"ประชัย"ส่งแผนปรับโครงสร้าง หนี้ทีพีไอฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเสนอคลังแล้ว 2 ก.ค. ยื่น 7 ข้อเสนอ หากคลังเห็นชอบแผนฟื้นฟูฉบับ 5 อรหันต์ ระบุไม่ให้ลดทุน และขายหุ้น TPIPL รวมทั้งให้ผู้บริหารลูกหนี้มีสิทธิซื้อหุ้นคืน-เป็นผู้บริหารแผนฯ โดยจะยกเลิกคดีความทั้งหมด ชี้การลดทุน ล้างทุนสะสม หวังจ่ายปันผลของผู้บริหารแผนฯ ทีพีไอเป็นไปไม่ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่ยอมจนกว่าจะชำระหนี้หมด
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด(มหาชน) (TPI) กล่าวว่า บริษัทฯได้ยื่นหนังสือนำส่งแผนปรับโครงสร้างหนี้ทีพีไอที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้พิจารณาใช้แผน การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามที่ได้เสนอ เพราะเป็น แผนฟื้นฟูที่ยุติธรรมทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้
รายละเอียดของแผนฯเสนอให้ลดหนี้จาก 2,610 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำหนี้ที่ลดไปรวมกับดอกเบี้ยระหว่างปี 2541-2543 จำนวน 750 ล้านดอลลาร์ รวมเป็นหนี้ทั้งสิ้น 2,892 ล้านดอลลาร์ และให้แปลงหนี้จำนวนดังกล่าวเป็นทุนในราคาหุ้นละ 20 บาท หรือเท่ากับ 5,899 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 75% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด แทนหุ้นที่เจ้าหนี้ได้แปลงดอกเบี้ยเป็นทุนไปแล้วด้วยราคาไม่เป็นธรรมหุ้นละ 5.52 บาท กำหนดชำระหนี้คืนภายใน 4 ปี โดยผ่อนชำระปีละ 125 ล้านดอลลาร์ เสนอให้ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นคืนภายใน 4 ปี ในราคาหุ้นละ 20 บาท
อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงการคลังยืนยันและ บังคับให้ใช้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ผู้บริหารแผนฯเสนอ ทางผู้บริหารลูกหนี้ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมในรายละเอียด 7 ข้อดังนี้คือ 1.ไม่ให้มีการลดทุนเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้ เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นรายย่อย เพราะหากลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสม 80,000 ล้านบาท จะทำให้ทีพีไอต้องเสียสิทธิทางภาษี และต้องนำเงิน 24,000 ล้านบาทจากกำไรไปเสียภาษีเงินได้แทนที่จะนำเงินกำไรไปจ่ายหนี้ ทำให้ฐานะของลูกหนี้แย่ลง เจ้าหนี้ไม่สามารถรับชำระหนี้ได้โดยเร็ว ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นจะลดลงทำให้เกิดความเสียหายกับทุกฝ่าย
2.ไม่ขายหุ้นบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL) 3. ให้ผู้บริหารของลูกหนี้เดิมมีสิทธิซื้อหุ้นที่แปลงหนี้เป็นทุนคืนทั้งหมด (85%) ในราคาเท่ากับที่แปลงหนี้เป็นทุน บวกด้วยดอกเบี้ย 5% ต่อปีภาย ในกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับตั้งแต่แผนฟื้นฟูฯได้รับการแก้ไขมีผลบังคับใช้และมีการแปลงหนี้เป็นทุน
4. ให้ลูกหนี้สามารถออกหุ้นใหม่หรือกู้เงินมา เพื่อทำการรีไฟแนนซ์หนี้เดิมทั้งหมดได้ 5. ให้ผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารแผนตลอดระยะเวลาการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ เว้นแต่มีพฤติกรรม ทุจริตหรือไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการ 6. ให้เจ้าหนี้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบควบคุมการใช้จ่ายเงิน ตลอดจนการดำเนินการของลูกหนี้ตลอดระยะตามแผนฟื้นฟูกิจการ และ 7. ดำเนินการยกเลิกคดีที่มีอยู่ระหว่างกันทั้งหมด
นายประชัย กล่าวว่า ทุกวันนี้ธุรกิจลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตัวเอง และมีกำไรมาโดย ตลอด ซึ่งผู้บริหารแผนฯทีพีไอเสนอให้มีการลดทุน หรือแปลงหนี้เป็นทุนก็ดี จะไม่มีเม็ดเงินที่แท้จริงเข้ามาในธุรกิจลูกหนี้ เป็นเพียงการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินเพื่อให้อัตราส่วนทางการเงินเป็นที่น่าเชื่อถือ ได้ แต่ถ้าปรับปรุงไม่ดี จะส่งผลเสียต่อลูกหนี้ เจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้น ปัจจุบันทีพีไอมีทรัพย์สินหมุนเวียนสูงถึง 3.8 หมื่นล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นต้องลดทุน
ส่วนเหตุผลที่ผู้บริหารแผนฯใช้เป็นข้ออ้างในการลดทุนเพื่อหวังจ่ายเงินปันผลนั้น นายประชัยกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่บริษัทฯยังไม่ชำระหนี้ ทั้งหมด ทางเจ้าหนี้จะไม่ยอมให้ทีพีไอจ่ายเงินปันผล แน่นอน เพราะไม่มีกติกาว่าปรับโครงสร้างหนี้เสร็จจ่ายปันผลได้เลย
สำหรับผลการดำเนินงานของทีพีไอในช่วงเดือน มิถุนายน 2547 บริษัทฯมียอดขาย 12,952.70 ล้านบาท และกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อม และภาษี (EBITDA) 1,473.49 ล้านบาท คิดเป็นยอดขายช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ประมาณ 68,667.00 ล้านบาท และ EBITDA 9,851.57 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 66% และ 129% ตามลำดับ
"แผนดังกล่าวของลูกหนี้ได้ส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งรับเรื่องไว้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเดินทางกลับจากออสเตรเลียก็น่าจะมีการพิจารณาข้อเสนอของลูกหนี้ ซึ่งข้อเสนอทั้ง 7 ข้อเป็นข้อเสนอที่ดีรองลงมา เมื่อดีที่สุดไม่ได้ ส่วนข้อเสนอที่ยกเลิกคดีทั้งหมด เพราะผมเบื่อ สมัยก่อนผมไม่เคยขึ้นศาลเลย" นายประชัยกล่าว
|