Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2541
ทางด่วนข้อมูล ถนนสายนี้ใครจอง!             
 


   
search resources

Telecommunications




"เคเบิลใยแก้วนำแสง" เส้นทางลำเลียงข้อมูลภาพและเสียงในยุคดิจิตอล เส้นทางสายนี้กำลังเป็นแหล่งกำเนิดสินค้าและบริการต่างๆ ในโลกอนาคต การผนึกกำลังระหว่างค่ายซีพีกับไมโครซอฟท์ และยูคอมกับโลตัสดีเวลอปเม้นท์ย่อมไม่ธรรมดา เพราะนี่เป็นการชิงชัยของการเป็น "จ้าวอิเล็กทรอนิกส์ซูเปอร์ไฮเวย์" กำลังเริ่มขึ้นแล้ว และใครจะเป็นผู้ครอบครองทางด่วนข้อมูลสายนี้ ?

เส้นเคเบิลใยแก้วเส้นเล็กขนาดเท่าเส้นผม ที่ร้อยเกี่ยวกระหวัด มัดรวมเป็นหนึ่งเดียว ถูกวางใต้ผิวถนนไปตามเส้นทางเดินของสายโทรศัพท์ที่ถูกลากผ่านไปตามชุมชน และบางเส้นทางของเส้นใยแก้วยังถูกโยงใยคู่ขนานไปกับเส้นทางโทรศัพท์มือถือ ไปสู่จังหวัดต่างๆ ของเมืองไทย

เส้นทางนี้ไม่ใช่ถนนธรรมดา แต่เป็นเส้นทางสายพิเศษที่จะลำเลียงข้อมูลภาพและเสียง ส่งในรูปแบบต่างๆ ที่เรียกว่า บริการมัลติมีเดีย หรือสื่อผสม จากผู้ให้บริการไปถึงมือผู้รับบริการปลายทาง

ด้วยประสิทธิภาพของเคเบิลใยแก้วนำแสงเล็กๆ เส้นนี้ ที่ทำหน้าที่แปลงสัญญาณข้อมูลภาพและเสียงให้เป็นคลื่นแสง ทำให้บริการที่ถูกส่งออกไปไม่ถูกรบกวนจากสัญญาณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นแม่เหล็ก และที่สำคัญเคเบิลใยแก้วนี้เป็นระบบดิจิตอล จึงทำให้สามารถส่งข้อมูลภาพและเสียงไปพร้อมๆ กัน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการให้บริการได้หลายรูปแบบ เช่น การเรียนการสอนทางไกล บริการเทเลเมดดิซีน, บริการประชุมทางไกล, การซื้อสินค้าทางไกล

และนี่เองที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทุนสื่อสารของเมืองไทย ต่างทุ่มเม็ดเงินลงทุนในการสร้างเส้นทางด่วนข้อมูล ทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนของกลุ่มทีเอและยูคอม เป็นสองทุนสื่อสารที่ออกมาเคลื่อนไหวมากที่สุดในห้วงเวลานี้

อันที่จริงแล้วหลายหน่วยงานของเมืองไทย ก็มีการนำเคเบิลใยแก้วนำแสงมาใช้เมื่อหลายปีมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยและธนาคาร รวมทั้งหน่วยงานรัฐหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะใช้ภายในองค์กร

ส่วนโครงการขนาดใหญ่จะเป็นการให้บริการโดยหน่วยงานรัฐก็คือ โครงการเคเบิลใยแก้วตามรางรถไฟ, เคเบิลใยแก้วใต้น้ำขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ก็มีการติดตั้งเครือข่ายไฟเบอร์ออพติกแล้วเช่นกัน ซึ่งรูปแบบการให้บริการของหน่วยงานเหล่านี้ จะเป็นการให้บริการคู่สายเช่าความเร็วสูงแก่ลูกค้าองค์กรที่ต้องการใช้สื่อสารข้อมูลภายใน หรือให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมนำไปใช้ให้บริการกับลูกค้าอีกครั้งหนึ่ง

แม้จุดเริ่มต้นของการลงทุนสร้างทางด่วนข้อมูลและรูปแบบการให้บริการ เริ่มแรกของซีพีและยูคอมจะแตกต่างกันพอควร แต่จุดหมายปลายทางของทั้งสองนั้นไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก

ทีเอ เริ่มต้นสร้างทางด่วนข้อมูลจากโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย ซึ่งทีเอยอมควักเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพื่อนำเคเบิลใยแก้วนำแสงมาใช้ในการวางโครงข่ายแทนที่จะเป็นเพียงแค่สายทองแดง เพราะทีเอรู้ดีว่า ด้วยศักยภาพของเคเบิลใยแก้วนำแสงอันเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในเวลานั้น จะเป็นจุดที่ก่อกำเนิดบริการมัลติมีเดียรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ต่อมาทีเอจึงได้จัดตั้งบริษัทเอเซียมัลติมีเดีย (เอเอ็ม) ขึ้น เพื่อต้องการแยกบทบาทการทำธุรกิจบนโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง ออกมาจากโครงการโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมายอย่างชัดเจน เพราะเป้าหมายของทีเอไม่ใช่แค่โทรศัพท์พื้นฐาน แต่เป็นบริการมัลติมีเดียที่จะวิ่งบนทางด่วนข้อมูลเส้นนี้

ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจโทรคมนาคมมานานอย่างยูคอมย่อมรู้ดีว่า เคเบิลใยแก้วนำแสงนั้นใช้ประโยชน์ได้เพียงใด กลุ่มยูคอมนั้นเริ่มต้นธุรกิจทางด่วนข้อมูล อันเป็นผลพวงมาจากการทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ที่บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (แทค) ขอลงทุนสร้างโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ แทนการขอเช่าวงจรเช่าความเร็วสูงจาก กสท.

ดังนั้นเมื่อต้องลงทุนในส่วนนี้เองและต้องส่งมอบโครงข่ายให้กับ กสท. แล้ว ยูคอมจึงเสนอขอร่วมลงทุนกับ กสท. ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น ยูคอม 75% กสท. 25% จัดตั้งเป็นบริษัทยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หรือ ยูไอเอช เพื่อนำโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงไปให้บริการแก่ลูกค้า ในลักษณะของการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม (NETWORK OPERATOR) ซึ่งรวมถึงการให้บริการวงจรเช่าสื่อสัญญาณความเร็วสูงที่ไม่ใช่โทรศัพท์ มีชื่อว่า "ทางด่วนข้อมูลเชอรี่"

ในขณะที่ทีเอนั้นประเดิมเปิดให้บริการบนทางด่วนข้อมูล ด้วยบริการเคเบิลทีวีในนามยูทีวี และบริการเสริมต่างๆ เช่น บริการเสริมบนคู่สายโทรศัพท์ หรือ SPC บริการเทเลการ์ด คู่ขนานไปกับโทรศัพท์พื้นฐาน 2.6 ล้านเลขหมาย

ด้านยูคอมให้บริการในรูปแบบของการให้เช่าวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงในหลายลักษณะ เช่น บริการรับ-ส่งข้อมูลภาพ และภาพวิดีโอจากต้นทางจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง หรือบริการแบบเฟรมย์รีเลย์ คือ บริการรับ-ส่งข้อมูล ภาพ และภาพวิดีโอระหว่างหน่วยงานที่ต้องการสื่อสารข้อมูลถึงกันในแต่ละองค์กร ซึ่งลูกค้าที่จะใช้บริการนั้นจะต้องเป็นหน่วยงานราชการ หรือนิติบุคคลที่ได้รับสิทธิ หรือได้รับอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการโทรคมนาคมจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจ หรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้บริการส่งสัญญาณโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (เคเบิลทีวี) หรือ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต

จะเห็นได้ว่า รูปแบบการให้บริการในเบื้องต้นของทีเอและยูคอมนั้น จะแตกต่างกันค่อนข้างมาก เพราะบริการบนทางด่วนข้อมูลของทีเอนั้น สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคตามบ้านได้โดยตรง ในขณะที่ยูคอมนั้นจะมุ่งเน้นไปที่ลูกค้าองค์กรหน่วยงานราชการเป็นหลัก ทว่ายูคอมก็มีข้อดีในเรื่องของพื้นที่ในการให้บริการนั้นครอบคลุมได้ทั่วประเทศ ในขณะที่ทีเอจะให้บริการได้เฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น

แม้ประสิทธิภาพของเคเบิลใยแก้วนำแสงจะมีอยู่มากมาย แต่ทั้งทีเอและยูคอมยังไม่สามารถสร้างรายได้บนทางด่วนข้อมูลเส้นนี้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ บริการบนทางด่วนข้อมูลของทีเอก็มีเพียงแค่เคเบิลทีวีเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลจนต้องไปควบกิจการกับไอบีซี เช่นเดียวกับยูคอมที่ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวรายได้เต็มที่ แม้ว่ายูคอมจะสามารถใช้ประโยชน์จากทางด่วนข้อมูลเส้นนี้กับกิจการในเครือ ไม่ว่าจะเป็นบริการอินเตอร์เน็ต, ร้านเอเอ็ม/พีเอ็ม, หรือแม้แต่ธนาคารแหลมทอง ที่ใช้ในการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลภายใน แต่ยังไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของยูคอม

"การลงทุนนั้นมหาศาล แม้ว่าจะมีโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกอยู่แล้ว แต่ยังต้องลงทุนสายกระจายและอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับส่งข้อมูล รวมทั้งระบบคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งเราคิดอยู่ว่าจะสร้างธุรกิจบนโครงข่ายนี้ได้อย่างไร" ประเสริฐ อัศวสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน"

ที่แล้วมาการทำตลาดของยูไอเอช เป็นแบบแนวรับไม่ใช่แนวรุก คือจะมุ่งเน้นไปยังลูกค้าเดิมที่มีความต้องการใช้งานอยู่แล้วเป็นหลัก เช่น ธนาคารและหน่วยงานราชการเป็นหลัก เพราะสิ่งสำคัญของการจะทำตลาดแบบแนวรุกนั้นจะต้องหาบริการต่างๆ มาวิ่งบนทางด่วนข้อมูล เพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วยูไอเอชก็ยังขาดในจุดนั้น

ประเสริฐเล่าว่า หน้าที่หลักของยูไอเอชคือ ต้องการเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย (โอเปอเรเตอร์) เท่านั้น ดังนั้นการหาบริการที่จะมาวิ่งบนทางด่วนข้อมูล จึงไปตกอยู่กับบริษัทในเครือยูคอมอื่นๆ เช่น บริษัทยูคอม เน็ทเวิร์ค ที่จะไปหาบริการมาวิ่งบนทางด่วนเส้นนี้

แม้จะมีทางด่วนข้อมูลแต่ไม่มีบริการ ก็เหมือนกับการมีถนนแต่ไม่มีรถวิ่ง เมื่อไม่มีรถวิ่งย่อมไม่มีผู้ใช้บริการ และรายได้เป็นโจทย์ที่ทั้งทีเอและยูคอมต้องเจอ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะต่อจิ๊กซอว์ชิ้นนี้ได้ก่อนกัน

ที่สำคัญทีเอและยูคอม ใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ไปกับการสร้างทางด่วนข้อมูลเส้นนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวรายได้กลับมาได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่ว่าจะเป็นบริการเคเบิลทีวีที่ต้องแก้ปัญหาเรื่องต้นทุน ด้วยการไปรวมกิจการกับไอบีซี หรือบริการเสริมบนคู่สายโทรศัพท์ก็ไม่ได้เก็บค่าบริการจากลูกค้า ในขณะที่ยูไอเอชเองก็ยังไม่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากกลุ่มลูกค้าที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้

เพราะปัญหาของทางด่วนข้อมูล ไม่ได้อยู่ที่พื้นที่หรือขอบเขตในการให้บริการเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าจะหาบริการต่างๆ มาให้บริการบนทางด่วนข้อมูลนี้อย่างไร เพราะหากไม่มีบริการเหล่านี้ เส้นทางด่วนข้อมูลนี้ก็จะเหมือนกับถนนที่ไม่มีรถวิ่ง

ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้ การลงทุนจำนวนมากในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูก็ได้กลายเป็นภาระอันหนักอึ้งให้กับผู้ลงทุนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจโทรคมนาคมที่มีลักษณะของใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่ต้องใช้เวลาคืนทุนยาว เมื่อมาเจอกับปัญหาค่าเงินบาท ทำให้เงินที่กู้มาใช้ลงทุนเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งทั้งทีเอและยูคอมก็เจอพิษสงไปเต็มๆ

ขณะเดียวกันการตกต่ำของเศรษฐกิจในไทย และการลดต่ำของค่าเงินบาท ก็เป็นโอกาสและแรงจูงใจที่ทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และนี่ก็เป็นแรงบีบรัดที่ทำให้ทั้งทีเอและยูคอมต้องหันมาเร่งหาบริการที่จะมาวิ่งบนทางด่วนข้อมูลนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องหาพันธมิตรมาเข้าร่วมเพื่อร่วมแชร์ค่าใช้จ่าย, ไอเดีย, และประสบการณ์

ข้อต่อสำคัญของทางด่วนข้อมูล กำลังเริ่มขึ้นตรงนี้ !

และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ธนินท์ เจียรวนนท์ บินไปพบกับบิลเกตต์ พ่อมดซอฟต์แวร์แห่งไมโครซอฟท์ถึงประเทศมาเลเซีย

การพบกันระหว่าง เจ้าพ่อค้าไก่ของเมืองไทย กับเจ้าพ่อซอฟต์แวร์ ย่อมไม่ธรรมดา เพราะคนหนึ่งเป็นเจ้าของโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง ที่จ่อถึงประตูบ้านคนไทย ในขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ที่ใช้กันอยู่แพร่หลายทั่วโลก จนติดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดในโลกมาแล้ว

ภายใต้ข้อตกลงการร่วมมือเบื้องต้นระหว่างซีพีและไมโครซอฟท์ ภายหลังการพบปะกันครั้งแรกตามที่ ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยในวันแถลงข่าวก็คือ การร่วมมือกันพัฒนาอุปกรณ์ SET TOP BOX เป็นอุปกรณ์ทำหน้าที่แปลงสัญญาณดิจิตอลให้เป็นสัญญาณข้อมูล ภาพ และเสียง ซึ่งแนวทางที่จะพัฒนาร่วมกันก็คือ การนำซอฟต์แวร์ภาษาไทยของไมโครซอฟท์มาเพิ่มประสิทธิภาพ SET TOP BOX เคเบิลทีวีของกลุ่มซีพีให้สามารถทำงานภายใต้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ พร้อมคำสั่งการใช้งานเป็นภาษาไทย

ด้วยคุณสมบัติของ SET TOP BOX ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ จะทำให้ผู้ใช้บริการเคเบิลทีวีของยูบีซี (ชื่อบริการใหม่ที่เกิดจากการรวมกิจการระหว่างไอบีซีและยูทีวี) ไม่เพียงแต่จะสามารถรับชมรายการจากยูบีซีได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถเชื่อมต่อเข้าอินเตอร์เน็ต หรือการชอปปิ้งผ่านคู่สายโทรศัพท์ ในลักษณะของอิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ซ โดยมีโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกเป็นเส้นทางด่วนข้อมูล ที่จะนำพาเอาบริการเหล่านี้วิ่งผ่านจากผู้ให้บริการไปถึงลูกค้า

นอกจากนี้ ซีพีและไมโครซอฟท์ ยังมีข้อตกลงที่จะใช้ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นของซีพี เป็นจุดให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไปที่ไม่มีเครื่องพีซี สามารถมาใช้พีซีได้ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งซีพีจะสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายไฟเบอร์ออพติกนี้ มาใช้ประโยชน์ในการเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นบริการรับส่งอีเมล์หรือบริการด้านข้อมูลอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

จะเห็นได้ว่าการร่วมมือระหว่างซีพีและไมโครซอฟท์จะส่งผลโดยตรงต่อการสร้างบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่จะมาวิ่งบนเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง

เพราะอย่างที่รู้ว่า การทำธุรกิจทางด้านอิเล็กทรอนิกส์นั้น ความสำคัญไม่ได้อยู่แค่ตัวฮาร์ดแวร์เท่านั้น แต่อยู่ที่ซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาและสร้างบริการรูปแบบใหม่ๆ การเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซี ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 80% รวมทั้งวิสัยทัศน์ของบิลเกตต์ ที่ไม่หยุดนิ่งแค่โปรแกรมวินโดว์ ออฟฟิศ หรือ อินเตอร์เน็ต เอ็กซพลอเรอร์ ย่อมเป็นเครื่องการันตีได้ระดับหนึ่ง

ส่วนหนึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า ผู้บริหารของซีพี ภายใต้การนำของธนินท์ เจียรวนนท์ ที่จะเดินทางไปเจรจากับบิลเกตต์ที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมจะบรรลุข้อตกลงในเรื่องดังกล่าวเพียงใด

หลังการจับมือระหว่างสองยักษ์ใหญ่ไมโครซอฟท์กับทีเอเกิดขึ้นได้ไม่นาน การร่วมมือระหว่างกลุ่มยูคอมและบริษัทโลตัส ดีเวลอปเม้นท์ บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้านเครือข่ายของโลกก็ตามมา เมื่อเจฟฟ์ พาพาวส์ ประธานและซีอีโอของโลตัสบินตรงมาเมืองไทย สาเหตุส่วนหนึ่งของการบินมาเมืองไทย ก็เพื่อลงนามเซ็นสัญญาการร่วมมือทางธุรกิจกับกลุ่มยูคอม

หนึ่งในข้อตกลงของการร่วมมือระหว่างเจ้าของเครือข่ายทางด่วนข้อมูลของไทย กับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ของโลกรายนี้ ก็คือ การทำโครงการ NET SERVICE PROVIDER ซึ่งเป็นการนำเอาโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงของยูคอม มาใช้ประโยชน์ร่วมกับความรู้ความสามารถของโลตัส ในลักษณะของการให้บริการเอาต์ซอสซิ่งทางด้านไอที โดยมุ่งไปที่ลูกค้าองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการใช้บริการโครงข่ายเคเบิลใยแก้ว และใช้เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ของโลตัสเป็นเครื่องมือในการจัดการ

"การที่โลตัสตัดสินใจทำธุรกิจร่วมกับยูคอม เพราะเรามีวิสัยทัศน์ที่คล้ายคลึงกัน ที่ลึกไปกว่านั้นคือ ยูคอมเป็นเจ้าของโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่ให้บริการอยู่แล้ว และโลตัสเองก็มีซอฟต์แวร์เครือข่าย ซึ่งจะทำให้เราสามารถร่วมมือในการทำธุรกิจบนเครือข่ายนี้ได้" เจฟฟ์ พาพาวส์ กล่าวถึงสาเหตุที่โลตัสมาจับมือทำธุรกิจร่วมกับยูคอม

อันที่จริงแล้ว การทำธุรกิจร่วมกับเจ้าของเครือข่ายไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับโลตัส เพราะก่อนหน้านี้โลตัสเองได้เคยร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ด้านสื่อสารโทรคมนาคม 20 รายทั่วโลก เช่น บริติชเทเลคอม, สิงคโปร์เทเลคอม, ไนเน็กซ์, เบลล์ แอตแลนติก, ยูเอส เวสต์ และเทเลคอมมาเลเซีย ในโครงการลักษณะนี้มาแล้ว

สำหรับยูคอมแล้ว การร่วมมือกับโลตัสนั้นกินลึกไปกว่านั้น เพราะยูคอมต้องการนำเอาเทคโนโลยีของโลตัสมาใช้ รวมกับศักยภาพของธุรกิจและบริการที่ยูคอมมีอยู่ เพื่อนำเอาสิ่งที่มีอยู่เหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นบริการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นบนโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง

"ยูคอมมีไฟเบอร์ออพติกที่โยงใยอยู่ทั่วประเทศ ยูคอมเป็นผู้ให้บริการ อินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) มีร้านค้าปลีก เอเอ็ม/พีเอ็ม อยู่ทั่วประเทศ มีร้านเวิลด์มีเดีย มีธนาคาร มีกำลังคน สิ่งเหล่านี้เมื่อนำมาประสานกันก็จะเกิดเป็นบริการใหม่ ซึ่งสิ่งที่เราจะได้รับจากโลตัสก็คือ เทคโนโลยี" ภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด กล่าว

สมภพ สมประสงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทยูคอมเน็ทเวิร์ค กล่าวเพิ่มเติมว่า เวลานี้ยูคอมและโลตัสกำลังจัดทำแผนธุรกิจร่วมกัน เพื่อกำหนดรูปแบบของการร่วมมือทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในเบื้องต้นก็คงจะมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยโลตัสจะเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องของเทคโนโลยีและความรู้, การอบรมและพัฒนาบุคลากร

"เรายังบอกไม่ได้ว่ารูปแบบบริการจะเป็นอะไรบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ก็คือ การนำเอาบริการที่ยูคอมมีอยู่มาใช้ประโยชน์ โดยอาศัยประสิทธิภาพของโลตัสมาช่วยในการพัฒนา ในอนาคตเราก็อาจจะมีบริการข้อมูลข่าวสารให้กับเกษตรกร เช่น ราคาพืชผล เมื่อเรามีร้านเอเอ็ม/พีเอ็มอยู่ตามปั๊มน้ำมันของ ปตท. ทั่วประเทศ มีเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงเชื่อมโยงฐานข้อมูลเหล่านี้ได้อยู่แล้ว" สมภพชี้แจง

นั่นคือ ส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ยูคอมและโลตัสมองไกลไปกว่านั้นก็คือ การต้องการมีโครงการเป้าหมายของยูคอมและโลตัสก็คือ โครงการ GINET (GOVERNMENT INFORMATION NETWORK) ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานรัฐทั้งหมดทั่วประเทศ ที่มีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งโครงการนี้จำเป็นต้องใช้เครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง เพื่อเชื่อมโยงศูนย์คอมพิวเตอร์ของหน่วยงานรัฐทั้งหมดเข้าด้วยกัน ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ เนคเทคจึงไม่ต้องการลงทุนสร้างเครือข่ายนี้เอง แต่ต้องการเช่าใช้จากเอกชน หรือหน่วยงานราชการที่ให้บริการอยู่แล้ว มาให้บริการแก่หน่วยงานของรัฐบาลอีกต่อหนึ่งแทน ซึ่งเนคเทคเองก็อยู่ระหว่างตัดสินใจว่า จะใช้เครือข่ายของใครระหว่างเครือข่ายไฟเบอร์ออพติกของยูคอม หรือองค์การโทรศัพท์ หรือการสื่อสารฯ

แน่นอนว่ายูคอมนั้นต้องการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการนี้ เช่นเดียวกับโลตัสที่นำร่องเข้าไปในโครงการนี้แล้ว โดยเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบเครือข่ายเชื่อมโยงไปตามหน่วยงานต่างๆ

GINET นั้นจัดว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามหาศาลไม่แพ้โครงการอื่นๆ เพราะต้องเชื่อมโยงเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานรัฐทั้งหมดทั่วประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งหากยูคอมและโลตัสสามารถร่วมมือกันในการนำเอาโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกไปให้บริการได้ ยูคอมเองจะสามารถนำเครือข่ายไฟเบอร์ออพติกไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และโลตัสเองก็จะได้ประโยชน์จากการจำหน่ายซอฟต์แวร์เครือข่ายและพัฒนาซอฟต์แวร์ เท่ากับว่าในอนาคต ยูคอมจะมีลูกค้าที่เป็นหน่วยงานราชการต่างๆ ในมือที่จะพัฒนาบริการรูปแบบต่างๆ ให้ลูกค้าเหล่านี้ทันที

การร่วมมือของยูคอมกับโลตัส ดีเวลอปเม้นท์ และซีพีกับไมโครซอฟท์ แม้จะแตกต่างกันในรูปแบบหรือวิธีการ, โอกาสในการเข้าถึงลูกค้า และการสร้างบริการบนเครือข่ายทางด่วนข้อมูล แต่เป้าหมายของทั้งสองนั้นไม่แตกต่างกันเลย

ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นผู้ชิงความเป็นจ้าวของอิเล็กทรอนิกส์ซูเปอร์ไฮเวย์ได้ก่อนกันเท่านั้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us