ในปัจจุบันกิจการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างเนื่อง และสามารถเป็นอาชีพที่ให้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจเนื่อง
จากความต้องการบริโภคอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนและการขยายฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้มีขนาดใหญ่จึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากเนื้อสัตว์ หรือน้ำนมที่ได้จากสัตว์แล้ว ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดตามมา
คือ ปัญหาด้านสภาวะแวดล้อมอันเนื่องมาจากมูลสัตว์และของเสียต่างๆ เพราะส่วนใหญ่ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ยังไม่สามารถหาวิธีกำจัดของเสีย
ที่มีปริมาณมากได้อย่างถูกต้อง จึงเกิดปัญหามลภาวะในฟาร์ม สภาวะแวดล้อมใกล้เคียงและชุมชน
ทั้งในเรื่องของกลิ่น แมลงวันและน้ำเสีย
อย่างเช่นฟาร์มเลี้ยงสุกร ซึ่ง นับว่ามีปัญหาเรื่องสภาวะแวดล้อมอย่างมากชนิดครบเครื่อง
จึงมีข่าวออกมาเป็นระยะๆ ว่า ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับฟาร์มเลี้ยงสุกรเกิดความ
ไม่พอใจ บางแห่งถึงขั้นฟ้องร้องหรือประท้วงให้ปิดกิจการฟาร์ม
ทำให้ทางการได้เล็งเห็นและเข้าใจปัญหาเหล่านี้จึงคิดหาวิธีแก้ปัญหาขึ้นมา
โดยมีหน่วยบริการก๊าซชีวภาพ (นบก.) สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(มช.) เป็นผู้ดำเนินการ กับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
(สพช.) ได้เข้ามาสนับสนุนในด้านงบประมาณ ล่าสุด สพช.ได้สนับสนุนเงินไปแล้วจำนวน
123.7 ล้านบาท แก่ มช. และ 10.6 ล้านบาท แก่สถาบันพัฒนาและส่งเสริมปัจจัยการผลิต
กรมส่งเสริมการเกษตร ในโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์
โดยจะเน้นฟาร์มสัตว์ตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลางและใหญ่
สาเหตุของโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพที่เลือก ดำเนินการในฟาร์มเลี้ยงสุกรนั้น
เนื่องจากมูลและปัสสาวะสุกร ถือได้ว่าเป็นแหล่งของวัตถุดิบผลิตใช้แทนพลังงานจากก๊าซหุงต้ม
(LPG) น้ำมันเชื้อเพลิง และพลังงานไฟฟ้าได้ดี และยังเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์
สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเรือนกระจก ขจัดมลภาวะจากกลิ่นและแมลงวัน
รวมทั้งลดมลพิษในรูปของสารอินทรีย์ในรูปของ biological oxygen demand (BOD)
และ chemical oxigen demand (COD) ได้ประมาณ 70-90% ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาน้ำในแม่น้ำลำคลองเน่าเสีย
รวมทั้งยังได้ปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีอีกด้วย
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวผ่านการดำเนิน งานระยะที่หนึ่ง คือ ระหว่างปี 2539-2540
เป็นการสร้างรากฐานของโครงการฯ ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณกำลังคน เทคโนโลยี
การจัดการประชาสัมพันธ์ โดยค่อยๆ เพิ่มจำนวนระบบที่จะก่อสร้างจาก 3,000 ลบ.ม.
ในปีแรก เป็น 7,000 ลบ.ม. ในปีที่สอง ซึ่งจะสามารถผลิตพลังงานและกำจัดของเสียจากหมูได้
60,000 ตัว สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 1.8 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เทียบเท่ากับก๊าซหุงต้ม
(LPG) 0.8 ล้านกิโลกรัมต่อปี เมื่อเทียบเป็นมูลค่าเงินที่ประหยัดได้ประมาณ
10.72 ล้านบาทต่อปี (เทียบกับราคาก๊าซหุงต้ม 13.4 บาทต่อกิโลกรัม) และในภาพรวมโดยเฉลี่ยแล้ว
สามารถลดการใช้กระแสไฟฟ้าจากค่าใช้จ่ายเดิมลงได้ประมาณ 50-80%
ลักษณะการเข้าไปดำเนินการในโครงการฯ นบก./มช. จะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด เช่น
การประมาณการราคาค่าก่อสร้างระบบปั๊มลำเลียงน้ำเสีย ระบบจ่ายพลังงานก๊าซชีวภาพ
และระบบผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้า ขณะที่ สพช. จะจ่ายเงินอุดหนุนการลงทุนก่อสร้างให้เจ้าของฟาร์ม
ที่ผ่านการพิจารณาแล้ว 33% ส่วนอีก 67% เจ้าของฟาร์มต้องลงทุนเอง โดยโครงการฯ
นี้เจ้าของฟาร์มสามารถขอกู้เงินกับธนาคารการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) และกองทุนสิ่งแวดล้อม
สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม โดยมีฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการ แล้ว 4 ฟาร์ม
คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 39.7 ล้านบาท เป็นส่วนของกองทุนฯ 11.28 ล้านบาท
ในระยะที่สอง (2541-2545) ได้ตั้งเป้าหมายให้ติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพให้ได้อีก
40,000 ลบ.ม. คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 160 ล้านบาท สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ
7.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทดแทนก๊าซหุงต้มได้ประมาณ 3.3 ล้านกิโลกรัมต่อปี
หรือผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 8.6x106 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ช่วยบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ
2.9 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี หรือบำบัดความสกปรกในรูปของ COD ได้ปีละไม่น้อยกว่า
40 ล้านกิโลกรัม กำจัดของเสียจากสุกรได้ 240,000 ตัว หรือ 2.4% ของสุกรทั้งประเทศ
และผลิตปุ๋ยอินทรีย์บำรุงได้ประมาณ 26 ล้านกิโลกรัมต่อปี คิดเป็นเงินที่ได้จากโครงการประมาณ
70 ล้านบาทต่อปี
ส่วนระหว่างปี 2546-2549 เจ้าของฟาร์มจะต้องรับภาระในการลงทุนเองทั้งหมด
ส่วน นบก./มช. และ สพช. จะเป็นเพียงการให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ เท่านั้น และคาดว่าจะสามารถผลิตพลังงานได้เท่ากับก๊าซหุงต้มได้ประมาณ
207 ล้านกิโลกรัม และกำจัดของเสียจากสุกรประมาณ 1 ล้านตัว
สำหรับโครงการส่งเสริมบ่อก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก ซึ่งจะเน้นในฟาร์มที่มีขนาดเล็ก
คือ มีสุกรตั้งแต่ 500 ตัวลงมา จะอยู่ภายใต้โครงการก๊าซชีวภาพไทย-เยอรมนี
โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมมือกับ มช. และองค์การ GTZ ประเทศเยอรมนี
เป้าหมายของโครงการดังกล่าวจะให้เจ้าของฟาร์มสร้างระบบก๊าซชีวภาพ จำนวน 5,000
ลบ.ม. ในระยะ 2 ปีแรก คือในปี 2539-2540 ที่ผ่านมา และภายใน 6 ปี ตั้งแต่
ปี 2539-2544 จะสร้างระบบก๊าซชีวภาพให้ได้ จำนวน 20,000 ลบ.ม. ซึ่งจะทำให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานเทียบเท่าก๊าซหุงต้ม
877,200 ล้านกิโลกรัมต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท
โครงการฯนี้เสนอให้เงินอุดหนุนแก่เจ้าของฟาร์มที่สนใจสร้างระบบก๊าซชีวภาพในอัตรา
45% ของค่าลงทุน คิดเป็น เงิน 4.04 ล้านบาท ใน 2 ปีแรก และให้เงินแก่กรมส่งเสริมการเกษตร
จำนวน 6.60 ล้าน บาท อีกทั้งเงินที่ขอรับการสนับ สนุนจากกองทุนฯ ตลอดทั้งโครงการ
6 ปี อีกจำนวน 32.77 ล้านบาท โดยเป็นเงินอุดหนุนแก่เกษตรกร 17.71 ล้านบาท
ให้กรมส่งเสริมการเกษตร 15.06 ล้านบาท
ทีนี้เจ้าของฟาร์มที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ ไม่เฉพาะฟาร์มสุกรเท่านั้น
เจ้าของฟาร์มโคหรือเจ้าของฟาร์มสัตว์อื่นก็สามารถเข้าร่วมได้ นอกจากจะได้ประโยชน์แก่ตัวเองแล้วยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่มากขึ้นอีกด้วย