Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2541
แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ความน่าสะพรึงกลัวที่ต้องเผชิญ             
 

   
related stories

แปรรูปจำปีสนอง IMF เรื่องมันยาก?




คำว่า "แปรรูปรัฐวิสาหกิจ" กลายเป็นคำที่ทั้งน่าสะพรึงกลัวและน่ารังเกียจไปแล้วในตอนนี้ นับแต่ที่ได้มีม็อบของพนักงาน กฟผ.ขับไล่ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ เลขาธิการ สพช.เมื่อเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในยุคที่รัฐบาลไทยกู้ยืมเงินจากไอเอ็มเอฟครั้งนี้ เพราะเงื่อนไขการกู้ยืมจำนวนหนึ่ง มีข้อผูกพันในเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่า ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน (หนังสือแสดงความจำนงฯฉบับที่ 2 และ 3 และคาดว่าจะมีในฉบับที่ 4 ด้วย) ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงต้องเร่งมือรวบอำนาจการแปรรูปฯ เพื่อให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นจริงภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนก็มีข้อเสนอว่า ควรจะตั้งเป็นหน่วยงานแยกต่างหาก ทำงานเต็มเวลา และหาคนที่มีความสามารถและความเหมาะสมเข้ามาทำงานชิ้นนี้

จำนวนรัฐวิสาหกิจทั้งหมดในปัจจุบันมีรวม 60 แห่ง ซึ่งที่ใหญ่จริงๆ นั้นมีเพียง 15 แห่ง และรายได้ของรัฐวิสาหกิจนั้นคิดเป็นประมาณ 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่มากทีเดียว

นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นเรื่องที่กล่าวขานกันมาหลายยุคหลายสมัย แต่ไม่มีความจริงจังแน่นอนในการปฏิบัติ แม้ในตอนนี้จะมีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากรัฐบาลขาดเม็ดเงินในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลก็ยังไม่สามารถเร่งมือเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้


งานแปรรูปฯ ต้องทำอย่างเร่งด่วน

นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อดูแลเรื่องการแปรรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่สังกัดกระทรวงต่างๆ โดยให้ชื่อว่า คณะกรรมการกำกับนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่มีนายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานฯ มีนายธารินทร์ รมว.คลัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมว.คมนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รมต.สำนักนายกฯ ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย

กรรมการชุดนี้มีหน้าที่กลั่นกรองและกำหนดรูปแบบแนวทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ก่อนนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณา โดยจะพิจารณาจากเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของแต่ละรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องการแปรรูปเป็นเกณฑ์

อย่างไรก็ดี ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำร่าง พ.ร.บ. แปรสภาพรัฐวิสาหกิจเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งร่างฯฉบับนี้ เดิมใช้ชื่อว่า พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ และ ครม. เคยรับหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาเมื่อ 24 ก.พ. ที่ผ่านมาครั้งหนึ่งแล้ว ต่อมามีการส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาถ้อยคำ และข้อสังเกตของที่ประชุม ครม. โดยเร่งด่วน เพื่อนำเข้าสู่การประชุมสภาสมัยวิสามัญนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งสามารถแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด เป็นบริษัทเดียวหรือหลายบริษัทก็ได้ เพื่อความยืดหยุ่นและเกิดความคล่องตัวทางธุรกิจ โดยการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งให้เป็นไปโดยเหมาะสมกับสถานการณ์ และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด รวมทั้งสามารถกำหนดรูปแบบเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ในการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่จะมีขึ้นนั้น จะมีคณะกรรมการนโยบายแปรสภาพรัฐวิสาหกิจที่มี รมว.กระทรวงการคลัง เป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, เลขาธิการสภาพัฒน์, อธิบดีกรมทะเบียนการค้า, ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน, และอัยการสูงสุด โดยมีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นกรรมการ และเลขานุการ

คณะกรรมการชุดใหม่นี้มีหน้าที่เสนอความเห็นต่อ ครม. เพื่อพิจารณาว่ารัฐวิสาหกิจใดควรแปรสภาพหรือไม่ รวมทั้งพิจารณาดำเนินการในเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแปรสภาพของรัฐวิสาหกิจเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

จะเห็นได้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เปลี่ยนชื่อเป็นร่าง พ.ร.บ.แปรสภาพรัฐวิสาหกิจนั้น มีเนื้อหาต่างออกไปจากเดิม มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ โดยให้อำนาจกระทรวงการคลังเต็มที่ในการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ขณะเดียวกันไม่มีการพูดถึงคณะกรรมการฯ แปรรูปฯ ชุดที่มีศุภชัยเป็นประธานฯ

อย่างไรก็ดี ในการประชุม ครม. เพื่อพิจารณาเรื่องนี้นั้น มีความเห็นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.แปรสภาพรัฐวิสาหกิจนี้กันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียงคัดค้านจากกระทรวงคมนาคม โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมว. ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีการดำเนินงานเรื่องการแปรรูปฯ ตามแนวทางเดิมไปคืบหน้ามากพอสมควร

แนวทางการแปรรูปเดิมของกระทรวงคมนาคมนั้น เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บท คือจะมีการจัดตั้งโฮลดิ้ง คอมปานี ขององค์การโทรศัพท์ฯ และการสื่อสารฯ ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการรองรับการแปรรูปองค์การโทรศัพท์ฯ และการสื่อสารฯ ตลอดจนรองรับการแปลงสัมปทานกิจการสื่อสาร เพื่อนำไปสู่การเปิดเสรีกิจการสื่อสารโทรคมนาคม โดยขั้นตอนการจัดตั้งโฮลดิ้ง คอมปานีดังกล่าวจะดำเนินการภายหลังการแปรรูปกิจการ ทศท. และ กสท. เป็นบริษัทจำกัด และดำเนินการจัดหาพันธมิตรร่วมทุน (strategic partner) และผู้ร่วมทุนเอกชนเฉพาะราย (private placement) เสร็จเรียบร้อยแล้ว

แต่แนวทางนี้หากต้องเปลี่ยนไปตามแนวทางของกระทรวงการคลังแล้ว ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด โดยกระทรวงคมนาคมแทบจะไม่มีบทบาทในการกำกับดูแลขั้นตอนการแปรรูปฯ การจัดหาพันธมิตรร่วมทุน ตลอดจนการแปลงสัมปทานกิจการสื่อสารใดๆ เอาเลย เพราะต้องไปขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงการคลังทั้งหมด ทั้งๆ ที่ในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้นได้มีการดำเนินการแปรรูปไปมากแล้ว เพราะได้ดำเนินการมาถึงขั้นการว่าจ้างที่ปรึกษา ศึกษาแนวทางในการแปรรูปและแปลงสัมปทานไปแล้ว รวมทั้งวางกรอบในการแปรรูปกิจการสื่อสาร ที่จะเดินหน้าไปสู่การแปรสภาพเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจแล้ว หากจะต้องกลับไปเริ่มต้นดำเนินการแปรรูปตามแนวทางที่คลังวางไว้ ก็เท่ากับต้องดำเนินการใหม่ทั้งหมด

นายพิชัย รัตตกุล รองนายกฯ ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ครม.ครั้งนี้ได้สรุปว่า จุดที่มีการแก้ใขใน พ.ร.บ.นี้มี 2 จุดคือ การเปลี่ยนชื่อ พ.ร.บ. และการปรับปรุงสัดส่วนคณะกรรมการ โดยจะให้นายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ โดยให้ รมต.ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ดังนั้น ครม.จึงสรุปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปจัดทำร่าง พ.ร.บ.กลับมาใหม่ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อนำเข้า ครม.อีกครั้งหนึ่ง

โดยประเด็นที่ให้คณะกรรมการกฤษฎีกากลับไปแก้ไขจัดทำใหม่นั้น คือ :-

- ส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการฯ อยู่ใน มาตรา 5, 6 ที่กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการนโยบายแปรสภาพรัฐวิสาหกิจขึ้น มาทำหน้าที่เสนอให้แปรสภาพรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งแห่งใดต่อ ครม. โดยกำหนดให้ รมว.คลังเป็นประธาน ได้มีข้อท้วงติงว่า ประธานคณะกรรมการชุดนี้ควรจะเป็นใคร ระหว่างนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รมว.กระทรวงการคลัง กับนายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกฯ และรมว.กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ดูแลเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอยู่ในปัจจุบัน หรือจะให้นายชวน หลีกภัย นายกฯ เป็นประธานเอง ซึ่งแนวโน้มที่ประชุมนั้น ต้องการให้นายกฯ มาเป็นประธานเอง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง

- นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของกระทรวงการคลัง คือ ในมาตรา 14, 16 ที่เขียนว่า หลัง ครม. อนุมัติให้แปรสภาพรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทจำกัด ให้กระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด และให้ถือว่าความเห็นของกระทรวงการคลังเป็นมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ซึ่งที่ประชุม ครม.มีข้อท้วงติงว่า ควรจะให้กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรสภาพ ได้ร่วมกับกระทรวงการคลังออกความเห็นเกี่ยวกับมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นได้


เงินจากการแปรรูปฯ
ส่วนหนึ่งเอามาชำระต้นเงินกู้

ใน พรก.ฉบับหนึ่งที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนชำระคืนต้นเงินกู้ จากความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ขึ้นมา ซึ่ง ครม.เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข และออกระเบียบของกระทรวงฯ ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ฯ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

การจัดสรรเงินรายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แบ่งเป็น 2 กรณี :-

- กรณีแรก การขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่ราชการเป็นเจ้าของ รายได้จากการจำหน่าย 50% ให้นำส่งแผ่นดินเพื่อหนุนงบประมาณรายจ่ายในส่วนของการศึกษา, สาธารณสุข, การเกษตร, สาธารณูปโภคพื้นฐานในชนบท, และสวัสดิการแรงงาน ส่วนอีก 50% ให้นำส่งกองทุนชำระคืนต้นเงินกู้ฯ

- กรณีที่สอง รัฐวิสาหกิจจำหน่ายหุ้นในบริษัทลูก หรือจำหน่ายทรัพย์สิน หรือกิจการ ยกเว้นที่เป็นบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด ให้จัดสรรกำไรจากการขายเป็น 2 ส่วน โดยแยกเป็น

1. เป็นเงินสำรองการขยายงานและกองทุนสวัสดิการรัฐวิสาหกิจ โดยกำไรส่วนที่เหลือ 50% ส่งรายได้แผ่นดินเพื่อหนุนงบรายจ่ายพิเศษ

2. อีก 50% ส่งกองทุนเพื่อการชำระคืนเงินต้นฯ ทั้งนี้การจัดสรรกำไรดังกล่าวจะให้กระทรวงการคลังพิจารณาเป็นรายๆ และรายงาน ครม. โดยไม่รวมที่จำหน่ายหุ้นร่วมทุนของบริษัทลูกและหุ้นเพิ่มทุนของรัฐวิสาหกิจเอง

สำหรับกรณีที่รัฐวิหสาหกิจให้สัมปทานแก่เอกชน เมื่อได้ค่าตอบแทนมา ให้ถือปฏิบัติตามแนวทางที่ 2


ต้องมีองค์กรทำหน้าที่เฉพาะเรื่องการแปรรูปฯ

นอกเหนือไปจากแนวคิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีการดำเนินการอยู่นั้น แนวคิดอีกเรื่องหนึ่งที่มีการทำควบคู่กันมาคือ เรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยงานเหล่านี้ ซึ่งกระทรวงการคลังได้ว่าจ้างแต่งตั้งให้ บริษัทไทยเรตติ้ง แอนด์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด หรือ TRIS ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินผลใน 3 เรื่องคือ ประสิทธิผล, ประสิทธิภาพ, การพัฒนาองค์กร ขณะที่กระทรวงการคลังก็มีการดำเนินงานของตัวเองตามโครงการรัฐวิสาหกิจที่ดี ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว

ปนัดดา เผือกขาว ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ TRIS กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "จุดมุ่งหมายที่กระทรวงการคลังให้ TRIS เป็นผู้ประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจนั้น เป้าหมายคือการปรับปรุงประสิทธิภาพ แนวคิดในการประเมินของกระทรวงการคลังนั้น ธนาคารโลกเป็นที่ปรึกษาให้ เมื่อ TRIS เข้าไปประเมินนั้น เราได้ใช้เทคนิคในเรื่องของการจัดอันดับเข้าไปผสมผสานด้วย"

ในการประเมินผลของ TRIS มีการนำแผนงานเรื่องการแปรรูปของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ เข้ามาพิจารณาด้วย เธอเล่าว่า "ในแง่ของการประเมินผลนั้น วิธีการปรับปรุงประสิทธิภาพจะเป็นขั้นตอนต่างๆ ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายคือ เรื่องการแปรรูปจะมีการแปรรูปในบางรูปแบบที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ ยังไม่ได้หลุดเป็นเอกชนไปเลย แผนแปรรูปนั้นเป็นแผนการดำเนินงานสำคัญที่รัฐวิสาหกิจควรจะ achieve ซึ่งเท่ากับว่าในเป้าหมายนี้ต้องมีเรื่องของการแปรรูปเข้ามาด้วย แต่ว่าแต่ละแห่งจะทำอย่างไร ในขั้นตอนไหน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ บางแห่งอาจจะมีแผนได้แค่เสนอผลการศึกษาเรื่องการแปรรูปฯ ต่อคณะกรรมการฯ ก็ได้ แต่บางแห่งจะมีความก้าวหน้ามากกว่านั้น ถึงขนาดว่าตระเตรียมบริษัทได้ บางแห่งอาจจะมีแผนในเรื่องของการสัมปทาน, การ subcontract หรือเรื่องสำคัญๆ มันจะมีความหลากหลายมากในแผนการแปรรูปฯ ของแต่ละแห่ง"

เธอให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการแปรรูปฯ ว่า "ในหลายประเทศ มองไม่เหมือนกัน บางประเทศแนวคิดเรื่องการแปรรูปฯ คือการขายอย่างเดียว แต่ในไทยนั้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือ กระบวนการทั้งหมดในการเคลื่อนย้ายจากภาครัฐไปสู่เอกชน เพราะฉะนั้นการเคลื่อนย้ายนี้ คุณจะเคลื่อนย้ายทรัพย์สินก็ได้ คือคุณขายทรัพย์สินไป หรือจะเคลื่อนย้ายอำนาจในการบริหารก็ได้ ก็คือแทนที่คุณจะบริหารเองก็ให้เอกชนบริหารให้ หรือคุณจะเคลื่อนย้ายบางโครงการ เช่น ตัดโครงการออกไปให้เอกชนทำก็ได้ หรือคุณจะร่วมทุนกับเอกชน คือดึงเอกชนเข้ามาร่วมก็ได้ ทั้งหมดนี้ในเมืองไทยเรียกว่าการแปรรูปหมด ซึ่งเราก็ได้ทำมาในหลายเรื่อง"

กระบวนการที่มีการแปรรูปเข้าตลาดฯ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยม เพราะว่าวิธีนี้รับใช้วัตถุประสงค์หลายอย่างได้พร้อมกัน เพราะว่าได้ทั้งแปรรูปฯ การกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกิจการชั้นดีเข้าไปเพิ่มในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการกระจายหุ้นให้ประชาชนส่วนรวม วัตถุประสงค์เหล่านี้สามารถบรรลุได้ ด้วยการนำกิจการรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ วิธีนี้จึงเป็นวิธีการที่นิยมและไม่เป็นที่ครหาว่ามีการกระจุกตัว

อย่างไรก็ดี ในการดำเนินงานเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในตอนนี้ สิ่งที่ปนัดดาเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ยิ่งมี 2 เรื่องคือเรื่องพนักงาน และสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในรัฐวิสาหกิจต่างๆ นี่เป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายออกมาให้ชัดเจน

ในเรื่องพนักงานนั้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ทำให้เกิดความกังวลใจเรื่องสถานภาพหลังการแปรรูปอย่างมาก รัฐบาลจึงต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังและลงมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง "อย่าปล่อยให้เกิดความคลุมเครือ มีการคาดเดาและคิดในแง่ร้าย จนเกิดปัญหาและมีการลุกลาม เรื่องพนักงานเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอันดับหนึ่งที่ต้องลงมาดูและแก้อย่างจริงจัง"

ปนัดดากล่าวว่า "โครงการแปรรูปนั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ 1.รัฐบาลมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ (commitment) อย่างแรง โดยต้องแสดงด้วยการให้คนระดับสูงในส่วนของภาครัฐเข้ามาดูแล กำหนดมาเลยว่าใคร และเข้ามาทำงานเต็มเวลา (full time) มานั่งคิด นั่งแก้ปัญหา ตอบคำถาม วางแผน โดยเฉพาะแผนประชาสัมพันธ์ เพราะมันมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย และมีคนตอบได้มาก แต่ใครจะเป็นคนตอบที่ถูกต้อง"

"เรื่องที่ 2. รัฐบาลต้องกำหนด อาจจะด้วยวิธีการประชาพิจารณ์หรืออะไรก็ตาม ให้ได้ข้อสรุปออกมาว่าในเซกเตอร์ที่สำคัญๆ นั้น จะมีเพดานการถือหุ้นให้ต่างชาติกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะตอนนี้ทุกคนก็คาดเดาพูดคุยไปต่างๆ นานาว่าจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ รัฐวิสาหกิจก็มีการจ้างที่ปรึกษามาศึกษา เราเสียสตางค์มากมายในเรื่องเหล่านี้ ที่เป็นเหมือนการคาดเดาสรุปไปเอง แต่จริงแล้ว final say อยู่ที่รัฐบาล แล้วทำไมรัฐบาลไม่ลุกขึ้นมาแล้วหาข้อสรุปเรื่องนี้ให้ชัดเจน มองทิศทางของประเทศไว้เลยว่า ในแต่ละเซกเตอร์จะให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในสัดส่วนเท่าไหร่ กำหนดเพดานไปเลย แล้วทุกคนก็จะมองภาพร่วมกันออก"

กระบวนการแปรรูปเป็นงานที่ต้องใช้เวลา เป็นเรื่องที่มีคนเกี่ยวข้องเยอะ รัฐบาลแต่ละยุคไม่อยากมีความเสี่ยงในเรื่องนี้ ความเสี่ยงที่ว่าคือเมื่อลงมือทำแล้ว มันจะมีปัญหาปะทุขึ้นมา รัฐบาลแต่ละยุคก็จะค่อยๆ ลงมือทำ แต่ตอนนี้รัฐบาลค่อยๆ ทำช้าๆ ได้หรือเปล่า เพราะว่าตอนนี้วิกฤติของประเทศ ทำให้ประเทศต้องการเงินใหม่เข้ามา เงินหมุนเวียนในประเทศอย่างเดียวไม่พอ

แล้วจะดึงเงินใหม่เข้ามาได้อย่างไร หากดูกันจริงๆ แล้วกลายเป็นว่า การแปรรูปเป็นส่วนที่มีศักยภาพมากที่สุดในการดึงเงินเข้า แต่จะมีศักยภาพมากที่สุดคือ ต้องทำในหน่วย/กิจการ/เซกเตอร์ที่นักลงทุนต่างชาติสนใจ ซึ่งตอนนี้เขาสนใจในเซกเตอร์สำคัญๆ เทเลคอม ไฟฟ้า ประปา เหล่านี้ เพราะโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงน้อย เพราะไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ทุกคนยังต้องการสิ่งเหล่านี้

ในภาวะปกติเรารู้ว่าเขาสนใจ แต่เราไม่เปิด เพราะนักลงทุนในประเทศเองก็สนใจเหมือนกัน เมื่อก่อนนี้กลุ่มทุนในประเทศก็จ้องตาเป็นมัน แต่ตอนนี้จ้องอย่างไรก็มีเงินไม่พอ เงื่อนไขที่จำต้องเอาเงินใหม่เข้ามานั้นจึงเป็นการเปิดประเด็นว่าแปรรูปเมื่อไหร่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอาต่างชาติเข้ามา เพราะว่าจะเป็นการแปรรูปโครงการที่ใหญ่ๆ

IMF ก็มองออกว่านี่คือแหล่งที่จะมีเงินหมุนเวียนเข้ามาที่สำคัญ มันจึงกลายเป็นอยู่ในแพ็กเกจว่า นี่คือแหล่งที่จะดึงเงินเข้ามาได้ ดังนั้นจึงต้องมีการเร่ง ให้มีกรอบเวลาที่แน่นอนในการดำเนินการ

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะช่วยแก้ปัญหาประเทศได้เยอะมาก โดยเฉพาะหากมีคนที่มีความสามารถสูงเข้ามารับผิดชอบเต็มเวลา เขาสามารถทำได้ดี ผลักดันได้มหาศาล "สิ่งที่ประชาชนกังวลก็ต้องมีคนดูแล รัฐบาลต้องหาคนที่มีความสามารถและเหมาะสมเข้ามาทำ เพราะการกำกับดูแลขึ้นอยู่กับฝีมือ กล่าวคือมีความสามารถตามทันภาคเอกชนหรือไม่ มีจิตสำนึกในการพิทักษ์ผลประโยชน์ประชาชนหรือไม่ ดังนั้นรัฐบาลควรจะหาคนที่เหมาะสม ให้ผลตอบแทนที่พอเหมาะแก่ความสามารถของเขา ประเทศบางประเทศที่เปิดเสรีกิจการเทเลคอม ถึงกับต้องจ้างต่างประเทศมาเป็นผู้กำกับ เพราะว่าในประเทศของเขาเองไม่มีคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม แต่เขายอมเพราะมันคุ้มค่ามาก" ปนัดดาให้ความเห็น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us