6 ปีเต็มที่แจ๊ค มินทร์ อิงค์ธเนศสร้างให้สหวิริยาโอเอเติบโตจากบริษัทค้าคอมพิวเตอร์เล็กๆ
จนกลายเป็นบริษัทค้าส่งไอทีขนาดใหญ่ย่อม ไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามได้
แต่การรักษาธุรกิจให้เติบโตไปตลอดรอดฝั่งกลับกลายเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นใจเช่นนี้
สหวิริยาโอเอ จัดเป็นอีกหนึ่งในกรณีศึกษาของธุรกิจที่เคยรุ่งเรืองอย่างสุดขีด
และต้องมาประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก จากการปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ
และจากภาวะเศรษฐกิจที่มากระหน่ำซ้ำเติม
เมฆหมอกของสหวิริยาโอเอเริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ ปี 2539 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มขาดทุนเป็นครั้งแรก
และมาออกอาการมากขึ้นในปี 2540 เมื่อมีรายได้ 5,545 ล้านบาท ลดลงจากปี 2539
เป็นเงินถึง 869.2 ล้านบาท มีตัวเลขขาดทุนสุทธิ 2,362 ล้านบาท ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
1,493 ล้านบาท
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหวิริยาคล้ายคลึงกับองค์กรอื่นๆ ในขณะนี้ คือ การขาดสภาพคล่องทางการเงินที่จะมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ
และมีหนี้สินที่จะต้องชำระคืนให้กับเจ้าหนี้เงินกู้ทั้งในและนอกประเทศอีกก้อนใหญ่
จนถึงขั้นที่แจ๊คจะต้องปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ พร้อมกับปรับลดพนักงานลง
400 คน จากที่มีอยู่ 8-900 คน ให้เหลืออยู่เพียงแค่ 500 คน พร้อมกับประกาศขายอาคารอัจฉริยะ
ริมถนนพระราม 3 มูลค่า 1,100 ล้านบาทเพื่อนำเงินมาใช้หนี้
จะว่าไปแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหวิริยาโอเอในเวลานี้ ไม่ได้เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
แต่เป็นปัญหาที่สั่งสมมาจากตัวของธุรกิจเอง
ในช่วง 4-5 ปีที่แล้ว ในช่วงหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ สหวิริยาโอเอมีการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว
ทั้งในแนวลึกและแนวกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการขยายสู่ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจบรอดคาสติ้ง
ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง และใช้เวลานานมากกว่าจะคืนทุน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจโทรคมนาคมที่สหวิริยาโอเอลงทุนนั้น ไม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาด
ไม่ว่าจะเป็นวีแสท หรือ วิทยุเครือข่ายสาธารณะ (พีอาร์เอ็น) ที่ยังไม่สามารถสร้างรายได้เป็นที่น่าพอใจ
และกลายเป็นภาระให้กับธุรกิจทั้งกลุ่ม
ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจค้าส่งคอมพิวเตอร์พีซี ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้ให้กับสหวิริยาโอเอ
เกินครึ่งต้องประสบกับปัญหาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเร็วมาก ซึ่งส่งผลให้ราคาของเครื่องรุ่นที่ออกมาไม่นานก็มีราคาลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว
การทำธุรกิจในลักษณะนี้ จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นสูงในการแข่งขันสูง ทั้งในเรื่องของราคาและการทำตลาด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการบริหารสต็อกสินค้า ที่จะต้องทำอย่างรวดเร็ว
เพราะนั่นหมายถึงต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ตามมา
อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งของสหวิริยาโอเอ ก็คือการเป็นบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ที่เป็นดาบสองคมต่อการทำธุรกิจค้าส่งคอมพิวเตอร์ค่อนข้างมาก
แน่นอนว่าการเป็นบริษัทจดทะเบียนจะมีข้อดี ในแง่ของการสามารถระดมเงินบางส่วนที่มาจากส่วนต่างของราคาหุ้น
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็กลับกลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทค้าคอมพิวเตอร์
ซึ่งต้องมีความยืนหยุ่นในการวางกลยุทธ์ และการกำหนดราคาได้
"จุดสำคัญของธุรกิจนี้ คือ จะต้องบริหารสต็อกให้ได้ ในบางครั้งหากมีสต็อกสินค้าเหลือมากๆ
ก็อาจจำเป็นต้องล้มเครื่อง คือ การรื้อเครื่องออกมาเป็นอะไหล่ไว้ให้บริการแก่ลูกค้า
ซึ่งจะแก้ปัญหาเรื่องสต็อกสินค้าได้ดีกว่ารอขายเครื่องออกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทค้าคอมพิวเตอร์ทำกันอยู่และจำเป็นจะต้องทำ
เพราะเป็นวิธีที่แก้ปัญหาในเรื่องสต็อกได้ดีที่สุด"
แต่สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำเป็นจะต้องมีการทำบัญชีอย่างถูกต้อง
มีการระบุจำนวนการนำเข้าและขายไปให้ตรงกัน การนำวิธีล้มเครื่องมาใช้จึงไม่อาจทำได้
เพราะจะสร้างปัญหาทางบัญชีอย่างมาก เพราะไม่อาจตรวจสอบหรือชี้แจงได้ จึงกลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจประเภทนี้
จะเห็นได้ว่า สหวิริยาโอเอ มีปัญหาในเรื่องสินค้าค้างสต็อกมาตลอด ในปี
2538 มีสต็อกเหลือ 812 ล้านบาท ปี 2539 มีสต็อกเหลือ 839 ล้านบาท พอมาในปี
2540 มีสต็อกสินค้าเหลือเพิ่มขึ้นถึง 1,380 ล้านบาท
จะมีก็เพียงธุรกิจที่ปรึกษาและวางระบบคอมพิวเตอร์ ที่ดูเหมือนจะเป็นธุรกิจเดียวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
เพราะลักษณะของธุรกิจที่เป็นการขายระบบงานและบริการ ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาด
แต่ธุรกิจนี้ก็ยังไม่สามารถเป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัทได้
ตลอดปี 2540 แจ๊คเองพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการประกาศหาพันธมิตรให้เข้ามาซื้อหุ้น
หรือช่วยเหลือในเรื่องการทำเทรดไฟแนนซ์บ้าง ซึ่งก็มีเพียงแค่พันธมิตรเก่าแก่
อย่างเอเซอร์ และเอปซอน ที่ค้าขายกันมานานเท่านั้น ที่เข้ามาช่วยเหลือในลักษณะของทำเทรดไฟแนนซ์
คือ นำสินค้าเข้ามาขายและเมื่อขายได้ก็เอาเงินสดมาใช้หมุนเวียนในบริษัท จนเมื่อถึงกำหนดชำระจึงคืนให้พร้อมกับอัตราดอกเบี้ยเท่ากับที่กู้จากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม นอกจากเอเซอร์ และเอปซอน สองรายที่เป็นเกลอเก่าที่ค้าขายกันมานานแล้ว
ที่มาช่วยในเรื่องเทรดไฟแนนซ์ ก็ยังไม่มีพันธมิตรรายอื่นๆ
ทางออกของสหวิริยาโอเอในเวลานี้ ก็คงไม่ต่างไปจาก องค์กรอื่นๆ ในภาวะเช่นนี้
ก็คือ การหันมายอมรับสภาพความเป็นจริง ด้วยการลดขนาดองค์กรลง ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
ชะลอ หรือยุติรายการที่ไม่ทำรายได้ และหันไปโฟกัสเฉพาะธุรกิจที่ยังสร้างรายได้ให้เท่านั้น
นอกเหนือจากการขายอาคารอัจฉริยะ 32 ชั้น และการเลย์ออฟพนักงานแล้ว โครงสร้างของธุรกิจก็ยังถูกปรับใหม่ให้มีความกระชับมากขึ้น
บริษัทลูก 20 แห่งที่มีอยู่ถูกยุบเหลือเพียง 13 แห่ง โดยบริษัทลูก 7 แห่ง
แจ๊คใช้คำว่า หยุดดำเนินการชั่วคราว จะนำมายุบรวมไว้ใน 13 บริษัทที่ยังเปิดดำเนินการอยู่
และจะมุ่งเน้นในธุรกิจ 3 กลุ่มหลักที่มีอยู่เดิม คือ กลุ่มธุรกิจช่องทางจัดจำหน่าย
กลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาและวางระบบคอมพิวเตอร์ และกลุ่มโทรคมนาคมและโครงการพิเศษ
ในแต่ละกลุ่มจะมุ่งเน้นทำตลาดเฉพาะสินค้าหลักๆ เท่านั้น เช่น กลุ่มช่องทางจัดจำหน่ายจะมุ่งทำตลาด
ไปที่เครื่อง เอเซอร์, เอปสัน, ฮิวเลตต์ แพคการ์ด, แอปเปิ้ล, และซิมโบล ส่วนโทรคมนาคมก็หันไปมุ่งธุรกิจที่เป็นการขายระบบ
เช่น วิศวกรรม การขาย การซ่อมบำรุงรักษาเป็นหลัก
การปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้ไม่เพียงแก้ปัญหาในเรื่องลดค่าใช้จ่ายเท่านั้น
แต่ยังเป็นการกลับสู่สภาพความเป็นจริง อันเป็นผลต่อการดึงพันธมิตรต่างชาติเข้ามาถือหุ้น
เพื่อนำเม็ดเงินเข้ามาใช้กู้สถานการณ์
เพราะทางเลือกของสหวิริยาโอเอ และแจ๊คเวลานี้ก็มีไม่มากนัก