แบงก์ทหารไทย เตรียมออกแคปส์ เดือน ส.ค.นี้ 6 พันล้านบาท อายุ 2 ปี ดอกเบี้ย 4% เพื่อรีไฟแนนซ์แคปส์ของ "ดีบีเอส ไทยทนุ" ที่มีดอกเบี้ยสูง 12% เผยประหยัด ต้นทุนกว่า 400 ล้านบาทแถมได้เงินกองทุนขั้นที่ 1 เพิ่ม 0.7% หลังรวมเป็นหนึ่ง 2 ก.ค.นี้ พร้อมตั้งกรรมการชุดใหม่ 17 ท่าน ขณะที่ดีบีเอสไทยทนุส่งกรรม- การ 2 คนตามสัดส่วนถือหุ้น 16% กระทรวงคลัง 4-5 คน กรรมการอิสระ 4 คน
นายสุภัค ศิวะรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมแผนที่จะออกตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (แคปส์) จำนวนประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อนำไปแลกแคปส์ของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ ที่ออกขายให้กับประชาชนทั่วไปรวมจำนวนเงินทั้งต้นและดอกเบี้ยประมาณ 5,600 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 12% ซึ่งจากการปรับโครงสร้างการเงินจะทำให้ธนาคารสามารถประหยัดภาระดอกเบี้ยได้มากกว่า 400 ล้านบาท
สำหรับแคปส์ที่ธนาคารจะออกมาปรับโครงสร้างทางการเงินนั้น จะมีอายุประมาณ 2 ปี เท่ากับอายุที่เหลือของแคปส์ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ ที่จะครบวาระภายในปี 2549 อัตราดอกเบี้ย 4%
"ขณะนี้ธนาคารได้มีการสอบถามไปยังผู้ถือแคปส์เก่า ซึ่งได้รับคำตอบว่าพร้อมจะนำมาแลกแคปส์ใหม่คิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 80% โดยคาดว่าจะสามารถออกได้ภายในเดือนสิงหาคม 2547 นี้"
นายสุภัค กล่าวว่า จากการปรับโครงสร้างทางการเงิน นอกจากจะช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยลงแล้ว ธนาคารยังสามารถเพิ่มเงินกองทุน ขั้นที่ 1 อีกกว่า 0.7% จากเดิมระดับ 6% และมีเงินกองทุนขั้นที่ 2 ประมาณ 3.5% ดังนั้น หลังจากการออกแคมป์แล้วทำให้ธนาคารมีเงินกองทุนทั้งหมดประมาณ 10.2% คิดเป็นเงินกองทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท
หลังจากที่ธนาคารควบรวมกันภายใน 2 กรกฎาคมนี้ ธนาคารจะมีสินทรัพย์ประมาณ 700,000 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งทาง การตลาดกว่า 11-12 % ส่วนสินเชื่อจะมีมากกว่า 560,000 ล้านบาท คิดเป็นอันดับที่ 3 ของระบบ โดยเชื่อว่าผลของการควบรวมกิจการดังกล่าวคงจะเห็นอย่างก้าวกระโดดภายในไตรมาสที่ 4 ปีนี้หรือภายในปีหน้า
สำหรับขั้นตอนต่อไป ทีมผู้บริหารระดับสูงจะมีการหารือเพื่อสร้างทีมในแต่ละสาย รวมทั้งทำแผนกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ คาดว่าแผนการดำเนินธุรกิจรวมทั้งกลยุทธ์คงนำ เข้าสู่คณะกรรมการธนาคารได้พิจารณาภายในเดือนสิงหาคม ขณะนี้ธนาคารยังคงใช้แผนเดิมของแต่ละแห่งในการดูแลลูกค้า โดยมั่นใจว่าลูกค้าจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารทั้ง 3 แห่งได้ขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไอเอฟซีที ปล่อยสินเชื่อประมาณ 20,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 50% และสูงกว่าเป้าหมาย 30% คาดว่าทั้งปีสินเชื่อน่าจะปล่อยได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ มีการเพิ่มสินเชื่อในระดับที่ดี ธนาคารทหารไทยมีการเบิกใช้สินเชื่อของลูกค้ากว่า 16,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นสินเชื่อเพิ่มสุทธิ 2,000-3,000 ล้านบาท โดยธนาคารมีเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อปีนี้ 8% คิดเป็นจำนวนเงิน 24,000-25,000 ล้านบาท
ส่วนคณะกรรมการของธนาคารในโครงสร้างใหม่นั้น จะต้องมีการหารือกันในระดับผู้ถือ หุ้น โดยกรอบกว้างๆ จะมีการส่งกรรมการเข้ามา บริหารตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยโครงสร้างคณะกรรมการธนาคารจะมีจำนวน 17 คน ธนาคาร ดีบีเอส มีสัดส่วนถือหุ้น 16% จะส่งกรรมการ 2 คน กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 30% จะส่งกรรมการประมาณ 4-5 คน เป็นกรรมการอิสระอีก 4 คน สำหรับในส่วนของ 3 เหล่าทัพ หลังจากควบรวมแล้วคงจะเหลือสัดส่วนประมาณ 7%
ด้านความคืบหน้าการทำเสนอซื้อหลักทรัพย์กิจการของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และไอเอฟซีทีระหว่างวันที่ 21 พ.ค. - 25 มิ.ย. 2547 ประสบความสำเร็จสูงมากโดยผู้ถือหุ้นทั้ง 2 แห่งให้ความร่วมมือในการแลกหุ้นอย่างเต็มที่ โดยมีสัดส่วนของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุประมาณ 99.32% ของไอเอฟซีทีประมาณ 98.45% ดังนั้นภายในวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 จะสามารถนำหุ้น ของทหารไทยซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ โดยหลักทรัพย์ของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุจะถูกเพิกถอนจากตลาดหลัก-ทรัพย์ฯ ในวันที่ 6 ก.ค.ทันที ส่วนของไอเอฟซีที คงจะต้องมีขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
|