ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นปัจจุบัน คนไทยได้เปลี่ยนนิสัยการจับจ่ายซื้อข้าวของเครื่องใช้กันไปมาก
สินค้าราคาแพงและยังไม่เป็นที่จำเป็นในการครองชีพ ถูกจัดอยู่ในอันดับสุดท้ายในการชอปปิ้ง
ขณะที่เป็นรายการแรกของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาพักผ่อนท่องเที่ยวในประเทศ
เพราะราคาค่าเงินบาทไทยถูกลงมาก หลังจากที่มีการประกาศใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว
แดเนียล เอ วอลเทนเบอร์ก กรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์ไทย มาร์เก็ตติ้ง
เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ทำตลาดเครื่องหมายการค้าของสินค้าคาร์เทียร์,
ดันฮิลล์ และ จิวองชี่ ในไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า
"ตอนนี้เรามีลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวประมาณ 50-60% ซึ่งเหตุที่กลุ่มลูกค้าเราเปลี่ยนไปเพราะตอนนี้คนไทยหยุดใช้เงิน"
แม้ว่าตอนนี้ลูกค้าจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าคนไทย แต่เป้าหมายกลุ่มลูกค้าหลักของวอลเทนเบอร์ก
คือคนไทย ซึ่งในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจบูมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้กลุ่มซิลลิคตัดสินใจนำสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยหรือ
luxury goods เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาเปิดร้านคาร์เทียร์ที่ศูนย์การค้าโซโก้
ตึกอัมรินทร์ พลาซ่า ที่ตึกเพนนินซูล่า พลาซ่า และที่ ดิ เอ็มโพเรียมตามลำดับ
เงื่อนไขดังกล่าวได้แก่ การปล่อยเสรีในเรื่องภาษีนำเข้า ซึ่งเมื่อ 2-3 ปีก่อน
รัฐบาลสั่งลดภาษีนำเข้าลงอย่างมาก นอกจากนี้ก็มีการเปิดศูนย์การค้ากันมาก
มีการแข่งขันกันสูงมากในการทำห้างสรรพสินค้า และปัจจัยเรื่องอำนาจการซื้อของผู้บริโภคไทยที่เพิ่มสูงมากอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจบูม
เงื่อนไขปัจจัยเหล่านี้ทำให้กลุ่มซิลลิค (ZUELLIG) ซึ่งเป็น trading company
สัญชาติสวิส แต่เข้ามาทำธุรกิจหลักอยู่ในแถบเอเชียตัดสินใจเข้ามาทำตลาดในไทยเอง
เพื่อเข้าหาลูกค้าและให้บริการแก่พวกเขาได้โดยตรง ไม่ผ่านซัปพลายเออร์
วอลเทนเบอร์กเชื่อมั่นว่าในช่วงเวลานี้เป็นจังหวะที่ถูกต้องที่ต้องทำการสื่อสารกับลูกค้า
เพื่อแสดงให้เห็น commitment ของบริษัทในตลาดไทย "เรามีความเชื่อว่าลูกค้าไทยเป็นลูกค้าที่สำคัญของเรา
ไม่ว่าเวลานี้หรือในอนาคต เราไม่หนีไปไหน"
แต่สำหรับลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น วอลเทนเบอร์กมองว่า การที่คนกลุ่มนี้เข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าแบรนด์เนมราคาแพง
อย่างคาร์เทียร์, ดันฮิลล์, หรือจิวองชี่ นั้น เป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศชาติในตอนนี้
เพราะคนกลุ่มนี้นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาใช้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยประเทศไทยในยามที่ต้องการเงินตราต่างประเทศได้โดยตรง
อย่างไรก็ดี มีอุปสรรคบางอย่างที่ขวางกั้นการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
คือการที่รัฐบาลประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 10%)
ที่ทำให้สินค้าแบรนด์เนมทั้งหลายต้องตั้งราคาสูงตามต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น
รายการภาษีที่มีผลกระทบต่อสินค้าของซิลลิคคือนาฬิกา (30%) และเสื้อผ้า (garment
60%) ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถขอคืนภาษีเหล่านี้ได้ เมื่อเดินทางออกนอกประเทศ
ขณะที่แหล่งชอปปิ้งอย่างฮ่องกง สิงคโปร์นั้น ไม่มีการเก็บภาษีสินค้าที่นักท่องเที่ยวต่างชาติซื้อ
ทำให้ราคาสินค้าประเภทนี้ในไทยสูงกว่าในแหล่งชอปปิ้งเหล่านั้น
วอลเทนเบอร์กเห็นด้วยกับการขึ้นภาษี เพื่อจุดมุ่งหมายให้คนไทยประหยัดและอดออมมากขึ้น
แต่ผลกระทบที่มีต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นผู้นำเงินตราต่างประเทศเข้ามานั้น
เขาเห็นว่าควรมีข้อยกเว้นในเรื่องนี้ "สิ่งที่น่าจะทำคือลดอัตราภาษีสินค้านำเข้า
และให้มีการคืนภาษี VAT ได้อย่างรวดเร็วสำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น"
เขายอมรับว่าสินค้าคาร์เทียร์เมื่อ 9 เดือนที่แล้วมีราคาต่ำกว่าตอนนี้ครึ่งหนึ่ง
"แต่เมื่อมีการลดค่าเงิน และขึ้นภาษีนำเข้า ราคาสินค้าของเราเพิ่มขึ้นเท่าตัว
ซึ่งคนก็จะเลิกซื้อของ เพราะราคาสินค้าที่สูงขึ้นเป็นเท่าตัว บวกกับเงื่อนไขอื่นๆ
เช่น คนถูดลดเงินเดือน ถูกให้ออกจากงาน เป็นต้น คนกลุ่มนี้จะระงับการซื้อสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือย
ผมเห็นว่าคนไทยได้เปลี่ยนนิสัยการจับจ่ายสินค้าไปมากทีเดียว ดังนั้นกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจตอนนี้อยู่ที่กลุ่มนักท่องเที่ยว
ซึ่งพร้อมที่จะเข้ามาซื้อสินค้า"
แม้ว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวจะเป็นลูกค้าที่สำคัญในตอนนี้ แต่ซิลลิคยังไม่มีแผนที่จะไปเปิดร้านตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
เว้นเสียแต่ว่าจะมีการลดราคาสินค้านำเข้า วอลเทนเบอร์ก กล่าวว่า "ที่ผมไม่เปิดร้านในตอนนี้เพราะหลักการของเราคือ
เรามีการดำเนินงานที่นี่เพื่อกลุ่มลูกค้าท้องถิ่นเป็นหลัก และตลาดของเราอยู่ที่กรุงเทพฯ
แม้จะมี potential สูงมากในต่างจังหวัด แต่มันก็ยังไม่เหมาะสมที่จะเข้าไปในตอนนี้"
ซิลลิค คลาสสิค (ZUELLIG CLASSICS) ซึ่งเป็นชื่อหน่วยงานที่ดูแลสินค้า
luxury goods ของกลุ่มซิลลิค ทำตลาดสินค้า 3 ยี่ห้อ โดยในส่วนของคาร์เทียร์
มีนาฬิกาและเครื่องเพชร ซึ่งในเดือนเมษายนนี้จะมีการเปิดตัว new jewellry
collection ส่วนจิวองชี่มีสินค้าเครื่องประดับ accessaries leathers และแฟชั่น
ขณะที่ดันฮิลล์ก็มี accessaries และ men fashion เช่นกัน
สินค้าคาร์เทียร์ในไทยจะเป็นแบบเดียวกับที่มีขายในแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำทั่วโลก
ลอนดอน ปารีส ฮ่องกง สิงคโปร์ ส่วนจิวองชี่มีสินค้าที่เหมาะแก่ลูกค้าเอเชีย
มีความแตกต่างออกไปเล็กน้อย แต่สินค้าเหล่านี้ก็มีขายที่ปารีสเช่นกัน ส่วนดันฮิลล์นั้นเหมือนกันกับที่ขายในลอนดอนและฮ่องกง
จะมีข้อยกเว้นก็พวกเสื้อผ้าบางประเภท เสื้อแจ็คเกต เสื้อสำหรับฤดูหนาว และเสื้อโค้ท
เป็นต้น
วอลเทนเบอร์กให้ความสำคัญกับการจัดตกแต่งหน้าร้านหรือดิสเพลย์อย่างมาก
"จะมีการเปลี่ยนดิสเพลย์เป็นประจำ อย่างคาร์เทียร์จะเปลี่ยนทุกอาทิตย์
มีดิสเพลย์ในแต่ละฤดูกาล และในทุก 6 เดือนจะเปลี่ยนโฉมหน้าร้านใหม่หมด ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องเสนออะไรใหม่ๆ
ออกมา เพื่อให้ลูกค้าตระหนักว่ามีการเปลี่ยนแปลงและเข้ามาดูในร้าน"
วอลเทนเบอร์กร่วมงานกับกลุ่มซิลลิคเป็นเวลา 6 ปี ก่อนหน้านั้นเขาทำงานด้านไฟแนนซ์และแบงกิ้งในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา
และในสหรัฐฯ ฮ่องกง เขามาประจำประเทศไทยเพื่อปรับโครงสร้างการทำธุรกิจ จัดระเบียบธุรกิจในไทยของกลุ่มซิลลิค
ทำให้ในตอนนี้กลุ่มซิลลิคไม่ได้รับผลกระทบในด้านลบจากปัญหาเศรษฐกิจมากนัก
กลุ่มซิลลิคเป็นบริษัทสวิสเข้ามาตั้งรกรากในภูมิภาคนี้ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ประมาณ
80 ปีมาแล้ว กลุ่มซิลลิคก่อตั้งโดย F. E. Zuellig หรือ มร. เฟดเดอริค อี.
ซูลิค ซึ่งเริ่มกิจการที่ฟิลิปปินส์ แล้วขยับขยายสู่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ
เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย
ส่วนกิจการในไทยนั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1949 เป็นสำนักงานตัวแทนของสาขาที่มาเลเซีย
ต่อมาใช้ชื่อบริษัทว่า F. E. Zuellig (Bangkok) Ltd. ในปี ค.ศ. 1950
กิจการเริ่มแรกที่ซิลลิคทำคือการเป็นบริษัท trading คล้ายกับอีสต์เอเชียติ๊ก
และดีทแฮล์ม โดยบริษัทเริ่มดำเนินการด้วยการนำเข้าส่งออกสินค้าจากยุโรปและอเมริกา
ที่ไม่มีการผลิตในประเทศไทยในสมัยนั้น สำนักงานของบริษัทตั้งอยู่ที่ อาคารเลขที่
1 ถนนสีลม ซึ่งเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา (ก่อสร้างระหว่างปี 1967-69) ถือเป็นอาคารสำนักงานที่สูงที่สุดในประเทศไทยโดยมีพื้นที่เพียง
8 ชั้นเท่านั้น และเป็นอาคารสำนักงานที่มีที่จอดรถอยู่ชั้น 1 ถือเป็นอาคารที่ใหม่และแปลกมากในตอนนั้น
มาถึงตอนนี้กลุ่มซิลลิคขยายกิจการออกมาเป็น 5 แขนงธุรกิจคือ : -
- เวชภัณฑ์ หรือ pharmacuetical ซึ่งเป็นการจำหน่ายยา (distribution) และการทำตลาดเวชภัณฑ์ยา
รวมทั้งมีการรับจ้างผลิตยาบางตัวตามสูตรของเจ้าของซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ
โดยบริษัทฯมีโรงงานและห้องแล็บของตัวเอง แต่บริษัทไม่มียาภายใต้ชื่อยี่ห้อของตัวเอง
กิจการนี้เป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในไทย
- ผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร (agricultural products) ซึ่งแยกออกเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับพืชผลการเพาะปลูก
และที่เกี่ยวกับสัตว์
- ผลิตภัณฑ์ด้านอุตสาหกรรม (industrial division) ซึ่งแยกออกเป็น 2 หน่วยคือ
ด้านเคมี และด้านวิศวกรรม สินค้าที่จำหน่ายได้แก่ เคมีที่ใช้ในระบบบำบัดน้ำเสีย
เครื่องมือและอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ
- ผลิตภัณฑ์สินค้าหรูหรา (luxury goods) ซึ่งมีการทำการตลาด การจัดจำหน่าย
และตลาดลูกค้ารายย่อย โดยบริษัทจะนำเข้าสินค้าเหล่านี้ ซึ่งที่นำเข้ามาแล้วและบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่คือ
คาร์เทียร์ จิวองชี่ และ ดันฮิลล์
- กิจการสุดท้ายคือด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น การบริหารอาคารซิล ลิคที่ถนนสีลม
ทั้งในเชิงการพาณิชย์ และอุตสาหกรรม ซึ่งจริงแล้วจุดมุ่งหมายหลักก็คือ การที่บริษัทไม่สามารถหาโกดังเก็บสินค้าที่ดีได้ในเวลานั้น
จึงต้องดำเนินการเรื่องศูนย์กระจายสินค้าเอง (distribution com plex) หน่วยงานนี้จึงมีการดำเนินงาน
เพื่อสนับสนุนงาน operation นอกจากนี้บริษัทยังมีโกดังเก็บสินค้าด้านเวชภัณฑ์และเกษตรกรรมที่ถนนแจ้งวัฒนะด้วย
สินค้าเวชภัณฑ์ถือเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มซิลลิคในไทย โดยพิจารณาจากยอดขายซึ่งทำได้
55-70% ของยอดขายรวมในไทย ส่วนธุรกิจด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมทำยอดขายได้อย่างละประมาณ
14% ซึ่งต่างมียอดขายและขนาดธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน ส่วนสินค้าหรูหรามียอดขายแค่
3% เท่านั้น ซึ่งยังน้อยมาก ธุรกิจอันนี้ใหม่มาก เพิ่งดำเนินการประมาณปีครึ่งเท่านั้น
แต่ซิลลิคขายสินค้าหรูหรามานานแล้ว โดยขายในฟิลิปปินส์ เกาะกวม และอเมริกาใต้