Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2541
ดอกหญ้าพลิกกลยุทธ์สู้ศึก'41 เสิร์ฟถึงบ้าน "หนังสือจานด่วน"             
 


   
search resources

ดอกหญ้า
Printing & Publishing




ขณะที่ธุรกิจสำนักพิมพ์และร้านหนังสือกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากต้นทุนกระดาษที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ยอดขายกลับทรุดฮวบ หลายบริษัทปิดตัวลงเพราะรับภาวะการขาดทุนไม่ไหว ปล่อยให้ค่ายใหญ่ๆ ได้ประลองฝีมือ กันเต็มพิกัด ใครมีไม้เด็ดเคล็ดวิชาอะไรก็งัดกันขึ้นมาใช้ซะให้หมด

ในการนี้ร้านหนังสือดอกหญ้า ดูจะพลาดไม่ได้ เพราะมักมีแผนการ ตลาดใหม่ๆ มาดึงดูดใจเหล่าหนอนหนังสืออยู่เสมอ

ล่าสุด ณรงค์ศักดิ์ ตันติพินิจวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.สามัคคีสาร (ดอกหญ้า) เผยสุดยอดกลยุทธ์ใหม่เอี่ยมอ่องเจ้าแรกในวงการหนังสือบ้านเราโดยนำเอาโนว์ฮาว (Know how) ในเรื่องโฮม ดีลิเวอรี ของเคเอฟซีมาใช้ ภายใต้โครงการสวยหรู "หนังสือจานด่วน" พร้อมทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องหวังเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีเวลาจำกัดใน กทม.และปริมณฑล

"โครงการนี้ เป็นการสั่งซื้อหนังสือทางโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต เพราะแนวโน้มลูกค้าเข้าร้านหนังสือน้อยลง เราจับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความสะดวกและมีเวลาน้อย โดยลูกค้าเริ่มแรกคือสมาชิกดอกหญ้าในเขตปริมณฑล ที่มีประมาณ 80,000-100,000 คน จากสมาชิกทั้งหมดประมาณ 130,000 คน" ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

เพียงหมุนโทรศัพท์เบอร์ 640-2424 สั่งซื้อหนังสือแล้วนั่งรออยู่กับบ้าน พนักงานของดอกหญ้าจะนำหนังสือไปส่งทันที โดยใช้บริการได้ทุกวัน ตั้งแต่ 9.00-17.00 น.

สำหรับเงื่อนไขในการสั่งซื้อก็ง่ายๆ คือ เมื่อสั่งซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ดอกหญ้ามูลค่าตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไปบริษัทจะบริการจัดส่งฟรี แต่หากมูลค่าต่ำกว่านี้ จะคิดค่าบริการ 30 บาท

แม้รูปแบบของหนังสือโฮม ดีลิเวอรีนี้จะยังไม่เคยปรากฏมาก่อนในธุรกิจนี้ แต่ณรงค์ศักดิ์ก็พร้อมที่จะเสี่ยง โดยเชื่อว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้โครงการประสบความสำเร็จดังที่หวัง

อย่างไรก็ตาม นิดดา หงษ์วิวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจสิ่งพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า บรรดาหนอนหนังสือทั้งหลายมักจะนิยมเลือกซื้อหนังสือตามร้าน หรืองานหนังสือต่างๆ มากกว่า เพราะจะมีโอกาสได้พลิกดูเนื้อหา ซึ่งนับว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง

"หลายครั้งการซื้อหนังสือเกิดขึ้นเพราะความไม่ตั้งใจ เพียงแต่เราไปพลิกดูเนื้อหาแล้วสนใจก็ซื้อ ยิ่งตามงานหนังสือต่างๆ เรามักจะได้หนังสือมามากกว่าที่คาดไว้เสมอ" นิดดากล่าว

เธอเชื่อว่าโครงการ "หนังสือจานด่วน" ของดอกหญ้า มีความเป็นไปได้ แต่ก็ยากที่จะคาดการณ์ คงต้องรอดูกันต่อไป

นักอ่านท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า โครงการนี้จะไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คนอ่านหนังสืออาจจะไม่ต้องการที่จะอ่านหนังสือเล่มนั้น ภายในวันนั้นแบบเร่งด่วนเหมือนความต้องการอาหาร บ่อยครั้งที่คนซื้อหนังสือมักจะซื้อมาเก็บไว้ รอจนกว่าจะมีเวลาว่างจึงเปิดอ่าน บางทีใช้เวลานานหลายเดือน แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจจะมีคนส่วนหนึ่งที่ต้องการหนังสือหรือข่าวสารบางอย่างในเวลาเร่งด่วน นับว่าโครงการนี้สร้างสรรค์ ทำให้มีอะไรแปลกใหม่และน่าสนใจ เพราะอาจจะมีคนจำนวนมากที่ไม่มีเวลาไปเลือกซื้อหนังสือตามร้าน หรือไม่สะดวกเพราะร้านหนังสือมักจะไม่มีที่จอดรถ จึงหันมาใช้วิธีสั่งซื้อแบบโฮม ดีลิเวอรีมากขึ้นก็ได้

ต่างคน ต่างความคิด ต่างพฤติกรรม กระนั้นณรงค์ศักดิ์ก็เชื่อมั่นและตั้งเป้ายอดขายในโครงการนี้ขั้นต่ำเดือนละ 1 ล้านบาท

อันที่จริงการขายหนังสือผ่าน อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ หรือสั่งซื้อทางไปรษณีย์นั้นประสบความสำเร็จอย่างมากในต่างประเทศ เนื่องจากสภาพสังคมและเทคโนโลยีเอื้ออำนวย แต่สำหรับประเทศไทยนั้นจะถึงเวลาหรือยัง ดอกหญ้าจะเป็นรายแรกที่เข้ามาพิสูจน์ตลาดไทย

อย่างไรก็ตามลักษณะของการขายหนังสือทางอินเตอร์เน็ตนี้ ร้านหนังสือจุฬาฯ ก็มีการทำอยู่เหมือนกัน แต่มิใช่ลักษณะของโฮม ดีลิเวอรีแบบจานด่วนเช่นนี้ ส่วนการขายผ่านทางไปรษณีย์ก็มีการทำกันมานานแล้ว โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ที่ยังไม่มีร้านหนังสือเป็นของตัวเอง มักจะเพิ่มยอดขายโดยตรงกับสมาชิกด้วยวิธีนี้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร

ล่าสุด สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ซึ่งใช้วิธีขายทางไปรษณีย์ในราคาพิเศษกับสมาชิก เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ก็เพิ่งลงทุนเปิดร้านหนังสือของตัวเองอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้

การเพิ่มยอดขายด้วยการหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ที่สะดวกรวดเร็วเข้ากับยุคสมัยเช่นนี้ มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ทุกค่าย จำเป็นต้องดิ้นรนหาทางรอดในเศรษฐกิจยุคไอเอ็มเอฟเช่นนี้ สำหรับดอกหญ้าซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องกลยุทธ์การตลาดย่อมต้องเปิดคัมภีร์ งัดทุกกระบวนท่าออกมาสู้ศึก

ณรงค์ศักดิ์ เปิดเผยว่า หนังสือใหม่ของดอกหญ้า จะมีการปรับราคาขึ้นอีก 30% เนื่องจากต้นทุนรวมเพิ่มสูงขึ้น 35% โดยแบ่งเป็นต้นทุนค่ากระดาษ 25% และลิขสิทธิ์หนังสือ 10% ส่วนหนังสือเก่าที่มีการพิมพ์ซ้ำจะขายในราคาเดิม

ทั้งนี้บริษัทมีแผนออกหนังสือใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ อย่างน้อยเดือนละ 1 เรื่อง และจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องควบคู่กันไป โดยตั้งเป้ายอดขายปีนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มียอดขาย 960 ล้านบาท

"การที่บริษัทประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องในขณะนี้ เป็นผลมาจากการเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงได้ขยายการลงทุนออกไปมาก เราได้แก้ปัญหาโดยการเพิ่มทุนจำนวน 150 ล้านบาท รวมเป็น 300 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของดอกหญ้าลดลงเหลือ 30% โดยผู้ที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนคือ สำนักพิมพ์ไทม์ของสิงคโปร์ สำนักพิมพ์ไจซ์ (เจเอไอซี) ของญี่ปุ่น และนักลงทุนในประเทศอีก 2 ราย" ณรงค์ ศักดิ์ กล่าว

การเพิ่มทุนครั้งนี้ช่วยให้สภาพคล่องของบริษัทดีขึ้น และสามารถยืนหยัดในวงการหนังสือต่อไปได้อีกนาน แม้ความฝันที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์จะต้องเลื่อนออกไปอีกประมาณ 3-4 ปีก็ตาม

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us