ธุรกิจโรงพยาบาลถึงคิวปรับทัพใหญ่รับมือเปิดเสรีปี 48 กรุงเทพดุสิตเวชการ ฮุบสมิติเวช แถมดึงกรุงเทพภูเก็ต-กรุงเทพหาดใหญ่ -รพ.รามคำแหงมาควบรวมธุรกิจ กลายเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน รายใหญ่สุดของไทย ชูยกระดับไทยเป็น "ฮับ" ทางการแพทย์แห่งเอเชีย ฟุ้งปีนี้รายได้พุ่งเฉียดหมื่นล้านบาท ก่อนก้าวกระโดดเป็นกว่า 2 หมื่นล้านในระยะเวลา 5 ปี "วิชัย ทองแตง" ชี้ถึงยุคธุรกิจโรงพยาบาลต้อง ปรับตัว ขณะที่ รพ.บำรุงราษฎร์ไม่หวั่นศึกแข่งขัน พร้อมลงทุนรองรับลูกค้าต่างประเทศเพิ่ม
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โรงพยาบาลกรุงเทพ จำกัด เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวาระพิเศษ ครั้งที่ 3/2547 ของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BGH) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2547 มีมติปรับโครงสร้างการถือหุ้นด้วยการเข้าถือหุ้นของบริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) (สมิติเวช) บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ จำกัด (รพ.กรุงเทพหาดใหญ่) และบริษัท โรง-พยาบาลกรุงเทพภูเก็ต จำกัด (รพ.กรุงเทพภูเก็ต) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการให้บริการทางการแพทย์ของ ทั้งกลุ่ม และเพื่อความชัดเจนในการกำหนดนโยบายในการประกอบธุรกิจและการบริหาร งานในกลุ่มบริษัท ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อประโยชน์สูงสุดในการให้บริการทางการแพทย์
ทั้งนี้ BGH จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง และจะชำระค่าหุ้นด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท โดยไม่ได้เสนอทางเลือกอื่นที่เป็นเงินสด พร้อมกำหนดอัตราส่วนการแลกเปลี่ยนหุ้นไว้แล้ว
ปัจจุบัน BGH ถือหุ้นใน รพ.สมิติเวช 37% รพ. กรุงเทพภูเก็ต 49% และรพ.กรุงเทพหาดใหญ่ 68% สำหรับการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ BGH จะเข้าซื้อหุ้นของสมิติเวช จำนวน 63,205,983 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อย ละ 63.21 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยจะชำระค่าหุ้นดังกล่าวด้วยหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ในอัตราส่วน 1 หุ้นใหม่ของบริษัทตามมูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ต่อ 0.50 หุ้นสมิติเวช ตามมูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท (หรือเท่ากับอัตรา 2 หุ้นใหม่ของบริษัท ตามมูลค่าหุ้น ที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ต่อ 1 หุ้นสมิติเวช ตามมูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท)
ส่วนการซื้อหุ้นของรพ. กรุงเทพหาดใหญ่ จะคิดเป็น 32,224,000 หุ้น หรือร้อยละ 32.22 ของจำนวน หุ้นทั้งหมด โดยจะชำระค่าหุ้นดังกล่าวด้วยหุ้นเพิ่มทุน ใหม่ของบริษัทในอัตราส่วน 1 หุ้นใหม่ของบริษัทตาม มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ต่อ 1.66 หุ้นของรพ. กรุงเทพหาดใหญ่ ตามมูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท
ขณะที่การเข้าซื้อหุ้นของรพ. กรุงเทพภูเก็ต จะคิดเป็น 50,995,000 หุ้น หรือร้อยละ 50.99 ของจำนวน หุ้นทั้งหมด โดยจะชำระค่าหุ้นดังกล่าวด้วยหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ในอัตราส่วน 1 หุ้นใหม่ของบริษัท ตามมูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ต่อ 1.48 หุ้นของรพ. กรุงเทพภูเก็ตตามมูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท
นอกจากนี้ จะเข้าซื้อหุ้นของบริษัท โรงพยาบาล รามคำแหง จำกัด (มหาชน) (RAM) จากผู้ถือหุ้นเดิม ของรพ.รามคำแหง รวมจำนวนไม่เกิน 2,400,000 หุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ รพ.รามคำแหง ในราคาหุ้นละไม่เกิน 150 บาท เป็นเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 360 ล้านบาท
ชื่อกรุงเทพ-สมิติเวชยังอยู่ทั้งคู่
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์กล่าวต่อว่าบริษัทจะเพิ่มทุนตามมติบอร์ดอีก 180,500,000 บาท แบ่งออกเป็น หุ้นสามัญจำนวน 180,500,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นของรพ. สมิติเวช รพ.กรุงเทพหาดใหญ่ รพ.กรุงเทพภูเก็ต ซึ่งการเพิ่มทุนดังกล่าว จะทำให้มูลค่าหุ้นของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมเปลี่ยนแปลงประมาณ 15.3% ซึ่งการแลกหุ้นทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคมปีนี้
สำหรับรพ.สมิติเวช ยังคงเป็นบริษัทจดทะเบียนต่อไป ซึ่งราคาหุ้นจะสะท้อนสภาพคล่องและความพร้อมในการดำเนินงานของบริษัทซึ่งอนาคตจะต้องถอนออกจากตลาดหรือไม่นั้นต้องพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง และโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ยังคงดำเนินการตามปกติ และใช้แบรนด์เฉพาะของแต่ละแห่ง ซึ่งไม่มีการแย่งลูกค้ากัน และบริษัทจะศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาควบรวมโรงพยาบาล ในกลุ่มทั้ง 13 แห่งเพื่อให้เป็นหนึ่งเดียวในอนาคต
การปรับโครงสร้างการถือหุ้นครั้งนี้ เพื่อรองรับการเปิดเสรีการแพทย์ในปี 2548 ตามนโยบาย รัฐที่ต้องการยกระดับให้ไทยเป็นฮับทางการแพทย์ของเอเชีย และหนุนให้ธุรกิจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพลดต้นทุนการดำเนินได้ถึง 4 เท่า และมีความชัดเจนเรื่องการบริหาร ทำให้ครอบคลุมพื้นที่ ได้มากขึ้น
การควบรวมธุรกิจดังกล่าวจะทำให้ BGH เป็นเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ มีสินทรัพย์มีมูลค่ารวมกว่า 13,000 ล้านบาท จำนวนโรงพยาบาลเอกชนในเครือมากที่สุดถึง 13 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยกว่า 3,000 เตียง
สำหรับรายได้ของบริษัทปีนี้คาดว่าจะมีประมาณ 7 พันล้านบาท โตจากปีก่อน 26% และไตรมาส 4 รายได้จะพุ่งเป็น 1 หมื่นล้านบาทจากการ รวมกิจการ จากนี้ไป 5 ปีรายได้ของ BGH จะก้าวกระโดดเป็นกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนแผนการขยาย งานเตรียมเปิดโรงพยาบาลอีก 2 แห่งในปีหน้าด้วยงบประมาณ 300 ล้านบาท ก่อนจะรุกลงทุนในต่างประเทศในช่วงเวลา 5 ปีนี้ โดยอาจเป็นการลงทุนด้วย การสร้างใหม่หรือซื้อกิจการที่ดำเนินการอยู่แล้วพร้อม ยืนยันว่าต้องถือหุ้นมากกว่า 50% เพื่อต้องการเข้าไป บริหาร
กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2547 ในวันที่ 3 สิงหาคม 2547 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ กำหนดวันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2547 เวลา 12.00 น. จนกว่าการประชุมผู้ถือหุ้นจะแล้วเสร็จ เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นใน การเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2547
ถึงยุครพ.ปรับตัวรับศึกเปิดเสรี
นายวิชัย ทองแตง ประธานกรรมการ บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ โรงพยาบาลพญาไท กล่าวว่า การควบรวมกิจการของโรงพยาบาลกรุงเทพ กับ โรงพยาบาลสมิติเวชถือเป็นดีลที่ดีและน่าภูมิใจ ที่สำคัญยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลใหญ่ แห่งอื่น เนื่องจากการควบรวมกันของโรงพยาบาลเป็น ไปทิศทางที่ได้คาดการณ์กันไว้อยู่แล้วว่าธุรกิจโรงพยาบาลต้องอาศัยเครือข่าย และให้มีการบริการได้ครบวงจร
ทั้งนี้ เหตุผลของการควบรวมกันก็เพื่อลดต้นทุน และเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ภาวะการ แข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังการเปิดเสรีของไทย ซึ่งกำลังใกล้เข้ามาทุกที และยังเป็นการสร้างความแข็งแรงป้องกันการเข้ามาซื้อกิจการ ของยักษ์ใหญ่ต่างประเทศ
นอกจากนี้ การรวมกันยังมีความสัมพันธ์เกี่ยว โยงกับการรองรับการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาลด้วย โดยทำให้สามารถรองรับลูกค้าต่างประเทศได้มากขึ้น ในแง่การบริการ ก็มีความหลากหลายยิ่งขึ้น
นายวิชัย กล่าวว่า ไทยนั้นพร้อมอยู่แล้วในการ ที่จะเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในภูมิภาค เพราะพร้อม ทั้งด้านบุคลากรการแพทย์ และบริการที่ดีเยี่ยม แต่จะด้อยบ้างก็แต่เพียงประเทศสิงคโปร์ในเรื่องของเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ เพราะต้องลงทุนสูง ซึ่งที่สิงคโปร์สามารถเก็บค่ารักษาพยาบาลสูงได้ แต่ไทยทำไม่ได้ ดังนั้น การปรับปรุงสร้างเครือข่ายจะ ช่วยในเรื่องการใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
บำรุงราษฎร์ไม่หวั่นแข่งขัน
นายเคอร์ติส เจ.ชโรเดอร์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่าการ แข่งขันในธุรกิจโรงพยาบาลเป็นเรื่องปกติ หากไม่มีการแข่งขันก็จะไม่มีการพัฒนา สำหรับการรวมกิจการ กันของโรงพยาบาลอื่นนั้นคาดว่าจะไม่มีผลกระทบใน การดำเนินธุรกิจมากมาย เนื่องจากหัวใจในการดำเนินธุรกิจนี้คือตัวแพทย์ผู้ทำการรักษา เพราะคนไข้ ส่วนใหญ่มักจะยึดติดที่ตัวแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลบำรุง ราษฎร์ก็มีอาจารย์หมอที่มีความสามารถสูงอยู่แล้ว
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะรุกธุรกิจเพื่อดึงผู้ป่วยจากต่างประเทศและเริ่มรุกธุรกิจโรงพยาบาลในต่างประเทศด้วย โดยมีสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติประมาณกว่า 40% โดยผู้ป่วยจากตะวันออกกลางมีอัตราการเติบโตที่สูงที่สุด
นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะรุกตลาดต่างประเทศ โดยจะเริ่มต้นในทวีปเอเชีย ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างโรงพยาบาลสาขาในประเทศพม่าคือโรงพยาบาลปันลาย อินเตอร์เนชั่นแนล ขนาด 104 เตียงและโรงพยาบาลในบังกลาเทศจำนวน 300 เตียง ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศบังกลาเทศ
ดร.ญาดา อาภารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่าปีนี้บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของรายได้เป็น 4,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีรายได้ประมาณ 4,400 ล้านบาท และมีกำไรขั้นต้น อยู่ที่ 33-34% ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อน สำหรับรายได้รวมในไตรมาส 2/47 คาดว่าจะประมาณ 1,300 ล้านบาท โตขึ้น 30% จากไตรมาส2/46 และคาดว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้น 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนประมาณ 30%
"สำหรับการสร้างเครือข่าย บริษัทมีแผนที่จะรวมกิจการกับบริษัทย่อยคือ บริษัท บำรุงราษฎร์ เมดิ-คอล เซ็นเตอร์ จำกัด เพื่อให้บริษัทลูกสามารถสนับสนุน ทางด้านยาและบุคลากรให้บริษัทแม่ได้"
|