|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2547
|
|
หลายเดือนก่อนได้ไปเยี่ยมบ้านเพื่อนชื่อ เจ็ฟ เจ็ฟทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดีโดยถามฉันว่า 'Would you like a cuppa?' ฉันได้ยินแต่ก็ยังรอให้เจ็ฟพูดต่อ นึกว่าเขายังพูดไม่จบ เพราะเดาเอาว่า cuppa คงมาจาก 'cup of' ซึ่งก็ยังไม่รู้อีกนั่นแหละว่าเขาหมายถึง cup of อะไร ไม่แน่ใจว่าจะเป็นน้ำชาหรือกาแฟ รอดูทีท่าจนเห็นว่าเจ็ฟคงไม่พูดต่อแน่ๆ ก็เลยถามไปว่า หมายถึงน้ำชาหรือ เจ็ฟบอกว่า ใช่ เท่านั้นเองก็ถึงบางอ้อว่า คำว่า cuppa นั้นเขาหมายถึง cup of tea นั่นเอง (จริงๆ แล้วจะหมายถึงกาแฟก็ได้ แต่ส่วนใหญ่น่าจะหมายความถึงน้ำชามากกว่า)
ไหนๆ ก็พูดพาดพิงไปถึงน้ำชาแล้ว วันนี้ก็จะขอ คุยให้ท่านผู้อ่านฟังเรื่องน้ำชากับคนอังกฤษกันเสียหน่อย
คงไม่ต้องบอกกันแล้วว่า การจิบชา โดยเฉพาะการดื่มชากลางวัน หรือ Afternoon Tea (คือการจิบชาร้อนพร้อมๆ ไปกับการกินแซนด์วิชหั่นเป็นชิ้นพอคำ หรือกับขนมเค้กหรือขนมสโคน (scones) ที่เขากินกันในยามบ่าย) นั้น ปัจจุบันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนอังกฤษไปเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ว่าคนอังกฤษเพิ่งจะเริ่มจิบชากันเมื่อ 300 กว่าปีมาแล้วนี่เอง
ประเทศที่ดื่มชาเป็นชาติแรกเห็นจะไม่พ้นจีน วัฒนธรรมการนำใบชามาชงเป็นเครื่องดื่มของจีนนั้นเริ่มปรากฏเป็นหลักฐานจริงๆ เมื่อประมาณคริสต์ศักราชที่ 3 หรือประมาณ 1,700 ปีมาแล้ว ในบันทึกของ ชาง ยี (Zhang Yi) ซึ่งเล่าถึงการปลูกชาในแถบเสฉวน และหูเบ่ย รวมไปถึงวิธีการชงชา ส่วนในยุโรป ชาวดัตช์ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติที่ชำนาญการค้าระหว่างประเทศมากที่สุดเมื่อหลายร้อยปีก่อน เป็นชาติที่นำเข้า ใบชามาจากจีนก่อนใครในยุโรปแล้วจึงส่งออกไปขายยังประเทศอื่นอีกทีหนึ่ง เมื่อเริ่มแรกอังกฤษนำเข้าชาจากดัตช์ ก่อนจะเริ่มค้าใบชากับชาวจีนเอง โดยบริษัทอี๊สต์อินเดีย เมื่อปี ค.ศ.1678
เพราะสมัยก่อนชาแพงและชาวยุโรปนิยมกาแฟมากกว่า ชาเลยไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป การจิบชาเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ขุนนางและชาวสังคมชั้นสูงของอังกฤษ ก็เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 สมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่สอง เพราะพระมเหสีชาวโปรตุเกสของพระองค์คือพระนางเจ้าแคทเธอรีนแห่งบรากันซา (Catherine of Braganza) ซึ่งโปรดปรานน้ำชามาก เรียกหาน้ำชาในวังของอังกฤษอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ที่พระนางทราบเรื่องชานั้นก็เพราะชาวโปรตุเกสเองก็เป็นนักค้าตัวยงเหมือน ชาวดัตช์และล่องเรือไปค้าใบชากับจีนมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 แล้ว และก็เพราะพระนางเจ้าแคทเธอรีนนี่เอง การดื่มชาเลยกลายเป็นแฟชั่นโก้หรูในวังของอังกฤษไป
สิ่งที่ทำให้การดื่มชาเป็นแฟชั่นของคนรวย ไม่ใช่ แค่ราคาที่แพงลิบลิ่วของใบชาเท่านั้น แต่เป็นเพราะเครื่องมือในการชงชาของจีนเป็นสิ่งแปลกตาสำหรับชาวอังกฤษในยุคนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นกาน้ำชา จานรอง หรือถ้วยจิบชาใบเล็กๆ อีกทั้งคุณภาพของงานกระเบื้อง เนื้อละเอียดของจีนที่ล้ำหน้าคุณภาพงานเครื่องปั้นดินเผาแบบหยาบๆ ของอังกฤษในยุคแรกๆ ไปหลายขุม เหล่าผู้มีอันจะกินของอังกฤษต่างก็ทึ่งในศิลปะงานกระเบื้องของจีน จึงเริ่มสะสมเครื่องกระเบื้องของจีนและหมั่นเชิญแขกมาจิบชากันที่บ้าน เพื่อหาโอกาสเอาชุดน้ำชาของตนออกมาอวด
นอกจากถ้วยน้ำชาแล้ว กล่องเก็บชาที่มีกุญแจล็อกก็เป็นส่วนสำคัญในชุดชงชา ซึ่งในยุคอันรุ่งเรืองของอังกฤษคือ สมัยของพระนางเจ้าวิกตอเรีย (ค.ศ. 1837-1901) บรรดาขุนนางและคุณหญิงคุณนายต่างมีกันคนละใบ ที่ต้องมีกุญแจล็อกกล่องเอาไว้ด้วยก็เพื่อกันคนใช้ของตนแอบขโมยกินชา (ราวกับว่าชาเป็นเพชรพลอยเลยทีเดียว) โดยที่คุณหญิงคุณนายทั้งหลาย จะร้อยกุญแจไว้กับเครื่องประดับที่เรียกว่า Chateleine ซึ่งต่อกับสายคาดเอวของตนอีกทีหนึ่ง เวลาไปไหนก็เอา กุญแจไปด้วย ภายในกล่องจะมีขวดอยู่สามใบ ใบหนึ่งใส่ชาเขียว (ใบชาที่ไม่ได้ผ่านการบ่ม) อีกใบใส่ชาดำ (ใบชาที่บ่มแล้ว) ส่วนใบที่เหลือเอาไว้ใส่น้ำตาลและเพราะคนอังกฤษมักชงชาใส่น้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าที่อังกฤษไม่ได้ผลิตเอง
เมื่อวัฒนธรรมการดื่มชาเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณการนำเข้าน้ำตาลของอังกฤษก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งชาและน้ำตาลในสมัยนั้นมีราคาแพง มาก คนรับใช้จึงได้แต่กินน้ำชาจากใบชาที่ใช้ชงแล้วของเจ้านายเท่านั้น ส่วนน้ำตาลทรายขาวนั้นหมดโอกาสจะได้ลิ้มลอง และถ้าจะซื้อชามากินเอง ก็อาจจะได้ใบชาขึ้นราหรือใบของพืชอื่นที่ไม่ใช่ใบชา ซึ่งคนขายเอาขี้แกะมาผสมแล้วต้มขาย บ้านไหนไม่มีข้าวกินก็กินน้ำชารสจืดชืดพอประทังชีวิตไปวันๆ
ดังนั้นสำหรับคนจนในยุควิกตอเรีย แล้ว ใบชาในบ้านต้องเอามาต้มแล้วต้มอีกจนหมดรสชาติ ถึงจะทิ้ง สรุปก็คือชาที่เราเห็นเป็นของธรรมดาทุกวันนี้นั้น เป็นสินค้าราคาแพงของอังกฤษเมื่อหลายร้อยปีก่อนที่น้อยคนจะมีปัญญาซื้อหามาดื่ม คนรวยของอังกฤษในยุควิกตอเรียนั้นกินจุกกินจิกกันพอสมควร อาหารมื้อหลักๆ ของเขาคือเช้ากับเย็น แต่อาหารเย็นกินกันประมาณสองทุ่มซึ่งดึกไปนิด ดังนั้นพอตกบ่ายคนจึงมักหิวกันจนตาลาย จึงมีตำนาน เล่ากันว่า ดัชเชสแห่งแบรดฟอร์ดทนหิวไม่ไหว เลยเริ่ม ให้คนใช้จัดน้ำชากับขนมเค้กมาให้ตอนบ่าย พอเพื่อนมาเยี่ยมช่วงบ่ายบ่อยเข้า การจิบชากินขนมของท่านดัชเชสคนเดียว ก็เลยกลายเป็นการจิบชาสังสรรค์กันในแวดวงสังคมท่านผู้หญิงทั้งหลาย ธรรมเนียมการจิบชากลางวันหรือ afternoon tea จึงเกิดขึ้น afternoon tea นี้กินกันตอน 4 โมง เป็นอาหารว่างแต่หลังจากนั้น ก็ยังมี high tea อีก ซึ่งกินกันตอน 5-6 โมง อาหารสำหรับ high tea นี้จะหนักกว่า afternoon tea หน่อย แต่ไม่เป็นทางการเท่าอาหารค่ำ มีทั้งอาหารร้อน เย็น ของคาว ของหวาน ผลไม้ พาย และอาหารอบต่างๆเรียงออกมาพร้อมกันทีเดียว หยิบกินด้วยมือได้ตามชอบใจ ซึ่งนี่ก็คงเป็นที่มาของคำว่า fingers foods คือของว่างที่ใช้นิ้วหรือมือหยิบกินได้ เช่น chicken fingers หรือไก่ทอดชิ้นเล็กๆ ไม่ใช่ตีนไก่อย่างที่ฉันเข้าใจตอนแรก แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครกิน high tea กันแล้ว
ข่าวของบีบีซีเมื่อปีก่อนบอกว่าปัจจุบันคนอังกฤษ ดื่มชามากเป็นอันดับสองของโลก รองจากชาวเติร์ก แถมยังนำหน้าชาวอินเดียเสียอีก (แต่เพื่อนชาวอินเดียยืนยันหนักแน่นว่าเป็นไปไม่ได้) สถิติในข่าวบอกว่าคนอังกฤษดื่มชาประมาณปีละพันแก้ว ถึงแม้ว่าแนวโน้มการดื่มชาธรรมดาจะลดลงก็ตาม เพราะหลายคนหันไปดื่มชาผลไม้แทน เนื่องจากเบาและมีกาเฟอีนน้อยกว่า เหตุผลของแนวโน้มที่ว่าอาจไม่ใช่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่เป็นเพราะคนดื่มชาผลไม้มักมีภาพพจน์ของคนรุ่นใหม่ที่ตามทันกระแส และใส่ใจสุขภาพของตัวเอง หลาย คนจึงเริ่มมองว่าการดื่มชาผลไม้นั้นดีกว่าชาธรรมดา ดังนั้นวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวอังกฤษในอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็คงต้องรอดูกันต่อไป
แล้วคุณผู้อ่านล่ะคะ ดื่มชากันวันละกี่แก้ว
เอกสารอ้างอิง
Emmerson, R. (1992) British Teapots & Tea Drinking (London : HMSO Publications Centre).
MacGregor, D.R.(1983) The Tea Clippers Their History and Development 1833-1875 (London : Conway Maritime Press and Lloyd's of London Press).
Moxham, R. (2003) Tea : Addiction, Exploitation, and Empire (London : Constable & Robinson).
(2003) 'British Tea Drinking 'on the Wane' BBC News, 16 June. http://news.bbc.co.uk/1/hi/uk/2992524.stm
|
|
|
|
|