นับตั้งแต่กระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรรัฐบาลครั้งแรกเมื่อปี 2476 จึงถือได้ว่าตลาดตราสารหนี้ไทยได้มีการพัฒนามากว่า
65 ปีแล้ว ในช่วงเริ่มแรกตราสารหนี้ในตลาดส่วนใหญ่เป็นของภาครัฐ โดยมีสัดส่วนของพันธบัตรภาครัฐมีมูลค่าสูงถึง
90% ของมูลค่าตลาดรวม เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องลงทุนในโครงการต่างๆ
เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ในขณะที่ตราสารหนี้ของภาคเอกชนเพิ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
การระดมทุนของภาครัฐโดยการออกพันธบัตรมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะหลังจากปี 2504 เป็นต้นมา ซึ่งช่วงนั้นรัฐบาลมีรายจ่ายสูงกว่าการจัดเก็บภาษีเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากเป็นช่วงการมุ่งเน้นพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก
ส่งผลให้งบประมาณของรัฐบาลขาดดุลอย่างต่อเนื่อง และมีความจำเป็นต้องระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลทุกปี
มูลค่าพันธบัตรที่ออกในช่วงปี 2523-2526 มีอัตราการขยายตัวสูงถึงปีละ 17%
หลังจากรัฐบาลมีฐานะการคลังดีขึ้น นับจากนั้นเป็นต้นมาจึงไม่เห็นพันธบัตรรัฐบาลออกสู่ตลาดอีกเลยจนถึงปัจจุบัน
สำหรับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในอดีตมีการระดมทุนโดยออกตราสารหนี้น้อยมาก
และส่วนใหญ่จะเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากติดปัญหากฏระเบียบของทางการ
และผู้ลงทุนขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตราสารหนี้ อย่างไรก็ตาม พันธบัตรภาคเอกชนก็ขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี
2535-2540 โดยมีมูลค่า 5.1 พันล้านบาท, 25.3 พันล้านบาท, 86.1 พันล้านบาท,
133.6 พันล้านบาท, 182.4 พันล้านบาท และ 187.7 พันล้านบาท ตามลำดับ
แม้ว่าตลาดตราสารหนี้ไทยจะเกิดขึ้นมานาน แต่นับว่ายังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดการเงินอื่นๆ
ดูได้จากปี 2539 ตลาดตราสารหนี้มีขนาดเพียง 11% ของเงินกู้ยืมธนาคาร หรือ
20% ของมูลค่าหุ้นในตลาด หลักทรัพย์ และ 11% ของ GDP และถ้าดูโดยภาพรวม ของตลาดการเงินทั้งระบบแล้วตลาดตราสารหนี้คิดเป็นสัดส่วน
7% ของตลาดการเงินทั้งระบบ ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ในต่างประเทศ เช่น อเมริกา
ญี่ปุ่น ในปี 2537 ขนาดของตลาดตราสารหนี้มีอัตราส่วนสูงถึง 110% และ 74%
ของ GDP ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดในภูมิภาคเอเชีย เช่น มาเลเซียและฟิลิปปินส์
ขนาดของตลาดตราสารหนี้คิดเป็นสัดส่วน 56% และ 39% ของ GDP (พิจารณาตาราง)
ดังนั้นตลาดตราสารหนี้ไทยยังมีศักยภาพที่จะสามารถเติบโตได้อีกมาก