รวมทั้งได้พัฒนาบุคลากรของสำนักงานฯ
ด้วย
ดังนั้นถึงแม้ว่างานนี้ทางสำนักงานฯ ไม่สามารถที่จะหาผู้มาประมูลครั้งนี้ได้หมด
และไม่ว่าห้องว่างของอาคารพาณิชย์ จะยังคงร้างผู้เช่าไปอีกนานแค่ไหน ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องคิดค้นรูปแบบกันต่อไป
แต่ในส่วนที่ทำไปแล้วก็ถือว่าเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งเหมือนกัน
รวมทั้งยังเป็นแบบอย่างในการหารายได้ให้กับชุมชนอื่นๆ ของสำนักงานทรัพย์สินฯ
อีกด้วย เพราะเชื่อได้เลยว่าในช่วงวิกฤติของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทุกวันนี้
ย่อมไม่มีนักลงทุนรายใดที่จะมาเช่าที่ดินแปลงใหม่ๆ ของสำนักงานทรัพย์สินฯ
แน่นอน ส่วนแปลงที่ให้เช่าไปแล้ว แต่งานก่อสร้างยังค้างคาก็มีหวังเก็บค่าเช่าได้ยากเช่นกัน