|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2547
|
|
ปัญหาที่สร้างความหนักอกหนักใจให้กับชาวออสเตรเลียในเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ซิดนีย์ หรือบริสเบน ในปัจจุบันคือปัญหาโลกแตกที่แก้ไม่ได้เสียทีในกรุงเทพมหานคร นั่นคือ ปัญหารถติด
เมื่อปีกลายตอนที่ผมเพิ่งมาเรียนที่บริสเบนใหม่ๆ ทุกเช้าผมต้องนั่งรถเมล์จากบ้าน ไปที่มหาวิทยาลัย ตอนนั้นยังมีรถติดอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งก็พอหาเหตุผลได้ว่า เพราะคนออกไปทำงาน ไปเรียน ไปทำธุระต่างๆ พร้อมๆ กัน รถก็ต้องติดบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ติดในระดับที่เล็กน้อยมาก ถ้าเราเคยเผชิญปัญหารถติดที่กรุงเทพมหานครมาก่อน เพราะรถติดแค่แป๊บเดียว พอไฟแดงครั้งหรือสองครั้ง เราก็ผ่านบริเวณรถติดไปได้ และไปถึงที่หมายในเวลาที่พอจะคาดการณ์ล่วงหน้า เช่นเดียวกับรถเมล์ก็สามารถไปยังจุดหมายได้ตามตารางเวลา โดยอาจจะช้ากว่าเล็กน้อย แต่เมื่อเร่งความเร็วในบริเวณที่รถไม่ติด รถเมล์ก็ถึงป้ายสุดท้ายตามตารางได้ไม่ยากนัก
แต่มาปีนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก เพราะรถติดติดหนักขึ้น กลายเป็นแพรถยนต์ยาวตลอดถนน เรียกได้ว่าเข้าใกล้สถาน การณ์ในกรุงเทพมหานครมากขึ้นๆ แล้ว
บริสเบนมีจุดที่มีการคมนาคมหนาแน่นที่สุดสองจุดด้วยกันคือ บริเวณใจกลางเมืองหรือ เรียกว่า CBD (Central Business District) และบริเวณรอบๆ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐควีนส์ แลนด์ หรือ UQ (University of Queensland)
ตัวเลขจากหน่วยงานบริหารเมืองบริสเบน หรือ Brisbane City Council รายงานว่า ในวันหนึ่งๆ ในช่วงเปิดภาคเรียน มีการเดินทางเข้าและออกจาก UQ ประมาณ 70,000 เที่ยว ปริมาณการเดินทางเข้าออกนี้ คิดเป็นอันดับสองรองจาก CBD
ถึงแม้ว่าค่าจอดรถในมหาวิทยาลัยเองและบริเวณรอบๆ จะแพงหูฉี่ แต่ปริมาณรถยนต์ ส่วนตัวที่มุ่งเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังคงหนาแน่น และทำให้ที่จอดรถในมหาวิทยาลัยที่สามารถรองรับรถได้หลายพันคันล้วนเต็มทุกวัน แม้วันหนึ่งจะมีรถเมล์เข้าออกมหาวิทยาลัยหลายร้อยเที่ยว และนักศึกษาส่วนหนึ่งก็อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ มหาวิทยาลัย แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้
UQ ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า St Lucia ซึ่งเป็นส่วนเว้าเข้าไปของแม่น้ำบริสเบน โดยแม่น้ำบริสเบนจะไหลวกไปวนมาซ้ายขวา จากขอบตะวันออกสุดของออสเตรเลียเข้าสู่ใจกลางทวีปผ่านศูนย์กลางเมืองบริสเบน
แม่น้ำบริสเบนล้อมรอบมหาวิทยาลัยสามด้านด้วยกัน โดยอีกด้านหนึ่งเปิดออกสู่ตัวเมืองบริสเบนทางด้านตะวันตก
ถ้าใครต้องการเดินทางมามหาวิทยาลัยด้วยรถยนต์ หรือรถเมล์ก็จะต้องเดินทางมาทางด้านตะวันตกนี้เท่านั้น แต่ถ้าต้องการเข้ามหาวิทยาลัยทางอื่นก็ต้องมาทางเรือ ที่บริสเบน มีเรือที่เรียกว่า ซิตี้แคท (City Cat) ซึ่งเดินทางเชื่อมมหาวิทยาลัยผ่านศูนย์กลางเมืองไปยังบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบริสเบน ซึ่งเส้นทางตลอดแม่น้ำบริสเบนที่เรือซิตี้แคทวิ่งผ่านล้วนเป็นบริเวณที่มีที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และที่เรียนหนังสือ และมีผู้ใช้บริการอย่างหนาแน่น
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ จุดเชื่อมต่อระหว่างสองฟากฝั่งแม่น้ำ
แน่นอนว่าปกติแล้วจะต้องมีการเดินทางข้ามฟากไปมา และหนทางที่สะดวกที่สุดคือข้ามสะพาน เนื่องจากแหล่งชุมชน รวมถึงแหล่งทำงานและแหล่งซื้อขายสินค้าอยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำ การข้ามไปมาจึงมีตลอดเวลา แต่ปัญหาคือสะพานที่ข้ามไปมาระหว่างสองฟากแม่น้ำมีน้อยมาก โดยส่วนใหญ่มักจะอยู่บริเวณใจกลางเมืองเสียมากกว่า
โครงการกรีนบริดจ์ (Green Bridge) เป็นโครงการที่สภาบริหารเมืองบริสเบนกำลังเปิดรับความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับรูปแบบการแก้ปัญหาจราจรติดขัดของเมือง
กรีนบริดจ์เป็นสะพานที่เชื่อมมหาวิทยาลัยแห่งรัฐควีนส์แลนด์ทางด้านตะวันออก เข้ากับบริเวณที่เรียกว่า Dutton Park ซึ่งอยู่บริเวณตอนใต้ของตัวเมือง (CBD) นั่นคือ โครงการนี้จะแก้ปัญหาการเดินทางจากฝั่งขวาของแม่น้ำ ที่จะต้องเดินทางเข้าสู่เมืองแล้ววิ่งอ้อมเลียบแม่น้ำเข้าสู่มหาวิทยาลัย ทำให้ปริมาณ เที่ยวเดินทางเข้าสู่เมืองลดลง แต่จะเพิ่มเที่ยวเดินทางเข้าสู่มหาวิทยาลัยแทน แต่คราวนี้จะเพิ่มทางด้านตะวันออก เพราะปกติแล้ว ทางด้าน ตะวันออกของมหาวิทยาลัยไม่มีการเดินทางทางบก มีแต่ทางด้านตะวันตกด้านเดียวเท่านั้น
โครงการนี้กำลังอยู่ในช่วงทำประชาพิจารณ์ขอความเห็นประชาชนเพื่อเลือกรูปแบบที่ดีที่สุด และสภาเมือง ก็ต้องการหาหนทางแก้ปัญหาที่เร็วที่สุด เพราะปัญหารถติดกำลังสร้าง ความปวดเศียรเวียนเกล้ามากขึ้นทุกวันๆ
เช่นเดียวกับ Ipswich Motorway ทางตอนใต้ของเมืองบริสเบนที่มีปริมาณยานพาหนะใช้งานกว่า 100,000 คันต่อวัน และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งมาก
ผู้แทนราษฎรของรัฐควีนส์แลนด์มีโครงการจะสร้างทางด่วนบายพาส เชื่อมถนนทางด้านตะวันตกของเมืองบริสเบน เพื่อลดปริมาณรถที่ต้องวิ่งมาจากทางใต้อ้อมเข้าเมืองก่อนขึ้นไปทางเหนือ แต่ยังคงเป็นโครงการที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในสภา
ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา AusLink ซึ่งเป็นโครงการสร้างถนนและทางรถไฟระดับชาติของออสเตรเลีย ได้ผ่านการอนุมัติของรัฐสภา โครงการห้าปีมูลค่ากว่าหนึ่งหมื่นล้านเหรียญออสเตรเลียกระจายให้กับรัฐต่างๆ ทั่วประเทศ ออสเตรเลียเพื่อสร้างเครือข่ายถนนและทางรถไฟเชื่อมโยงทั่วประเทศ หลังจากที่รัฐบาลค่อนข้าง มองข้ามการพัฒนาเครือข่ายถนนมาตลอด
หนึ่งในโครงการนี้จะสร้างไฮเวย์เชื่อมสามเมืองใหญ่ ซิดนีย์, เมลเบิร์น และบริสเบน โครงการนี้ได้รับความคาดหมายจากเหล่านักการเมือง และผู้สังเกตการณ์ว่าจะช่วยแก้ปัญหาความแออัดของการจราจรในแต่ละเมืองได้ หลังจากที่มีการคาดการณ์ปริมาณการขนส่งสินค้า โดยใช้ถนนภายในประเทศออสเตรเลียเองที่จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในอีกยี่สิบปีข้างหน้า และปริมาณผู้ใช้ท้องถนนจะเพิ่มขึ้นประมาณสี่สิบเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อมองเปรียบเทียบปริมาณสินค้าที่ขนส่ง ในปี 2002-2003 แล้ว 99% ของปริมาณสินค้าส่งออกและนำเข้าขนส่งทางน้ำ ในขณะที่การขนส่งทางอากาศ ถึงแม้จะมีสัดส่วนปริมาณสินค้าที่น้อยกว่าแต่เมื่อมองมูลค่ากลับมีมากถึง 26% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด หรือคิดเป็น 256 พันล้านเหรียญ
การขนส่งภายในประเทศจะครอบคลุมการขนส่งในรูปแบบต่างๆ ทั้งการขนส่งระยะไกลและระยะใกล้ โดยมีการขนส่งทางถนนเป็นการขนส่งที่มีสัดส่วนสูงที่สุดโดยเฉพาะการขนส่งระยะสั้นๆ
เป้าหมายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ AusLink คือ สร้างระบบคมนาคมที่มีความปลอดภัย หลังจากที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิต 109 คน บนทางด่วน Pacific Highway ซึ่งเชื่อมควีนส์แลนด์เข้ากับนิวเซาต์เวลส์ และอีก 47 คน บนทางด่วน Hume Highway
AusLink เป็นโครงการระดับชาติที่ต้อง การยกระดับการคมนาคมขนส่งทั้งหมดของออสเตรเลีย ในขณะที่กรีนบริดจ์เป็นโครงการเล็กๆ ที่ต้องการแก้ปัญหารถติดขนาดย่อมๆ ของ บริสเบน
เมื่อมีกรีนบริดจ์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐควีนส์แลนด์อาจจะเปลี่ยนไป ผู้คนมากหน้าหลายตาอาจจะผ่านเข้าออกมหาวิทยาลัยมากขึ้น คนส่วนใหญ่ที่ได้อ่านรายละเอียดโครงการนี้แล้ว ดูจะยังไม่พร้อมที่จะรับโครงการสร้างถนนให้รถวิ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัยได้ แต่พวกเขาก็ทนปัญหารถติดไม่ไหวเช่นกัน ทางออกที่ดูจะประนีประนอมมากที่สุด คือ สร้างทางคนเดินและทางจักรยานแทน
ความสงบในมหาวิทยาลัยอาจจะหาย ไปพร้อมกับการเข้ามาแทนที่ของความวุ่นวาย
ปัญหารถติดอาจจะแก้ได้ระดับหนึ่ง แต่เราไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วหรือ...
|
|
|
|
|