หลังจากนี้ไป ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้คงจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย
ให้เติบโตทัดเทียมต่างประเทศได้ จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจากระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ย่อมแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้มีความแข็งแกร่ง
เพื่อสร้างความสมดุลและความสมบูรณ์ให้แก่ระบบการเงินของประเทศในอนาคต
ปี 2535 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ถูกประกาศใช้ ทำให้ภาครัฐและเอกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของตลาดตราสารหนี้
ต่อมาในปี 2537 สมาคมหลักทรัพย์ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) ให้ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ และในปีเดียวกันได้มีการจัดตั้งตลาดรองตราสารหนี้ภายใต้ชื่อ
ชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ (Bond Dealers Club : BDC) ภายใต้โครงสร้างการดำเนินงานของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์
การจัดตั้งชมรมฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย
และมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ตลาดตราสารหนี้ไทยพัฒนาไปได้ในระดับหนึ่ง ประกอบกับการดำเนินมาตรการของทางการในการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง
ได้ช่วยสนับสนุนและพัฒนาให้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมูลค่าตราสารที่ออกมาตั้งแต่ปี
2535-2540 มีมูลค่า 215.1 พันล้าน บาท, 261.9 พันล้านบาท, 339 พันล้านบาท,
424.4 พันล้านบาท, 514.3 พันล้านบาท และ 526.1 พันล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตมากกว่า
140%
"การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากปี 2535 เป็นต้นมา
การพัฒนามีความชัดเจนมากขึ้น เพราะได้ช่วยลดอุปสรรคการระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้
โดยเฉพาะตราสารหนี้ภาคเอกชน อีกทั้งได้มีความพยายามที่จะพัฒนาตลาดตราสารหนี้
ทำให้ปริมาณของตราสารหนี้ที่ออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว" จรุงพร หุ่นศิริ
อดีตผู้จัดการทั่วไป ชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ กล่าวถึงความสำคัญของตราสารหนี้
นอกจากนี้ชมรมฯ ยังได้พัฒนาระบบการซื้อขายโดยใช้สื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น
เรียกว่า "BONDNET" เพื่อให้บริการซื้อขายตราสารหนี้ระหว่างสมาชิก
เพราะการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดสากลทั่วไป จะมีลักษณะเปิดกว้างและใช้โทรศัพท์เพื่อตกลงการซื้อขาย
"BONDNET ช่วยทำให้เกิดการรวมศูนย์ฯ ของอุปสงค์ อุปทานและทำให้เกิดประสิทธิภาพในการติดตามข้อมูลของตลาด
รวมถึงอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม ทั้งด้านการซื้อขายและการชำระราคาและส่งมอบ"
จรุงพร กล่าว
กล่าวได้ว่า BONDNET มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ เพราะนอกจากจะช่วยให้สมาชิกติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดได้อย่างรวดเร็ว
ยังช่วยย่นระยะเวลาในการทำการซื้อขายและความสะดวกในการตัดสินใจซื้อขาย เพราะให้บริการข้อมูลที่สำคัญในการซื้อขาย
ในขณะที่มูลค่าการซื้อขายผ่านระบบ BONDNET เพิ่มสูงขึ้นจากมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนในปี
2537 ประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็น 4,294 ล้านบาทในปี 2538 และ 16,717 ล้านบาทในปี
2539 คิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปีประมาณ 290% แต่ในปี 2540 มูลค่าการซื้อขายมีแนวโน้มลดลงโดยเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ
8,849 ล้านบาท เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ
ยกระดับเป็นศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
หลังจากทำงานหนักมาตลอดเวลา และในวันนี้ความเป็นจริงได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อชมรมซื้อขายฯ
ได้ถูกยกระดับให้เป็นศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ (The Thai Bond Dealing Centre
: THAI BDC) โดยจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลภายใต้กฏหมาย ก.ล.ต. ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์
อีกต่อไป สาเหตุที่ยกระดับขึ้นมาเป็นศูนย์ซื้อขายฯ เพื่อความคล่องตัวในการทำงานและให้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น
"เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าเมื่อเป็นศูนย์ซื้อขายฯ แล้วจะเป็นตลาดรองของการซื้อขายตราสารหนี้ที่สมบูรณ์แบบ
มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ครบวงจร มีการส่งเสริมทั้งด้านอุปสงค์ อุปทานที่มีประสิทธิภาพ"
จรุงพร ในฐานะกรรมการผู้จัด การศูนย์ซื้อขายฯ กล่าวถึงบทบาทใหม่ที่ต้องดำเนินการ
จรุงพรกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้การทำงานต่ออุตสาหกรรมได้มากขึ้น
โดยจะให้ความสำคัญในเรื่องการรายงานข้อมูล ระบบชำระราคาและส่งมอบ และเรื่องการกำกับดูแลตัวเอง
(self-regulation) "คือยกมาตรฐานอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อความคาดหวังให้การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยให้มีสภาพคล่อง
ได้รับความนิยมมากขึ้น และประชาชนที่จะใช้ตลาดตราสารหนี้ในการบริหารทางการเงินได้ดีขึ้น
ในเรื่องของการออมในระยะกลางและระยะยาว หัวใจสำคัญของการยกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กร
ให้สามารถตอบสนองพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินให้ครบวงจรมากขึ้น"
โดยด้านตราสารหนี้ ศูนย์ซื้อขายฯ จะนำพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเข้าเป็นตราสารหนี้ขึ้นทะเบียน
ซึ่งจะมีผลทำให้ปริมาณของตราสารหนี้ขึ้นทะเบียนเพิ่มจากเดิม 138 รายการ มูลค่ารวมประมาณ
181,482 ล้านบาท เป็น 301 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 489,977 ล้านบาท ส่งผลให้พันธบัตรรัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนสูงที่สุดเท่ากับ
62% ของมูลค่าตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนในศูนย์ซื้อขายฯ ทั้งหมด ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนเดิมมีสัดส่วน
69% ลดลงเหลือ 26% (พิจารณากราฟ)
"การดำเนินครั้งนี้เป็นมาตรการที่ต้องการรวบรวมพันธบัตรภาครัฐ ให้เข้ามาเป็นตราสารหนี้ขึ้นทะเบียนกับเราให้มากที่สุด
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกผู้ลงทุน ในการติดตามข้อมูลและความเคลื่อนไหวของตราสารหนี้"
จรุงพร กล่าว
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา รัฐบาลมีฐานะการคลังเกินดุลมาตลอด
ซึ่งภายใต้ พ.ร.บ.เงินคงคลังจะไม่อนุญาตให้รัฐบาลกู้เงินในภาวะที่มีงบประมาณสมดุล
ทำให้ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาจึงไม่มีการออกพันธบัตรเพิ่มเติม
ปัจจุบันมูลค่าของพันธบัตรรัฐบาลจึงมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ โดยปี 2540 มีมูลค่าเพียงประมาณ
13.7 พันล้านบาท ซึ่งถ้าไม่มีการออกพันธบัตรรัฐบาลอีก ต่อไปมูลค่ารวมจะเป็นศูนย์ในระยะเวลาอันใกล้นี้
สำหรับพันธบัตรรัฐวิสาหกิจได้เข้ามามีบทบาทและความสำคัญขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการกำหนดเพดานเงินกู้ต่างประเทศของรัฐบาล ทำให้รัฐวิสาหกิจหันมาระดมทุนในประเทศมากขึ้น
ส่งผลให้มูลค่าพันธบัตรรัฐวิสาหกิจขยายตัวจาก 9.1 พันล้านบาทในปี 2531 เป็น
288.2 พันล้านบาทในปี 2540 อย่างไรก็ตามพันธบัตรรัฐวิสาหกิจยังมีข้อจำกัดในด้านต่างๆ
ที่ยังไม่เอื้อให้เกิดการซื้อขายในตลาดรอง อีกทั้งพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่ออกในช่วง
10 ปีที่ผ่านมาจะค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง ทำให้สถาบันการเงินจะถือครองไว้เพื่อดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาล
ทำให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดรองมีน้อยมาก (Captive market)
"จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นว่า ขณะนี้ภาคเอกชนไม่มีแรงที่จะออกหุ้นกู้
เราจึงพยายามทำให้คนเห็นความสำคัญในการพัฒนาตราสารหนี้ เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการออมของประชาชน
และเป็นช่องทางของรัฐบาลในการระดมทุน ดังนั้นเราพยายามกระตุ้นให้รัฐบาลออกตราสาร
โดยเราจะกระตุ้นในเรื่องนโยบายเพราะยังติดเงื่อนไข พ.ร.บ.เงินคงคลัง หรือ
เงื่อนไข IMF ที่ยังไม่อยากให้รัฐวิสาหกิจก่อหนี้อีก ดังนั้นการที่จะให้เขาออกพันธบัตรก็เป็นปัญหาพอสมควร
แต่ก็เห็นช่องทางให้รัฐบาลออกพันธบัตรได้ ซึ่งเราค่อนข้างมั่นใจว่าภายในปีนี้รัฐบาลจะต้องออกพันธบัตรมา"
จรุงพร กล่าว
ด้านการพัฒนาการให้บริการด้านข้อมูลและการรายงานข้อมูล ศูนย์ซื้อขายฯ ได้กำหนดการรายงานข้อมูล
2 ด้าน คือ ด้านข้อมูลตราสารหนี้และด้านข้อมูลการซื้อขาย โดยจะจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อการลงทุน
(Bond Information Service : BIS) ซึ่งเป็นระบบที่ให้บริการโดยผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์และเอกสาร
ซึ่งจะให้บริการทั้งผู้เป็นสมาชิกและผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของศูนย์ซื้อขายฯ
"การพัฒนาระบบ BIS เราแบ่งเป็น 3 ระยะ ในระยะแรกทำเสร็จแล้ว เช่น
ข้อมูลที่ปรากฏบนจอ จะเหมือนกับข้อมูลในระบบซื้อขาย BONDNET โดยตัดขั้นตอนการซื้อด้วยอิเล็กทรอนิกส์ออก
ระยะที่ 2 จะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายนปีหน้า โดยจะพัฒนาให้ระบบข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
และระยะสุดท้ายจะเป็นการให้บริการข้อมูลแบบไร้ขีดจำกัด" จรุงพร กล่าว
ส่วนการพัฒนาด้านระบบซื้อขาย ซึ่งปัจจุบันการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองจะใช้ระบบ
BONDNET คือ การซื้อขายโดยใช้โทรศัพท์ (Telephone Trading) เป็นการซื้อขายแบบ
Point to Point และการซื้อขายโดยใช้เครือข่ายทางคอมพิวเตอร์ (Electronic
Screen Trading) จากระบบดังกล่าวศูนย์ซื้อขายฯ ได้พัฒนาให้มีประสิทธิภาพ
ด้วยการที่สมาชิกสามารถกำหนดวงเงิน (Credit Line) ที่ต้องการทำการซื้อขายกับสมาชิกคู่ค้า
โดยผ่านการซื้อขายแบบไม่เปิดเผยตน (Blind Dealine) ของ BONDNET ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกสามารถลดความเสี่ยงระหว่างคู่ค้า
(Counterparty Risk) ในการซื้อขายได้
"ในระบบการซื้อขายเราไม่สามารถไป quote ความเสี่ยงของคู่ค้าได้ ดังนั้นเราจะต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วยจำกัดความเสี่ยงได้"
ตลาด Repo สมบูรณ์แบบแน่นอน
ตลาดซื้อคืน (Repo Market) เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ทางหนึ่ง
และช่วยพัฒนาตลาดเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถือได้ว่าหลักของธุรกรรมซื้อคืนเพื่อให้เป็นกลไกในการบริหารเงินระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแม้ว่าเครื่องมือและช่องทางในการบริหารเงินระยะสั้นได้พัฒนาไปหลายรูปแบบ
แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ เช่น ตลาดซื้อคืนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งสถาบันการเงินที่จะเข้าไปทำธุรกรรม
มีเพียงธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์บางส่วน ขณะที่หลักทรัพย์ค้ำประกันที่ใช้เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมซื้อคืน
จะใช้ได้เฉพาะพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย
และมี ธปท.เป็นนายทะเบียน หรือในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคาร (Inter-bank Market)
และตลาดกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงิน (Inter-finance Market) ซึ่งเป็นแหล่งบริหารสภาพคล่องระยะสั้นที่สำคัญ
"และด้วยลักษณะของตลาดทั้งสอง จะเป็นการกู้ยืมแบบไม่มีหลักค้ำประกัน
(Clean Loan) ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในสภาวะที่ตลาดขาดสภาพคล่องหรือผู้ฝากเงินขาดความมั่นใจ
สุดท้ายภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะถูกผลักต่อไปยังภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ฝากเงินและบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน"
จรุงพร กล่าวถึงผลเสียที่ไทยไม่มีตลาดซื้อคืนที่สมบูรณ์
ดังนั้นตลาดซื้อคืนจึงเป็นตลาดที่ไทยจะต้องมี เพราะธุรกรรมซื้อคืนเป็นการอาศัยกลไกของการซื้อขายหลักทรัพย์
ทำให้เกิดเป็นลักษณะการกู้ยืมเงินระยะสั้นแบบมีหลักประกัน (Secured Loan)
และเป็นการเชื่อมโยงให้ผู้ต้องการเงินทุนระยะสั้นและผู้มีเงินออมและต้องการลงทุนมาพบกัน
ซึ่งตลาดซื้อคืนจะเป็นช่องทางที่ช่วยเสริมสภาพคล่องในตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศ
ซึ่งจะช่วยให้ระบบการเงินของประเทศเกิดความสมดุล และสามารถพัฒนาไปอย่างสอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
"ในต่างประเทศตลาดซื้อคืนจะมีสัดส่วนมากกว่า cash trading แต่ลักษณะการพัฒนาจะเริ่มจาก
cash trading ก่อน จากนั้นตลาดซื้อคืนจึงจะเข้ามา เพราะว่า bond เป็นตราสารที่มีอายุ
ถ้าเกิดซื้อ bond รัฐบาลแล้วไม่อยากขาย แต่ขาดเงินก็เข้าไปในตลาดซื้อคืน
คือ ไปกู้เงินและนำ bond ที่ถืออยู่ไปค้ำประกัน (collateral) อาจจะกู้ระยะสั้นหรือระยะยาวก็ได้
โดยไม่ต้องขาย bond ออกไป" จรุงพร กล่าว
การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมาดำเนินมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่ก็ยังไม่พัฒนาขั้นสมบูรณ์แบบ
ประกอบกับเจอความผันผวนด้านเศรษฐกิจส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้เริ่มซบเซา พันธบัตรภาคเอกชนเริ่มหดหาย
ขณะที่พันธบัตรภาครัฐที่นับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของตลาดตราสารหนี้กลับไม่มีอุปทาน
ถ้าพันธบัตรทั้งภาครัฐและเอกชนมีปริมาณเพียงพอ นอกจากจะเป็นการระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ
ยังช่วยให้เกิดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในตลาด อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการระดมเงินออมได้อีกทางหนึ่ง
ดังนั้นการพัฒนาตราสารหนี้เพื่อให้เป็นตลาดทุนระยะยาว จึงมีความจำเป็นต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ