"ศิริธัช" บิ๊กคอม-ลิงค์ โละหุ้น TNITY กว่า 24% ที่ถือก่อนเข้า SET เกลี้ยงพอร์ต ทยอยขายตั้งแต่หมดไซเลนต์พีเรียด ก่อนชิงลาออกจากการเป็นกรรมการเมื่อเร็วๆ นี้ ส่วนตัวบริษัทคอม-ลิงค์ที่ "หม่อมอุ๋ย" ถือหุ้นทยอยขาย TNITY อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลปิดบุ๊กล่าสุดถือ 14% จาก 23% ลุ้นปิดบุ๊กงวดต่อไปจะเหลือกี่หุ้น ด้านวงการประเมินภาพกลุ่มคอม-ลิงค์ นักลงทุนระยะสั้นปั้นหุ้นเข้าตลาดแล้วขายออกทำกำไร ล่าสุดเปลี่ยนเป้าหมายไป เตรียมซื้อหุ้นเพิ่มทุนฟินันซ่า เพื่อใช้เป็นเงินทุนแบงก์ ใหม่ แนะต้องจับตา
นางขนิษฐา สรรพอาษา กรรมการบริษัท ทรีนีตี้วัฒนา จำกัด (มหาชน) (TNITY) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากกรรมการสองท่านที่มีความประสงค์ลาออกจากตำแหน่งกรรมการของบริษัท ได้แก่ นายณรงค์ ศรีสอ้าน และนายศิริธัช โรจนพฤกษ์ เนื่องจากกรรมการทั้งสองท่านมีภารกิจอื่นๆ มาก ซึ่งอาจมีผลให้ไม่สามารถให้เวลาในการเป็นกรรมการของบริษัทฯได้เต็มที่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.47เป็นต้นไป ซึ่งทั้งนี้ บริษัทฯอยู่ระหว่างการสรรหากรรม การใหม่ เพื่อแทนตำแหน่งกรรมการที่ว่าง 2 อัตรา
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า สำหรับนายศิริธัช โรจนพฤกษ์ เป็นประธานของกลุ่มบริษัทคอม-ลิงค์ จำกัด และมีการระบุข้อมูล ในหนังสือชี้ชวนว่า เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่เข้ามา เป็นผู้ถือหุ้นของ TNITY ตั้งแต่ช่วงที่นำบริษัทเข้า ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ถือหุ้นจำนวน 33,600,000 หุ้น คิดเป็น 24.12% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยได้รับจัดสรรหุ้นจากกลุ่มคอม-ลิงค์ ซึ่งมีการจัดสรรหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด 80.8% ให้กับกรรมการของบริษัท ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนายศิริธัชก่อนที่จะขายหุ้นครั้งแรกต่อประชาชน (ไอพีโอ) ในราคา 9.25 บาท และหุ้นเข้าซื้อขายในวันที่ 18 ธ.ค. 45
จากนั้นในวันปิดสมุดทะเบียนถัดมาวันที่ 8 เม.ย. 46 ปรากฏว่ามีชื่อของบริษัทคอม-ลิงค์ จำกัด เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 32,452,000 หุ้น คิดเป็น 23.30% ของหุ้นทั้งหมด โดยที่นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ถือหุ้นจำนวน 19,000,000 หุ้น คิดเป็น 13.64% ของหุ้นทั้งหมด
นอกจากนั้น ล่าสุด ณ วันปิดสมุดทะเบียน วันที่ 9 เม.ย. 47 โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ TNITY เปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยธนาคารกรุงไทย ซึ่งเคยเป็น ผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ถือหุ้นจำนวน 27,300,000 หุ้น คิดเป็น 19.60% ของหุ้นทั้งหมด โดยบริษัทคอม-ลิงค์ จำกัด ได้ทยอย ขายหุ้น TNITY ออกมาจนลดสัดส่วนลงมาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ถือหุ้นจำนวน 19,932,000 หุ้น คิดเป็น 14.31% ของหุ้นทั้งหมด
ในขณะที่นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ กลับไม่มี รายชื่อปรากฏอยู่ในผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TNITY แล้ว จนกระทั่งได้แจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนว่าลาออกจากการเป็นคณะกรรมการ บริษัท พร้อมกับนายณรงค์ ศรีสอ้าน
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจาก บริษัททรีนิตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) (TNITY) กล่าวว่า การที่ นายศิริธัช ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท เนื่องจากติดภารกิจไม่สามารถมาเข้าร่วมประชุม กรรมการได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริษัท คอม-ลิงค์ จำกัด ก็ยังมีนายสาคร สุขศรีวงศ์ เป็นตัวแทนในคณะกรรมการบริษัทอยู่ ส่วนการถือหุ้นของคอม-ลิงค์นั้น จากวันปิดสมุดทะเบียนล่าสุดยังคงถือหุ้น TNITY อยู่กว่า 14% แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าปัจจุบันถือหุ้นอยู่เท่าไร ซึ่งคงต้องรอดูหลังจากปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นครั้งต่อไป
สำหรับหุ้น TNITY เริ่มเข้าซื้อขายในตลาด หลักทรัพย์ฯตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 45 โดยผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุม หรือมีอิทธิพลใน การบริหารงานถือหุ้นสามัญจำนวน 48,755,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 35 ของทุนชำระแล้ว ให้คำรับรองต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าจะไม่นำหุ้นจำนวนดังกล่าวออกจำหน่ายเป็นระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่หลักทรัพย์ของบริษัทฯ เริ่มทำ การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยกลุ่มคอม-ลิงค์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของเมืองไทยนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คนสำคัญของ TNITY นั้นมี "หม่อมอุ๋ย" ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น และในอดีต "หม่อมอุ๋ย" เคยนั่งประธานกรรมการ ก่อนจะลา ออกเมื่อเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธปท.
ส่วนการลงทุนของกลุ่มคอม-ลิงค์ในธุรกิจ สถาบันการเงินนั้นนอกจากลงทุนใน TNITY แล้วก่อนหน้านี้ก็ยังลงทุนในธนาคารไทยธนาคาร ในส่วนของการซื้อหุ้น IPO และไม่นานมานี้ยังปรากฏว่าเข้าไปถือหุ้นในบง.ธนชาติกว่า 10%
ด้านแหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์ให้ความเห็นว่าการลงทุนของกลุ่มคอม-ลิงค์ในบริษัททรีนิตี้ วัฒนา (TNITY) น่าจะเป็นเพียงการลงทุนระยะสั้นเท่านั้น โดยหลังจากที่บริษัทสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้แล้ว ก็มีการขาย หุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่ากลุ่มบริษัทคอมลิงค์ ยังมีความพยายามที่จะขยายการลงทุนไปยังธุรกิจด้านสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้มีการเข้าร่วมประมูล ซื้อหุ้นธนาคารเอเชีย จากกลุ่มเอบีเอ็น แอมโร แต่พลาดการประมูลไป
นอกจากนั้น ล่าสุดยังมีการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในพันธมิตรของบริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) (FNS) ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 80 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 42 บาท เพื่อใส่เงินเพิ่มทุนให้กับธนาคารแห่งใหม่หลังจากการ ประกาศควบรวมกับ บง.กรุงเทพธนาทร (BFIT) เพื่อยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ด้วย ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับบริษัทหากได้ถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์เพื่อเป็นเครือข่ายทางธุรกิจ
ก่อนหน้านี้ นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการ บริษัทฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) ได้ออกมายืนยันว่า กลุ่มคอม-ลิงค์ ยังเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่บริษัทมีการเจรจาให้เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 80 ล้านหุ้น ซึ่งจะยังคงขายในราคาเดิมคือ 42 บาท แม้ว่าราคาหุ้นในกระดานของบริษัทจะปรับตัวลดลงต่ำ กว่า 42 บาทก็ตาม
|