เจรจานัดแรกซื้อคืนสัมปทานเดินรถระบบรางส่อเค้ารัฐบาลเจองานหนัก "คีรี กาญจนพาสน์" เผยไต๋ไม่ยอมขายสัมปทานบีทีเอส โอดรัฐไม่เห็นความยากลำบากของเอกชน ติงไม่ควรใช้วิธีซื้อหนี้มาบีบ เอาคืน ยันมีศักยภาพพอที่จะแก้หนี้-ขยายกิจการเองได้ ขณะที่รัฐบาลยันไม่ได้บีบหรือรังแก เผยเหตุต้อง รวบ "บีทีเอส-รถไฟฟ้าใต้ดิน" เพราะหวังจัดการแบบหนึ่งเดียวเพื่อกดราคาโดยสารให้ถูกลง ด้าน "สุริยะ" เผยเคเอฟดับบลิวเจ้าหนี้ต่างชาติบีทีเอสยืนยันขายหนี้ให้แล้ว
วานนี้ (13 ก.ค.) นายอุทิศ ธรรมวาทิน รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะคณะกรรมการเจรจาซื้อคืนสัมปทานเดินรถ ร่วมกับนายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ได้เรียกผู้ถือหุ้นของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า บีทีเอส และบริษัทการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือบีเอ็มซีแอล เพื่อหารือร่วมกันในเรื่องการเจรจาซื้อคืนสัมปทานตามคำสั่งของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บีทีเอส เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐเรียกบริษัทมาหารือด้วย หลังจากที่ได้รับทราบข่าวจากทางสื่อมวลชนเท่านั้น ซึ่งบริษัทได้อธิบายถึงการดำเนินโครงการตั้งแต่ต้น และยืนยันต่อที่ประชุมว่าจะให้ความร่วมมือด้วยความพร้อมและความยินดีทุกประการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการจราจรร่วมกับภาครัฐ แต่ทางภาครัฐน่าจะรู้บ้างว่ากว่าที่ทางบริษัทจะสร้างโครงการนี้ขึ้นมาได้ ต้องต่อสู้และใช้ความพยายามนานถึง 7 ปีกว่าจะเปิดให้บริการประชาชนได้ ซึ่งจนถึงขณะนี้บริษัทได้เปิดให้บริการประชาชนประมาณ 4 ปีครึ่งจากสัมปทานที่ได้มา 25 ปีทำให้มั่นใจว่าทำทุกอย่างดีที่สุดตลอดเวลา ทั้งด้านความปลอดภัย ความสะอาด สะดวกสบาย และความตรงต่อเวลา
สำหรับปัญหาเรื่องหนี้สินของบริษัทนั้น ได้มีการเจรจากับเจ้าหนี้คืบหน้าไปมากแล้ว โดยขณะนี้ได้มีแผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันออกมาแล้ว โดยคาดว่าอีกประมาณ 5 สัปดาห์ น่าจะมีการเซ็นสัญญาร่วมกันได้ หลังจากนั้นการฟื้นฟูบริษัทจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่มีปัญหา ดังนั้นจึงได้แสดงจุดยืนว่าไม่ได้เป็นการปฏิเสธขายคืนสัมปทาน เพียงแต่ต้องการบอกความคิดของผู้ถือหุ้นว่าหากรัฐมีเหตุผลที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวมจริงก็พร้อมให้ความร่วมมือ แต่ภาครัฐไม่ควรใช้วิธีบีบบังคับโดยการซื้อจากเจ้าหนี้
นายคีรี กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจทำให้บริษัทมีปัญหาด้านการเงิน แต่ก็ไม่เคยละความพยายาม ซึ่งจนถึงวันนี้ประชาชนคงเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุดว่าบริษัทควรอยู่ต่อหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวต้องการเห็นการคืนทุนของบริษัทได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง ของตัวเอง โดยเชื่อว่า 8-10 ปี จะสามารถคืนทุนและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้พอควร
"ต้องถามว่าผมทำผิดอะไร มีปัญหาผมก็แก้ไขของผมแล้ว จนถึงตอนนี้ก็ให้บริการดีเยี่ยม ซึ่งถ้าจะมีการขยายโครงการเราก็พร้อมเป็นผู้ปฏิบัติการให้ หรือจะให้ลดค่าบริการเหลือ 10 บาทก็ยังได้ ขอแค่บอกมาว่ารัฐว่าช่วยอุดหนุนเท่าไหร่ เราพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว ผู้ถือหุ้นหลัก ก็เป็นคนไทยด้วยกันคุยกันได้เพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ต้องใช้วิธีซื้อหนี้มาบีบกัน ซึ่งผมก็คิดว่ารัฐคงไตร่ตรองไม่ทำแบบนี้" นายคีรี กล่าว
สำหรับหนี้สินของบริษัทฯปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ขณะที่หลังจากเปิดให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้ยอดผู้โดยสารรถไฟฟ้า บีทีเอส เพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือ เพิ่มขึ้นจาก 370,000 คนต่อวัน เป็น 400,000 คนต่อวัน
ตัวแทนรัฐยันไม่ได้บีบ
ด้านนายอุทิศ กล่าวภายหลังการประชุมว่า การเรียกหารือในครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมครั้งแรก คณะกรรมการฯได้ชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องเจรจา ซื้อคืนสัมปทานดังกล่าวว่าระบบการเดินรถของประเทศควรเป็นระบบขนส่งมวลชน หรือ mass transit และเป็นมีการบริหารจัดการแบบหนึ่งเดียว (single operation)
"เราได้ชี้แจงประเทศความจำเป็นที่จะต้องมีระบบขนส่งมวลชน เพื่อเป็นประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งที่ญี่ปุ่นมีการใช้ระบบขนส่งมวลชนถึง 70% อังกฤษ 60% ขณะที่ไทยเราเพียงเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งยังมีความจำเป็นต้องสร้างส่วนต่อขยาย เนื่องจากระบบ mass transit ต้องเป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อกัน รวมทั้งต้องขยายจุดเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าใต้ดิน กับบีทีเอส ต่ออีกสามจุด คือ สุขุมวิท จตุจักร และศาลาแดง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก และเสียค่าโดยสารในอัตราถูก" นายอุทิศ กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการที่จะสร้างส่วนต่อขยาย อีก 291 กิโลเมตร ในระยะเวลา 6 ปี ทั้งในด้าน ฝั่งธนบุรี และสำโรง เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้บริการของประชาชนอย่างเพียงพอ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาว่า ใครควรเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการโครงการต่อไป
โดยการประชุมในครั้งต่อไป ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 นี้ ทางบีทีเอส และบีเอ็มซีแอล จะนำสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับภาครัฐ และงบการเงินของบริษัทให้ที่ประชุมได้รับทราบ ดังนั้น การประชุมในครั้งหน้าจะมีประเด็นหลัก 2 ประเด็นที่คณะกรรมการต้องพิจารณา คือ เงื่อนไขและรายละเอียดของสัญญาสัมปทาน และโครงสร้างด้านการเงินของทั้งสองแห่ง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเจรจาซื้อคืนสัมปทานดังกล่าวต่อไป
"เราจะเจรจาไปตามกรอบของกฎหมาย ไม่มีการรังแก หรือบีบบังคับอย่างแน่นอน ซึ่งแนวทางการขอซื้อหนี้จากเจ้าหนี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่เราต้องเห็นรายละเอียดของสัญญา เพราะเป็นเรื่องที่ต้องดูกฎหมายด้วย ขณะที่คำถามที่ว่า ทางบีทีเอส พร้อมเป็นผู้ดำเนินโครงการในส่วนต่อขยายต่อไปนั้น เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์ว่ามีศักยภาพพอหรือไม่ ซึ่งก็ต้องมาดูเขาสามารถทำได้จริงหรือไม่ การปรับโครงสร้างหนี้ที่บอกว่าทำได้นั้น ทำได้จริงหรือไม่"
นายอุทิศ กล่าวว่า หากมีการเจรจาซื้อขายกันเสร็จสิ้นก็ต้องนำส่งเรื่องนี้ให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไปและหลังจากนั้นต้องขึ้นอยู่กับครม.ว่าจะมีมติสั่งการอย่างไรต่อไป
ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวที่ว่า ที่ประชุมมีความเข้าใจตรงกันกับวัตถุประสงค์ของนายนายคีรีหรือไม่กรณีที่นายคีรีระบุว่ายินดีและพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐทุกอย่าง นายอุทิศ กล่าวว่า ตนเองไม่อาจคาดเดาจิตใจของนายคีรีได้ ซึ่งเรื่องการทำความเข้าใจเป็นสิ่งต้องคุยกันอีกหลายครั้ง ขณะที่กระบวนการซื้อขายต้องเป็นที่ยินดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะถ้าผู้ขายไม่เต็มใจขายย่อมไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น
เผยเจ้าหนี้ต่างชาติยอมขายหนี้แล้ว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มเจ้าหนี้ของ บีทีเอส ซึ่งมี เคเอฟดับบลิวเป็นแกนนำได้ทำหนังสือมายืนยันการขายหนี้บีทีเอส ให้รัฐบาลแล้ว ซึ่งการเจรจาล่าสุดสรุปว่า เจ้าหนี้ จะยอมลดหนี้ให้ประมาณ 45% จากหนี้ทั้งหมดบวกกับดอกเบี้ย ส่วนรายละเอียดนั้น คณะกรรมการ ศึกษาและเจรจาการซื้อหนี้จากเจ้าหนี้บีทีเอส และซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีนายอุทิศ ธรรมวาทิน รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน
โดยในสัปดาห์หน้าจะเรียกคณะกรรมการเจรจาซื้อหนี้และสัมปทานรถไฟใต้ดินมาให้นโยบายอีกครั้งหนึ่งโดยเบื้องต้นหลักการเจรจาในส่วนของบีทีเอสนั้น หากบีทีเอสจะต่อรองให้รัฐรับภาระเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากหนี้และดอกเบี้ย ก็จะต้องปรับตัวเลขให้ที่จะลดให้มากกว่า 45%
สำหรับหนี้ของบีทีเอสนั้น เป็นหนี้ในส่วน ของสถาบันการเงินประมาณ 38,320 ล้านบาท ประกอบด้วย เคเอฟดับบลิว 26,160 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ 6,080 ล้านบาท บรรษัทบริหารสินทรัพย์ (บสท.) 3,280 ล้านบาท และ ไอเอฟซี 2,680 ล้านบาท
นายสุริยะกล่าวว่า ทั้งบีทีเอสและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ บีเอ็มซีแอล สามารถยื่นข้อเสนอมา ที่ตนได้ และพร้อมพิจารณาให้ แต่ต้องอยู่บน พื้นฐานความเหมาะสม และมีเหตุผลที่ดีพอที่จะชี้แจงต่อสาธารณชนได้
ก่อนหน้านี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็น เจ้าหนี้ รายใหญ่ของบีทีเอส ระบุว่าพร้อมที่จะขายหนี้ให้รัฐบาลหากแนวทางของรัฐบาลจะส่งผลดี ต่อประชาชน และเจ้าหนี้มีลู่ทางในการได้รับชำระ หนี้คืน
|