แนเชอรัล พาร์ค เดินตามสูตร โตก้าวกระโดด โหมขยายอาณาจักรหวังทำธุรกิจแบบครบวงจร ทั้งกุมตลาดการเงิน- อสังหา-ระบบขนส่ง-ก่อสร้าง-ธุรกิจอาหาร พร้อมสยายปีกบุกตลาดต่างประเทศ หวังรายได้เงินตราต่างประ-เทศหล่อเลี้ยงธุรกิจ "เสริมสิน สมะลาภา" ชี้ต้องรู้จักสร้างกลุ่มลูกค้า ใหม่ๆเข้ามาเสริม ระบุเป็นการสร้างอัตราเติบโตแบบก้าวกระโดดตามทฤษฎีโตทั้งแนวราบ-แนวดิ่ง
การตัดสินใจซื้อหุ้นบริษัทฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ FNS จำนวน 18.5 ล้านหุ้น หรือ 15.42% รวมเป็นเงิน 740 ล้านบาท ของบริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) N-PARK ส่งผลให้ N-PARK กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ถือหุ้นรวมเป็น 18.75% ทำให้เกิดคำถามว่า การเร่งขยายอาณาจักรของบริษัท N-PARK ในครั้งนี้ก้าวมาถูกทางหรือไม่ และ ธุรกิจที่ N-PARK ตัดสินใจเข้าไปลงทุน จะเกื้อหนุนให้เครือข่ายเหล่านี้สร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าแค่ไหน หรือเป็นทฤษฎีใหม่ที่ธุรกิจอื่นๆ ควรศึกษาไว้
นายเสริมสิน สมะลาภา กรรมการผู้จัดการบริษัท แนเชอรัล พาร์คฯ ฉายภาพของกลยุทธ์ในการทำธุรกิจจากนี้ไปว่า การลงทุนในบริษัทฟินันซ่าฯ เป็นไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้ และตั้งแต่เริ่มต้นการทำธุรกิจจนถึงปัจจุบัน จะเรียกได้ว่ากลยุทธ์เดิมมาถึง 60% ใกล้สมบูรณ์แล้ว ซึ่งเป็นแนวทางของการสร้างความเติบโตให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความ ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจขาขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ในช่วงเศรษฐกิจขาลงธุรกิจอสังหาริม-ทรัพย์จะรับมือและปรับตัวได้แค่ไหน
"การลงทุนในฟินันซ่าจะช่วยให้บริษัทมีความพร้อมทางด้านแหล่งเงินทุน และสามารถใช้ประโยชน์ ของฟินันซ่าในการออกนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนบริษัทในเครือ เช่น การออกสินค้าเงินกู้ให้กับลูกค้าที่จะซื้อโครงการของบริษัท แสนสิริ ความพร้อมที่จะให้ออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เช่น การทำซิเคียวริไทเซชัน การทำมอร์เกตคัมปานี รวมถึงการใช้ฟินันซ่าเป็นที่ปรึกษาทางการเงินได้อีก นอกจากนี้ ทีมผู้บริหารในฟินันซ่ายังมีคนจากแชสแมนฮัตตัน นั่งทำงาน ซึ่งจะช่วยให้ต่อสายไปยังแหล่งระดมทุนในต่างประเทศได้" นายเสริมสินกล่าว
และอีกเหตุผลของการมีบริษัทฟินันซ่า จะช่วย เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ซึ่งเท่าที่ประเมิน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย แม้ในช่วงต้นปี 2548 จะทรงตัวอยู่ แต่ภายในปลายปี 2548 โอกาสดอกเบี้ยจะปรับขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องมีการกำหนดนโยบายที่เข้มงวด สถาบันการเงินจะระวังการปล่อยสินเชื่อ และบริษัทต่างๆจะมีความยากในการระดมทุนในตลาด
ทั้งนี้ ในเรื่องของทฤษฎีแล้ว N-PARK เลือกจะใช้ 2 รูปแบบ ควบคู่คือ การขยายตัวในแนวราบ (Horizontal Integration) ซึ่งเป็นการขยายสินค้าและบริการเดิมของบริษัทไปสู่ตลาดใหม่ๆ หรือการขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคอื่น ไม่ว่าการเข้าไปลงทุนใน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) เป็นธุรกิจแรก ซึ่งทำธุรกิจครอบคลุมที่พักอาศัยคอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยว การลงทุนทั้งหมด 24.8% รวมเป็นเงินลงทุน 1,530 ล้านบาท การเข้าไปลงทุนในบริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) (PA) เป็นเงินลงทุน 1,440 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53.9% และการเข้าไปลงทุน ในบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BMCL) 25% หรือ 2,520 ล้านบาท
สำหรับทฤษฎีแนวดิ่ง(Vertical Integration) นายเสริมสินกล่าวว่าเป็นการขยายกิจการของบริษัทไปยังธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ตามแนวความคิดของ นายไมเคิล อี พอร์เตอร์ ปรมาจารย์ด้านกลยุทธ์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เน้นสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยแยกกระบวนการทางธุรกิจออกเป็นขั้นตอน เพื่อให้เข้าใจถึงต้นทุนและวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจ ธุรกิจที่เกิดขึ้นตามแนวดิ่ง คือ การเข้าไปลงทุนในธุรกิจการบริการ เช่น ร้านอาคารชื่อดังจากประเทศฝรั่งเศสอย่าง Lenotre Paris หรือการเข้าไปลงทุนในบริษัท ซิน เท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)(SYNTEC) ซึ่งดำเนินธุรกิจก่อสร้างแบบครบวงจร
"ผมคิดว่าโมเดลตัวนี้ที่บริษัทดำเนินการอยู่ถูก ต้องตามหลักของทฤษฎี และจิ๊กซอว์ของเราเริ่มจะครบแล้ว ทั้งนี้โครงสร้างรายได้จากการลงทุนจะมีทั้งจากรายได้เงินบาท (Baht Zone) และรายได้จากเงินต่างประเทศ (Dollar Zone) ที่ไปลงทุนในต่างประเทศ สัดส่วนจะอยู่ที่ 50 : 50" นายเสริมสิน กล่าว
ล่าสุดบริษัทได้เข้าไปซื้อหุ้นใน Aimtop Investments Limited British Virgin Islands ( BVI ) เพื่อรองรับการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้านโรงแรมในทวีปยุโรป โดยขั้นแรกบริษัทจะเข้าไปลง ทุนซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัทดังกล่าวจาก Silverlink Holdings Limited ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของAman Resorts
นายเสริมสินกล่าวถึงแผนการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังว่า ตามแผนเดิมในปี 2547 ได้ตั้งงบลงทุน ประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการลงทุนไปแล้ว 3,000 ล้านบาท และยังคงเหลือประมาณ 2,000 ล้านบาท ในส่วนนี้ไม่นับรวมที่ลงทุนในบริษัทฟินันซ่าฯ ทั้งนี้เงินลงทุนที่เหลือจะเน้นไปขยายธุรกิจ ในตลาดต่างประเทศ ขณะเดียวกันบริษัทยังมีเพดาน กู้เงินจากสถาบันการเงินได้ 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทจะพยายามรักษาฐานการเงินโดยดูแลหนี้สินต่อทุน(D/E) ไม่ให้สูงเกินไป ปัจจุบันอยู่ที่ 1:1
|