หลังจากโดนสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ตีกระหน่ำแบบไม่ยั้ง ทั้งในด้านละครและรายการวาไรตี้
ทำเอาสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เจ้าของแชมป์เรตติ้งครองใจคนดู ต้องหันมาตั้งรับปรับปรุงตัวเองครั้งใหญ่
เพื่อรับมือกับศึกอันใหญ่หลวงครั้งนี้
จะว่าไปแล้วสงครามระหว่างสถานีโทรทัศน์แบบฟรีทีวี เริ่มคุกรุ่นมาตั้งแต่ปี
2539 สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ภายใต้การนำพลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยา พยายามปรับสไตล์การบริหารจากระบบราชการมาสู่การบริหารงานแบบเอกชน
พร้อมด้วยมาตรการขยายช่วงเวลาไพร์มไทม์ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับเจ้าตลาดเดิม
แต่หันไปทำรายได้จากช่วงเวลาอื่นๆ แทนสร้างดีกรีการแข่งขันได้ไม่น้อย
ด้านสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ใช้มาตรการแบบชกตรงๆ เต็มๆ เฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่ไม่คิดค่าเช่าสถานีเหมือนกับสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ
แต่ใช้วิธีแบ่งค่าโฆษณาได้กลายเป็นหมากเด็ดที่ตีกระหน่ำมาที่ช่อง 7 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้
ช่อง 3 ได้กลายเป็นแหล่งรวมซอฟต์แวร์ เมื่อบรรดาผู้ผลิตรายการไม่สามารถแบกรับกับค่าเช่าจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น
หันมาซบอกช่อง 3 กันเป็นแถว
เรตติ้งคนดูในช่วงปลายปี 2540 จึงตกเป็นของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่บุกอย่างหนักด้วยละครหลังข่าว
ซึ่งนำเสนอละครแนวใหม่ เพื่อเจาะใจคนดูระดับชนชั้นกลางถึงบน แทนที่จะเป็นระดับล่าง
อันเป็นกลุ่มคนดูที่ช่อง 7 ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่
แน่นอนว่า เมื่อโดนลูบคมอย่างหนักแบบนี้ช่อง 7 ย่อมไม่อาจอยู่เฉยได้อีก
ไม่เพียงแค่มาตรการลดแลกแจกแถมที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปีของสถานีโทรทัศน์ช่องนี้
ที่ได้ชื่อว่ายึดสไตล์อนุรักษนิยมมาตลอดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานภายในองค์กรของช่อง
7
"เราไม่เคยยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ธุรกิจทีวีนั้นจะอยู่นิ่งกับที่ไม่ได้"
คำกล่าวของสุรางค์ เปรมปรีดิ์ กรรมการ รองผู้จัดการ ของกรุงเทพฯ โทรทัศน์และวิทยุ
ที่บอกถึงการปรับตัวของช่อง 7
อย่างที่รู้ว่า การดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 จะอยู่ภายใต้บังเหียนของสองพี่น้องแห่งตระกูลกรรณสูต
ชาติเชื้อ กรรณสูต และสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้ซึ่งได้ชื่อว่ามีบทบาทอย่างมากในช่วงการเติบโตของช่อง
7 ในช่วงสิบกว่าปีมานี้
แต่ช่วงภาวะเศรษฐกิจขาลงและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเช่นนี้ การบริหารงานในรูปแบบเดิมๆ
ที่อาศัยการตัดสินใจของคนไม่กี่คน คงไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้อีกต่อไป งานนี้ทำเอาธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทกรุงเทพฯ โทรทัศน์และวิทยุ จึงต้องเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมบริหารงานเป็นครั้งแรก
"ปัญหาเวลานี้ของช่อง 7 คือ เราเป็นผู้นำจนชิน คือ ไม่รู้จักแพ้ และพอเราเผลอ
คู่แข่งซึ่งเขามีความคล่องตัวมากกว่าทั้งในเรื่องตลาด เรื่องการกำหนดราคาและรายการ
ก็เข้ามาแย่งชิงตลาด" รังสรรค์ อนันตกูล ผู้จัดการสำนักประธานกรรมการ
บริษัทกรุงเทพฯ โทรทัศน์และวิทยุกล่าว
รังสรรค์ อนันตกูล เป็นอดีตผู้บริหารของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ย้ายมาร่วมงานกับช่อง
7 พร้อมกับสุธรรม พงศ์สำราญ และทีมงานอีก 1 คน ตั้งแต่ปีที่แล้ว ตามนโยบายของกฤตย์
รัตนรักษ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทกรุงเทพฯ โทรทัศน์และวิทยุ ที่ต้องกระโดดเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานในช่อง
7 เพราะเริ่มมองเห็นเค้าความยากลำบากของช่อง 7 ในวันข้างหน้า
ตามแนวคิดของกฤตย์ ก็คือ การมีระบบงานที่ดีและทีมงานทันสมัย จะช่วยให้ช่อง
7 สามารถฟันฝ่ากับปัญหาไปได้
นับเป็นครั้งแรกที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 มีคณะกรรมการบริหารในบริษัท อันประกอบไปด้วย
ชาติเชื้อ กรรณสูต สุรางค์ เปรมปรีดิ์, ชลอ นาคอ่อน, รังสรรค์ อนันตกูล,
พร อุดมพงศ์ และสุรินทร์ สงวนดิษฐ์ ซึ่งสองคนหลังนั้นเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงของกรมประชาสัมพันธ์
ที่ถูกทาบทามให้มานั่งเป็นที่ปรึกษาให้กับช่อง 7
"ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการบริหารงาน หรือ การกำหนด รูปแบบรายการ จะต้องผ่านคณะกรรมการบริหารที่จะร่วมกันตัดสินใจ
ซึ่งวิธีนี้จะทำให้การบริหารเป็นระบบมากขึ้น และผ่านการกลั่นกรองของคนหลายคน"
ตามแนวคิดของอนันต์นั้น มองว่า เวลานี้ช่อง 7 มีจุดแข็งในเรื่องรายการลูกค้าที่เป็นตลาดล่าง
ซึ่งช่อง 7 มีอยู่อย่างเพียงพอแล้ว แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือ รายการสำหรับกลุ่มลูกค้าระดับกลางและบนและกลุ่มคนรุ่นใหม่
ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนของช่อง 7
ศูนย์ส่งเสริมการผลิตรายการถูกจัดตั้งขึ้นด้วยแนวคิดดังกล่าว โดยมีชลอ
นาคอ่อน ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาหนึ่งในลูกหม้อของช่อง 7 มาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ
แหล่งข่าวกล่าวว่า หน้าที่ของศูนย์ส่งเสริมรายการ จะเหมือนกับเป็นหน่วยตรวจสอบคุณภาพทางด้านรายการ
ที่จะดูแลในเรื่องรายการของช่อง 7 ทั้งการปรับปรุงคุณภาพ และการคัดเลือกรายการใหม่
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ช่อง 7 เปิดกว้างสำหรับผู้ผลิตรายการหน้าใหม่ๆ
เข้าในสังกัด ไม่ว่าจะเป็น นพพล โกมารชุน, ฉลอง ภักดีวิจิตร และค่ายของอัครเศรณี
ซึ่งแต่เดิมจะมีเพียงแค่ค่ายกันตนาและดาราวิดีโอ ที่เรียกได้ว่าผูกขาดผลิตรายการให้กับช่อง
7 มาโดยตลอด
เช่นเดียวกับรายการข่าว ซึ่งสุรางค์จัดภารกิจอันดับ 1 จะมีการปรับปรุงให้มีการนำเสนอข่าวในเชิงลึกมากขึ้น
และหันมาเน้นข่าวเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับภาวะในปัจจุบันมากขึ้น
การเป็นองค์กร "ปิด" ของช่อง 7 ที่ขึ้นชื่อลือชาก็อีกสาเหตุหนึ่งที่ผู้บริหารของช่อง
7 วิเคราะห์กันว่า เป็นจุดเดียวที่ทำให้ช่อง 7 ต้องเพลี่ยงพล้ำให้กับช่อง
3 เพราะหากมองในด้านอื่นๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในด้านเครือข่ายและรายการ ช่อง
7 ก็ยังเชื่อว่าไม่เป็นรองใคร อ่อนแต่เพียงแค่ประชาสัมพันธ์เท่านั้น
ไม่เพียงงานเลี้ยงน้ำชาของช่อง 3 ที่ประวิทย์ มาลีนนท์ มาพบปะกับสื่อมวลชนทุกเดือนแล้ว
ยิ่งในยุคใหม่ช่อง 5 กองทัพบก ภายใต้การนำของพลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยา
ก็ยังเปิดกว้างสู่ยุคใหม่กันแล้ว การที่ช่อง 7 จะปิดตัวก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องอีกต่อไป
งานสายสัมพันธ์ช่อง 7 สี จึงมีขึ้นเพื่อเป็นงานพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้บริหารของช่อง
7 และผู้จัดละครทั้งหลาย เอเยนซี่และสื่อมวลชน ซึ่งงานช่อง 7 สี ขนเอาผู้บริหารออกมาอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
จะขาดแต่เพียงชาติเชื้อ กรรณสูต ที่ป่วยต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเท่านั้น
แม้ผู้บริหารจะบอกว่า งานนี้จะจัดขึ้นเพียงแค่ปีละ 2 ครั้ง แต่ก็ถือว่าเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของช่อง
7 ที่แม้จะล่าช้าไปบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และการทวงแชมป์ของช่อง
7 สีครั้งนี้ อาจทำให้ช่องอื่นๆ ต้องเปลี่ยนแปลงกันอีกระลอกใหญ่ก็เป็นไปได้